เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 Equity lab และ สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ (Area Based Education : ABE) โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ Disrupt Technology Venture จัดกิจกรรม Equity opportunity Day ครั้งที่ 4 เปิดพื้นที่ชวนเหล่านวัตกรการศึกษาไทยมาร่วมระดมไอเดีย สร้างสรรค์นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในธีม “การแนะแนวที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และศึกษาต่อในระดับสูงกว่าภาคบังคับ สำหรับนักเรียนในจังหวัดระยอง และรู้จักทางเลือกของเส้นทางชีวิตที่หลากหลาย” ภายใต้โครงการการบ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีเหล่านวัตกรสมัครเข้าร่วมทั้งหมด 13 ทีม
นายวงศธร ชุณหะวัณ นักวิชาการฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรมและบริหารเครือข่าย Equity Lab ในฐานะผู้ดูแลโครงการ กล่าวว่า การทำงานเชิงนวัตกรรมเป็นหนึ่งในทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อันเป็นกระบวนการช่วยให้ค้นพบแนวคิดการแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่ๆ ผ่านการทำโครงการนำร่อง (Pilot project) โดยใช้สารตั้งต้นจากงานวิจัย มาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับบริบทในพื้นที่นั้นๆ โดยนวัตกร ซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายนวัตกรหรือผู้ที่มีความสนใจในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาร่วมกันขับเคลื่อนในเรื่องนี้
“ผลลัพธ์จากกระบวนการบ่มเพาะนวัตกรรมสังคมยังเป็นการเติมเต็มศักยภาพและริเริ่มกลไกการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. ผ่านการเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่างนวัตกรรุ่นใหม่ที่มีความสนใจใช้ประสบการณ์ เครื่องมือ ความคิดสร้างสรรค์มาร่วมแก้ปัญหา และร่วมพัฒนาแนวคิดที่สามารถแก้ปัญหาให้กับกลุ่มผู้รับประโยชน์ได้อย่างตรงจุด อีกทั้งสามารถส่งต่อสู่ภาคีให้สามารถนำนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตนเองอย่างยั่งยืน”
ในครั้งนี้ Equity Lab ได้หยิบยก “โครงการวิจัยเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์” มาเป็นสารตั้งต้น เนื่องจากผลของงานวิจัย พบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก ความมุ่งมั่นและ Growth Mindset ทัศนคติต่อความสำคัญของการศึกษา การไม่รู้ความถนัดของตนเองและไม่มีเป้าหมายการเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูล ทุนการศึกษา และการกู้ยืมเพื่อการศึกษา การแนะแนวจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะสนับสนุนให้นักเรียนตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในระดับสูงกว่าภาคบังคับ และช่วยให้มีทางเลือกเส้นทางชีวิตที่มากขึ้น
กิจกรรม Equity Opportunity Day นี้ จะชวนเหล่านวัตกรมาทำความรู้จักกัน เรียนรู้เรื่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ทำความเข้าใจปัญหา (Problem Insight) ก่อนจะนำไปสู่การทำความเข้าใจกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและกลไกที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ผ่าน stakeholder Mapping และนำไปสู่การเลือกสรรโจทย์ ขบคิดนวัตกรรม และเกิดการระดมไอเดียแก้โจทย์ปัญหาที่ได้รับ เพื่อการคิดอย่างเป็นระบบและแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร
อนุรักษ์ ศิริมณฑา ผู้ประกอบการด้านการศึกษา จากทีม Code today กล่าวว่า หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจปัญหาและกลไกต่างๆในพื้นที่จังหวัดระยองแล้วการแก้ปัญหาให้ตรงความต้องการและเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย คือ เราต้องการที่จะทำงานเชื่อมโยงประสานกับเครือข่ายในพื้นที่ เช่น หน่วยงานด้านการศึกษา หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน โดยอาศัยนวัตกรรมที่จะมาช่วยเติมเต็มหรือปิดช่องว่างบางอย่าง ซึ่งมองว่าอาจใช้เครื่องมือใหม่ๆ ที่มาช่วยเติมข้อมูลการศึกษาต่อตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาไปถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
“เพราะฉะนั้นตัวแพลตฟอร์ม ครูแนะแนว.com จะเข้ามาช่วยเสริม ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของข้อมูลการศึกษาต่อ ให้เด็กรู้จักตัวตนในการที่จะศึกษาต่อสาขาวิชาที่เขาชอบจริง ๆ ไม่ใช่การตามเพื่อน เขาควรจะมีในเรื่องของการรู้ตัวตนของตัวเอง หรือ ศักยภาพที่แท้จริงว่าชอบอะไร โดยจะมีคุณครูแนะแนวของทุกโรงเรียน ทุกสังกัดมาอยู่ในแพลตฟอร์ม เขาก็จะมีศักยภาพรอบรู้ในส่วนของสาขาวิชาที่สอนอยู่”
ด้านกัญญาณัฐ วีระสุนทร ทีม Think Tank Tool อีกหนึ่งผู้เข้าร่วมงานที่สนใจการแก้ปัญหาด้านการแนะแนวในพื้นที่จังหวัดระยอง จากปัญหา (Pain point) เด็กขาดแรงบันดาลใจและไม่รู้จะเรียนไปทำไม ไอเดียการสร้างสรรค์นวัตกรรมในครั้งนี้ จึงเน้นไปที่การสร้างความตระหนักรู้ความต้องการของตัวเด็ก และการรู้เท่าทันโลก มีทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้เขาเลือกที่จะเรียนต่อไปได้ ซึ่งมองว่าในพื้นที่ที่มีเครือข่ายหรือองค์ประกอบอื่นๆที่ดีอยู่แล้ว จะช่วยจุดประกายหรือผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้มีเป้าหมาย หรือ แรงบันดาลใจที่จะเรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับได้
