เรื่อง: ณิชกานต์ ภักดี
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
เราทุกคนล้วนเคยอ่านนิทานที่หน้าสุดท้ายของหนังสือมักจะลงท้ายด้วย ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ ประโยคนี้เองที่ รับขวัญ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตั้งคำถามกับนิทาน นิทานส่วนใหญ่กลายเป็นเครื่องมือสั่งสอนศีลธรรม สอนให้เชื่อมากกว่าตั้งคำถาม
จากคำถามนั้น เธอจึงเขียนนิทานเรื่องหนึ่งขึ้นมา – เดินไปดวงดาว
นิทานเล่าเรื่องเด็กผู้หญิงและแม่ที่อาศัยอยู่ในเมืองสีฝุ่น ตัวละครพยายามเดินไปดวงดาวโดยมีเป้แบกฝันและรองเท้าเหล็กเป็นเงื่อนไขติดตัวตลอดการเดินทาง ในระหว่างการผจญภัย เธอได้พบกับคนจากเมืองขี้เกียจและดวงดาวที่เงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกันลิบลับ สุดท้ายแล้วเธอค้นพบว่าเป้แบกฝันเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง เธอไม่มีวันเดินไปถึงดาวดาวอย่างที่แม่บอกได้
เราพูดคุยกับ รับขวัญ ในฐานะผู้เขียนและผู้วาดนิทานเรื่องนี้ นิทานที่ฉีกกฎนิทานทั่วไป หน้าสุดท้ายของนิทานไม่มีคำสอนประเภท ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ แต่ชวนผู้อ่านตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำในโลกทุนนิยม
การเติบโตมาจากการเป็นนักเรียนทุนยากจนที่ต้องไปนั่งเล่าความน่าสงสารว่าที่บ้านยากจนอย่างไร กระบวนการเหล่านี้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทำให้เธอเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ และสะสมและรอวันที่จะประกาศออกมา
นิทานเรื่องนี้คือรูปธรรมหนึ่งที่เธอสั่งสมความบอบช้ำมาจากโลกใบเดียวกับที่เราหายใจร่วมกัน
นิทาน เดินไปดวงดาว มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมนิทานเรื่องนี้พูดเรื่องหนักๆ อย่างความเหลื่อมล้ำหรือแม้แต่โลกทุนนิยม
จริงๆ หนังสือนิทาน เดินไปดวงดาว เป็นงานวิจัยของ อาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (พี่ชาย) อาจารย์ษัษฐรัมย์เป็นคนเขียนงานวิจัยชิ้นนี้และเขาให้เราเป็นคนตั้งชื่อหนังสือ ตั้งชื่อบทความ พอเราอ่านเสร็จและคิดว่ามันเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์ และประเด็นที่มีความสำคัญก็คือเราไม่สามารถไปถึงความฝันอย่างที่โลกทุนนิยมบอกเราได้ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงให้ชื่องานวิจัยออกมาชัดเจน ก็เลยใช้ชื่อว่า เดินไปดวงดาว: ทุนนิยมไทยในกระแสเสรีนิยมใหม่กับความฝันที่ไม่มีวันไปถึง แล้วตอนนั้นเขาให้ช่วยเขียนคำนิยม เราก็เขียนให้ที่ปกหลังซึ่งก็เหมือนเป็นการสร้างไอเดียตอนนั้นว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรที่คนคนหนึ่งจะเดินไปถึงดวงดาวได้
