ที่ประเทศเฮติ ประชากรกว่าร้อยละ 43 เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เด็กในเฮติมีค่าเฉลี่ยในการได้รับการศึกษาเพียงแค่ 5 ปี และมีครูประถมเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ
Anseye Pou Ayiti เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการสร้างครูให้มีคุณภาพสูง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กนักเรียนทุกคนในประเทศเฮติ “งานของพวกเราคือ การสร้างความมั่นใจว่าเด็กจะได้รับการศึกษาที่เป็นธรรม มีการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของพวกเขาที่จะต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ” นี่คือคำกล่าวของ เนดจีน พอล เดโรลี (Nedgine Paul Deroly) ผู้ก่อตั้งและประธานฝ่ายบริหารของ Anseye Pou Ayiti ในเวทีการประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ ‘Teacher Training and Supporting Mechanism that Create Impacts to Equity in Education’
ในทัศนะของเดโรลี ห้องเรียนเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับเด็ก เพราะเป็นแหล่งบ่มเพาะทั้งจิตสำนึก อัตลักษณ์ และพฤติกรรม อีกทั้งยังเป็นหน่วยของสังคมระดับย่อยที่สามารถสะท้อนสังคมในภาพใหญ่ได้
“เรารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ทั้งจากหลักฐานและงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า มีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างห้องเรียนกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และความสมานฉันท์ในสังคม
“สิ่งที่พวกเราสอน สิ่งที่อยู่ในหลักสูตร และวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน ช่วยเปิดทางให้เด็กๆ สามารถทำความเข้าใจถึงสิทธิและความรับผิดชอบของพวกเขาเองในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ตลอดจนแนวโน้มต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่”
สำหรับเดโรลีแล้ว การศึกษาคือต้นทางของการประสบความสำเร็จในชีวิต และยังสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่งต่อการร่วมมือกันเป็นกลุ่ม (collective action) อย่างเช่น “ความคิดที่ว่า ฉันต้องรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ ต้องมีความตื่นตัวในฐานะพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ” สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือกันในหมู่นักเรียน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกัน
เดโรลียังกล่าวถึงบริบทประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาในเฮติไว้อย่างน่าสนใจว่า การศึกษาเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม เพื่อที่จะแบ่งแยกผู้คน “พวกเขาเข้าแทรกแซงระบบการศึกษา เพื่อทำให้เกิดการแตกตัว (atomize) และแบ่งแยกผู้คนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อจะไม่ให้เกิดการรวมตัวและความสมานฉันท์ในหมู่ประชาชน
“ทั้งหมดนี้เองเป็นเหตุผลว่า ทำไมความไม่เท่าเทียม การกดขี่ และความอยุติธรรม จึงเป็นสิ่งเรื้อรังในประเทศของเรา”
เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว Anseye Pou Ayiti จึงต้องการสร้างพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดการร่วมไม้ร่วมมือกัน ผ่านการทำงานร่วมกันกับชุมชนต่างๆ ในเฮติ เพื่อจะสร้างผู้นำภาคสังคม ตลอดจนการสร้างระบบการศึกษาที่มีความเสมอภาค บนรากฐานของการมีส่วนร่วม ทั้งในทางประวัติศาสตร์ ค่านิยม และวิสัยทัศน์
ในแง่นี้ Anseye Pou Ayiti จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างครูที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเป็นอย่างดี
“หากครูไม่เข้าใจว่า ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อความเสมอภาค ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และการรับรู้ถึงค่านิยมที่มีร่วมกัน ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ภายในห้องเรียน และมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากนักเรียนและสังคมยังไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้”
ครูของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
องค์ประกอบที่เป็นแก่นสำคัญในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา คือการให้ผู้มีประสบการณ์และผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยเป็นส่วนหนึ่งในการสนทนาแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกับครู
“ผู้มีประสบการณ์ในที่นี้ หมายถึง เราต้องสรรหาผู้ที่เคยเป็นนักเรียนในชุมชนชายขอบ หรือผู้ที่เคยฝ่าฟันกับการเรียนในโรงเรียนประถมและมัธยมมาก่อน และต้องเป็นผู้ซึ่งเคยต่อสู้กับโครงสร้างที่ไม่เสมอภาคอีกด้วย