ปัญหาจากในพื้นที่ถูกถ่ายทอดให้กับเหล่านวัตกรเพื่อนำไปขบคิดนวัตกรรม จากการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education: ABE) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการทำงานที่ กสศ เปิดให้ภาคส่วนต่างๆ และประชาชน และเครือข่าย ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะ ‘เจ้าของปัญหา’ รวมถึงร่วมบริหารจัดการศึกษา เพื่อพัฒนากลไกการทำงานระดับพื้นที่ กระทั่งนำไปสู่ต้นแบบเชิงนโยบายกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา
ด้าน นายอิษฐ์ ปักษ์กันธร หัวหน้าฝ่ายพัฒนากลไกและเครือข่ายบูรณาการเชิงพื้นที่ สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. กล่าวว่า โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (ABE) มีเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเพื่อให้การศึกษาเข้าถึงได้ในทุกชุมชน โดยเน้นให้เกิดการทำงานร่วมกันจากภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัด เพื่อสร้างระบบข้อมูลที่เข้าถึงกลุ่มเด็กยากจนได้ง่ายขึ้นและขยายความร่วมมือของเครือข่ายในจังหวัดนั้นๆ รวมถึงสร้างกลไกที่ยั่งยืนและนวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
ที่ผ่านมาได้มีการทำงานร่วมกับสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย หรือRILA และองค์กรในท้องถิ่นในจังหวัดระยอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาผู้เรียนโดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส รวมถึงการพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียนสู่การเป็น “ผู้เรียนระยองสู่สากล” โครงการนี้ไม่เพียงแต่สนับสนุนการศึกษาสำหรับเด็กในระบบ แต่ยังพยายามเชื่อมโยงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบ ซึ่งตั้งเป้าหมายนำเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษากลับสู่การเรียนรู้และพัฒนาอาชีพ เน้นให้เกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ระยอง เพื่อให้การพัฒนาผู้เรียนสอดคล้องกับการพัฒนาเมืองและตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่
“ระยองเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีตัวเลขของน้อง ๆ เยาวชนที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษาหรือเด็กนอกระบบการศึกษาอยู่จำนวนถึง 14,000 คน ซึ่งกระจายอยู่อำเภอต่าง ๆ ผมคิดว่าประเด็นนี้ก็เลยกลายมาเป็นโจทย์สำคัญในการทำงานร่วมกับจังหวัดระยองด้วย เราคาดหวังว่าการทำงานแบบ RILA จะช่วยทำให้กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดระยองสามารถเชื่อมโยง ก็คือใช้ข้อมูลในการค้นหาเด็ก รวมไปถึงการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของเด็กได้ แล้วศักยภาพของเด็กควรจะสัมพันธ์กับศักยภาพของเมือง ขนาดของเมืองด้วย”
ข้อมูลจาก RILA และการสัมภาษณ์คุณครูในจังหวัดระยอง พบว่า ในปัจจุบันจังหวัดระยองกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ สาเหตุเกิดจากระบบการศึกษาผลิตแรงงานไม่ทันกับความต้องการของตลาดแรงงาน จำนวนนักเรียนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและขาดแรงงานข้ามชาติ รวมถึงหลักสูตรการศึกษาและการแนะแนวที่ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงาน ในส่วนของนักเรียน ก็พบว่าไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าภาคบังคับ มีการวางแผนเส้นทางอาชีพที่จำกัด ขาดแคลนทุนทรัพย์ เด็กบางกลุ่มไม่มีความฝันกลายมาเป็น NEET (ไม่ได้เรียน ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ฝึกอบรม) ทำให้จังหวัดระยองขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามเป้าหมาย จึงนำมาสู่ 3 โจทย์หลัก ได้แก่ 1.จะทำอย่างไรให้นักเรียนเห็นความสำคัญต่อการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ 2.จะทำอย่างไรให้นักเรียนรู้จักตนเองและรู้จักอาชีพที่มีการจ้างงานในจังหวัดระยอง 3.จะทำอย่างไรให้นักเรียนเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุนการศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 และคุณครูแนะแนวเป็นข้อต่อของกลไกทั้งหมด ที่เหล่านวัตกรจะต้องนำไปขบคิดเพื่อออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ต่อไป
ภายหลังจากกิจกรรมนี้ จะเปิดโอกาสให้เหล่านวัตกรเข้ามานำเสนอไอเดีย หรือ pitching นวัตกรรมที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งมีเกณฑ์การคัดเลือก ดังนี้
1.ต้นแบบ (prototype) ของนวัตกรรม มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของจังหวัดนั้นๆ
2.มีความเข้าใจและออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหา (pain point) ของกลุ่มเป้าหมายได้ ทั้งผู้ใช้งาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3.สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม (impact) รวมถึงมีตัวชี้วัดของนวัตกรรมในด้านผลกระทบทางสังคมอย่างชัดเจน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
4.นวัตกรรมมีความยั่งยืน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้ รวมถึงสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายหรือกลไกในพื้นที่ที่จะสามารถผลักดันการนำนวัตกรรมไปใช้ได้เองอย่างต่อเนื่องในจังหวัด หลังจากจบโครงการ
5.ทีมนวัตกรมีความพร้อมด้านการติดต่อประสานงานต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริงและกลไกในพื้นที่ในการผลักดันนวัตกรรม
โดย 3 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับเงินทุน 100,000 บาท เพื่อทดลองต้นแบบ หรือ Prototype ต่อไป