เริ่มต้นปีด้วยประเด็นร้อน เมื่อยูทูปเบอร์คนหนึ่งมอบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับเด็กๆ บนดอยสูง จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ที่สุดเรื่องนี้ก็พาคนฝ่าลมหนาวไปทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ที่ถูกลืม ทำไมคนในหมู่บ้านหนึ่งๆ จึงไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ ทั้งที่ในเมืองใหญ่น้ำไหลไฟสว่างกระทั่งรบกวนแสงของดวงดาว
คำถามแตกกอต่อยอดไปจนถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การศึกษา และการบริจาค ในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงอันดับต้นๆ ของโลก ทำไมหลายโรงเรียนยังขาดแคลน และในประเทศที่มีผู้ให้ผ่านการบริจาคเต็มไปหมด ทำไมผู้รับยังไม่ลดลง กระทั่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูงผ่านปรากฎการณ์สนทนารวมหมู่เหล่านั้นเปิดบาดแผลอีกลึกเพียงใด เมื่อเจอผีซ้ำด้ำพลอยด้วยโรคระบาด
นี่คือบทสัมภาษณ์ ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อีกบทบาทหนึ่งคือคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางของทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ทุนสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลสู่การเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ในอดีต ดร.ศุภโชค คือนักศึกษาคุรุทายาทรุ่นแรกของประเทศ ส่วนปัจจุบันเป็นประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ
คลี่หมวกให้เห็นหลายใบ เพื่อขีดเส้นใต้ชัดๆ ว่าการเลือกคู่สนทนามาอธิบายปรากฎการณ์เหล่านี้มีหลักยึดอย่างไร แม้หมอกควันแห่งการถกเถียงจะสร่างซาบ้างแล้ว แต่ใช่หรือไม่ว่าปัญหาการศึกษาของบ้านเมืองเราโดยเฉพาะในพื้นที่เปราะบางห่างไกลจากศูนย์กลางก็ยังไม่ได้หนีหายไปไหน
ใน พ.ศ. นี้ เราไม่น่าจะอยู่ในยุคสมัยที่มีบางโรงเรียนรอดพ้นสายตาของการเข้าไปช่วยเหลือ การจ่ายงบประมาณ การสนับสนุนการมีการศึกษาที่ดีอย่างที่เห็นในข่าวบ่อยๆ คือถ้า 30-40 ปีก่อนหน้าก็อาจพอจะเข้าใจได้ว่า บางโรงเรียนมันอยู่พ้นสายตาจริงๆ แต่ตอนนี้เราก็ยังเห็นว่าเด็กในพื้นที่ชายขอบ พื้นที่ห่างไกล แทบจะถูกลืม มันเป็นไปได้อย่างไร
จริงๆ แล้วทุกโรงเรียนได้รับการช่วยเหลือ แต่เวลาเราช่วยเหลือ บ้านเราช่วยแบบเรตเดียวกันทั้งประเทศ โรงเรียนที่มีศักยภาพสูง อยู่ในเมือง อันนี้ต้นทุนต่ำ เด็กเพียบพร้อมมาจากบ้าน ผู้ปกครองมี พ่อมี แม่ครบ มีเงินมีทอง มีฐานะ เก็บตังค์ได้ด้วย ค่าเทอมก็เก็บไป รัฐก็ให้เท่ากับโรงเรียนที่อยู่ชายแดน เก็บเงินไม่ได้ เด็กไม่มีข้าวกิน ไม่มีชุดนักเรียนใส่ รัฐให้เรตเท่ากัน เพราะฉะนั้นถามว่า มีโรงเรียนไหนที่ไม่ได้ตังค์ไหม ไม่มีหรอก เพราะรัฐจ่ายตังค์ไง เพียงแต่ว่าเงินที่เราลงไปให้เขามันไม่พอดีกับปัญหาเขา เพราะฉะนั้นโรงเรียนที่มีปัญหาเยอะ ห่างไกล ต้นทุนต่ำ มันจะต้องหาวิธีช่วยเขา
