ช่วงปีที่ผ่านมา มีหลายโรงเรียนและหลายชุมชนไม่ยอมแพ้กับการเรียนรู้ที่ต้องชะงักจากการระบาดของโควิด-19 ในทางตรงข้าม พวกเขาลุกขึ้นมาทำทุกวิถีทางเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยวิธีการเฉพาะที่เหมาะกับเด็กและชุมชนของตัวเอง
โควิดยังไม่หนีเราไปไหนง่ายๆ แต่เด็กๆ ต้องได้เรียนหนังสือ นี่คือข้อเท็จจริง
ครูแอม-นิธิ จันทรธนู จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับประสบการณ์อพยพครูจากออฟไลน์สู่ออนไลน์จากการระบาดของไวรัส มันคือความชุลมุนทั้งในระดับประเทศ ไล่เลียงมาถึงโรงเรียนทุกแห่งหน แพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นหนึ่งในฐานที่มั่นของการเรียนรู้ โจทย์ที่คุณครูและนักเรียนกำลังเผชิญ จึงว่าด้วยการดีไซน์การเรียนการสอนชนิดที่ว่า ลองพัง ลองรื้อ เพื่อค้นหากระบวนการเรียนรู้ในโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ครูตู้-สราวุฒิ พลตื้อ แห่งโรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้วยธรรมชาติของชุมชนและบริบทโรงเรียนที่ต่างจากครูแอมโดยสิ้นเชิง การเรียนการสอนในสถานการณ์วิกฤติจึงถูกออกแบบบนความไม่พร้อมที่จะออนไลน์ของเด็กๆ ด้วยการใช้คอนเซ็ปต์รถพุ่มพวงขายกับข้าว มาเป็น ‘รถพุ่มพวงชวนเรียนรู้’ ที่ขนกระบวนการเรียนการสอนว่าด้วยทักษะชีวิตเข้าไปหาเด็กๆ ในชุมชน
ดร.ศิวัช บุญเกิด รองปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับการสร้างนิเวศการเรียนรู้ในเมืองหัวหิน ด้วยวิธีคิดที่ว่า การศึกษาเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ว่าจะภาคเอกชน สถาบันครอบครัว ภาครัฐ และบุคลากรการศึกษา ที่ต้องร่วมกันเผชิญวิกฤติและออกแบบการเรียนรู้ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวของผู้คน
แม้หน้างานของทั้งสามคนจะต่างสถานที่ ต่างปัญหา และต่างข้อจำกัด แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือ พวกเขาคือนักสร้างการเรียนรู้ นั่นจึงเป็นที่มาของวงเสวนา Equity Talk ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ ‘ฉีดวัคซีนให้การศึกษา ถอดบทเรียนครูและท้องถิ่นในสถานการณ์โควิด’ เพื่อคลี่ให้เห็นว่า พวกเขากำลังเผชิญกับเงื่อนไขปัญหาแบบไหน พบอุปสรรครายทางเช่นไร แล้วถ้าการศึกษาไทยจะไปต่อได้อย่างแข็งแรง วัคซีนการศึกษาแบบไหนที่สังคมไทยกำลังควานหา
ไม่ใช่ทุกคนที่ออนไลน์ได้
เพราะแต่ละโรงเรียนมีโจทย์ปัญหาที่แตกต่างกัน วิธีการแก้ไขจึงไม่อาจตายตัว เมื่อเกิดวิกฤติ สิ่งแรกที่ต้องทำนอกจากเตรียมใจ คือการเตรียมข้อมูลที่จะสามารถบอกได้ว่า นักเรียน ครอบครัว และชุมชน มีต้นทุนอะไรในการสร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้
ครูแอมเล่าว่า ด้วยความที่โรงเรียนสาธิตฯ เป็นชุมชนเมือง จากการสำรวจความพร้อมจึงพบว่า เด็กๆ ส่วนใหญ่สามารถออนไลน์กับการเรียนได้
“เราอาจโชคดีที่มีการสำรวจและนักเรียนพร้อมที่จะออนไลน์ ขณะเดียวกันเราตระหนักเสมอว่าการสอนทางไกลไม่ใช่การเรียนการสอนออนไลน์อย่างเดียว ออนไลน์เป็นเพียงหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น”
คำสั่งเปิดๆ ปิดๆ โรงเรียนอย่างไม่ต่อเนื่อง คือหนึ่งในปัญหาสำคัญที่กระทบการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตฯ ฝ่ายวิชาการจึงออกแบบตารางสอน 2 ลักษณะคือ หนึ่ง-หากไม่มีโควิด และสอง-หากมีโควิด เพื่อปรับใช้รูปแบบตามแต่ละสถานการณ์ พร้อมๆ ไปกับการปรับหลักสูตรการสอนให้เร่งรัด ออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและสามารถจบในคาบได้ ไปจนถึงวิธีทำการประเมินในการเรียนการสอนรูปแบบใหม่นี้ด้วย