มันเริ่มจากจุดนั้นและเราก็คิดว่างานวิจัยไม่ใช่รูปแบบที่ทุกคนจะได้นั่งอ่านหรือทำความเข้าใจตัวเลขและประเด็นที่ซับซ้อนได้ เลยคิดว่าจะทำยังไงให้มันเกิดเป็นไอเดียง่ายๆ และเป็นไอเดียที่สามารถพูดกับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกับเด็กหรือไม่ใช่เฉพาะกับผู้ใหญ่ก็เลยเกิดเป็นหนังสือนิทาน เดินไปดวงดาว
พอเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการในรูปแบบนิทาน ก็เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อเด็กเล็กอ่านแล้ว เขาจะรับเอาข้อความที่ผู้เขียนตั้งใจถ่ายทอดไว้ได้มากน้อยแค่ไหน
ในฐานะคนเขียน หนังสือเล่มนี้ open มากๆ แล้วผลลัพธ์ของการอ่านในแต่ละแบบไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ถ้าคุณปล่อยให้เด็กอ่าน เราไม่ได้มีความคาดหวังว่าเด็กจะต้องเข้าใจว่า สังคมไทยจงมีรัฐสวัสดิการเถิด จงเป็นเสรีนิยมเถิด หรือสังคมนิยมประชาธิปไตย เขาคงไม่ต้องมานั่งตั้งคำถามตรงนั้น แต่มันจะมีดีเทลเล็กๆ ระหว่างการอ่านที่ผุดขึ้นมาให้เขาตั้งคำถามว่า ทำไม ทำไมต้องแบ่ง เด็กต้องเชื่อมโยงได้ว่าการแข่งวิ่งที่โรงเรียน ถ้ามีคนได้ที่หนึ่ง ก็ต้องมีคนได้ที่โหล่ในทุกการแข่งขัน เขาอาจจะตั้งคำถามแค่นี้ แล้วมันมีทางอื่นไหม
สำหรับเด็กเล็ก ดวงดาวของเขาอาจจะเป็นแค่เตียงนุ่มๆ ของกินอร่อยๆ มันก็กำลังเล่นกับจินตนาการของคนอ่านที่เราก็คงตอบให้ไม่ได้ (หัวเราะ) มันไม่ใช่เปเปอร์วิชาการที่ต้องมีข้อสรุปว่าเด็กต้องได้อะไร เราว่ามันคือการเปิดพื้นที่ให้คิดมากกว่า
ความตั้งใจจริงๆ คือเราอยากให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อ่าน เหตุที่เราอยากแจกฟรี เพราะในปัจจุบันหนังสือนิทานแพงมาก บางเล่มหลักร้อยหรือสองสามร้อย ทั้งๆ ที่มันควรเป็นสื่อที่เข้าถึงเด็กทุกๆ คน หนังสือเล่มนี้มันไม่ได้เป็นหนังสือปกหนา หรูหรา แต่เราอยากส่งต่อจินตนาการ ส่งต่อความคิดให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่มากกว่า
ระหว่างทำงานชุดนี้ ความรู้สึกแบบไหนที่เกิดขึ้นกับอาจารย์บ้าง
เรารู้สึกเจ็บเหมือนกัน เพราะเลี่ยงไม่ได้ว่าตัวละครที่เราเขียนต้องมีความเป็นตัวเรา วัตถุดิบมาจากตัวเองค่อนข้างเยอะ แต่ตอนเขียน process มันเป็นการคิดมากกว่า ความรู้สึกหนักเหล่านี้เราจะเปลี่ยนมันเป็นอะไรดี แล้วเส้นทางที่จะไปถึงดวงดาวมันจะมีอะไรบ้าง ในหัวมันมีเยอะมาก แต่การเขียนหนังสือนิทานต้องย่อยให้ clean ที่สุด เพื่อไม่ให้มันหม่นจนเกินไปสำหรับเด็ก เราพยายามคิดให้เป็นสัญลักษณ์สำหรับเด็กเพื่อให้เขาตั้งคำถาม แต่สำหรับผู้ใหญ่เราคิดว่ามันค่อนข้างชัดเจน เชื่อมโยงได้ เพราะเราอยากสื่อสารกับผู้ใหญ่ด้วยเหมือนกัน ซึ่งมันคือความรู้สึกเราเหมือนกันในวัยนั้นที่เรายังรู้สึกอยู่