จริงๆ แล้ว รัฐบาลก็พยายามคิดนะครับ กลุ่มโรงเรียนที่พวกผมเฝ้ามองกันอยู่สามกลุ่มที่ห่วงกัน กลุ่มที่หนึ่งคือโรงเรียนพื้นที่สูง ในพื้นที่ทุรกันดาร โรงเรียนที่การเดินทางยาก ไปไกล ๆ อยู่กับชนเเผ่า มีเด็กเคลื่อนตัวบ้าง เด็กอพยพบ้าง เด็กข้ามมาจากฝั่งพม่า ฝั่งชายแดนบ้าง บางคนก็ยังไม่มีสถานภาพของการเป็นคนไทย อันนี้คือกลุ่มโรงเรียนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มโรงเรียนพื้นที่เกาะ ที่เกาะก็มีเกาะทันสมัย อย่างภูเก็ต สีชัง เกาะช้าง ไม่ต้องห่วง แต่ก็มีเกาะที่ไม่ดัง เกาะที่เป็นโรงเรียนเล็กๆ กว่าจะได้ทรายสักลังหนึ่ง… ผู้บริหารคนหนึ่งบอกว่า พี่เขาบริจาคม้าหินอ่อนให้หนู หนูไม่กล้าปฏิเสธเขา ทำไมเหรอ ค่าเรือขนแพงกว่าค่าหินอ่อน อันนี้ก็เป็นประเด็นให้ผู้บริหารได้ขบคิดอีกเหมือนกัน คนช่วยก็คิดอีกแบบหนึ่ง คนที่อยากได้ก็เกรงใจ แต่ว่ามาพร้อมกับปัญหา มาพร้อมกับวิธีแก้ปัญหาอีก อันนี้คือกลุ่มโรงเรียนพื้นที่เกาะ พื้นที่สูงผมมีตัวเลขอยู่ 1,190 โรง ยังไม่อัพเดทนะครับ ส่วนพื้นที่เกาะประมาณ 123 โรง
ส่วนกลุ่มที่สาม อันนี้ก็เปราะบางเหมือนกัน เป็นโรงเรียนชายแดนของจังหวัด สมมุติว่าอยู่ลำพูน หรือเพชรบูรณ์ แล้วไปอยู่ชายแดน เป็นโรงเรียนเล็กๆ ไกลๆ กว่าจะเดินทางมาประชุม มาเยี่ยมเยือน มาพัฒนากันแต่ละทีก็ลำบาก
ทีนี้ทุกโรงเรียนที่ว่ามา รัฐจะสนับสนุนแน่ๆ เลยคือ งบรายหัว งบอุดหนุน งบอุดหนุนก็อย่างที่เรารู้กัน 1,800, 2,500, 3,500, 3,800 ถ้าจำไม่ผิดนะครับ งบต่อหัว แบบนี้โรงเรียนที่ใหญ่เขาก็จะได้เงินเยอะ เพราะว่ารายหัวเขาเยอะ แต่ว่าโรงเรียนที่เล็ก ก็จะได้เงินน้อย บางโรงเรียนมีนักเรียน 20 กว่าคน ชาวบ้านก็ไม่ยอมยุบ ถ้ายุบเด็ก 20 คนนั้นไม่มีที่เรียนแน่ ผมตีไปว่า ได้ประมาณห้าหกหมื่น ทั้งปีเขาต้องใช้เงินพัฒนาอยู่แค่นั้น แต่เทียบกับอีกโรงหนึ่ง ได้เงินสองสามล้าน มันก็ต่างกันแล้ว เพราะฉะนั้นต้นทุนในการทำงานก็ต่างกัน โรงเรียนเหล่านี้ต้องหาเงินด้วยการไประดมทรัพยากรในพื้นที่ หาคนไปบริจาคสร้างนั่นสร้างนี่ เพื่อที่จะให้โรงเรียนเรามีความพร้อม และทำให้การศึกษามีคุณภาพด้วยตนเอง
กำลังอยากให้คลี่ประเด็นนี้พอดีเลย โรงเรียนๆ หนึ่ง เขาจะได้รับเงินสนับสนุนจากแบบไหน อย่างไรบ้าง
หนึ่ง เงินสนับสนุนรายหัวนักเรียน เป็นเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สอง เงินอุดหนุนเพื่ออาหารกลางวัน อันนี้ได้เฉพาะเด็กปฐมวัย อนุบาล-ป.6 ก็จะได้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันรายหัว หัวละ 20 บาท เท่ากับจำนวนนักเรียน เขาคำนวณให้อยู่ที่ประมาณ 200 วันต่อปี เพราะเราเปิดเรียนกันประมาณ 200 วันต่อปี อันนี้ก็ให้โรงเรียนไปซื้อกับข้าวเลี้ยงเด็ก ถ้าโรงเรียนใหญ่เขาก็มีคนเยอะเนาะ เหมือนเราไปขายในเมืองใหญ่ๆ เราก็ได้กำไรเยอะ ราคาไม่สูง ถ้าโรงเรียนเล็ก เด็กแค่ 20 คน วันละ 400 บาท เลี้ยงเด็กไป ทั้งข้าว ทั้งกับข้าว มันก็ค่อนข้างที่จะ…
บางโรงเรียนที่ยากจน เด็กจบ ป.6 แล้วขึ้น ม.ต้น เราก็ไม่สามารถให้อาหารเด็กได้ เพราะระเบียบเขาให้ดูแลถึงแค่ ป.6 เด็กก็จะมาถามว่า ครูคะ ทำไมปีที่แล้วหนูยังได้กินข้าวกลางวันอยู่ ปีนี้หนูทำไมไม่ได้กิน หนูเลื่อนชั้นแล้วแต่หนูไม่ได้รวยขึ้นนะคะ นี่ก็เป็นดราม่า เป็นเรื่องที่ผมได้ยินบ่อย เด็กผมเองแหละเขามาถาม ซึ่งเป็นช่องว่างที่เรายังเอื้อมไปไม่ถึง ดูแลไปไม่ถึง
