เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 Equity lab จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้ชุดเครื่องมือการเรียนรู้ 4CEF+ สื่อเพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์และทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ภายใต้โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรครูตำรวจตระเวนชายแดน ด้วยกล่องนวัตกรรมการศึกษา 4CEF+ ในกลุ่มคุณครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้โครงการหนุนเสริมกลไกขยายผลการพัฒนาครูและโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเป้า จังหวัดเลย โดยมีคุณครูจำนวน 41 คน จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนต้นแบบ 4 โรงเรียน ในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 ได้แก่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเป้า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนานกปีด โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนฮิลมาร์พาเบิล จังหวัดเลย และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเวียงงาม จังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และทักษะสมองส่วนหน้าแก่นักเรียน ด้วยการใช้ชุดเครื่องมือการเรียนรู้ 4CEF+ โดยมีทีมวิทยากรจากสถาบันรักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป (RLG) เป็นผู้ออกแบบกระบวนการและจัดอบรมในครั้งนี้
นายวรุฒ เลิศศราวุธ นักวิชาการฝ่ายนวัตกรรมและบริหารเครือข่าย ห้องปฏิบัติการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Lab) ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า โครงการฯนี้ เป็นการขยายผลจากงานวิจัย “โครงการพัฒนากระบวนการเสริมสร้างและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ในชั้นเรียนของมูลนิธิทักษะเพื่ออนาคต” โดยมีสมมุติฐานว่า การเพิ่มทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กมัธยมศึกษา จะส่งผลต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ทางวิชาการในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น
ผลจากการวิจัยในปี 2563 ที่ได้ทำการทดลองโดยเน้นพัฒนาครูและศึกษานิเทศก์ พบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ดังนี้ กลุ่มผู้สอน มีการเปิดกว้างเรื่องความรู้ เข้าใจการจัดกระบวนการสอนแบบ Active Learning ที่เปิดกว้างให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบชั้นเรียนได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อบรรยากาศที่เหมาะสมในการเรียนรู้ของเด็กๆ รวมถึงได้รู้จักเครื่องมือใหม่ๆในการกระตุ้นการเรียนรู้ และเกิดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ PLC ระหว่างครูด้วยกันเอง ในส่วนของกลุ่มผู้เรียน มีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป คือ ไม่รอคำสั่งจากคุณครูและมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยคุณครูเป็นเพียงผู้อำนวยการเรียนรู้ หรือ facilitator เท่านั้น รวมถึงมีทักษะในการประเมินตนเอง เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และนำไปสู่เป้าหมายที่ตนเองออกแบบไว้ ในส่วนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ มีการสนับสนุนจากพื้นที่ โดยปรับรูปแบบการจัดตารางเรียนให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ รวมถึงการสร้างคุณครูที่เป็นแม่ข่ายเพื่อถ่ายทอดกระบวนการต่างๆไปยังเครือข่ายของตนเอง
จากผลวิจัยดังกล่าว เราจึงถอดกระบวนการเหล่านี้ออกมาในรูปแบบชุดเครื่องมือการเรียนรู้ 4CEF+ เพื่อเป็นสื่อการจัดการเรียนการสอนของคุณครูและนักเรียน ที่จะนำไปสู่ทักษะ EF การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning การสร้างวินัยเชิงบวก การสร้างห้องเรียนประสิทธิภาพสูง (High functioning classroom) และการสร้างนวัตกรรมชุมชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการเสริมสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ในชั้นเรียน และส่งผลต่อผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น
“เรามักจะตั้งเป้าว่าเด็กจะต้องมีผลลัพธ์ทางวิชาการที่สูง ยิ่งสูงเท่าไหร่ยิ่งดี แต่การจะทำแบบนั้นได้เด็กต้องมีความสุขกับการเรียนรู้ มันก็จะเป็นเรื่องของ Active Learning ยิ่งเด็กกับครูมีส่วนร่วมในการออกแบบการสอนเท่าไหร่ เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นเจ้าของในการเรียนรู้นั้น เขาก็จะมีความสุขในการเรียน ถ้าเราทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ เขาก็จะมี EF พอมี EF แล้วทักษะความคิดสร้างสรรค์ก็จะมีโดยอัตโนมัติ ถ้าเราวาง Active Learning ให้ดี วางโปรแกรมการสร้าง EF ให้ดี พอเด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ผลลัพธ์ทางวิชาการก็จะออกมาได้ดีอย่างแน่นอน”