ทำไมอาจารย์จึงบอกว่าหนังสือนิทานเรื่องนี้แตกต่างจากหนังสือนิทานที่เคยอ่านตอนเด็กๆ
เราเป็นคนที่โตมากับนิทาน แต่ไม่ได้เชื่อในนิทานขนาดนั้น อาจจะเป็นเพราะบรรยากาศในครอบครัวแล้วก็หนังสือนิทาน เดินไปดวงดาว ไม่ได้เป็นลักษณะนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าเด็กต้องเชื่อ แต่เป็นนิทานเชิงตั้งคำถาม เราจะชินมากกับการอ่านหนังสือนิทานอีสป และจำได้เลยว่าหน้าสุดท้ายจะมีตัวสรุปตัวเล็กๆ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ‘ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ ซึ่งเราไม่ได้เชื่อแบบนั้น แต่เราสนใจว่า แล้วทำไมเต่าต้องมาวิ่งแข่งกับกระต่ายที่วิ่งเร็วมาก เต่าที่วิ่งช้าขนาดนั้นจะไปรับวิ่งแข่งทำไม หรือถ้ากระต่ายไม่หลับแล้วเต่ามันจะไปชนะได้ไง มันไม่มีทาง
สิ่งที่ต่างกันคือเราอยากให้หนังสือนิทานเล่มนี้ไม่สั่งสอน ไม่ได้มีข้อคิดบรรทัดเดียวจบ แต่ชวนให้ตั้งคำถามและในความเป็นจริงเราอยากส่งต่อความเป็นไปได้อื่นที่สังคมสามารถเรียกร้องได้ หรือข้อเสนออื่นๆ ที่เขาไม่เคยได้ยิน
บรรยากาศในการเล่านิทานตอนเด็กๆ ของอาจารย์เป็นอย่างไร ทำไมเด็กคนหนึ่งถึงไม่เชื่อว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร แต่กลับสนุกในการตั้งคำถามกับมัน
บรรยากาศที่ทำให้ตั้งคำถามมีหลายปัจจัย มันอยู่ที่ว่านิทานเล่มนั้นถูกอ่านแบบไหน เราอาจจะโตมาในครอบครัวที่แม่จะถามตลอดว่าทำไมตัวนี้ถึงเป็นอย่างนี้ หนูชอบตัวไหน ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ไม่ได้ทำให้เราอยากรู้ตอนจบของนิทานเพื่อจะต้องกลัวหรือว่ารับมอบคำสั่งสอน ซึ่งมันจะต่างกับเวลาคุณครูเล่าว่าใครเป็นตัวดี ใครเป็นตัวร้าย แล้วสุดท้าย ถ้าเราไม่อยากเป็นแบบนี้เราต้องไม่ทำอย่างนี้นะ มันเป็นการสร้างความกลัว ซึ่งแปลกมากเลยทำไมนิทานเด็กต้องสร้างความกลัวผ่านการสร้างบทตัวร้ายขึ้นมาแล้วก็ทำอะไรแย่ๆ
ซึ่งเรารู้สึกว่านิทานเด็กไม่ใช่เครื่องมือทางศีลธรรม แต่ต้องเป็นเครื่องมือทางมนุษยธรรมที่ทำให้เราเป็นคนที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่มากกว่าที่จะรู้สึกว่า ฉันโดนบังคับให้เป็นแบบนี้หรือเพราะเขาสั่งมาให้เป็นแบบนี้
จุดไหนที่ทำให้อาจารย์คิดว่าต้องเผยแพร่นิทานเรื่องนี้ออกไป
