โลกที่กำลังหมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทักษะทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning: SEL) ถูกยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญในแวดวงการศึกษาที่จะช่วยให้เด็กๆ ประสบความสำเร็จได้ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้
ดร.นันดินี ชัตเตอร์จี (Dr.Nandini Chatterjee) นักประสาทวิทยาและผู้จัดการโครงการอาวุโส The UNESCO Mahatma Gandhi Institute of Education for Peace and Sustainable Development (UNESCO MGIEP) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีการประชุมวิชาการหัวข้อเรื่อง ‘Foundational and Soft Skills for Disadvantaged Children and Youth’ ผ่านมุมมองของประสาทวิทยาที่ใช้หล่อหลอมนักเรียนในประเทศอินเดีย จนกระทั่งกลายเป็นหลักสูตรที่สร้างเด็กให้มีทักษะทางอารมณ์และสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาส
UNESCO MGIEP ซึ่งเป็นสถาบันทางวิชาการ ตั้งอยู่ที่เมืองนิวเดลี อินเดีย และยังเป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีโปรแกรมการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ สำหรับการเรียนแบบบูรณาการและการเรียนกระแสหลักที่ MGIEP จะพยายามใช้การเรียนรู้ในรูปแบบดิจิตอล เพื่อที่ว่าประชาชนทั่วทุกมุมโลกจะสามารถเข้าถึงได้มากที่สุด
วัยรุ่นคือทรัพยากรมหาศาลในการเปลี่ยนโลก
ดร.นันดินี ชัตเตอร์จี เป็นผู้มีบทบาทในการพัฒนาความสามารถของเด็กๆ ในด้านความเอาใจใส่ การมีสติ ความเห็นอกเห็นใจ และการแสวงหาความรู้ มาอย่างยาวนาน ได้เสนอว่า ทักษะทางสังคมและอารมณ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเยาวชนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กด้อยโอกาส โดย MGIEP มีภารกิจในการพัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา
เธอเล่าว่า “เพื่อให้มีความสงบสุขและยั่งยืนเกิดขึ้น สังคมจะเข้าใจประเด็นนี้ได้ต้องเริ่มจากการย้อนไปดูความรู้เกี่ยวกับประสาทวิทยา ซึ่ง UN ได้นิยามวัยรุ่นไว้ว่า เป็นบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15-24 ปี หรือยืดหยุ่นเป็น 13-24 ปี แต่ถ้าดูที่ตัวเลข 15-24 ปี จะพบว่า มีวัยรุ่นประมาณ 1.2 พันล้านคน คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ซึ่งถือเป็นทรัพยากรมหาศาลที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในสังคม
“จากข้อมูลด้านการพัฒนาสมอง แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของการพัฒนาสมอง โดยมี Prefrontal Cortex หรือบริเวณสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ และเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสมองมนุษย์ ส่วน Temporal Lobe จะเป็นการสั่งการข้อมูลเกี่ยวกับเวลา การได้ยิน การจัดลำดับ ขณะที่ด้านหลังของสมองคือ Visual Cortex จะเป็นการสั่งการเกี่ยวกับการมองเห็น
“สมองส่วนต่างๆ เหล่านี้ จะมีพัฒนาการที่ซ้อนทับกันในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่อยากจะเสนอคือความจริงที่ว่า ในช่วงของการเจริญเติบโตจากเด็กไปสู่วัยรุ่น จะมีการจัดโครงสร้างสมองที่สำคัญ”
เธออธิบายว่า โดยทั่วไปสมองจะมีการเปลี่ยนแปลงจากการปรับโครงสร้าง ผ่านสารเคมีในสมองที่เกิดขึ้นใหม่ และทำให้มีการเชื่อมต่อใหม่เกิดขึ้น ช่วงเวลานี้เองจะทำให้วัยรุ่นมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เพราะสิ่งสำคัญในการพัฒนาสมองช่วงวัยรุ่นจะต้องแน่ใจว่าเราได้พัฒนาสมองของพวกเขาไว้ดีแล้ว นับตั้งแต่เติบโตจากเด็กไปสู่วัยรุ่น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นคนหนุ่มสาวที่จะก้าวไปมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่สงบสุข ยั่งยืน และมีความสามารถในการจัดการทางอารมณ์ รับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเขาได้
สร้างสรรค์สมองผ่านการคิดถึงผู้อื่น
ดร.นันดินี ชัตเตอร์จี เล่าว่า ที่ผ่านมาระบบการศึกษาให้ความรู้ด้านวิชาการมาโดยตลอด ซึ่งเป็นกระบวนการหลักของสมองส่วนหน้า แต่ในสมองจะมีส่วนหนึ่งที่เรียกว่า ‘Limbic Cortex’ ที่จะทำหน้าที่ประมวลผลทางด้านอารมณ์ โดยสมองส่วนนี้จะมีในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับสมองส่วนหน้า