สาม เงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี รัฐบาลจะควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นค่าใช้จ่ายสำคัญอยู่สองสามเรื่อง คือเสื้อผ้านักเรียน อันนี้ให้แจกกับเด็ก ซึ่งโรงเรียนรวยๆ เขาก็ได้นะ โรงเรียนบนดอยเขาก็ได้รับเท่ากัน แล้วก็ให้เป็นค่าหนังสือ ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมพวกนี้ก็ออกแบบให้โรงเรียนเอาไปใช้ ดูแลเรื่อง ICT บ้าง เรื่องการศึกษาแหล่งเรียนรู้ เดินทางพาเด็กไปทัศนศึกษาอะไรบ้าง เอาเป็นค่ายเพื่อพัฒนาทักษะทางวิชาการบ้าง กิจกรรมลูกเสือ ยุวกาชาด อะไรอย่างนี้ที่เขาให้ไป ก็เป็นอีกก้อนหนึ่งที่โรงเรียนได้รับตามรายหัวเหมือนกันครับ
แล้วที่เหลือก็จะเป็นค่าใช้จ่ายที่มาตามนโยบาย เช่น ค่าใช้จ่ายเรื่องการให้สัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าใช้จ่ายเรื่องเช่าต่ออินเทอร์เน็ตให้โรงเรียน ก็จะมีปัญหาในการจัดการนิดหน่อย บางช่วงก็ไหลลื่นดี เพราะว่ากระจายอำนาจให้โรงเรียนคัดเลือก บริษัทที่สัญญาณดีที่สุดมาติดตั้ง มีอยู่ช่วงหลังที่เขาพยายามรวบไปทำเอง รวบไปเพื่อประหยัดงบประมาณ เพื่อจะเซฟค่าใช้จ่าย ก็กลายเป็นช่องว่างไปอีก เพราะว่าบางพื้นที่ เจ้านี้ไม่มีสัญญาณ ก็ทำให้บ่นกันอยู่หลายโรงเรียนเหมือนกันว่า จ่ายอย่างเดิมน่ะดีแล้ว ให้โรงเรียนทำเถอะ แต่นี่รัฐก็พยายามประหยัดงบประมาณ แล้วก็ใช้กลไกระบบงบประมาณให้โปร่งใส ว่างั้นเถอะ ประหยัดโปร่งใส แต่มันไม่ fit กับปัญหา
บางโรงเรียนมีเด็กพักนอนเขาก็จะมีงบเด็กพักนอนให้ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะต้องทำแผนพัฒนาตัวเอง แล้วก็ตั้งงบประมาณไว้ เช่น อย่างผมต้องการห้องประชุม ผมก็ต้องเสนอไปว่าต้องการห้องประชุมแบบนี้ๆ แต่ทีนี้ โรงเรียนเขาเสนอทุกโรงครับ ซึ่งเงินที่รัฐบาลมีไม่พอที่จะซัพพอร์ตทุกโรงเรียนในปีเดียว ก็เรียงลำดับไป มามันก็เกิดปัญหาในการจัดการอีก บางทีก็เรียงด้วยความจำเป็น ความเดือดร้อนจริงๆ บางทีก็เรียงไปด้วยความสัมพันธ์แปลกๆ คิวฉันก่อน ใครก่อนใครหลัง พวกนั้นก็เป็นปัญหา จึงทำให้โรงเรียนหลายโรงที่พยายามต่อสู้ก็รู้สึกว่า ไม่มีความหวังแล้ว บ้านพักครู อยู่อย่างนี้ไปก่อนนะ ห้องน้ำเอาอย่างนี้ไปก่อนลูก ขอปรับปรุงซ่อมแซมก่อน แล้วก็ได้งบมาไม่สูงเท่าไร อาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องนี้ใช้งบประมาณเยอะก็ได้ครับ เพราะประเทศเรามีโรงเรียนมาเป็นร้อยปี บางโรงเรียนก็ชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว อาคารโรงเรียนผมอายุ 30 ปียังมีเลย เพราะฉะนั้นมันก็จะมีการ maintenance เกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายแบบนี้แหละที่โรงเรียนจะต้องแบกภาระคอยดูแลให้มันเรียบร้อยอยู่เสมอ
คำถามต่อเนื่องก็คือ แล้วที่เราเห็นว่า โรงเรียนต้องทำผ้าป่าเอง ต้องทำโน่นเอง นี่เอง เงินหมวดอื่นๆ ที่ว่า เขาอนุญาตให้โรงเรียนหามาได้จากแหล่งไหนอย่างไรบ้าง