จริงๆ เป็นคำถามที่สำคัญมากว่าทำไมต้องทำเรื่องนี้ ทำไมต้องลงทุนกันเอง เราก็พยายามเผยแพร่ออกไปให้กว้างที่สุด เพราะเราคิดว่าการต่อสู้ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมเชิงโครงสร้าง เราไม่สามารถสู้ในระดับปัจเจกได้ เพราะอีกฝั่งหนึ่งเขาทำงานหนักมากในเชิงวัฒนธรรม ทั้งหนังสือนิทาน ละครหลังข่าว หนัง หรือนิยายของฝั่งโลกทุนนิยมหรือเผด็จการ เขาไม่ได้มาชี้หน้า ไล่เราไปอ่านทฤษฎีของใครเลย เขาไม่ได้โยนตำราวิชาการให้เราอ่านเลย แต่ฝั่งเผด็จการทำงานผ่านนิทานก่อนนอน นิทานครูสอนเด็ก การละเล่นในโรงเรียน ผ่านเกม ถ้าเราจะต่อสู้มันต้องทำหลายๆอย่าง เราทำงานอยู่ในวงการวิชาการ เขียนบทความวิชาการ เขียนวิทยานิพนธ์ แต่เราไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านี้จะไปถึงคนกี่คน กลายเป็นว่าเรายิ่งสร้างกำแพงสูงขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะสู้ ก็ต้องมีหนังสือนิทานที่เอามาโต้กับนิทานอีสปแบบเดิมบ้าง
วัยเด็กของอาจารย์เคยมีเป้กับรองเท้าเหล็กไหมคะ แล้วในเป้ของอาจารย์มีอะไรบ้าง (ในนิทาน เดินไปดวงดาว มีการใช้เป้และรองเท้าเหล็กเป็นสัญญะเพื่อสื่อถึงความฝัน ความคาดหวัง ที่คนในเมืองสีฝุ่นและเมืองขี้เกียจกำลังแบกภายใต้โลกทุนนิยม)
ตอนเด็กเราคงไม่รู้หรอก แต่พอเติบโตก็สามารถย้อนกลับไปคิดว่า เราเคยแบกอะไรไหม พอคิดย้อนกลับไปก็ตอนอยู่ ม.ปลาย เรารู้สึกว่าเป้ของเราหนักขึ้นเรื่อยๆ ต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะเรียนอะไร จบมาจะทำงานอะไร อีกทั้งเศรษฐกิจที่บ้านก็ไม่ได้มั่นคง ความเครียดก็มี พอเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยก็ต้องไปขอทุนนักเรียนยากจน ต้องไปนั่งประจานว่าบ้านตัวเองลำบากยังไง บ้านคุณลำบาก ทำไมบ้านคุณมีรถขับ คือมันเป็นภาพที่ไม่ได้ปรากฏเป็นรูปธรรม แต่มันค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่าทางเลือกในชีวิตเราก็ค่อยๆ น้อยลง คำถามแรกก็คือ พอเราเรียนจบ เราจะต้องทำงานซัพพอร์ตที่บ้าน แล้วต้องเอาตัวเองให้รอดด้วย เราก็คิดว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องคิดอย่างนี้ คนที่ไม่คิดแบบนี้คือคนบนดวงดาว (หัวเราะ)
แต่เราต้องคิดแบบนี้ เพราะทางเลือกในชีวิตมันเหลือน้อยแล้ว ทำอย่างไรให้มีอาชีพที่มั่นคง เราเลือกเป็นอาจารย์เพราะเราชอบเป็นอาจารย์ ชอบสอน แต่เราก็ไม่เคยถามตัวเองเลยจริงๆ ว่า ถ้าเราอยู่ในบริบทประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคง จนไม่ต้องคิดเรื่องหนี้สิน เราจะยังอยากเป็นอาจารย์อยู่ไหม พอมองย้อนกลับไปเราจึงคิดว่าหรือจริงๆ แล้วมันก็คือเป้ที่เราแบกอยู่ แล้วเกิดความรู้สึกว่า เราแบกเป้เบากว่าหลายๆ คนในประเทศนี้อีกเยอะมาก
พอจะพูดได้ไหมว่าทุนการศึกษาที่เรามอบให้กับเด็กที่ขาดโอกาสจัดอยู่ใต้ร่มธงของรัฐสวัสดิการ