“สิ่งที่ยากที่สุดคือ วัฒนธรรมอำนาจในการจัดการศึกษา พูดจากภาพรวมที่เคยเห็นมา แม้โรงเรียนสาธิตฯ จะมีอิสระในการสร้างทางเลือกจากข้อมูลสถานการณ์โควิดที่ได้รับจากทางจังหวัด แต่โรงเรียนอื่นอาจจะเป็นวัฒนธรรมอำนาจที่ใช้การสั่งการเป็นหลัก สั่งจากหน่วยงานสู่โรงเรียน โรงเรียนสู่ครู ครูสู่นักเรียน ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนที่รู้จักนักเรียนมากที่สุดคือครู ครูคือคนที่รู้ว่านักเรียนควรเรียนสิ่งใดเมื่อไหร่ ซึ่งในโรงเรียนขนาดเล็กอาจจะจัดการง่าย แต่ในโรงเรียนขนาดใหญ่อาจจะดูแลลำบาก”
เช่นเดียวกัน ครูตู้-สราวุฒิ เริ่มจับต้นชนปลายด้วยการสำรวจนักเรียน ก่อนพบว่า จากนักเรียนทั้งหมด 190 คน มีเพียง 109 คนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมหรือออนไลน์ได้ เนื่องจากความไม่พร้อมของเครื่องรับสัญญาณ ไปจนถึงอินเทอร์เน็ตที่มีราคาต้องจ่าย การเรียนการสอนในช่วงแรก ครูตู้จึงต้องให้เด็กๆ ที่อาศัยใกล้เคียงจับกลุ่มเรียนด้วยกัน แต่การเรียนผ่านหน้าจอทีวีที่มีเพียงผู้พูดและผู้ฟัง ไปจนถึงการที่เด็กๆ ต้องอยู่บ้านยาวนานอย่างไม่มีกำหนด แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพกายและใจไม่มากก็น้อย
“เด็กโรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย เป็นเด็กที่มีทักษะชีวิตสูง เนื่องจากอาศัยอยู่ในพื้นที่ทำประมงและเกษตรกรรม เมื่อหยุดเรียนเขาก็ต้องช่วยงานผู้ปกครองทำงาน เวลาเรียนที่บ้านจึงอาจซ้อนทับกับเวลาทำงาน ครูตู้และเพื่อนครูจึงเกิดความคิดว่าควรผูกเรื่องที่เรียนกับกิจกรรมที่เด็กทำในชุมชน ทำอย่างไรให้เด็กสามารถเรียนรู้ในชุมชนได้ จึงเกิดเป็นเครือข่ายโรงเรียน 3 แห่งในละแวกเดียวกันที่คุณครูไปชวนเด็กเรียนถึงที่บ้าน”
เรียนทางไกล ไม่เท่ากับเรียนออนไลน์
เพราะการเรียนออนไลน์ต้องอาศัยพลังของครูในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ลองนึกภาพว่า เด็กๆ ต้องนั่งจับเจ่าอยู่หน้าจอหลายชั่วโมงต่อวัน บ้านที่ไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะแก่การเรียนรู้สำหรับทุกคน เพื่อนที่พบปะกันผ่านออนไลน์ กระทั่งว่าเวลาที่เด็กๆ ควรจะเรียนหนังสือ ซ้อนทับกับเวลาที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากินเพื่อประทังชีพ
ครูตู้ได้เล่าถึงหนึ่งในกิจกรรมที่เขาและเพื่อนครูชวนเด็กๆ มาเรียนรู้ในโมงยามที่โรงเรียนปิดเงียบเชียบ กิจกรรมนี้ชื่อว่า ‘บ้านฉันบ้านเธอ’
“เด็กในโรงเรียนทั้งสามแห่งในละแวกชุมชน จะหมุนเวียนไปเรียนรู้ในแต่ละชุมชน การคัดกรองโควิดได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น มีผู้ใหญ่หลายคนช่วยเหลือให้การเรียนในพื้นที่ชุมชนเป็นไปได้ด้วยดี แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานต่างๆ ต้องการสนับสนุนด้านการศึกษาของเด็กในท้องถิ่น แต่เด็กและคุณครูต้องร่วมกันส่งเสียงให้มากขึ้น
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เด็กกลุ่มหนึ่งสนใจเรื่อง ‘ไทญ้อ’ ชาติพันธุ์ที่ซึ่งภาษาและวัฒนธรรมเริ่มเลือนหายตามยุคสมัย เมื่อมีนวัตกรรม ‘รถพุ่มพวงการศึกษา’ เข้าไปชักชวนให้เด็กๆ ตั้งคำถามถึงสิ่งใกล้ตัว ทำให้พวกเขาสนใจและค้นคว้าหาหลักฐานต่อในชุมชนของตนเอง นั่นแสดงให้เห็นว่า เมื่อครูเปิดประตูการเรียนรู้ให้กับเด็ก เขาเหล่านั้นจะสามารถเคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อเรียนรู้ต่อไปได้ด้วยตนเอง