ก็จะมีเงินบำรุงการศึกษาครับ เงิน บกศ. อันนี้จะต้องขออนุญาตจากเขตพื้นที่ แล้วก็คณะกรรมการข้างบนเพื่อขออนุญาตจัดเก็บ โรงเรียนดังๆ ในกรุงเทพฯ ที่เขาเก็บค่าเทอมได้ เขาจะเขียนลิสต์มาเลยครับ ค่าจ้างครูต่างประเทศ ค่าจ้างบริการคอมพิวเตอร์ที่มากกว่าระดับปกติ ค่าสารพัดที่เขาจะดูแล บางโรงเรียนก็มีค่าห้องแอร์ด้วย มีค่าไฟค่าแอร์อะไรไป อันนี้เขาเก็บเงินได้จากผู้ปกครอง ผู้ปกครองก็พร้อมจ่าย อยากให้ลูกอยู่โรงเรียนดีๆ ถ้าเป็นข้าราชการก็ใช้สิทธิเบิกคืนได้ เพราะว่าเก็บเงินตามระเบียบราชการ แต่อย่างโรงเรียนที่ผมดูอยู่ ไม่มีปัญญาจะเก็บหรอกครับ เขาไม่มีตังค์จ่าย เราก็ต้องให้บริการฟรีไปเลย เพราะฉะนั้นเราไม่มีงบส่วนนี้ ข้อแตกต่างระหว่างโรงเรียนในเมือง โรงเรียนใหญ่ที่เขาเก็บค่าเทอมได้ กับโรงเรียนชายแดนชายขอบ เขาก็อยากจะมี english program ของเขาเหมือนกันนะ แต่ก็ทำไม่ได้ ไม่มีตังค์ไปจ้างครูภาษาอังกฤษอะไรอย่างนี้ อันนี้คือความแตกต่างของโรงเรียนที่อยู่ในเมือง ชุมชนที่ฐานะดี กับโรงเรียนที่ห่างไกล
เพราะฉะนั้นถ้าผมสรุปว่า มันเป็นเพราะจำนวนเด็กที่ต่างกันลิบลับ เช่น โรงเรียนบางโรงเรียนมีเด็กไม่ถึงร้อย โรงเรียนบางโรงเรียนมีเด็กสองสามพัน ก็เลยทำให้ค่าใช้จ่ายห้าหกหมวดที่รัฐสนับสนุน มันก็ต่างกันตามไปด้วย ถูกต้องไหมครับ
ถูกต้องครับ หนึ่ง ขนาดโรงเรียนเป็นตัวบอกว่าจะมีเงินมาบริหารโรงเรียนมากน้อยแค่ไหน สอง พื้นที่ยากลำบากก็เป็นตัวบอกว่าตรงไหนจะระดมทรัพยากรได้ง่ายกว่ากัน แต่โรงเรียนในเมือง โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนที่เด่นดัง โรงเรียนที่เด็ก 2-3 พันคน เขาเรียกเก็บเงินเท่าไรผู้ปกครองก็ไม่ว่าอะไร บางคนก่อนจะเข้าได้ ผู้ปกครองต้องไปหาวิธีช่องทางจ่ายตังค์เพิ่มเพื่อจะเข้าเรียนตรงนี้ได้ด้วย เขาก็มีเงินที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เงินแป๊ะเจี๊ยะ อะไรอย่างนี้นะ แต่โรงเรียนผมนี่ต้องไปตามเด็กมาเรียน ‘เฮ้ย! มาเรียน ประเทศจะล่มจมถ้าแกไม่เรียน ต้องเอาข้าวมาล่อด้วยนะ’ (หัวเราะ)
เมื่อก่อนผมอยู่โรงเรียนชายแดน ขับรถไปเจอเด็กของตัวเองไปขุดหน่อไม้กับพ่อแม่อยู่ ผมก็ดุผู้ปกครองเขา ‘เฮ้ย! วันนี้เปิดโรงเรียนไม่ใช่เหรอ ทำไมให้ลูกมาขุดหน่อไม้ล่ะ ไปเรียนหนังสือ’ บอกพ่อเขา พ่อเขาบอก ‘ครู ไปโรงเรียนแล้วไม่ได้สตางค์ นี่ผมออกมาขุดหน่อไม้วันนี้ได้สามสิบบาทแล้ว’ คือ ฐานการคิดมันต่างกัน เวลาเราทำการศึกษากับเด็กกลุ่มนี้ เราเจอโจทย์หินกว่า
ตอนอาจารย์ได้ยินประโยคแบบนี้จากผู้ปกครองของเด็ก อาจารย์คิดอะไรอยู่
ตอนนั้นก็เข้าใจเขา คือรูปแบบการศึกษาที่เรามีอยู่มันต้องทำให้ fit กับปัญหาของเขา รูปแบบของเราจะเรียนเพื่อเรียนต่อ เรียนเพื่อจะเรียนสูงๆ ต้องเอาเกรด แต่มันไม่ตอบโจทย์เขา เราต้องทำให้เขากลับไปพึ่งตนเอง กลับไปดูแลครอบครัวตัวเองได้ มีข้าวกิน มีอาชีพ มีงานทำในพื้นที่เขา ภายใต้ข้อจำกัดเขา ก็เริ่มมีโรงเรียนแบบนี้หลายโรงมากขึ้น ฝึกทักษะชีวิต ทักษะอาชีพมากขึ้น ก็จะมีเสียงต่อต้านเรื่อง O-NET มาเป็นช่วงๆ เพราะโรงเรียนเหล่านี้ถ้าไม่มี O-NET ก็ไม่ขึ้นอะไร คะแนนตัดสินคือ ต้องจำให้ได้ว่าประวัติศาสตร์ไทยเสียกรุงกี่ครั้ง ปีเท่าไหร่ แต่เขาไม่สนหรอก เขาจะกินข้าว กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงเมื่อไหร่ไม่ต้องไปถาม