“สิ่งที่เราและนักกิจกรรมด้านการศึกษาจำนวนมากตระหนัก คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ปัญหามากที่สุด จะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้กับทางออกของปัญหามากที่สุด”
เธอกล่าวอีกว่า การคัดเลือกครูด้วยการพิจารณาจากประสบการณ์ของพวกเขานั้น มิได้หมายความว่า ผู้ซึ่งไม่เคยเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากคนอื่นๆ จะไม่สามารถเป็นครูได้ แต่การที่เธอให้ความสำคัญกับผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจคนในชุมชนได้มากกว่า
“ถ้าหากครูที่เราคัดเลือกขึ้นมา ไม่ได้เป็นตัวแทนของชุมชน หรือไม่ได้เป็นผู้ที่เกิดและโตมาในชุมชนนั้นๆ นั่นก็หมายถึงอันตรายอันใหญ่หลวงต่อพันธกิจของเรา และโดยไม่รู้ตัว เราอาจกำลังขยายความไม่เท่าเทียมออกไปให้กว้างกว่าเดิม”
สืบเนื่องจากคำถามก่อนหน้า นอกเหนือจากการคัดเลือกครูผู้ที่มีประสบการณ์เรื่องความไม่เท่าเทียม เดโรลียังย้ำด้วยว่า ต้องให้ความสำคัญในการคัดเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาครูผู้สอน
“อาจจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หากเราคิดว่าผู้ที่จะมาฝึกอบรมร่วงหล่นมาจากฟ้า หรือสื่อสำหรับการฝึกอบรมเกิดมาจากเวทมนตร์ เราต้องถามให้ชัดว่า อะไรคือประสบการณ์ชีวิตของคนที่จะมาอบรมคุณครู เพราะนั่นคือคุณสมบัติที่สำคัญ” เดโรลีกล่าว
หากถามต่อไปว่า ใครคือนักเรียนที่เหมาะสม เดโรลีกล่าวว่า คงไม่สามารถเหมารวมว่าเด็กนักเรียนทุกคนจะเป็นเหมือนกันได้ เพราะเด็กทุกคนล้วนมีความแตกต่างหลากหลายภายในตัวเอง ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามความหลากหลายของเด็กแต่ละคนด้วย
“เราจำเป็นจะต้องมั่นใจให้ได้ว่า ใครเป็นนักเรียน เพราะนั่นจะส่งผลต่อการฝึกอบรมที่จะจัดขึ้นในทุกๆ ปี เช่นเดียวกับการเตรียมความพร้อมของครูก่อนที่จะเข้าไปสอนให้ห้องเรียน”
เข้าถึง-เข้าใจในประวัติศาสตร์ชุมชน
สำหรับยุทธศาสตร์ในการสอน ก่อนเริ่มลงมือปฏิบัติงาน Anseye Pou Ayiti จะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการนิยามความหมาย โดยเดโรลีเล่าว่า
“หลายๆ ครั้งเรามักใช้คำว่า ความเสมอภาคกับความเท่าเทียมในความหมายเดียวกัน ฉันคิดว่ามันคงจะดีมาก หากเราสามารถเข้าใจความหมายที่ชัดเจน และความแตกต่างของคำว่า ความเสมอภาคกับความเท่าเทียมได้
“เป้าหมายสูงสุดของพวกเรา คือการสร้างความเชื่อมั่นว่า เรากำลังก้าวไปสู่เสรีภาพและความยุติธรรม”
ยุทธศาสตร์ต่อมาคือ ควรทำความเข้าใจและชื่นชมในประวัติศาสตร์ชุมชนที่ได้เข้าไปทำงานอย่างลึกซึ้ง
“คนที่มาจากนอกชุมชมจะต้องแน่ใจว่า ได้ทุ่มเทเวลามากพอในการค้นคว้า หาประสบการณ์ และตั้งคำถาม เพื่อที่จะทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของชุมชน ตลอดจนถึงประวัติศาสตร์ระบบการศึกษา”
การศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนและประวัติศาสตร์ระบบการศึกษานั้น จะทำให้พวกเขาเข้าใจถึงที่มาที่ไปของสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
การเรียนรู้เรื่องภาษาก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเดโรลีไม่ได้หมายถึงเพียงการเรียนการสอนภาษา แต่เป็นการทำความเข้าใจความหมายหรืออคติที่ซ่อนอยู่ในคำแต่ละคำ
ในขั้นปฏิบัติงาน เดโรลีกล่าวว่า การสอนหนังสือไม่ใช่การนำกรอบกระบวนทัศน์เดียวไปปรับใช้กับทุกสถานการณ์ หากยังต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา
“ต่อให้เรามีความปรารถนาดีในการที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา แต่หากเราไม่ใช้หลักฐานหรือข้อมูลในการอธิบายว่าความเสมอภาคมีมากขึ้นอย่างไร เราก็อาจกำลังทำสิ่งที่เป็นอันตรายอยู่ หนำซ้ำยังอาจเป็นการถ่างช่องว่างให้กว้างมากขึ้นผ่านครูผู้ทำการสอนและนักเรียนผู้ทำการเรียนรู้อีกด้วย”
หลักสูตรเองก็เป็นสิ่งที่พึงพิจารณา เพราะเมื่อหลักสูตรยังกดทับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่ ก็หมายความว่านั่นเป็นหลักสูตรที่มีข้อบกพร่อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเอาสิ่งที่ดีและมีอยู่แล้วในแต่ละชุมชนเข้ามาอยู่ในห้องเรียน อันจะนำไปสู่ประสิทธิภาพของนักเรียนที่ดีมากยิ่งขึ้น และเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติงานจริง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ห้องเรียนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับชุมชน
“สิ่งสำคัญคือ การทลายกำแพงระหว่างห้องเรียนกับชุมชน และสร้างการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิตของนักเรียนจริงๆ”