ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชนบทเวลานี้มีข้อสังเกตบางประการว่า โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งที่กระจายตัวอยู่ตามชุมชนค่อยๆ ลดบทบาทความสำคัญต่อชุมชนลงไปเป็นลำดับ รวมถึงบทบาทของนักเรียนในรั้วโรงเรียนที่ไม่สัมพันธ์กับบทบาทของเด็กคนหนึ่งในฐานะสมาชิกของชุมชน ประกอบกับทัศนคติที่ว่าการศึกษาไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิต เด็กในครอบครัวยากจนจึงตัดสินใจได้ไม่ยากที่จะเดินออกจากระบบโรงเรียน อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเอง
ในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในบริบทของวัฒนธรรมไทยที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งหากพิจารณาร่วมกับแนวทางการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแล้ว โรงเรียนจึงมีศักยภาพมากกว่าการเป็นเพียงผู้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังเช่นโรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือ Mechai Bamboo School ที่ได้รับการยกย่องจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ในปี 2017 ว่าเป็นโรงเรียนแห่งนวัตกรรม
ดร.มีชัย วีระไวทยะ เชื่อมั่นว่า โรงเรียนมีศักยภาพในการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกับการพัฒนาผู้เรียนได้ จึงจัดตั้งโรงเรียนที่มีรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนตั้งแต่เริ่มรับนักเรียนเข้ามาสู่รั้วโรงเรียน กล่าวคือ ผู้ปกครองและนักเรียนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาด้วยการให้บริการชุมชน 400 ชั่วโมง และปลูกต้นไม้ 400 ต้น และเมื่อเป็นนักเรียนแล้วก็จะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียนในนาม ‘รัฐบาลนักเรียน’ เช่น การซื้อวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในโรงเรียน ต้อนรับแขกผู้มาเยือน เป็นต้น
นอกจากนี้ ทักษะพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนจะได้รับการฝึกฝนคือ ‘เกษตรกรรม’ ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในชุมชนชนบท โดยโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนแบบประจำ ตั้งอยู่ ณ ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่นักเรียนและชาวบ้านสามารถเข้ามาร่วมกันพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างรายได้
ดร.มีชัย มองว่า โรงเรียนมีทรัพยากรทั้งที่ดิน อาคาร และคน โรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
หากมองในแง่ของความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งมากขึ้น จะเห็นว่าไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคมเท่านั้น เพราะ ‘คน’ คือปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเสมอ ดังเช่นโครงการ ‘สโมสรแห่งความสุข’ (Country Club) ของโรงเรียนที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองสังคมผู้สูงอายุในชุมชน ผู้สูงอายุที่ไม่มีใครดูแลจะได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับนักเรียนและมีรายได้มากขึ้น
โครงการลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อโรงเรียนและชุมชนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นต่อกัน จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารหรือข้อมูลเพื่อดูแลกันและกันได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นด้วย โดยที่โรงเรียนไม่ใช่ฝ่ายตั้งรับเพื่อรอการสนับสนุนจากชุมชนอย่างเดียว
ด้วยหลักสูตรของโรงเรียนมีชัยพัฒนาที่เน้นการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ ทำให้นักเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องย้ายถิ่นออกจากชุมชน สอดคล้องกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ชุมชนในชนบทหลายแห่งต้องเผชิญ
โรงเรียนไม้ไผ่แห่งนี้จะเกิดขึ้นและพัฒนาต่อยอดไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐบาล เอกชน และธุรกิจชุมชนหลายแห่ง เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าการกำหนดทิศทางการศึกษาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของลูกหลาน เพราะการศึกษาคือการสร้างพลเมืองขับเคลื่อนสังคม โดยมีชุมชนซึ่งเป็นสังคมขนาดย่อมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่พัฒนาทั้งผู้เรียนและชุมชนไปพร้อมกัน
อ้างอิง
- Equitable Education Conference 2020: What are the Roles of Public-Private and People Partnership?
- ชูชาติ พ่วงสมจิตร์. (2560). การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน. Veridien E-Journal, Silpakorn University, 10(2), 1342-1354.