ระหว่างประเทศไทยเสียกรุงเมื่อไร กับหน่อไม้อยู่ตรงไหน อะไรสำคัญกว่า
ผมต้องบอกว่า เธอถนอมหน่อไม้ยังไงให้เก็บไว้ได้นานแล้วก็ราคาดี อันนี้ต้องสอนประเภทนี้ เธออย่าทำลายป่าเดี๋ยวเธอไม่มีข้าวกิน น้ำบ้านเธอแห้งเธอปลูกผักไม่ได้นะ ผมต้องไปสอนเรื่องแบบนี้มากกว่าที่จะเอาเรื่องทางวิชาการที่เด็กในเมืองเขาเรียนรู้กัน
ฉะนั้นการแก้ปัญหามันไม่ใช่การมองแค่ว่าจะทำอะไรก่อนหลังเท่านั้น แต่มันมีเรื่องต้องพิจารณาร่วมกันอีกหลายปัจจัยเลย
มันมีระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ไอเดียหนึ่งที่เราพยายามพูดคุยมาตลอดก็คือ จริงๆ แล้ว กสศ. ก็รับแนวคิดนี้ไปนะครับ เรื่องการจัดสรรงบประมาณที่มันไม่ใช่แบบเดิม
แบบเดิมที่ผมว่าก็คือการได้เท่ากันหมดทั้งประเทศ ตอนนี้ กสศ. หยิบเรื่องนี้ คือ เรื่องทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน เมื่อก่อนรัฐบาลจะวางไว้ร้อยละ 40 ของนักเรียนทั้งประเทศ และวิธีการให้ของเขา ถ้าโรงเรียนไหนมีนักเรียน 100 คนก็ให้ไป 40 คนทันทีนะ โดยไม่สนใจว่าโรงเรียนนั้นอยู่ในเมือง หรืออยู่ชายแดน ซึ่ง กสศ. ก็หยิบเรื่องนี้เรื่องแรก ชอบใจมากเลย เพราะยิงเป้าถูก เงินมาลงถูกเป้าน่ะ เพราะโรงเรียนที่เขามีร้อยหัวเขาก็อาจได้ร้อยหัวเลยก็ได้ถ้าเขายากจนทั้งโรงเรียน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ได้แค่ 40 เปอร์เซ็นต์ บางโรงก็อาจไม่ได้สักคน เพราะว่าเขาไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่เราคัดกรอง อันนี้น่ะดีขึ้น งบปัจจัยพื้นฐานก็ดีขึ้น งบช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษที่ กสศ. ทำอยู่ก็ดีขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะคุยให้สะกิดคิดก็คือเรื่องงบอุดหนุนนี่แหละครับ กับงบเรียนดี 15 ปี หรืองบอาหารกลางวัน งบนม คืองบลักษณะนี้เราจะปรับเปลี่ยนวิธีการที่เกี่ยวข้องได้อย่างไรเพื่อให้มันตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกวันนี้ ถามเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่บอกไม่ได้ ผิดระเบียบ งั้นจบ ผมก็บอกทำไมไม่เปลี่ยนระเบียบ ก็เป็นเรื่องใหญ่ ต้องเข้า ครม. เอ้าๆๆ ก็ไปจุดธูปกันอย่างเดียว ดูๆ แล้วไม่น่าจะมีความหวังกับการเปลี่ยนกฎกติกาลักษณะนี้
พอทำงานระยะหนึ่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนหลายโรงก็เริ่มหมดหวังกับวิธีคิดของรัฐ เขาก็เริ่มมาช่วยเหลือตัวเอง คนที่เป็นนักพัฒนาหน่อย รู้จักคนเยอะ ก็เชื่อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามา มาช่วยพัฒนา ปรับนั่น ปรุงนี่ คุยกับผู้ประกอบการบ้าง จริงๆ ก็เป็นไอเดียที่ดีนะครับ ให้ผู้ประกอบการ… เคยคิดกับเพื่อนว่าโรงเรียนในประเทศไทยมีสามหมื่นโรง แต่บริษัทในประเทศไทยมีเป็นแสน ถ้าเขาทำ CSR หนึ่งโรงเรียนหนึ่งบริษัท จับคู่แต่งงานกันเนี่ย คงมีคนเลี้ยงดูปูเสื่อโรงเรียนเยอะใช้ได้เลยล่ะ อันนี้ก็เป็นไอเดียที่คุยเล่นๆ สมมุติผมเป็นเจ้าของโรงงานสักโรงงานหนึ่งแล้วผมก็จับโรงเรียนนี้ไว้ เอาไปเลยการพัฒนา แถมให้ บอกมาเลยว่าจะใช้อะไร แต่ให้ทุกปี มันก็จะมีพาร์ทเนอร์คอยช่วย
แล้วการบริจาคแบบที่ผ่านๆ มา?
ถ้าในความคิดผม หลายๆ แห่ง เขาก็ช่วยเยอะ แต่บางทีเขาก็ช่วยแบบอยากตักข้าวให้กิน อยากเลี้ยงไอติม มันก็ไม่ยั่งยืน มันควรจะทำอะไร มันควรจะผ่านองค์กรไหน มาเป็นตัวกลางเชื่อมไหม เพื่อให้การบริจาคนั้นไปสัมพันธ์กับการจัดการของโรงเรียนอย่างยั่งยืน
คือเลี้ยงข้าวมันก็หมด สองหมื่นวันนี้ เลี้ยงข้าวอิ่มแต้ (อิ่มแน่ๆ) แต่ใจจริงเราอยากจะซ่อมห้องน้ำเหลือเกิน แต่คนให้เขาอยากเลี้ยงข้าวน่ะ เขาเห็นเด็กกินแล้วมีความสุข บางทีผู้บริจาคเขาก็จะมีวิธีคิดแบบนี้ เขาอยากจะให้กับมือ อยากแจกเสื้อผ้า อยากแจกผ้าห่ม ผมเห็นก็แจกทุกปีน่ะ เออ แต่ก็ประสบภัยหนาวกันทุกปี บางคนก็เกณฑ์มาด้วยนะ เกณฑ์มารับ
แต่ว่าคนให้เขาก็เจตนาดี ถ้าคิดว่าจะแก้อย่างยั่งยืนเพื่อให้เกิดการให้ที่มันตรงเป้าหน่อย จะจัดการอย่างไรดี
ข้อที่หนึ่ง mindset ของคนให้ก่อนนะ ถ้าต้องการให้เพื่อ หนึ่งล่ะ อยากจัดประเภทกลุ่มที่เขาอยากทำบุญ อยากจะให้อาหาร เราก็ตั้งกองไว้ให้จัดไปให้โรงเรียนที่เขาที่เดือดร้อน ตอนนี้โรงเรียนที่อยู่บนดอยไม่ค่อยมีคนไปหรอกครับ มันเดินทางยาก แต่โรงเรียนที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว เจ้าภาพกฐินไม่ขาดสาย เขาเดินทางง่ายไงครับ แต่กับอีกโรงเรียนหนึ่ง อยู่โน่น ติดชายแดน เดินทางยาก ไกลก็ไกล ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว ไปก็เหงา ร้อน แล้ง
มันต้องมีตัวเชื่อมกลางที่จะเป็นคนกระจายทรัพยากรตรงนี้ให้กับโรงเรียนอย่างเหมาะสม ภายใต้กลุ่ม ภายใต้ชมรม ภายใต้การขับเคลื่อนอะไรก็แล้วแต่ที่เราจะเป็นตัวกลางให้ แล้วถ้าคนให้บางคนบอกอยากจะเปลี่ยนหลังคาให้ มาเลย มาเปลี่ยนหลังคาให้ เดี๋ยวเราหาโรงเรียนที่พังๆ ให้ บางคนอยากทาสี มา เดี๋ยวหาให้ ตรงนั้น ตรงนี้ แต่เราจะต้องมีคนกลางที่เก็บข้อมูลข่าวสารที่มันอัพเดทเสมอๆ นะ เรียกว่าเจอปุ๊บใช้ปั๊บน่ะครับ ไม่มีการลักไก่ ไม่มีการใครมือยาวสาวได้สาวเอา ไม่มีคอนเนคชั่นอะไรอย่างนี้ ให้มันเป็นธรรม ถ้ามีระบบนี้เกิดขึ้น เด็กโรงเรียนก็พัฒนาได้ไว ทรัพยากรที่จะเข้ามาหาโรงเรียน ได้ช่องทางที่เขาจะวิ่งเข้าโรงเรียนก็ไม่ว่าน่ะครับ เพราะว่าบางโรงบางท่านเขาก็วิ่งเข้าโรงเรียนอยู่แล้ว เขาก็ให้ตรงจุด บางท่านก็ให้ไม่ตรงจุด หรือบางที่ได้รับเยอะเกินก็จะกระจายให้บางโรงที่ไม่เคยได้รับเลย อะไรอย่างนี้
สภาวะปกติพื้นที่ชายขอบก็ยากลำบากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอเจอโควิดเข้ามา โรงเรียนในพื้นที่เปราะบางเหล่านี้เจอผลกระทบอะไรบ้าง
ผลกระทบแรกที่เจอตอนโควิดแรกมา คือ เราถูกนโยบายจากส่วนกลางให้ใช้วิธีแบบ หนึ่ง สอง สาม อย่างนี้นะ แล้วมันไม่ fit กับเรา มันไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ผลกับเรา ให้เด็กดูทีวีทางไกลนะ ปรากฏว่าบางพื้นที่ไม่มีไฟ บางพื้นที่ไม่มีสัญญาณทีวีก็เกิดปัญหา พอเราไหวตัวปุ๊บ หลายโรงเรียนไม่เอาตามนโยบาย ดื้อ ผมเป็นหนึ่งในนั้นที่ดื้อ ไม่เอาตามนโยบาย ก็เปลี่ยนวิธีใหม่ โดยการออกแบบการเรียนเอง แต่ก็ยังต้องไปหาเด็ก จัดชุดการเรียนขึ้นมาเอง ค้นหาวิธีเป็น packgage learning เอง ก็ไปหาเด็ก ให้เด็กไปเรียนเองที่บ้าน อันนี้นี่ก็ปรับ อย่างน้อยได้เจอบทเรียนที่ดีขึ้น ไม่ต้องรอว่าถ้าเจอทีวีแล้วจะต้องทำยังไง ถ้าไม่เจอทีวีจะทำยังไง เราก็ปรับบทเรียนมาแล้วไปให้เด็กเรียน
