Equity lab ภายใต้สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ เทศบาลเมืองสุรินทร์ ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลปราสาท สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โรงพยาบาลท่าตูม โรงพยาบาลสังขะ พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ ดำเนินกิจกรรมตรวจวัดสายตาและตัดแว่นฟรีให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนใกล้เคียง ในจังหวัดสุรินทร์ ภายใต้โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE” แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต เพื่อส่งเสริมการสร้างกลไกระดับท้องถิ่นให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงบริการตรวจวัดสายตา เกิดระบบส่งต่อเด็กที่มีปัญหาให้ได้รับการรักษา และเข้าถึงแว่นตาที่มีคุณภาพเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา นักทัศนมาตรและจักษุแพทย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าหน้าที่และพยาบาลจากโรงพยาบาล เข้าร่วมดำเนินการ ในระหว่างวันที่ 10-14 มิถุนายน 2567 โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นเด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 2,697 คน ใน 10 โรงเรียน
นายวรุฒ เลิศศราวุธ นักวิชาการ ห้องปฏิบัติการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Lab)สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ผู้รับผิดชอบโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE” กล่าวว่า เป้าหมายหลักที่ต้องช่วยเหลือ คือ กลุ่มนักเรียนยากจน ยากจนพิเศษ ที่นอกจากฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวแล้ว ปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาสายตา ส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้และเพิ่มความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา
เพื่อลดอุปสรรคเหล่านี้ โครงการ I SEE THE FUTURE จึงพัฒนาต้นแบบการทำงานที่สนับสนุนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เชื่อมโยงความร่วมมือ ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษาในพื้นที่ และทำแผนขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เพื่อจัดกิจกรรมคัดกรองสายตาในกลุ่มประชากรวัยเรียน เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพด้านสายตาของน้องๆ ได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน โดยดำเนินการนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม ปัตตานี สุรินทร์ การดำเนินการในจังหวัดสุรินทร์ เน้นการสร้างความตระหนักรู้กับผู้ปกครองถึงสิทธิประโยชน์บัตรทองของเด็กและความสำคัญของปัญหาสายตาในบุตรหลาน
ผู้รับผิดชอบโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE”
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วัฒนีย์ เย็นจิตร คณบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเรียนรู้ของเด็ก 15% มาจากการมองเห็น ถ้ามองเห็นดี เด็กก็จะมีการเรียนรู้ที่ดี มีการศึกษาสูงขึ้น ในอนาคตทำให้มีการงานที่ดี เมื่อมีการงานที่ดีก็จะสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว และทำงานเพื่อประเทศชาติได้
“สิ่งที่สำคัญและจำเป็นคือต้องมีการคัดกรองที่เร็ว ทำให้เราพบโรคในระยะที่เริ่มต้นให้ได้ หากมีการคัดกรองที่ต่อเนื่อง เร็ว ครอบคลุม จะทำให้ทราบถึงความผิดปกติได้ง่าย ซึ่งความผิดปกติของเด็กที่เราละเลยไม่ได้ คือ สายตาผิดปกติ การมองเห็นด้วยตาทั้งสองข้างไม่ดี ก็จะทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพสามมิติ ทำให้มองไม่เห็นความลึก ทำให้ตาเหล่ ตาขี้เกียจได้”
