เมื่อระบบการศึกษาให้ความสำคัญกับการสอนมากเกินไป จนลืมว่าเด็กอาจไม่ได้พร้อมสำหรับการเรียนตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อเด็กต้องเผชิญกับปัญหาอื่นๆในชีวิตประจำวัน จึงอาจเกิดความเครียดและความกังวล ส่งผลให้สภาพจิตใจของพวกเขาย่ำแย่ ไม่พร้อมต่อการเรียนรู้ ยิ่งในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด – 19 เกิดขึ้น ความเป็นตัวตนและอิสระในการใช้ชีวิตของเด็กจึงถูกจำกัดด้วยกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆบนหน้าจอเท่านั้น ครูจึงไม่สามารถคาดเดาความรู้สึกหรืออารมณ์ของเด็กทั้งหมดในขณะนั้นได้
จากผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยโดยกรมสุขภาพจิต พบว่า ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะความเครียดสูง ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่อีกร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งเก็บข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 183,974 คนที่มาประเมินสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ในช่วงโควิด-19 นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กและเยาวชนต้องการช่องทางเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการความเครียดถึงร้อยละ 40 จากข้อมูลขององค์การยูนิเซฟร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งหากพวกเขาไม่ได้รับการดูแลสุขภาพจิตที่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว
ใช้ Homeroom เป็นโอกาสในการเปิดใจพูดคุยกัน
คาบ Homeroom เป็นช่วงเวลาที่ครูประจำชั้นควรจะมาพบปะพูดคุยเรื่องราวหรือปัญหาต่างๆที่นักเรียนพบเจอในชั้นเรียน แต่หลายโรงเรียน คาบHomeroom กลับกลายเป็นเพียงแค่การเช็คชื่อ ตรวจทรงผมและเครื่องแต่งกายของนักเรียนเท่านั้น ในมุมมองของ นววรรณ สุขจิตร หรือพี่นุ่น นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นครสวรรค์ มองว่า คาบ Homeroom ในตอนเช้าของแต่ละโรงเรียนเป็นคาบที่ดีหากมีการใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ เมื่อเด็กกลับมาเรียนได้ตามปกติแล้วก็ควรจะใช้คาบนี้มารีเช็คความรู้สึกของพวกเขาก่อนที่จะทำการเรียนการสอน
“จริงๆแล้วถ้าแปลตามภาษาอังกฤษตรงๆเลย Home ก็แปลว่าบ้าน Room ก็แปลว่าห้อง Homeroom ก็หมายถึงห้องเรียนที่เป็นเหมือนบ้าน คาบนี้มันควรเป็นเหมือนบ้านที่เด็กสามารถพูดคุยปัญหา แบ่งปันความรู้สึกร่วมกัน รับฟังความเห็นและดูแลใจซึ่งกันและกัน”
การพูดคุยกันในที่นี้ก็ต้องไม่ใช่การสื่อสารแบบ One way หรือมีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้นที่เป็นผู้พูด แต่ทุกคนสามารถเป็นผู้พูดและสลับหน้าที่กันเป็นผู้รับฟังได้ด้วย เช่น นักเรียนคุยกับครู นักเรียนคุยกับนักเรียนและ ครูคุยกับนักเรียนได้ สิ่งสำคัญที่ควรจะต้องให้เด็กเรียนรู้ในคาบนี้ คือ การสอนให้เด็กมีทักษะชีวิตหรือ life skill เช่น ทักษะการรับมือกับความเครียด เวลามีความเครียดจะรับมือกับความเครียดยังไง จะใช้การสื่อสารเชิงบวกอย่างไร เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเจอ เมื่อเด็กมีภูมิคุ้มกันแล้วก็จะส่งผลให้เกิดเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
ยิ่งเรียนออนไลน์ คาบ Homeroom ควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะความรู้สึกสนุกของเด็กที่เคยได้ออกไปวิ่งเล่น พูดคุยกับเพื่อนก็จางหายไป และถูกแทนที่ด้วยหน้าจอเกือบตลอดทั้งวัน พวกเขาจึงอาจเกิดความเครียดอย่างหนักจนเกิดการสะสม และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในที่สุด ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลโดยตรงเท่านั้น แต่ยังส่งผลทางอ้อมต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้อีกด้วย
การเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้เวลาในคาบ Homeroom นี้หรืออาจใช้ช่วงเวลาเล็กๆน้อยๆก่อนจะเข้าสู่บทเรียนได้พูดคุย ให้พวกเขาได้ปรึกษาปัญหาชีวิตและการเรียน ระบายความเครียด ความทุกข์กับครูและเพื่อน หรือเด็กบางคนอาจไม่สะดวกในการพูดคุยในพื้นที่ส่วนรวม ครูก็สามารถพูดเปิดโอกาสให้พวกเขาทักเข้ามาปรึกษาแบบส่วนตัวในช่วงเวลาอื่นๆ เพื่อที่เด็กจะได้เกิดการยอมรับ รู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง และรู้จักแนวทางในการจัดการกับอารมณ์มากขึ้น