ต่อมาทางผู้รับผิดชอบโครงการฯ ร่วมกับ ดร.จิตติมา เจือไทย ผู้ดูแลโครงการหนุนเสริมกลไกขยายผลการพัฒนาครูและโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน ได้เล็งเห็นว่า นวัตกรรม 4CEF+ อาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่กลุ่มครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดทักษะดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงนำมาสู่การขยายผลโดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้
ดร.จิตติมา เจือไทย ผู้จัดการโครงการหนุนเสริมกลไกขยายผลการพัฒนาครูและโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน ได้เล็งเห็นประโยชน์ของชุดเครื่องมือการเรียนรู้ 4CEF+ ที่จะช่วยเติมเต็มศักยภาพให้แก่คุณครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนได้ และมองว่า “หัวใจสำคัญ” ของกระบวนการอบรม คือ คุณครูสามารถที่จะจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีความหมาย ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนที่มีความถนัดที่แตกต่างหลากหลาย
“มันจะมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยพัฒนาเด็กๆ เพราะเรื่องการเรียนรู้มันต้องเข้าใจในเรื่องของ EF ต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็ก ต้องเข้าใจตัวตนของเด็กมันถึงจะทำให้ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้ เพราะฉะนั้นด้วยความเชื่อพื้นฐานมันมีทุนเดิมอยู่แล้ว มันน่าจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยทำให้ครูใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนของเขาได้อย่างมีความหมายมากขึ้น”
การประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการเหล่านี้จะถูกปรับเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับการใช้งานของคุณครูแต่ละคน รวมถึงสภาพแวดล้อมหรือตัวผู้เรียน และเป้าหมายในการจัดการศึกษาของแต่ละโรงเรียนที่แตกต่างกันตามไปด้วย ซึ่ง ดร.จารุวัลฐ์ สุทธิสานนท์ ผู้เชี่ยวชาญในโครงการหนุนเสริมกลไกขยายผลการพัฒนาครูและโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน มองว่า สำหรับในบริบทของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน คุณครูสามารถที่จะนำมาบูรณาการ ใช้กับแผน ก.พ.ด. ได้
ด้าน คุณสุภาวดี หาญเมธี จากสถาบันรักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป ทีมวิทยากรจัดอบรมและผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะ EFกล่าวว่า ทักษะสมองส่วนหน้า หรือ Executive Function (EF) คือ ความสามารถในการกำกับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมเพื่อไปสู่เป้าหมาย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะทำให้เกิดคุณลักษณะอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการเรียนรู้ (Soft Skills) ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีมความรอบรู้พื้นฐาน ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Iteracy) ทักษะชีวิตและอาชีพ โดยการจะทำให้เด็กเกิดทักษะเหล่านี้ได้ต้องเริ่มจากความรู้ ความเข้าใจของคุณครูที่เป็นผู้สอนก่อน
ทีมวิทยากรจึงใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่เน้นให้คุณครูนำประสบการณ์มาแบ่งปันกัน ถกคิด อภิปราย และกลับไปปฏิบัติจากนั้นจึงกลับมาแบ่งปันกันอีก ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ EF ที่เชื่อว่าคนจะเรียนรู้ได้จากจุดแข็ง ความสุข จากสมองส่วนอารมณ์ที่ดี และการลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้เกิดทักษะ EF หรือประสบการณ์ที่มีคุณภาพ แล้วนำมาใช้กับเด็กอย่างต่อเนื่อง เด็กก็จะดึงทักษะเหล่านั้นมาใช้ได้ในสถานการณ์ที่จำเป็น
“โอกาสในการพัฒนา EF มันขึ้นอยู่กับเราจะทำอย่างไรให้คนได้มีโอกาสคิดอิสระ แก้ไขปัญหา วิเคราะห์ มองไปข้างหน้า คิดย้อนไปข้างหลัง ถ้าเมื่อไหร่เปิดโอกาสให้คนได้คิด EF มันก็ทำงาน ต่อมาคือเปิดโอกาสให้คนได้ลงมือทำและได้ทำด้วยกัน ได้เจอเรื่องการตั้งเป้าหมาย วางแผน ความท้าทาย มีการทบทวน ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การส่งเสริม EF ทำให้ครูได้เข้ามาคุ้นชินว่ากระบวนการทำสิ่งใดๆก็ตาม ถ้าใช้หลักการให้โอกาส พาเด็กไปลงมือทำ เช่น ทำสวน ทำไข่ มันก็จะได้ EF เต็มๆ”
สำหรับการอบรมในครั้งนี้ แบ่งเป็นภาคเช้าและภาคบ่าย โดยภาคเช้าจัดกิจกรรมที่สะท้อนให้คุณครูเห็นความสำคัญของการมีทักษะ EF และกิจกรรมสำหรับฝึกใช้ชุดเครื่องมือการเรียนรู้ 4CEF+ เพื่อจัดการเรียนการสอนและจัดเก็บประสบการณ์ ภาคบ่ายเป็นการฝึกใช้สื่อเพื่อจัดกระบวนการสะท้อนผล และสรุปความคิด รวมถึงการนำไปเชื่อมโยงกับแผนการสอนของบริบทโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โดยภายหลังจากการอบรมในครั้งนี้ได้มีการแจกจ่ายชุดเครื่องมือนี้ให้แก่คุณครูเพื่อนำไปทดลองประยุกต์ใช้จริง พร้อมมีการติดตามและประเมินผลในครั้งถัดไปเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย