1. ความสำคัญของการรู้จักตนเอง
- การรู้จักตนเองเป็นจุดเริ่มต้นแห่งปัญญา กุญแจสำคัญของการรู้จักตนเองไม่ใช่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ แต่หมายถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
- การรู้จักตนเองนั้นไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เกิดจากการลงมือทำกิจกรรม จากสิ่งแวดล้อม จากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้ใหญ่หรือเพื่อน
- การรู้จักตนเองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต
2. จะเกิดอะไรขึ้นหากเด็กไม่รู้จักตนเอง
- เด็กปฐมวัย จะรู้สึกไว้วางใจ เชื่อมั่นในตนเองจากการลงมือทำ เมื่อเขาไม่รู้จักตนเองจะไม่กล้าทำอะไร ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ชีวิตมีทิศทางและเป้าหมาย
- เด็กประถม การรู้จักตนเองส่งผลต่อการเข้ากับเพื่อน หากเด็กไม่รู้จักตนเอง จะเฉยต่อสภาพสภาพแวดล้อม เขาจะไม่รู้ว่ามีอะไรส่งผลต่อเขา
- เด็กมัธยม หากไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเอง ก็จะทำให้เรียนไปอย่างไร้เป้าหมาย ไม่ได้เรียนในสายการเรียนหรือคณะที่ตนเองสนใจ
3. เด็กควรรู้จักตนเองในด้านใดบ้าง
- การรู้จักตนเองไม่ได้มีตัวชี้วัดโดยตรง เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ใหญ่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- เด็กปฐมวัยสามารถรู้จักตนเองจากการลงมือทำในสิ่งที่เขาสนใจ ผ่านการเล่น หรือทำกิจกรรมต่างๆ และการทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น รู้ว่าความรู้สึกแบบนี้เรียกว่าอะไร
- เด็กประถมและมัธยม รู้จักตนเองได้หลายด้าน ความสนใจที่สามารถยืดหยุ่นได้ ลักษณะนิสัยที่ติดตัว พฤติกรรมและการแสดงออก อารมณ์และความรู้สึกที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ลักษณะของการมีความสัมพันธ์ คุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิต ซึ่งสามารถหาอัตลักษณ์ของตนเองได้ผ่านการทดลอง ลองผิดลองถูก
4. บทบาทของครูและพ่อแม่ในการส่งเสริมให้เด็กรู้จักตนเอง
- ให้กำลังใจ เชื่อมั่นในตัวนักเรียนว่าสามารถพัฒนาได้ ทุกคนมีศักยภาพตามหลักพหุปัญญา สามารถให้กำลังใจโดยระบุรายละเอียดถึงสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่ชมเชยว่าสวย ดี เก่ง เยี่ยม ที่เป็นการตัดสินที่ผลลัพธ์อย่างเดียว เช่น “เห็นหนูนั่งระบายสีมานานมาก อดทนมากเลยนะ สีที่ใช้ก็สดใสมากเลย” การให้กำลังใจจะทำให้เด็กเชื่อมั่นและกล้าทำสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น
- เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำในสิ่งที่เขาสนใจ ลองทำกิจกรรมที่หลากหลายแล้วสังเกตว่าเด็กสนใจอะไร เมื่อถ้าลองทำแล้วไม่ชอบ ถือว่าเป็นการซื้อประสบการณ์ เพื่อให้รู้ว่าเด็กไม่ชอบอะไร
- เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ตาม รับฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างจริงจัง ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังให้เข้าใจความรู้สึก ไม่ตัดสิน ไม่รีบให้คำแนะนำทันที ไม่เอาความชอบของเราไปครอบ เพราะเด็กมีตัวตนของเขาที่เราต้องยอมรับ
- ลดความกดดันตัวเองลง และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย อ่อนโยน และมั่นคงสม่ำเสมอ ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ อ่อนโยนจากการรับฟังและถามกลับ มั่นคงจากการมีกฎที่ยึดมั่นแต่ก็ยืดหยุ่นได้
- การทำให้เด็กรู้ว่าผิดได้ โกรธได้ รู้สึกได้ ไม่ใช่เรื่องผิด สิ่งที่ควรทำคือให้เครื่องมือในการจัดการอารมณ์เหล่านั้น ดีกว่าให้เขาหยุดรู้สึกแบบนั้น
5. กระบวนการที่ทำให้เด็กรู้จักตนเอง
- กระบวนการทำให้เด็กรู้จักตนเองตามหลัก Highscope ผ่านการ Plan Do Review โดยในห้องเรียนจะแบ่งเป็นโซนต่างๆ เช่น บ้านที่มีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เหมือนอยู่ในบ้าน เด็กๆ จะเริ่มต้นจากการวางแผนในอนาคตว่าจะทำอะไร ที่มุมไหน แล้วลงมือทำตามสิ่งที่ตนเองวางแผนไว้ โดยมุ่งมั่นและโฟกัสกับปัจจุบัน สุดท้ายในขั้นทบทวนในอดีตว่าสิ่งที่ตั้งใจได้ลงมือทำหรือไม่ โดยให้เด็กออกมาเล่าว่าไปทำอะไรมา ทำอย่างไร เล่นกับใคร รู้สึกอย่างไร มีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นบ้าง และยังเปิดโอกาสให้เด็กๆ คนอื่นสอบถามเพิ่มเติมได้ โดยมีองค์ประกอบของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น ดังภาพ