ไม่ใช่ค่ะ (ตอบทันที) ทุนที่เราขอคือทุนสงเคราะห์เด็กอนาถาเลย เด็กที่ต้องถ่ายรูปบ้านที่ดูยากจนซอมซ่อเพื่อให้ดูน่าสงสาร แล้วก็ไปนั่งต่อหน้ากรรมการ 5-6 คน เหมือนรายการ ไมค์ปลดหนี้ เหมือนเขาพยายามจะสงสารเราให้ได้ แล้วเราก็ต้องพยายามทำให้ดูน่าสงสารเพื่อจะได้ค่าเทอมโดยไม่ต้องรบกวนที่บ้าน ซึ่งตอนนั้นมหาวิทยาลัยก็ออกนอกระบบ สำหรับครอบครัวค่าเทอมเป็นหมื่น มันก็แพง แต่ถามว่าเราเอนจอยไหม เราไม่เอนจอยเลย โคตรไม่ชอบเลย แต่มันเลือกไม่ได้ไง
ความรู้สึกสงสารตัวเองที่ต้องมานั่งให้คนอื่นสงสาร มันก่อให้เกิดอะไรตามมา
กระบวนการแบบนี้มันมีกลไกของมันอยู่ เขาไม่ได้แค่จะมาทำให้เราดูน่าสงสาร แต่ก็จะมีคนบางกลุ่มเหมือนกันที่เมื่อได้รับทุนก็จะรู้สึกซาบซึ้งเป็นบุญคุณ ซึ่งกระบวนการแบบนี้มันสำคัญมาก การที่ทำให้คนข้างล่างรู้สึกซาบซึ้งคุณคุณจะรู้สึกว่าไม่ต้องตั้งคำถามอะไรกับสังคมอีกแล้ว ในบางมหาวิทยาลัยจะต้องเกณฑ์เด็กที่ได้รับทุนไปทำกิจกรรมในวันสำคัญ ให้เด็กก้มกราบเพื่อทำให้รู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของบุญคุณนี้ แล้วถ้าถามว่ามีคนรู้สึกอินไหม เราว่ามันก็ต้องมี ถามว่ามันยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำไหม มันยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำแน่นอน เพราะไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเลย ขณะที่เราได้ทุน ก็มีเด็กอีกหลายคนที่ไม่ได้ แล้วก็มีเงื่อนไขอีกว่า ถ้าคุณได้ทุน เกรดห้ามต่ำกว่า 3.00 แต่ว่าถ้าคุณเป็นเด็กบนดวงดาวคุณเรียนไม่เก่งก็ได้ อันนี้คือเงื่อนไขในเป้เรามันเยอะไปหมดเลย ถ้าเราจะอยากอยู่ตรงนี้
รัฐสวัสดิการกับการศึกษาควรสัมพันธ์กันในรูปแบบไหน
รัฐสวัสดิการต้องเริ่มจากการเป็นรัฐสวัสดิการแบบ for all หรือถ้วนหน้า ไม่ใช่รัฐสวัสดิการที่ต้องพิสูจน์ถึงความจนจริงหรือจนปลอม คำว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ ต้องครอบคลุมทุกมิติในความเป็นมนุษย์ และปัจจัยขั้นพื้นฐานที่ฉุดให้เราเดินช้ากว่าคนอื่น ทำตามฝันได้ช้ากว่าคนอื่น เช่น การเข้าถึงการศึกษา สิทธิตั้งแต่เกิด สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล สิทธิที่อยู่อาศัย หรือบ้านที่ปลอดภัย เราไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องมีบ้านใหญ่เท่ากันหมด แต่ว่าทุกคนต้องมีพื้นที่ที่คุณสามารถใช้ชีวิตแบบมนุษย์ปกติได้ ซึ่งตอนโควิดมันก็เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำมากๆ ครอบครัวหนึ่งพ่อแม่ลูก 5-7 คน นอนอยู่ห้องเดียวกันแล้วคุณบอกให้เขา social distancing แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องแบบนี้มันไม่สามารถทำได้ทุกครอบครัว