ส่วนที่เหลือตามที่ข้างบนเขาคิดกัน เรียนทางไกล เรียนออนไลน์ เข้าซูม มาเช็คกูเกิล อะไรพวกนี้มันก็เป็นไปได้บางส่วน แต่อีกบางส่วนก็เป็นไปไม่ได้โดยข้อจำกัดของพื้นที่ เรื่องน้ำเรื่องไฟ เรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต อยู่ในพื้นที่หุบเขา ห่างไกลมันก็จะมีปัญหาอยู่แล้ว คือ สำคัญเด็กเขาต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต เขาอาจจะมีมือถือแต่เขาไม่มีเงินจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต ใครจะจ่ายให้เขา ถ้าเราจะบังคับให้เขา เขาก็จะเป็นภาระอีก บางบ้านจ่ายค่าเน็ตให้ลูก แต่ไม่มีข้าวกิน บางบ้านก็ย้อนแย้งกัน การศึกษาช่วยเขาได้แค่ไหน อันนี้ก็เป็นปัญหา ความพร้อมของเด็กไม่เท่ากับในเมือง เพราะฉะนั้นการซัพพอร์ตจากผู้ปกครองเหล่านี้ก็ไม่เท่ากับผู้ปกครองในเมืองที่มีความพร้อม การศึกษาดี มีฐานะ สอนหนังสือลูกได้
ในพื้นที่เปราะบาง ทุกวันนี้ลูกเก่งที่สุดในบ้าน ถ้าจะไปอำเภอต้องเอาลูกไปด้วย ไม่งั้นคุยกับอำเภอคุยกับปลัดไม่รู้เรื่อง เพราะเขาสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ เพราะฉะนั้นการให้การบ้านเด็กแล้วบอกไปถามพ่อแม่นี่ไม่มีความหวังเลยครับ เขาอธิบายลูกไม่ได้ อ่านก็ไม่ออก ความพร้อมของผู้ปกครองในการสนับสนุนเรื่องการเรียนไม่มี มีน้อย
ช่วงที่ผ่านมามีความพยายามอีกอันหนึ่งที่เกิดขึ้น เราพยายามบอกกล่าวส่วนข้างบนปลดล็อคให้เราคิดเองทำเองได้ เพราะบางโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล มีเด็กไม่เยอะครับ อย่างที่ผมบอก เด็กร้อยคนมันไม่ถึงขั้นติดโควิดน่ะ แต่เราถูกสั่งห้ามไม่ให้ใช้โรงเรียนเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนนี่จบเลย ใครก็ไม่กล้าเอาเด็กมาเรียนที่โรงเรียน พอเกิดอะไรปุ๊บก็รับไปเต็มๆ มีความผิด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เขาก็ไม่เสี่ยงกัน แต่ด้วยความที่ไม่เสี่ยงนี่ทำให้เราสูญเสียการเรียนรู้ของเด็กไปหรือยัง เพราะฉะนั้นสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้โรงเรียนในพื้นที่สูงหลายโรงเรียนต้องต่อสู้เอง เช่น ต้องเข้ามาในพื้นที่ ต้องหาบทเรียนไปให้เด็กเรียน แล้วก็ต้องหาวิธีเอาสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปตั้ง แล้วให้เขามานั่งรวมกันเพื่อจะดู เพราะฉะนั้นกรณีพิมรี่พายเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้แหละครับ มันไม่มีที่ของชุมชนในหมู่บ้าน เอาง่ายๆ ครับ ผมไปเยี่ยมบ้านเด็กช่วงโควิด ผมก็ถาม หนูนั่งเรียนตรงไหนเนี่ย เขาชี้ไม่ได้เลยนะครับ มันไม่มีโต๊ะนั่งเขียนหนังสือเหมือนลูกบ้านคนในเมือง ซึ่งมีพื้นที่นั่งเรียน มีห้องอ่านหนังสือ มีชุดอุปกรณ์การเรียน เด็กเดินตามหาปากกาดินสอครึ่งชั่วโมงกว่าจะเจอนะ ไหนหนูนั่งตรงไหน ที่เขาเรียกพื้นที่การเรียนรู้ ไม่มี อยู่ที่บ้านเนี่ยหาไม่เจอ หนังสือกระจายอยู่ซ้ายเล่ม ขวาเล่ม บนหลังคาเล่ม ใต้ถุนเล่มนึง อันนี้ผู้ปกครองเขาไม่สนับสนุน และเขาไม่รู้ด้วย
เด็กบางครอบครัว ห้องนอน ห้องครัว กับห้องเรียนพื้นที่เดียวกันหมด
