วสศ. ร่วมนำเสนอความก้าวหน้า ในการประชุมเครือข่ายการทำงานนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นโดย Centre for Education Research and Innovation องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าว ในการประชุมนานาชาติเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย ซึ่งจัดขึ้นโดย Centre for Education Research and Innovation (CERI) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มีผู้เข้าร่วมเป็นภาคี ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและความคิดสร้างสรรค์จากนานาประเทศ ว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เดิม สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้เริ่มดำเนินงานกับ OECD ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ในการทดลองการใช้เครื่องมือประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดวิเคราะห์ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และดนตรี และได้พัฒนาความร่วมอย่างต่อเนื่องจนจนเป็นโครงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดวิเคราะห์
โดยปัจจุบัน สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้ยกระดับเป็นกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการเรียนรู้ (Equitable Learning) และยกระดับผลลัพธ์ทางการเรียนรู้สำคัญ (Core Learning Outcomes) ซึ่งมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับงานที่ได้ริเริ่มกับ OECD ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้ กสศ. เน้นการสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านฐานงานวิจัย
“เราไม่สามารถสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายจากการนั่งคิดที่สำนักงานหรือห้องแล็บใด ๆ กสศ. จึงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการทดลองนำร่อง บ่มเพาะ ขยายผล จนนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่อยู่บนฐานของงานวิจัยและผ่านการทดลองลงมือทำมาแล้ว” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส ยกตัวอย่าง 4 โครงการของ กสศ. ที่เน้นการสร้างความเสมอภาคทางการเรียนรู้และยกระดับผลลัพธ์ทางการเรียนรู้สำคัญสามารถแบ่งเป็นสองลักษะคือ
- 1 กลุ่มโครงการที่การพัฒนาทั้งโรงเรียนแบบยกระบบ (Whole-school Approach) เช่น โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teacher-School Quality Program:TSQP) และ โครงการมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ (Fundamental School Quality Level:FSQL) ที่ดำเนินการร่วมกับธนาคารโลก และ
- 2 กลุ่มโครงการที่เน้นการผลิตและพัฒนาครูและการพัฒนาในระดับชั้นเรียน ได้แก่ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และโครงการ PISA for Schools ซึ่งดำเนินร่วมกับ OECD
รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และอาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาออกแบบสื่อสารคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กล่าวว่าจากต้นทุนประสบการณ์ที่ได้ดำเนินงานร่วมกับ OECD ได้นำมาต่อยอดเป็นโครงการพัฒนานวัตกรรมชุมชนเพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียนผ่านการลงมือทำ และโครงการ Blackbox ชุดการเรียนรู้ซึ่งออกแบบให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง
“เราปรับคอนเซ็ปที่ได้เรียนรู้จาก OECD และ CCE ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยโดยเฉพาะสำหรับเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร
Mr. Paul Collard อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Creativity, Culture and Education (CCE) กล่าวว่า จากการทำงานกับ กสศ.ได้เห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและในการปฏิบัติงานที่ประเทศไทยครั้งล่าสุดเขาได้ให้ผู้เรียนวาดภาพนิยาม‘การเรียนรู้’ตามความเข้าใจของตัวเองพบว่าผู้เรียนในโครงการของ กสศ.เห็นภาพการเรียนรู้ว่าเป็นกระบวนการที่ผู้เรียนเองต้องเป็นเจ้าของ และจะเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการนั่งฟังครูสอนเท่านั้น
“ภาพวาดจากนักเรียนในประเทศไทยเหล่านี้ มีความแตกต่างจากภาพที่ผมเคยเห็นจากประเทศอื่นเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากมาตรการสนับสนุนคุณครูให้เปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง” Mr. Paul Collard กล่าว