ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงกว่ากลุ่มประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงอย่างโดดเด่น ทั้งที่เคยประสบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นเวลานาน แต่ภายใน 10 ปีหลังจากเริ่มปฏิรูปการศึกษาโดยการสนับสนุนจากธนาคารโลก (World Bank) เวียดนามสามารถทำคะแนน PISA ติด 1 ใน 10 อันดับแรกของกลุ่มประเทศ OECD ภายในปีแรกที่เข้าร่วมการประเมิน (2015)
เกิดอะไรขึ้นในช่วง 10 ปีแห่งการปฏิรูปนั้น และเราสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาการศึกษาไทยได้หรือไม่
ประวัติศาสตร์กำหนดการศึกษา
ก่อนจะไปสู่วิธีการ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจบริบทของการพัฒนาประเทศเชิงประวัติศาสตร์เสียก่อน เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลในการหล่อหลอมระบบการศึกษาของเวียดนามอย่างมาก
สังคมเวียดนามในสมัยโบราณเป็นสังคมที่เคารพนับถืออาชีพครู โดยครูมีสถานะสูงเป็นรองแค่กษัตริย์เท่านั้น และบ้านที่มีฐานะมักนิยมจ้างครูมาอาศัยที่บ้านเพื่อสอนลูกหลานของตนให้สอบเข้ารับราชการได้
ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 เมื่อเวียดนามตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส มีการวางระบบการศึกษาใหม่ที่ใช้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและเวียดนามควบคู่กัน โดยการศึกษาระดับสูงจะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลิตทรัพยากรบุคคลมาตอบสนองระบอบอาณานิคมนั่นเอง
ต่อมาในช่วง 1945-1954 เป็นช่วงที่เวียดนามต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพและเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาที่จะช่วยฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม จึงพยายามพัฒนาพลเมืองให้เป็นผู้มีการศึกษาให้ได้มากที่สุดตามนโยบายของประธานาธิบดีโฮจิมินห์ที่ว่า “ต่อต้านความยากจน การไม่มีการศึกษา และผู้รุกราน” โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ในการสร้างห้องเรียน 75,000 แห่ง และครูเกือบ 96,000 คน เพื่อให้ประชาชนกว่า 2.5 ล้านคน หลุดจากสภาวะไร้การศึกษา
ปี 1955-1975 เวียดนามอยู่ในภาวะสงครามอีกครั้ง แต่รัฐยังไม่ละทิ้งการศึกษาแต่อย่างใด ยังคงวางเป้าหมายที่แน่วแน่ในการพัฒนาประชากรให้มีความรู้รอบด้านและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ เน้นการสนับสนุนเยาวชนและแรงงานหนุ่มสาว โดยมีหลักสูตรที่เชื่อมโยงการศึกษากับชีวิตจริง ด้วยปัจจัยของสภาวะสงครามที่ทุกคนต้องเอาตัวรอด ครูและนักเรียนเริ่มมีฐานะเสมอภาคกันมากขึ้น
ปี 1975-1985 เป็นช่วงเวลา 10 ปี ก่อนการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยที่รัฐบาลเวียดนามพยายามผลิตสื่อการเรียนและนโยบายที่สอดแทรกแนวคิดเพื่อตอบสนองระบอบสังคมนิยม ปรับแผนการเรียนเป็นหลักสูตรภาคบังคับ 12 ปี ส่งเสริมให้ประชากรวัยเรียนเข้าถึงการศึกษาให้ได้มากที่สุด ซึ่งทำได้มากถึง 94.14 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้จะประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากรและลงทุนในการศึกษาได้น้อย เพราะวิกฤติเศรษฐกิจหลังสงคราม แต่ด้วยรากฐานด้านการศึกษาที่ถูกปลูกฝังมานาน ทำให้ผู้คนตระหนักว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญและต้องการให้ลูกหลานของตนได้รับการสนับสนุนมากขึ้น
ยุคแห่งการปฏิรูปกับนวัตกรรมจากธนาคารโลก
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงปี 1986-2005 เมื่อระบบที่วางไว้เริ่มปรากฏความเหลื่อมล้ำในระดับสูง โรงเรียนจำนวนมากยังคงขาดแคลนทรัพยากรและบุคลากร รัฐบาลเวียดนามจึงขอให้ธนาคารโลกทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาต่างๆ
