เฉิงตู (Chengdu) คือเมืองขนาดใหญ่ทางตะวันตกของประเทศจีน เป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน และการขนส่งในจีนตะวันตก ทำให้เฉิงตูได้รับแนวคิดและอิทธิพลที่หลากหลายและเป็นเมืองที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกันเฉิงตูก็เป็นหนึ่งในพื้นที่การปกครองของจีนที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มีจำนวนประชากรเป็นผู้สูงวัยและกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก แนวทางการพัฒนาประเทศแบบเดิมจึงทำให้เกิดการตกหล่นของคนบางกลุ่ม และต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อดูแลประชาชนกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุ
เฉิงตูได้เข้าร่วมกับ UNESCO Global Network of Learning Cities เพื่อมุ่งพัฒนาสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ และได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ผู้ชนะรางวัล UNESCO Learning City Award ประจำปี 2019 จากเว็บไซต์ทางการของ UNESCO Institute for Lifelong Learning (UIL) ด้วยการสร้างระบบการเรียนรู้และการศึกษาที่ครอบคลุม ขยายการใช้เทคโนโลยีในการฝึกอบรม และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั่วทั้งเมือง
ภาพ: UNESCO
หลักการสำคัญของเฉิงตูคือ การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยอาศัยคุณลักษณะสำคัญของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ (Key Features of Learning Cities) โดยตั้งเป้าหมายการดำเนินการไว้ทั้งหมด 6 ประการ ได้แก่
- เพื่อบรรลุข้อตกลงในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้
- จัดทำระบบบริการการเรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองการเรียนรู้ให้สมบูรณ์
- ส่งเสริมการศึกษาในเมืองและชนบท และเพิ่มคุณภาพและความเท่าเทียมกัน
- อำนวยความสะดวกแก่องค์กรการเรียนรู้และปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้
- ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่าน Internet-Plus และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งข้อมูลการเรียนรู้
- บูรณาการกับแหล่งเรียนรู้สาธารณะ
เฉิงตูเป็นเมืองแรกในประเทศจีนที่ร่างและดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับในท้องถิ่นเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษาของชุมชน จัดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาของรัฐ พัฒนาห้องสมุดออนไลน์และแพลตฟอร์มการบริการ สร้างโปรแกรมทางการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อเปิดโอกาสให้กับประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการศึกษาในด้านที่สนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยและผู้พิการซึ่งต้องการการส่งเสริมการพัฒนาด้วยหลักสูตร Citizen Lecture Series และหลักสูตร Study Tours for Citizens สนับสนุนทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ เฉิงตูยังให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงด้วยการใช้เทคโนโลยีในการฝึกอบรม
การกระจายการเรียนรู้สู่ประชาชนหลากหลายกลุ่มในเมืองเฉิงตู ผนวกกับการออกแบบโครงสร้างเมืองให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของคนทุกวัย ทำให้คนและเมืองสามารถพัฒนาไปพร้อมๆ กันได้ และเป็นแนวทางความยั่งยืนของเมืองและประชาชนเฉิงตู
ที่มา:
UNESCO Institute for Lifelong Learning: Chengdu, China