- กระบวนการสร้างภาวะผู้นำในนักเรียน ของโรงเรียนสุจิปุลิ ที่เชื่อว่าเด็กสามารถเป็นผู้นำและพัฒนาได้ โดยมีการรู้จักตนเองเป็นพื้นฐาน โดยครูร่วมเรียนรู้ไปกับนักเรียนด้วย ผ่านโมเดล 7 Habbit ดังภาพ
6. กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยรู้จักตนเอง
- บอร์ด Check in ความรู้สึก ให้เด็กๆ หยิบไม้ไอติมที่มีหน้าของตนเองไปเสียบไว้ในช่องอารมณ์ต่างๆ เพื่อให้ครูเข้าใจว่าตอนนี้เด็กรู้สึกอย่างไร ให้เด็กซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง หากเด็กรู้สึกโกรธ ครูควรถามเขาว่าความโกรธใหญ่แค่ไหน อยู่กับเขาตั้งแต่ความโกรธใหญ่มากจนเล็กลง โดยไม่ควรบอกว่าจะโกรธทำไมเรื่องแค่นี้เอง เราไม่สามารถบอกแบบนั้นได้ เพราะเราไม่ใช่เด็ก
- นิทานเพื่อให้เด็กเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึก ความแตกต่างของเพศ
7. กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กประถม – มัธยมรู้จักตนเอง
- เรียนรู้ผ่านวง reflection เช่น body scan กิจกรรมก้าวข้ามความกลัว ขอบคุณและขอโทษ
- ชวนเด็กตั้งเป้าหมายทั้งทางวิชาการ เช่น เขียนคำศัพท์ให้ได้กี่คำ และด้านชีวิตส่วนตัว เช่น การลดน้ำหนัก และมีบัดดี้คอยเตือน แนะนำ หรือทำไปด้วยกัน
- จัดโอกาสให้เด็กมีแรงบันดาลใจในการตามหาตัวตน ผ่านการฟังเรื่องราวการเดินทางของรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์
- Projective ฉายภาพในจิตใจ 3 ระดับ คือ ระดับที่ตั้งใจให้เพื่อนดู ให้ดูเฉพาะคนสนิท และเฉพาะไม่กี่คน และให้บรรยายฉาก ระบุเหตุผล บรรยายถึงผู้ดูแลซึ่งจะมีอยู่จริงหรือในเกมก็ได้ พร้อมทั้งบอกเหตุผล ดังภาพ
กิจกรรมนี้ช่วยสะท้อนตัวตนที่เรารู้เพื่อนรู้ ตัวตนที่เรารู้เพื่อนไม่รู้ ตัวตนที่เราไม่รู้เพื่อนรู้ และตัวตนที่เราไม่รู้เพื่อนไม่รู้ ตามทฤษฎี Johari Window
- สังเกตอารมณ์ของตนเอง และออกแบบเป็นมอนสเตอร์แทนอารมณ์ความรู้สึกนั้น แล้วนำเสนอวิธีการจัดการของแต่ละคน เป็นการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับอารมณ์ความรู้สึกนั้นอย่างสันติ ไม่ใช่เพื่อผลักไสหรือปฏิเสธ
8. การวัดและประเมินผลการรู้จักตนเอง
- การรู้จักตนเองไม่สามารถตัดสินเป็นเกรดได้ แต่มีไว้เพื่อให้ผู้ใหญ่รู้และหาแนวทางสนับสนุนต่อ ในเด็กปฐมวัยสามารถสังเกตได้จากการเล่นกิจกรรมนั้นนานๆ หากเขาสนุกจะอยากเล่นซ้ำ จนเกิดความชำนาญ มีความสุข กล้าท้าทายมากขึ้น ควบคุมตนเองได้ จนรู้ว่าตนเองมีความสามารถและมีโอกาสประสบความสำเร็จ
- สามารถวัดและประเมินผลในระหว่างทางได้ เพื่อให้ครูรู้เท่าทันว่าจะเติมให้เด็กตอนไหน จากการให้เด็กเขียน reflection
- I feel รู้สึกอย่างไร
- I learn ได้เรียนรู้อะไรบ้างทั้ง องค์ความรู้ ทักษะชีวิต และจิตใจ
- I wish จะพัฒนาต่อได้อย่างไร
- วิชาแนะแนว ไม่สามารถประเมินผลเป็นตัวเลขได้ แต่สามารถวัดผลจากการมอบหมายงานที่เป็นประโยชน์และนักเรียนนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น การเขียน New year resolution
ขอบคุณวิทยากรทั้งสามท่านที่มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันใน Equity talk #19 สอนอย่างไรให้เด็กรู้จักตนเอง ที่จัดขึ้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
ดร.นาฎฤดี จิตรรังสรรค์
ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ
โรงเรียนสุจิปุลิ
ครูมิติ โอชสานนท์
ครูแนะแนว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา
อ.วราบุษ ศุภลักษณ์บันลือ
อาจารย์ประจำคณะการศึกษาปฐมวัย
และนักวิชาการของโครงการ
ไรซ์ไทยแลนด์
สิรามล ตันศิริ
เรียบเรียงบทสัมภาษณ์
ท่านใดพลาดการรับชม Live สามารถติดตามย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/equitylabeef/videos/438040278049048
เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ โดย สิรามล ตันศิริ