แน่นอนว่ามันเป็นโจทย์ยากที่จะทำให้ทุกอย่างครบพร้อมเพียงพอที่จะอยู่รอดแบบบอบช้ำน้อยที่สุด เมื่อปัญหาโรคระบาด โควิด เศรษฐกิจ ปากท้อง ต่างเกี่ยวพันซึ่งกันและกันกระทั่งไม่แน่ใจนักว่าต้องปลดล็อคปมใดก่อนจึงจะสามารถคลี่คลาย
เงื่อนไขโดยภาพรวม หากครอบครัวไม่ได้มีสายป่านยาวสักเท่าใดนัก พ่อแม่จำนวนมากยังต้องดิ้นรนทำมาหากิน แต่ทุกวันนี้สถานประกอบการจำนวนมากปิดตัว แย่น้อยหน่อยก็ต้อง Work from Home ส่วนเด็กๆ นั่นเข้าใจว่าแทบทุกโรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนชั่วคราว บ้านกลายเป็นโรงเรียน ห้องนอนกลายเป็นห้องเรียน เป็นครอบครัวที่แม้นั่งอยู่แค่ระยะฝากระดานกั้น แต่ใช่ว่าปฏิสัมพันธ์จะเข้าท่าตลอดเวลา ด้วยสภาวะบีบคั้นเช่นนี้หลายคนพบว่าความเครียดเริ่มตามมา และปัญหาก็พอกพูน
ต่อไปนี้คือข้อแนะนำการใช้ชีวิตด้วยวิธีคิดแบบจิตวิทยา ภายใต้เงื่อนไขว่า พ่อแม่ต้องรอด และเด็กๆ ต้องเติบโต
พ่อแม่หมั่นสำรวจตัวเอง
ดร. ลิซ่า ดามูร์ นักจิตวิทยาวัยรุ่น นักเขียน และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ บอกว่า พ่อแม่ต้องสำรวจตัวเองอยู่เสมอว่ากำลังมีความวิตกกังวลใดๆ อยู่หรือไม่ และความวิตกนั้นถูกแสดงออกเป็นพฤติกรรมแบบใด เมื่อพ่อแม่แสดงออกถึงความกังวล ลูกๆ จะรับรู้ได้ถึงอารมณ์เหล่านั้น และเมื่อพ่อแม่รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิต เด็กๆ ก็จะรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยน้อยลงเช่นกัน ฉะนั้นในบางช่วงเวลาจึงต้องทบทวนตนเองว่ากำลังทำให้บรรยากาศของความกลัวปกคลุมครอบครัวอยู่หรือเปล่า
แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
อาจไม่ง่ายนักที่จะเลี่ยงการพูดถึงปัญหาโควิด โดยเฉพาะกับเด็กที่รู้ความแล้ว เพราะพวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้แทบทุกช่องทางอยู่แล้ว ฉะนั้น แม้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร การพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างพ่อแม่และลูกก็สามารถทำได้
แพทย์หญิง ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต บอกว่า ผู้ใหญ่สามารถคุยกับเด็กๆ เรื่องนี้ได้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ต้องดูแลตัวเองแบบไหน และรับมืออย่างไร เพื่อให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
ฟังดูอาจขัดแย้งกับข้อแนะนำก่อนหน้า แต่หากดูในรายละเอียดจะพบว่า ข้อแนะนำของ ดร.ลิซ่า มุ่งเน้นที่การสำรวจตนเองและไม่แสดงพฤติกรรมที่ทำให้คนในครอบครัววิตกกังวล ขณะที่ข้อแนะนำของแพทย์หญิง ดุษฎี คือการจับเข่าคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งคำแนะนำของทั้งคู่ก็สอดคล้องซึ่งกันและกันในปลายทาง
กิจกรรมกลางแจ้ง แต่ไม่ใช่ที่สาธารณะ
ข้อนี้อาจยากหน่อย เพราะเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บ้านเรือนแต่ละแห่งก็ใช่ว่าจะมีพื้นที่โอ่โถง แต่เอาเป็นว่า หากครอบครัวของเราพอมีพื้นที่อยู่บ้าง การทำกิจกรรมกลางแจ้งยังสามารถทำได้ และควรทำด้วยกัน
ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า เด็กๆ ต้องการกิจกรรมที่ต้องออกแรง เพราะงานวิจัยหลายเรื่องก็ชี้มาทางเดียวกันว่า นอกจากส่งเสริมร่างกายแล้วยังทำให้จิตใจดีขึ้นด้วย แต่การออกแรงก็ต้องเลือกให้สอดคล้องกับครอบครัว เช่น ปลูกต้นไม้ จัดบ้านไม้ ถ่ายรูป เล่นดนตรี ตัดต่อวิดีโอ หรือฝึกเต้นก็ทำได้ โดยกิจกรรมทั้งหมดควรทำเป็นกิจวัตร เพื่อให้เด็กเกิดการจดจำตารางชีวิตของตนเองว่าควรทำอะไรในช่วงเวลาไหน
อ้างอิง
- www.unicef.org
- workpointtoday.com/19covid-3