ด้านครูแอมกล่าวว่า การเป็นครูในโรงเรียนสาธิตฯ ที่เด็กๆ ค่อนข้างมีความพร้อมทางเทคโนโลยี การเรียนการสอนทางไกลผ่านออนไลน์จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ครูและนักเรียนเลือกใช้ แต่นั่นก็ไม่ง่าย เพราะสิ่งที่ขาดหายไปคือความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน-เพื่อน และนักเรียน-ครู โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะเชื่อมต่อความสัมพันธ์และรักษาบรรยากาศของการอยากเรียนรู้ของนักเรียนไว้ให้ได้
“เราค้นพบไวยากรณ์ใหม่ๆ ในการสื่อสารออนไลน์เยอะมากผ่านแพลตฟอร์ม Zoom อย่างหนึ่งคือ การที่เราต้องวางเงื่อนไขกันแต่แรก เช่น เปิดกล้องหรือไม่ หรือหากไม่เปิดกล้องเนื่องจากจะทำให้เกิดปัญหาทางสัญญาณอินเทอร์เน็ตนั้น เราจะมีข้อตกลงอะไรขึ้นมาแทนในการเรียนรู้ และที่สำคัญคือเราต้องคอยเรียนรู้ภาษาของเด็ก เพราะเราต้องคอยสื่อสารกับเขาตลอดเวลา”
สำหรับครูแอม การออกแบบการเรียนการสอนทางไกลคือเครื่องมือที่มีมานานแล้ว ทว่าในทางปฏิบัติ เครื่องมือนี้ยังไม่เคยสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม แต่เพราะวิกฤติมักทำให้เกิดการรุดหน้าทางนวัตกรรมเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน
“ปัญหาคือสิ่งที่เราเรียนรู้กันมาอย่างช้าๆ ตลอดนั้นไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป โควิดเร่งให้ทุกอย่างต้องทำเดี๋ยวนี้ ทำทันที การปรับตัวจะเชื่องช้าไม่ได้อีกต่อไป ทั้งห้องเรียน สังคม การตลาด ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด เราอาจจะคาดเดาอะไรไม่ได้อีกต่อไปว่าเด็กสมัยใหม่จะทำอะไรได้อีกบ้าง เราอาจต้องมองเห็นภาพเหล่านี้ให้ได้เหมือนที่เด็กเห็น พัฒนาตนเองไปควบคู่กับการ disrupt ของเทคโนโลยี เนื้อหาการเรียนหรือการบ้านก็อาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบไป การเรียนการศึกษาหรือการส่งงานและการทำกิจกรรมในคาบเรียนก็จะเปลี่ยนไป”
การพัฒนาการเรียนการสอนของครูขนาบคู่ไปกับเทคโนโลยี ครูแอมยกตัวอย่างเช่น การเรียนการสอนทางไกลที่ไม่ควรยิงยาวดังเช่นในห้องเรียน เพราะจากการศึกษาวิจัยที่มีอยู่เดิม บอกชัดเจนว่า การเรียนออนไลน์นั้นไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง การจัดวางจังหวะการเรียนรู้จึงต้องปรับตัว เช่น วางโจทย์ให้นักเรียน นัดหมายเวลา แล้วจึงแยกย้ายกันไปจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด เป็นต้น
“ต้องกลับไปตั้งคำถามกับสิ่งที่เรามีอยู่เดิมมากกว่า ว่าเรามีโรงเรียนไว้ทำไม มีครูไว้ทำไม การศึกษาทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไร เราเรียนเพื่อสอบ หรือเรียนหนังสือเพื่อเรียนรู้ เพื่อใบปริญญา เราต้องกลับไปตั้งคำถามกันใหม่ เพราะเด็กเริ่มตั้งคำถามแบบนี้ แต่ผู้ใหญ่บอกว่าพูดเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ เราคิดว่าคุณค่าที่เคยมีมามันกำลังสั่นสะเทือน การได้กลับไปตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ จึงน่าจะเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่ทุกคนควรได้รับ” ครูแอมทิ้งท้าย