โอ… เยอะๆ หลายสถานการณ์ไปดูก็เข้าใจเขา เพราะฉะนั้นในช่วงเวลาแบบนี้เราต้องการความช่วยเหลือจากข้างบนเราก็จะบอกว่าให้เราออกแบบเองเถอะ บางทีเราเปิดได้เราก็เปิด บางหมู่บ้านเขาก็กลัวกัน เอาไม้ไผ่มาขวางทางเลยนะ เขาไม่ให้คนภายนอกเข้า ครูเขาก็ไม่ให้เข้า เพราะเขามองว่าครูน่ากลัว ครูไปทั่ว เราก็ใช้คนในหมู่บ้านแหละคอยเชื่อมกับเรา มารับเอกสารที่หน้าหมู่บ้านหน่อย ให้เด็กรุ่นพี่อะไรอย่างนี้ ก็เกิดไอเดียเรื่องอาสาสมัครการศึกษาขึ้น เขาจะช่วยครูเดินทาง ในขณะที่ครูเองก็ทุ่มเทนะครับ หลายคนเราก็เห็น รูปในโซเชียลเยอะมากเลย ครูลื่นล้มบ้าง ครูขับมอเตอร์ไซค์ข้ามแม่น้ำบ้าง ครูหัวฟูเป็นฝุ่นบ้าง เพื่อจะเอาความรู้ไปส่งให้เด็ก ผมก็ถามว่าแล้วได้ช่วยเหลืออะไรครูบ้างไหม? ถามลูกหาบด้วยกัน เขาก็ตอบว่าบางทีก็ช่วยได้ บางทีก็ช่วยไม่ได้ ถ้าพอมีเงินก็จัดเป็นค่าอาหารมาให้เขา แต่เบี้ยเลี้ยงให้ไม่ได้นะ เขาปฏิบัติงานอยู่ ครูบางคนเข้าไปในหมู่บ้าน นั่งสอนในหมู่บ้าน นัดเด็กมาจริงๆ แต่ว่าที่หมู่บ้านมันไม่ใช่ห้องเรียนอะนะ ฟังก์ชั่นมันไม่ได้ จะหากระดานที่ไหนว้า มองซ้ายมองขวา เพราะฉะนั้นช่วงโควิดเราก็เผชิญปัญหาอย่างนี้ครับ แล้วยิ่งออกไปแล้วไม่เจอเด็ก เราก็ยิ่งออกแรงเยอะกว่าเดิมหลายเท่า ผลมันก็ออกมาได้น้อยเพราะว่าพื้นที่ไม่พร้อม
อาจารย์บอกว่าขอพวกเราจัดการเรียนการสอนเองเถอะ ออกแบบเองเถอะ ทางฝั่งข้างบนเขา say yes หรือว่า say no ครับอาจารย์
เขาก็บอกว่าให้โรงเรียนเลือกได้ตามความเหมาะสม อันนี้ผมเห็นท่านเลขาฯ พูดเมื่อกี๊ มันมีตั้ง 5 รูปแบบ ออนไลน์ ออนไซด์ ออนแอร์ ออนดีมานด์ อะไรอย่างนี้น่ะครับ แต่ในความเป็นจริง ศบค. เขาก็สั่งตูมเดียว เพราะมันคนละส่วนกันระหว่างกระทรวงศึกษาฯ กับมหาดไทย หยุด งดเรียน สถานศึกษาทุกแห่งปิด ไม่ได้สนใจเลยว่าแห่งนั้นจะมี 20 คน แห่งนั้นจะมี 3,000 คน แต่ 3,000 คน ผมเห็นด้วยนะ อย่าให้มารวมกันเลย แต่สัก 100 คนเนี่ย ผมจัดการให้ปลอดภัยได้นะครับ เริ่มตั้งแต่อย่าให้เข้าแถว ผมคิดอย่างนั้นเลยนะ อย่าให้เขาเข้าแถว ไม่อย่างนั้นเขาจะรวมกันเยอะ ถึงเวลาปุ๊บกระจายตัวเข้าห้องเรียน เรียนให้สั้นลง อย่าให้เขาอยู่ในเวลาโรงเรียนเยอะ พักเรียนให้เหลือ 40 นาที กินข้าวเสร็จให้เข้าห้องเรียนเลย ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวมันวิ่งเล่นกัน โรงอาหารไม่ใช้ ไปนั่งในห้องเรียน ล้างมือก่อน ครูก็กลัวติดเหมือนกัน เรื่องแบบนี้โรงเรียนออกแบบจัดการได้เยอะครับ ออกแบบกิจกรรมกีฬา ลูกเสือ กระจายตัว สลับวันเรียนยังได้เลยครับ วันนี้ ป.1 พรุ่งนี้ ป.2 วันมะรืนสลับไปสลับมา ป.1-3 วันจันทร์ ป.4-6 วันอังคาร ป.1, ป.3 มาวันพุธอย่างนี้
การออกแบบแบบนี้เขาไม่มี option ให้เรา เขาก็สั่งหยุดอย่างเดียว เปิดก็เป็นเปิด ปิดก็เป็นปิด เขาต้องการใช้กับทุกโรงเรียน ไม่ว่าจะขนาดไหน บริบทไหน ก็เป็นความปรารถนาดีของเขาแหละครับ แต่ว่าเราเสียดายที่เด็กไม่ได้เรียนแค่นั้นเอง ถามว่าครูมีความสุขไหม? ก็น่าจะมีความสุขนะ มันไม่เหนื่อย แต่หลังๆ มารู้สึกทรมานจิตใจตัวเอง อยากสอน เป็นห่วงลูกศิษย์ ถ้าออกพื้นที่ข้างนอกยิ่งหนักกว่าเดิมอีก ก็ลงทุนลงแรงกันเยอะครับ
กลับมาที่ไอเดียเดิมเลย คือ มันไม่ fit กับพื้นที่
ครับ เรารวบอำนาจตัดสินใจ คิดแทนเขาเยอะไปหน่อย