ธนาคารโลกจึงได้สนับสนุนนวัตกรรมด้านการประเมินผลเรียกว่า ‘มาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำของโรงเรียน’ (Fundamental School Quality Level: FSQL) เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้เกิดการวางแผนการจัดสรรทรัพยากรด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์และเน้นหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งเกณฑ์ของ FSQL จะครอบคลุมมาตรฐานทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการโรงเรียน ความเพียงพอและคุณภาพของครู ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน และโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure and facilities)
เวียดนามเริ่มใช้ FSQL เมื่อปี 2005 ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะด้านความเสมอภาค จนยกระดับไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าพอใจภายในระยะเวลาไม่นานนัก ต่อมา FSQL จึงถูกขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยที่กำลังศึกษาช่องว่างและวิธีการเพื่อนำมาปรับใช้ในบริบทของการกระจายทรัพยากรสู่โรงเรียนขนาดเล็กด้วย
สำหรับเกณฑ์มาตรฐานของ FSQL ในเวียดนามนั้น จากรายงานการศึกษาเรื่องความสำคัญของโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย (Thailand: Advice on Narrowing the Learning Gaps between Schools) ปี 2020 โดยธนาคารโลก มีตัวอย่างเกณฑ์การประเมิน FSQL ของเวียดนามจาก 5 ด้านที่น่าสนใจ ดังนี้
หนึ่ง – ด้านการบริหารจัดการโรงเรียน: หนึ่งในเกณฑ์ประเมินด้านนี้คือ บุคลากรระดับผู้บริหารทุกคนต้องผ่านการอบรมเรื่องการจัดการโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล แสดงให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญกับการขยายความรู้ด้านการบริหารสถานศึกษาให้ครอบคลุมกับบริบทของพื้นที่อื่นๆ นอกจากส่วนกลาง
สอง – การพัฒนาบุคลากรครู: ครูทุกคนต้องผ่านการฝึกสอนเด็กหลากหลายรูปแบบรวมถึงเด็กพิการ ควรได้รับการอบรมด้านการเรียนการสอนอย่างน้อย 5 วันต่อปี ในโรงเรียนที่มีกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ต้องสามารถจัดการเรียนการสอนภาษาเวียดนามได้ดี
สาม – โครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์การเรียนการสอน: โรงเรียนจะต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมเงียบสงบ เหมาะกับการเรียนรู้ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนรวมถึงนักเรียนพิการสามารถเข้าถึงได้ มีการกำหนดเครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็นขั้นต่ำต่อหน่วย 1 ห้อง และครู 1 คน ซึ่งหากมีการกำหนดขั้นต่ำของสิ่งจำเป็นเหล่านี้แล้ว จะทำให้เห็นภาพง่ายขึ้นว่าโรงเรียนใดควรได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรมากขึ้น
สี่ – การดำเนินการตามนโยบายระบอบสังคมนิยม: เน้นการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น และทุกโรงเรียนต้องมีสมาคมผู้ปกครองเพื่อให้ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน โดยกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนต้องมีส่วนเชื่อมโยงกับครอบครัวและชุมชน
ห้า – ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา: หลักสูตรควรออกแบบโดยเน้นความจำเป็นของนักเรียนเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กเปราะบางที่เข้าถึงโรงเรียนได้ยาก
จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา โดยเวียดนามพยายามส่งเสริมด้านความเสมอภาคตั้งแต่ก่อนยุคปฏิรูป รวมถึงแนวคิดทางสังคมและเครื่องมือในการกระจายทรัพยากรอย่าง FSQL ทำให้การพัฒนาคุณภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะไม่ใช่การพัฒนาที่ดีที่สุด แต่ระบบที่พัฒนาถูกจุดจะทำให้การพัฒนาขั้นต่อไปเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการใช้วิธีการแบบเดิม
อ้างอิง
- World Bank. (2020). Thailand: Advice on Narrowing the Learning Gaps between Schools, p.65-68
- Hong Mien Le. (n.d.). EDUCATION IN VIETNAM DEVELOPMENT HISTORY, CHALLENGES AND SOLUTIONS
- รู้จัก FSQL มาตรฐานขั้นต่ำของโรงเรียน