นิเวศแห่งการเรียนรู้
ด้วยบทบาทของ ดร.ศิวัช ในฐานะรองปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน หนึ่งในหน้างานของเขาคือการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และการออกแบบหลักสูตรการศึกษาเฉพาะตามศักยภาพของแต่ละชุมชน ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโรคที่โรงเรียนและชุมชนอยู่ในความโกลาหลและหวาดกลัว ท้องถิ่นจึงถือเป็นกลไกสำคัญในการคลายสถานการณ์และสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น
“ระบบการศึกษาของไทยมีขีดจำกัด การสั่งการแบบ hierarchy (ตามลำดับชั้น) แบบบังคับบัญชาเยอะเกินไป มันไปลดความทอนขีดความสามารถของคนบางกลุ่ม รวมถึงชุมชนที่มีศักยภาพในตัวเองอยู่แล้ว”
นั่นคืออุปสรรคที่เขาพบเจอ ขณะเดียวกัน ภายใต้อุปสรรคและกรอบของระบบราชการนั้น ดร.ศิวัช มองเห็นถึงศักยภาพบางอย่างของชุมชนในการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้
“วันนี้มันสะท้อนแล้วว่า การศึกษาไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน เราอยู่ไหนก็สามารถเรียนได้ อยู่ในห้องนอน ห้องน้ำ อยู่ใต้ต้นมะขามก็เรียนได้ เราให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทางการศึกษา เราเอาเหตุการณ์โควิดมาเป็นต้นเหตุในการปฏิรูปอะไรที่ยังบิดเบี้ยวอยู่ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นการเอาชุมชนไปวางไว้ด้วย โควิดเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นโอกาสสำหรับเมืองมากๆ สำหรับระบบหลายระบบ ครูที่อยู่ในกรอบที่แข็งแกร่งมากก็เดินออกจาก safety zone กล้าที่จะเดินออกมาทำในเรื่องที่ตัวเองไม่คุ้นเคย”
แต่ถึงอย่างนั้น สังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นที่ประจักษ์ การแก้ปัญหาการศึกษาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกๆ คนนั้น จึงไม่ง่ายนัก
“โควิดก็ทำให้เด็กได้เข้าถึงชุดความรู้บางอย่าง ผู้ปกครองก็เช่นกัน นอกจากนี้ครูในชนบทก็มีความเหลื่อมล้ำเช่นกัน สิ่งที่ต้องปรับคือ digital mindset และการสร้าง growth mindset ของครูและผู้ปกครองไปพร้อมๆ กัน แต่ถึงอย่างนั้น สังคมเรายังไม่พร้อมซัพพอร์ต การย้ายการศึกษาไปไว้บน cloud มันเป็นการ disrupted ครั้งสำคัญของระบบการศึกษาทั้งระบบ การศึกษาคือเรื่องของระบบสังคมที่หลายส่วนต้องเข้าไปจัดการ เป็นเรื่องที่ต้องสร้างอะไรที่เป็นชะตากรรมร่วมกัน”
การศึกษาที่ดีจะต้องไม่มีผู้รอด หรือผู้หล่นหาย ไม่ว่าจะในสถานการณ์ปกติหรือต้องเผชิญวิกฤติใดๆ ระบบที่ดีจะต้องถูกออกแบบมาโอบอุ้มเด็กนักเรียนทุกคน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่หรือชนบทห่างไกล ขณะเดียวกัน กลไกเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องของครูหรือโรงเรียนเพียงเท่านั้น
“Education for All หมายถึง ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต้องเข้ามาตอบสนองปัญหา เพราะไม่ใช่หน้าที่ครูอย่างเดียว หน่วยงานรัฐ พ่อแม่ ครู ต้องมีวิธีคิดแบบใหม่ ต้องทำงานเชิงเครือข่าย เข้าใจเรื่องศักยภาพของพื้นที่ ทั้งที่เป็นทุนมนุษย์ ทุนวัฒนธรรม นอกจากนั้นแล้ว กระทรวงศึกษาฯ ต้องตั้งคำถามว่า ปัจจุบันที่เป็นอยู่มันเป็นโรงเรียนหรือโรงสอน เราต้องแยกให้ออกว่าเรียนกับสอนต่างกันยังไง โรงเรียนต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก” ดร.ศิวัช ทิ้งท้าย