รวมถึงสวัสดิการของคนที่ทำงาน เงินเดือนที่จะทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกว่าฉันไม่ต้องเอาความฝันของฉันไปผูกกับพ่อแม่ เพราะว่าพ่อแม่ส่งเสียฉันเรียนพิเศษ จริงๆ พ่อแม่ทำด้วยความรัก แต่การที่พ่อแม่บอกเด็กว่า ฉันลงทุนไปกับเธอเยอะมากเลยนะ ซึ่งคำนี้มันเจ็บสำหรับเด็กเหมือนกัน เพราะกลายเป็นว่าเด็กคือหน่วยลงทุน ถามว่าพ่อแม่ปรารถนาดีไหม ปรารถนาดี แต่เงื่อนไขทางสังคมและกลไกต่างๆ ทำให้เหมือนว่าพ่อแม่กำลังลงทุนกับความฝันของลูกอยู่
ถามว่าการศึกษาควรเป็นอย่างไร การศึกษาสำหรับเราควรฟรี เมื่อการศึกษาฟรี การกระจายคุณภาพก็ไม่ต้องมากระจุกอยู่ที่เมืองหลวง การศึกษาควรเป็น passage of life เป็นทางของชีวิต ไม่ใช่ตั๋วทองคำที่คุณจ่ายเงินซื้อ เพื่อยกสถานะให้เหนือคนอื่น หรือเป็นตั๋วที่ทำให้คุณได้เงินเดือนหมื่นห้า แต่มันต้องเป็นเส้นทางที่ทำให้คุณมีความเป็นคนมากขึ้น ไม่ใช่มีความเป็นคนลดลง เรารู้สึกว่าการศึกษาทุกวันนี้ทำให้เราเป็นมนุษย์กันน้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นหุ่นยนต์เครื่องจักรเพื่อเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน
การศึกษาที่ดีจะทำให้เกิดสิ่งใด
ความเป็นมนุษย์ – เราจะได้เรียนในสิ่งที่เราอยากจะเป็น เรามีเพื่อนหลายคนมากที่ต้องเรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ เรียนเพื่อจบไปจะได้มีงานทำที่แน่นอน แต่ถ้าเกิดการสนับสนุนจากรัฐ คุณสามารถทำตามความฝันได้โดยไม่ต้องคิดว่า จะได้งานทำหรือไม่ได้งานทำ คุณไม่ต้อง limit choice ของตัวเองว่าอยากเป็นอะไร สิ่งสำคัญของการศึกษา คือ คุณจะได้สร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมในสิ่งที่เราอยากทำ อยากเปลี่ยนบางสิ่งให้ดีขึ้น มากกว่าแค่ เรียนให้มันจบๆ ไป เพื่อเอาใบปริญญาไปสมัครงาน
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่การศึกษาเป็นของฟรี มันก็จะมี value ในเชิงของการยกสถานะทางสังคมน้อยลง เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ ถ้าคุณไม่อยากเรียน คุณก็มี choice อย่างอื่นที่จะไปทำ แต่ตอนนี้เราเห็นความทุกข์ของนักศึกษา 2 แบบ
แบบที่หนึ่งคือ นักศึกษาทุกข์ระทมมากกับการเรียนในมหาวิทยาลัยเพราะค่าเทอมแพงมาก แต่ต้องรีบเรียนให้จบเพื่อที่จะเอาวุฒิการศึกษา แบบที่สองคือ ไม่มีเงินเรียนทั้งๆ ที่อยากเรียนมาก พอไม่มีรัฐสวัสดิการ การศึกษามันลดทอนความฝันของคนไป
ความใฝ่ฝันของเด็กคนหนึ่งในรัฐที่มีสวัสดิการ น่าจะต่างไปจากความฝันของเด็กที่อยู่ในรัฐสังคมสงเคราะห์?
ความฝันในโลกรัฐสวัสดิการเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพราะสังคมรัฐสวัสดิการรองรับความผิดพลาด รองรับความล้มเหลว ในโลกทุนนิยมสมมุติถ้าคุณยึดติดความฝัน แล้ววันหนึ่งคุณพลาด คุณอาจจะไม่มีโอกาสได้ฝันต่อแล้วด้วยซ้ำ
เราตอบไม่ได้ว่าความฝันมันจะไปไกลแค่ไหนในโลกรัฐสวัสดิการ แต่คำตอบอยู่ที่ว่า ต่อให้ความฝันของคุณมันสั้นมาก คุณสามารถไปฝันอย่างอื่นได้
เหมือนเราเติบโตมาด้วยบรรยากาศของความกลัวมาตลอด ถ้าวันหนึ่งสังคมเอื้อให้เราไม่ต้องกลัว เป็นสังคมที่อาจารย์กล่าวถึงเมื่อครู่ คืออนุญาตให้คนผิดพลาดได้ ล้มเหลวได้ สังคมที่เต็มไปด้วยคนที่ไม่รู้สึกกลัว จะเป็นสังคมแบบไหน
เราคิดว่าคงเป็นสังคมที่ innovative จะมีความสร้างสรรค์หรือเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ของสังคมได้เยอะขึ้น อาจจะเป็นตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างหนังสือนิทาน เราอาจได้เห็นหนังสือนิทานที่เยอะและหลากหลายกว่านิทานแบบพลเมืองดีของชาติ สอนร้องเพลงชาติ (หัวเราะ) วันหนึ่งร้านหนังสือจะมีหนังสือมากมายนอกจากหนังสือ how to happy, how to อยู่กับความทุกข์, how to ประสบความสำเร็จ, how to รวย แต่พอความฝันมัน limit คนก็กลัว สิ่งที่เกิดขึ้นมามันก็คือ ทางเลือกหรือความเป็นไปได้อย่างอื่นก็น้อยลงๆ จนทำให้คนไม่กล้าที่จะคิดอย่างอื่น
ถามแบบคนมองโลกในแง่ร้าย ถามในฐานะตัวแทนที่อยู่ในวัยที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัยที่มีอารมณ์โกรธร่วม พวกเรารู้สึกกันจริงๆ ว่าสังคมนี้มันซังกะบ๊วยจริงๆ แต่ทำไมอาจารย์จึงย้ำบ่อยๆ ตลอดการสนทนาว่าเรื่องนี้จะจบดี
เราอาจจะเป็นอีก Gen หนึ่ง ที่มองเห็นคนรุ่นใหม่โกรธ แล้วเรารู้สึกว่ามันคือภาคต่อของเล่มนี้แล้วนะ เด็กรุ่นใหม่ไปไกลกว่าเด็กในนิทานแล้ว เด็กในนิทานบางคนยังเป็นสลิ่มอยู่เลย คิดว่าตัวเองจะเอาชนะทุนนิยมได้ แต่ที่เรามีความหวัง เพราะคนรุ่นใหม่รู้สึกโกรธ แต่คนรุ่นเราไม่เคยมีปัญหากับความโกรธเลย ทั้งๆ ที่มันต้องโกรธ ก็สังคมมันแย่ มันโกรธได้อยู่แล้ว มันจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าเราไม่โกรธ เรายอมจำนนกับมัน ก็เหมือนเราอยู่ในสังคมที่พร้อมให้เราเป็นผู้ถูกกระทำตลอดเวลา แต่ทำให้เรารู้สึกเป็นสุขทั้งที่ชีวิตมันทุกข์ ให้เราเดินยิ้มไปบนดวงดาวตลอดเวลา อันนี้ต่างหากที่มันเพี้ยน
อาจารย์คิดว่าเป้ของเด็กสมัยนี้เขามีอะไรบ้าง เขาต้องแบกอะไรบ้าง
ปีที่ผ่านมาเราได้กลับมาอยู่เมืองไทยเต็มปีพร้อมกับสภาพของประเทศที่อะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด เรียกว่าเป็นช่วงวิกฤติหลายอย่าง ยิ่งเวลาได้สอนก็เห็นแววตาของคนรุ่นใหม่ เขาแบกอะไรเยอะมากกว่าตอนที่เราอายุเท่าพวกเขา เราคิดว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองด้วยซ้ำ มันคือเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องที่มีความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ความคาดหวังของพ่อแม่ที่ส่งต่อมาถึงเขาก็ยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ ความเปราะบางในชีวิตมันมากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งคุยกับนักศึกษารุ่นใหม่ๆ เขาดูแบกโลก แต่ในความแบกนั้นก็มีสิ่งที่ไม่เคยมีในรุ่นเรา มันคือความเชื่อว่าสังคมเปลี่ยนได้ คนรุ่นเราคือ passive มากๆ เขาให้ทำอะไรก็ทำ ไม่รู้ว่ามองโลกในแง่ดีไหม แต่เราเชื่อว่า คนรุ่นใหม่เห็นความเป็นไปได้อย่างอื่นแล้ว
ตลอดปี 2563 เราได้เห็น movement จากนักเรียนนักศึกษา อาจารย์คิดว่าเป็นเพราะพวกเขาเห็นทางเดินไปดวงดาวเหมือนในนิทานหรือเห็นทางเดินไปทำตามความฝันของตัวเองหรือเปล่า
เราไม่แน่ใจว่าเขาเห็นเส้นทางไปดวงดาวไหม แต่เราคิดว่าเขาอาจจะเห็นว่ามันไม่มีทางที่จะไปดวงดาวมากกว่า เขาจึงลุกขึ้นมา อาจจะเห็นว่าบนพื้นดินในเมืองสีฝุ่นไม่ใช่ฝุ่นธรรมชาติ อาจจะเป็นฝุ่นที่พยายามทำให้มีฝุ่นตลอดเวลา และฝุ่นก็จะไม่มีวันหมดไปจากเมืองนี้แน่ๆ นับวันฝุ่นยิ่งหนายิ่งเข้าไปในร่างกายในเนื้อตัวของเขา คำหนึ่งที่เราได้ยินจากคนรุ่นใหม่เยอะขึ้นก็คือ ‘มันแย่ขนาดนี้จะไม่ให้รู้สึกได้ไงอาจารย์’ เราว่ามันน่าจะเข้มข้นขึ้นรวมถึงการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ก็รวดเร็วขึ้น
อาจารย์มองเห็นแนวโน้มเรื่องรัฐสวัสดิการในยุคสมัยของคนรุ่นถัดไปอย่างไร
แน่นอน ต้องเป็นแนวโน้มที่ดีอยู่แล้ว ถ้าให้คิดแบบบวก หรือสิ่งที่เราเชื่อเลย ถ้ามีคนที่เชื่อแล้วเชื่อว่ามันเป็นไปได้ก็จะเกิดการต่อสู้ให้มันดีขึ้น หรืออย่างน้อยๆ เวลามีอะไรที่จะทำให้แย่ลง คนพวกนี้ก็ไม่ยอมเหมือนกัน ไม่ปล่อยให้มันผ่านไปง่ายๆ แล้วจะไม่เหมือนรุ่นเราที่มีการ privatize (มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ) การศึกษาในมหา’ลัยและค่าเทอมดับเบิลไปอย่างง่ายดาย มันส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา
อะไรคือข้อสังเกตของอาจารย์จากการที่ได้เห็นจากคนรุ่นใหม่
เราว่าคนรุ่นใหม่เขา realistic เขามองโลกตามความเป็นจริง แล้วเขาไม่กระแดะที่จะบอกว่าประเทศไทยดี ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่ต่างจากรุ่นเรามากเพราะว่า วันหนึ่งถ้าคุณเข้าไปในตลาดแรงงาน คุณมีเงินเดือนเดือนละ 30,000 คุณมีรถขับ คุณได้นั่งร้านกาแฟเก๋ๆ คุณจะมีความกระแดะรู้สึกว่าประเทศนี้มันดีแล้ว มันโอเคแล้ว แต่คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะนักเรียน เราชื่นชมนักเรียนมัธยมมากเพราะอยู่ใน sector หรือว่าในบริเวณที่เขาโดนกดทับมากที่สุด มากถึงขั้นเกี่ยวกับร่างกายเขา ทรงผม เสื้อผ้า แล้วเขาออกมาพูด เราว่ามันคือสิ่งที่เรียล แล้วจะมีผู้ใหญ่ที่ชี้นิ้วสั่งสอนเขาอีกว่ามันไม่จริงเพราะคุณไม่ใช่คนที่โดนไง เราว่ามันเป็นเทรนด์ทั่วโลกตอนนี้ ที่คนรุ่นใหม่กำลังก้าวขึ้นมาแล้วก็ถามถึงความเป็นไปได้ที่ดีกว่าในสังคม