สิทธิในการได้รับการศึกษาเป็นเพียงหนึ่งในสิทธิหลายประการที่เด็กทุกคนควรได้รับในฐานะมนุษย์ สิทธิเหล่านั้นถูกเรียกโดยรวมว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
สำหรับเด็กในช่วงปฐมวัย โรงเรียนหรือสถานศึกษาถือเป็นสถาบันที่มีความสำคัญอย่างมากในการหล่อหลอมความรู้ความเข้าใจเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทว่าเรากลับยังคงพบเห็นปัญหาการละเมิดสิทธิในรั้วโรงเรียนบ่อยครั้งจนถูกมองเป็นเรื่องปกติ
ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเท่าที่ควร ผลการสำรวจในปี 2563 พบว่า เด็กร้อยละ 91 เคยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางวาจาและการกระทำ และเด็กร้อยละ 42 ต้องการโต้ตอบเพื่อเอาคืน สาเหตุหนึ่งที่ปัญหาเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นเป็นเพราะการปล่อยผ่านของผู้ใหญ่ และมองว่าเป็นการแกล้งกันธรรมดาในหมู่เด็กด้วยกัน ทั้งที่การกลั่นแกล้งถือเป็นความรุนแรงและเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายอย่างหนึ่ง ยิ่งในปัจจุบันแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้ง่ายยิ่งขึ้น หากปัญหาดังกล่าวถูกละเลยจะส่งผลให้เกิดปัญหาความรุนแรงที่ใหญ่ขึ้นได้
โรงเรียนจึงควรเป็นสถานที่ปลอดภัยที่มีการปลูกฝังแนวคิดการเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานให้กับเด็กทุกคน เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งระหว่างนักเรียนด้วยกัน และครูกับนักเรียน นอกจากนี้ โรงเรียนควรสนับสนุนให้นักเรียนมีโอกาสแสดงออกทางความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม ภายใต้กรอบของการเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเช่นกัน เนื่องจากเด็กถือเป็นพลเมืองของสังคมไม่ต่างจากพลเมืองในวัยอื่นๆ เด็กจึงควรเรียนรู้ที่จะรักษาสิทธิและรู้บทบาทของตนเองในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของสังคมด้วย
นอกเหนือจากการเคารพสิทธิพื้นฐานซึ่งกันและกันแล้ว การเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนยังมีส่วนสำคัญต่อการมองเห็นปัญหาของสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ เช่น เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในครอบครัวแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบางจึงมีส่วนช่วยให้เด็กตระหนักถึงสิทธิของตนเองได้ดียิ่งขึ้น
บทความเรื่อง ‘ถอดบทเรียนการพัฒนา สื่อการเรียนการสอน สิทธิมนุษยชนในโรงเรียน: กรณีศึกษาการพัฒนา สื่อการเรียนการสอน เรื่องการค้ามนุษย์’ ของ นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร และ พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ ปี 2561 สะท้อนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนกับประชากรกลุ่มเปราะบางที่ไม่ค่อยได้รับความสำคัญมากนัก เช่น การอุ้มหาย การตรวจค้นและถ่ายภาพเด็กในโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ปัญหาการค้ามนุษย์ในธุรกิจประมง เป็นต้น โดยกลุ่มแรงงานอพยพและผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง บทความดังกล่าวจึงเสนอการวิจัยเพื่อการพัฒนาสื่อการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านประเด็นปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ โดยใช้ห้องเรียนพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครในการทดลองเชิงปฏิบัติการ
ผลการวิจัยพบว่า การเรียนการสอนมีข้อจำกัดด้านเวลาและภาษา เนื่องจากเด็กมาจากครอบครัวแรงงานชาวต่างชาติ อีกทั้งปัญหาการค้ามนุษย์และสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับเด็ก ครูผู้สอนจึงต้องมีคู่มือและวิธีการใช้ภาษาที่ทำให้เด็กเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้เด็กเรียนรู้วิธีการป้องกันตนเองจากสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงได้ นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังเห็นว่าหลักสูตรการศึกษาแกนกลางควรมีการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เพื่อสร้างความตระหนักและความรู้เท่าทันแก่นักเรียนทั่วไปด้วย
จะเห็นได้ว่าสิทธิมนุษยชนเกี่ยวพันกับชีวิตของนักเรียนในระบบการศึกษา ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว ไปจนถึงปัญหาสังคมที่ร้ายแรง เช่น การค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกตระหนัก การปลูกฝังให้เด็กรู้จักเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่นตั้งแต่ในโรงเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างพลเมืองคุณภาพ อีกทั้งโรงเรียนต้องเป็นสถานที่ที่เอื้ออำนวยต่อวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย
อ้างอิง
- นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร และ พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์. (2561). ถอดบทเรียนการพัฒนา สื่อการเรียนการสอน สิทธิมนุษยชนในโรงเรียน: กรณีศึกษาการพัฒนา สื่อการเรียนการสอน เรื่องการค้ามนุษย์. วารสารรูสมิแล, 39(1), 69-82.
- สิทธิในโรงเรียนสำหรับนักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียน – องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
- เปิดผลสำรวจ เด็ก 91% เคยถูกกลั่นแกล้ง ตบหัว ล้อบุพการี