แนวคิด ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก The Beijing Declaration ซึ่งต้องการเสนอและผลักดันให้เกิดการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเมืองเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา แนวคิดดังกล่าวมีที่มาจากการที่ผู้คนมีแนวโน้มจะอพยพเข้าสู่เมืองจำนวนมาก สร้างความเปลี่ยนแปลงทางลักษณะประชากร สังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในเมือง ขณะเดียวกันคนที่อยู่ในเมืองมาก่อน และคนที่อพยพเข้าสู่เมืองต่างมีต้นทุนทางวัฒนธรรม ความรู้ และภูมิหลังที่หลากหลาย การพัฒนาเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเกิดขึ้นเพื่อให้คนที่อยู่ในเมืองได้ใช้ต้นทุนที่มีอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
องค์การยูเนสโกจึงจัดตั้งเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (Global Network of Learning Cities: GNLC) ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้เมืองที่ต้องการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความก้าวหน้าในการทำงาน รวมถึงมีระบบสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเครือข่ายการทำงานในระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันมี GNLC มากกว่า 229 เมือง จาก 64 ประเทศ โดยประเทศไทยมีเมืองที่เป็น GNLC 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ การเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่เมืองและประเทศ ที่สำคัญกว่านั้น ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรและเมืองทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ประเทศไทยได้สนับสนุนแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2562 โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ องค์การยูเนสโก และภาคีเครือข่าย ได้จัดการเสวนาวิชาการเรื่อง ‘บทเรียนจากเมืองแห่งการเรียนรู้: พื้นที่เพื่อการเรียนรู้สู่ปวงชนเพื่อการศึกษา’ เพื่อส่งเสริมให้เมืองหรือหน่วยงานระดับท้องถิ่นของประเทศไทยได้เรียนรู้จากตัวอย่างการพัฒนาเมืองตามกรอบแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ นอกจากนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีการทำงานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามกรอบแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง กสศ. จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการได้จัดประชุมพัฒนาโจทย์การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำงานระดับพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ได้ร่วมแลกเปลี่ยนว่า แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ส่งเสริมการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การยูเนสโก ปัจจุบัน การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการศึกษาในระบบ แต่การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดชีวิต หรือ lifelong learning โดยเมืองซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และสถานศึกษา มีส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองนั้นๆ
แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ สนับสนุนให้เมืองเป็นแกนนำร่วมกับภาคส่วนต่างๆ สร้างและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมทุกมิติ เนื่องจากการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เสริมในประเด็นของท้องถิ่นและการพัฒนาเมืองตามกรอบแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญเพราะมนุษย์ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลาเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง การสนับสนุนให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นกรอบการทำงานที่ท้องถิ่นมีอำนาจและสามารถทำได้ ทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาในระบบ การลดจำนวนและปัญหาเด็กนอกระบบ การส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการส่งเสริมสร้างนิสัยให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้แต่ละคนมีทักษะที่หลากหลายให้อยู่รอดในอนาคต โดยยกตัวอย่างการทำงานของเทศบาลนครยะลา ซึ่งมีการสร้างศูนย์เรียนรู้ TK park แห่งแรกในภูมิภาค และส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในขณะที่นายกเทศมนตรีนครและนายกเทศมนตรีเมือง รวมถึงผู้แทน ยังเสริมว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นความรับผิดชอบ และเป็นข้อได้เปรียบของเมือง เพราะเมืองมีความเข้าใจและทราบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ จึงสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างดี นอกจากนี้ การพัฒนาการเรียนรู้ยังส่งผลดีต่อมิติการพัฒนาเมืองด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นอกจากแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้จะสอดคล้องกับการพัฒนาเมืองแล้ว ยังส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวเน้นย้ำความสำคัญของ SDGs และเมืองแห่งการเรียนรู้ว่า การพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับ SDGs ทั้ง 17 ข้อ เนื่องจากความยากจน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกมิติล้วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นการสนับสนุนให้เมืองหรือพื้นที่มีโอกาสในการสร้างการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ซึ่งมีตัวอย่างการพัฒนาทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย โดยแต่ละเมืองของประเทศไทยต่างมีต้นทุนทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้และตอบสนองเป้าหมาย SDGs ได้ ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ควรมีการทำงานร่วมกับภาคส่วนวิชาการหรือมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาควิชาการและภาคนโยบาย อีกทั้งเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากต้นทุนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
สุดท้าย ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวเสริมว่า ความเสมอภาคทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นทั้งความท้าทาย และเป็นโอกาสในการทำให้ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายสามารถบรรลุได้ เนื่องจากการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความเชื่อมโยงและเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเสมอภาคทางสังคมแทบทุกด้าน ดังนั้น กสศ. จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการผลักดันเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2563 กสศ. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและภาคีเครือข่ายในและต่างประเทศจัดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาจอมเทียน หนึ่งในข้อสรุปของการประชุมคือ การศึกษาเพื่อปวงชน หรือ All for Education จะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือกัน โดยชุมชนท้องถิ่นถือเป็นจุดจัดการสำคัญที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะเมืองเป็นการย่อโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับประเทศลงมา ในขนาดพอเหมาะที่ท้องถิ่นจะทำได้ อีกทั้ง แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นกลไกสำคัญ (game changer) ที่จะทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษาสามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ในระยะเวลาอันสั้น
กสศ. และหน่วยงานภาคีมีข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ และมีเครื่องมือเชิงนวัตกรรมซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนเทศบาล หรือท้องถิ่นที่สนใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย GNLC โดยรางวัลเมืองแห่งการเรียนรู้อาจไม่ใช่เป็นเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาเมือง แต่ ‘กระบวนการ’ พัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่เป้าหมายเมืองแห่งการเรียนรู้ของโลก คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้าร่วมเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ขององค์การยูเนสโก ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการสร้างโอกาสที่เสมอภาคในการมีคุณภาพชีวิต การศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนคุณภาพของเมืองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป