ด้วยสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 นโยบายการหยุดเชื้ออยู่บ้าน ตลอดจนการจำกัดการเข้าถึงสถานที่สุ่มเสี่ยง (lockdown) ส่งผลให้โรงเรียน ในฐานะสถานที่ซึ่งมีการรวมตัวกันของคนในปริมาณมาก ไม่ว่าจะทั้งครู บุคลากร และนักเรียน ต้องงดการจัดกิจกรรมสำคัญๆ อย่างการเรียนการสอน ทำให้เด็กจำนวนมากต้องสูญเสียโอกาส
เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว การเรียนออนไลน์ หรือการศึกษาระยะไกล (remote education) จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ตามมาพร้อมกับการศึกษาระยะไกลก็คือ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาและการขาดทรัพยากร ซึ่งเป็นปัญหาที่สามารถคาดเดาได้และถูกพูดถึงไปค่อนข้างมากแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือ ปัญหาการขาดหายไปของบรรยากาศการเรียน ซึ่งพ่วงมากับการขาดทักษะการเข้าสังคมของเด็ก และที่สำคัญที่สุดคือความบกพร่องทางกระบวนการเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็นหากยังอยู่ในสภาวะปกติที่เด็กยังคงไปโรงเรียนได้
ความบกพร่องทางกระบวนการเรียนรู้ มักเกิดจากการขาดผู้ชี้แนะ (mentor) ทางการเรียนรู้ เช่น ขาดครูผู้สอนประจำในแต่ละวิชาดังที่เคยมีตอนอยู่โรงเรียน หรือผู้ปกครองไม่สามารถคอยอยู่ดูแลการเรียนของเด็กได้ เพราะต้องออกไปทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว
ด้วยเหตุนี้ นักเรียนจึงประสบปัญหาอย่างมากในการเรียนตามที่หลักสูตรกำหนดในแต่ละระดับชั้น ทั้งในกรณีที่ได้กลับไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติแล้ว หรือยังคงมีการเรียนระยะไกลอยู่ เพราะแม้เด็กจะได้เลื่อนชั้นแล้วก็ตาม แต่กลับไม่มีความรู้พื้นฐานมากพอในการที่จะเรียนเนื้อหาตามระดับชั้น เช่น เด็กไม่สามารถเรียนรู้ที่จะคูณเลขสองหลักได้ (double-digit multiplication) จากการที่ยังไม่เชี่ยวชาญในการคูณเลขหลักเดียว (single-digit multiplication) เป็นต้น
ข้อเท็จจริงก็คือ ปัญหาเช่นนี้มักจะไม่เกิดกับเด็กฐานะดีที่ครอบครัวสามารถสนับสนุนหรือมีความพร้อมทางทรัพยากรในการศึกษา แต่จะชัดเจนมากในกรณีของเด็กที่มีฐานะยากจน โดยในกรณีของสหรัฐอเมริกา เด็กที่เกิดในครอบครัวผิวสี หรือครอบครัวชาติพันธุ์ท้องถิ่น จะประสบปัญหาทางกระบวนการเรียนรู้อย่างมาก และหากมองไปที่สภาวะปกติที่ได้เรียนอยู่ที่โรงเรียน เด็กกลุ่มนี้ก็มักประสบปัญหาจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ก่อนแล้วด้วยซ้ำ
คำถามที่ต้องตอบก็คือ จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร และด้วยคำถามนี้จึงนำไปสู่ข้อถกเถียงสำคัญ ดังนี้
1) กระบวนการแก้ไขข้อบกพร่อง (remediation) ซึ่งเป็นการนำเด็กกลับไปยังแผนการศึกษา ตลอดจนจัดกิจกรรมการพัฒนาทักษะที่บกพร่องไปให้เด็กๆ ได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
จริงอยู่ว่าเด็กมักจะเบื่อหน่ายกับกระบวนการนี้อย่างมาก ส่งผลให้วิธีการลักษณะนี้ไม่มีประสิทธิภาพนัก และด้วยกระบวนการที่คล้ายกับการเรียนซ้ำชั้นนี้ ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ต่างอะไรกับการตีตราเด็ก แถมยังเป็นการบั่นทอนความมั่นใจในตัวเองของเด็กอีกด้วย
นี่จึงนำมาสู่อีกแนวทางหนึ่ง คือ 2) การเพิ่มอัตราเร่ง (acceleration) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ครูจะคอยเฝ้าสังเกตว่าเด็กมีปัญหาการเรียนรู้ในเรื่องใด แล้วเข้าไปจัดการกับเด็กโดยตรง เช่น ในกรณีของเด็กที่มีปัญหาในการคูณเลขสองหลักไม่ได้ เหตุเพราะยังไม่สามารถคูณเลขหลักเดียวได้ กรณีนี้คุณครูในโรงเรียนประถม Gregory Heights ได้หันมาใช้วิธีพูดคุยกับเด็กแบบตัวต่อตัว จนค้นพบว่าจริงๆ แล้วปัญหาของเด็กเกิดจากการไม่สามารถคูณแม่ 6 และแม่ 7 เท่านั้น ดังนี้ เมื่อครูสามารถช่วยเด็กให้เข้าใจสูตรคูณทั้งสองแม่นี้ได้ เด็กก็จะสามารถเรียนตามหลักสูตรต่อไปได้ โดยไม่ต้องกลับไปเรียนซ้ำในระดับชั้นเดิมอีก
เป็นเรื่องน่าพิจารณาว่า ในกรณีของประเทศไทย จะเผชิญหน้ากับปัญหาความบกพร่องทางกระบวนการเรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใด เพราะปัญหานี้ไม่ว่าอย่างไรก็คงต้องเกิด และจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
การศึกษากรณีตัวอย่างจากโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น จึงเป็นสิ่งที่พึงนำมาพิจารณาทบทวน