“การตัดสินใจทุกอย่างของเด็กและวัยรุ่น ล้วนได้รับอิทธิพลจากอารมณ์ทั้งสิ้น แต่เราไม่เคยสอนเขาในเรื่องการจัดการอารมณ์”
ด้วยเหตุนี้วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่มีความเสี่ยง บางครั้งอาจมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น และในบางครั้งอาจไม่ทันคิดถึงเหตุและผล ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่สมองส่วนหน้ายังพัฒนาอยู่
ในกรณีนี้ ดร.นันดินี ชัตเตอร์จี จึงเสนอให้เข้าใจผ่านตัวอย่างของสมองบางส่วนที่เรียกว่า ‘The Amygdala’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Limbic ที่จะประมวลผลด้านอารมณ์ และมีบทบาทสำคัญในการชี้นำการตัดสินใจ ทั้งยังช่วยให้สมองส่วนหน้าตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น
“ดังนั้นถ้าเราจะคิดถึงอนาคต เราต้องการสร้างวัยรุ่นให้เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ก็ต้องคิดว่านิสัยใจคอเช่นไรที่เราต้องการสร้างพวกเขา เราต้องสร้างพวกเขาด้วยความเอาใจใส่ เพื่อให้พวกเขาคำนึงต่อผู้อื่น และเข้าใจผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งในสาขาวิชาสังคมเราเรียกสิ่งนี้ว่า ทฤษฎีของจิตใจ (Theory of Mind)
“การตัดสินใจที่สำคัญอย่างเช่น ยอมให้คุณถูกทำร้าย หรือฉันถูกทำร้าย หรือกระทั่งคุณต้องการให้ใครถูกทำร้าย แต่คุณไม่อยากให้เป็นแบบนั้น นั่นคือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ในช่วงเวลาของวัยรุ่นบางครั้งพวกเขาต้องการทำอย่างอื่น โดยลืมใส่ใจในหน้าที่การงาน พวกเขาจึงจำเป็นต้องมีความแน่วแน่ เราสามารถปลูกฝังให้เขาหันกลับมาสนใจความจริงหรือสิ่งที่จะต้องทำ และจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง” ดร.นันดินี ชัตเตอร์จี กล่าว
หลักสูตรพลเมืองของโลก
ในกรณีนี้ ดร.นันดินี ชัตเตอร์จี อธิบายว่า หากจะยกระดับชุมชนหรือสังคมให้มีความสงบสุขและยั่งยืนได้ ต้องพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อื่นด้วย มิใช่ทำเพียงแค่ตัวเอง เพราะเมื่อมีความเห็นอกเห็นใจกัน โลกจะน่าอยู่ขึ้น ฉะนั้นเมื่อวัยรุ่นคิดถึงผู้อื่น สมองจะกระตุ้นตาข่ายรางวัล (reward net) เมื่อวัยรุ่นเริ่มช่วยเหลือผู้อื่น จะเริ่มพบว่ากระบวนการนี้คือรางวัล
ประการถัดมาคือ เมื่อถึงเวลาที่วัยรุ่นต้องตัดสินใจ พวกเขาจำเป็นต้องคำนึงถึงความสามารถในการตั้งคำถามและข้อมูลต่างๆ ที่เขามีอยู่ เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นจะมีทั้งความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมีเหตุมีผลในเวลาเดียวกัน การเรียนรู้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตามกระบวนการที่เรียกว่า ‘Neuroplasticity’
Neuroplasticity คือ ความสามารถของสมองที่ได้รับการฝึกฝน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมมนุษย์ถึงเรียนรู้การอ่านได้ ทั้งที่ไม่มีสมองส่วนใดที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการอ่าน สมองบางส่วนอาจจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการมองเห็น การได้ยิน และการสื่อภาษา เชื่อมต่อกันจนเกิดเป็นวงจรใหม่ที่ทำให้สามารถอ่านได้ กรณีนี้ ดร.นันดินี ชัตเตอร์จี ชี้ว่า ทักษะทางอารมณ์และสังคมก็เช่นเดียวกัน ที่สามารถเชื่อมต่อวงจรใหม่ได้
MGIEP จึงสร้างกรอบการพัฒนาสมองด้วยการเชื่อมต่อสมองส่วนความคิดเข้ากับสมองส่วนอารมณ์อย่างแข็งแรง เพื่อให้แน่ใจว่าสมองส่วนหนึ่งเชื่อมต่อได้อย่างถูกต้องมากขึ้น โดยแยกความสามารถออกมาเป็น 4 ประเภท คือ การเอาใจใส่ (empathy) สติสัมปชัญญะ (mindfulness) การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (compassion) และการไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ (critical inquiry) โดย MGIEP มีการออกแบบเป็นหลักสูตรสำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี (GC. Primer), 12-15 ปี (GC Builder) และ 15-18 ปี (GC Master)
GC ย่อมาจาก Global Citizenship ทำให้หลักสูตรนี้สามารถใช้ได้กับทั้งเด็กที่มีโอกาสและเด็กด้อยโอกาส โดยในตอนท้าย ดร.นันดินี ชัตเตอร์จี ฝากแง่คิดไว้ว่า
“ทักษะเหล่านี้มีบทบาทอย่างมาก ยิ่งสร้างเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี”