แม้จะเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก แต่ฟินแลนด์ก็เคยเผชิญปัญหาเด็กนักเรียนถูกกลั่นแกล้งรังแก (bully) ไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ และเป็นปัญหามานานหลายปี
มหาวิทยาลัยตุรกุ (The University of Turku) ของประเทศฟินแลนด์ ได้สร้างแผนงานที่ชื่อว่า ‘KiVa’ หรือ Kiusaamista Vastaan อันมีความหมายว่า ต่อต้านการกลั่นแกล้ง โดยแผนงานนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรม (The Ministry of Education and Culture, Finland)
จุดประสงค์ของแผนคือ มุ่งแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หรือพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็ก ที่ส่งผลให้เด็กที่ถูกบูลลี่ได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งยังส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งให้มีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้นแผนงานดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพื่อลดความรุนแรง และยับยั้งมิให้เกิดการกลั่นแกล้งรังแกภายในรั้วโรงเรียน
หลัก 3 ประการ ต้านบูลลี่
หนึ่ง – การป้องกัน (prevention) หลักสูตรของ KiVa จะมุ่งเน้นให้นักเรียนทุกคนทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมการบูลลี่คืออะไร ผ่านบทเรียนและเกมออนไลน์ ส่งเสริมให้เด็กรู้จักการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือให้พวกเขาเรียนรู้ว่าการกลั่นแกล้งมิใช่พฤติกรรมที่ควรกระทำ
สอง – การแทรกแซง (intervention) แผนงานนี้จะให้หลักการและวิธีการแก่โรงเรียนและเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถรับมือกับเหตุการณ์หรือพฤติกรรมการบูลลี่ที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งเด็กที่เป็นผู้แกล้งจะได้รับการเยียวยาแทนการใช้บทลงโทษ
สาม – การติดตาม (monitoring) จะมีการวัดประเมินผลผ่านการสำรวจออนไลน์ประจำปีต่อทางโรงเรียนที่ใช้แผนงาน KiVa ว่าการบูลลี่หรือพฤติกรรมของเด็กในโรงเรียนนั้นเปลี่ยนแปลงหรือเป็นไปในทิศทางใด และจุดไหนที่ควรแก้ไขหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น
ข้อมูลจากเว็บไซต์ KiVa เผยว่า มีโรงเรียนในประเทศฟินแลนด์จำนวนกว่า 1,000 แห่งที่ใช้แผนงานนี้ โดยในช่วงปีแรกหลังจากมีการเข้าไปช่วยเหลือหรือเยียวยาเด็กที่ถูกบูลลี่แล้ว พวกเขามีสภาพจิตที่ดีขึ้นถึง 98 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
อีกทั้งเมื่อการบูลลี่ถูกแก้ไขและให้ความสำคัญ ยังช่วยให้เด็กนักเรียนมีพฤติกรรมการเรียนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าของเด็กๆ ยังลดลงอีกด้วย
จากกราฟข้างต้นจะเห็นได้ว่า อัตราของเด็กที่บูลลี่ผู้อื่นมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี 2009 เช่นเดียวกับอัตราของเด็กที่ถูกบูลลี่มีอัตราลดลงเมื่อโรงเรียนได้ดำเนินการตามแผนงานนี้
ทั้งนี้ KiVa ยังมีคู่มือสำหรับผู้ปกครองและคุณครูที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหา อาทิ ‘Parents Guide’ และ ‘Teachers Manual’ คู่มือเหล่านี้จะช่วยชี้แนะแนวทางให้ผู้ปกครองและครูได้เรียนรู้วิธีการรับมือเมื่อเด็กหรือบุตรหลานของตนถูกกลั่นแกล้ง หรือมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื่น ว่าควรจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร
วิธีการป้องกันการบูลลี่อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ‘trust’ หรือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยครู ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ ต้องทำให้เด็กหรือบุตรหลานเชื่อใจและไว้วางใจเพราะเมื่อเกิดปัญหาการบูลลี่ขึ้น ผู้ใหญ่เหล่านี้จะเป็นกลุ่มแรกที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เด็กๆ ได้ และจุดเริ่มต้นจากความเชื่อใจจะทำให้เด็กกล้าระบายออกหรือบอกถึงปัญหาที่พวกเขาพบเจอ
การฝึกเด็กให้เข้าช่วยเหลือผู้ที่ถูกแกล้งเป็นอีกหนึ่งวิธีการสำคัญ กล่าวคือ แผนงาน KiVa จะสนับสนุนให้เด็กๆ ด้วยกันเอง คอยปกป้องหรือดูแลเด็กที่ถูกบูลลี่ เริ่มจากการให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนกลุ่มหนึ่งๆ เป็นที่พึ่งพิงให้แก่เด็กที่ถูกบูลลี่ เพื่อให้พวกเขาสามารถระบายหรือเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา
โดยกลุ่มเพื่อนของเด็กที่บูลลี่จะช่วยนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปบอกเล่าให้ครูหรือผู้ใหญ่ฟัง ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้และช่วยกันลดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน
อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยลดปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันของเด็กได้นั้น ผู้ใหญ่ทั้งหลายไม่ว่าจะครูหรือผู้ปกครองต้องคอยสังเกตเด็กๆ ว่าพวกเขามีพฤติกรรมอย่างไร อยากไปโรงเรียนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และไม่อยากไปเพราะเหตุผลใด
ผู้ใหญ่ต้องคอยเอาใจใส่และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา รวมถึงต้องสร้างค่านิยมให้เด็กๆ ซึมซับว่า เมื่อพบเห็นผู้อื่นถูกกลั่นแกล้ง ไม่ควรที่จะเพิกเฉย พวกเขาต้องเข้าไปช่วยเหลือหรือแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบ ปัญหานี้จะไม่สามารถแก้ได้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขจากทุกภาคส่วนอ้างอิง