นอกจากนี้รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วัฒนีย์ กล่าวต่ออีกว่า ขอบคุณ โครงการ I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต เป็นความร่วมมือที่ดีมากของหน่วยงานหลายๆฝ่าย ในอนาคตเพื่อให้เด็กเข้าถึงสิทธิมากขึ้น จึงอยากเสนอแนะให้ สปสช. จัดสรรงบประมาณสำหรับการคัดกรอง อาจจะคัดกรองโดยคุณครูอนามัย หรือ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยมีการจัดอบรมเรื่องการคัดกรองให้กับคุณครูอนามัยและเจ้าหน้าที่ หรือสนับสนุนการทำงานให้กับ อสม. มากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการคัดกรองอย่างทั่วถึง และหากมีการขยายการทำงานของสปสช. ซึ่งเป็นคนจ่ายเงินค่าตัดแว่นอยู่แล้วตามสิทธิ อาจจะกำหนด หรือหาร้านแว่นที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจและสามารถเบิกตรงได้เลย เพราะจะสามารถตรวจสอบได้ว่าเด็กได้แว่นถูกต้อง เหมาะสม ผลลัพธ์การมองเห็นดีขึ้นไหม เป็นการทำงานที่ครบวงจร
นางสาวอัมพร สมพงษ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยเรียน ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ในการร่วมมือกันกับกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) ช่วยทำให้เกิดการตื่นตัวทั้งในด้านสาธารณสุขและภาคการศึกษา เป็นการเข้ามาเติมเต็ม ช่วยเหลือในการคัดกรองของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งทรัพยากรบุคลากร มีนักทัศนมาตรหรือมีอาจารย์จักษุแพทย์เข้ามาร่วมตรวจด้วยถือว่าเป็นความสมบูรณ์มากในการทำงาน ซึ่งการทำงานตอนนี้ได้ประสานงานกัน มีการทำงานร่วมกัน เพราะทุกฝ่ายมองว่าเรื่องของสายตาเป็นเรื่องที่สำคัญ
“นอกจากการมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เราก็อยากทำให้เด็กไทยสุขภาพดี มีสายตาที่ดี เข้าถึงองค์ความรู้ สามารถมองเห็นชัดเจน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีก็จะตามมา”
นายอรรคเดช โทนหงษา อาจารย์ประจำคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะหัวหน้าทีมนักทัศนมาตรที่ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองครั้งนี้ กล่าวว่า จากการคัดกรองใน 5 วันที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ พบความหลากหลายของปัญหาสายตามาก เป็นเรื่องของค่าสายตา ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ตาบอดสี ตาเหล่ รวมถึงโรคตาด้วย ซึ่งมีเคสที่น่าสนใจและน่าเป็นห่วง เช่น เลือดออกในตา ที่จะต้องทำการส่งต่อจักษุแพทย์เพื่อสืบหาสาเหตุของปัญหาต่อไป พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองและการแก้ไข
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ อินทร์สอน ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลท่าตูม กล่าวว่า ปกติเรื่องระบบการดูแลสุขภาพนักเรียนในโรงเรียนจะมีการเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ โรงพยาบาลท่าตูม เข้ามาตรวจเช็คเป็นประจำทุกปี ทั้งเรื่องของการให้วัคซีน ตรวจสายตา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีหน่วยงานที่อยู่นอกเหนือเขตเทศบาลตำบลท่าตูมที่มาตรวจคัดกรองสายตาให้ แต่ก็ไม่ได้มาให้บริการทุกปี เมื่อทางโรงเรียนทราบผลก็จะทำการแจ้งผลไปยังผู้ปกครองเพื่อการรักษาต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม โรงเรียนยังไม่เคยเก็บข้อมูลที่เป็นระบบชัดเจน จึงไม่ทราบจำนวนนักเรียนที่มีปัญหาทั้งหมด
ปัจจุบันเรื่องของปัญหาสายตาในโรงเรียน ก็ยังพบว่า มีนักเรียนที่มีปัญหาสายตา ซึ่งอาจมีสาเหตุจากความแตกต่างของสภาพการเลี้ยงดูในแต่ละครอบครัว ผู้ปกครองที่มีข้อมูลรู้ว่าบุตรหลานมีปัญหาสายตาหรือกรณีที่เด็กรู้ตัวว่ามีปัญหาสายตาก็จะแจ้งผ่านครูประจำชั้น สิ่งที่โรงเรียนหรือคุณครูสามารถทำได้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาในเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียน
“เรื่องของการมองมันเป็นประตูแรกในการเรียนรู้เลย มันเป็นด่านแรกในการที่จะอ่านได้เขียนได้ ถ้าสายตาไม่ได้มาตรฐาน ไม่ดี มันก็จะส่งผล สิ่งที่โรงเรียนสามารถเริ่มต้นทำได้ ก็คือจัดให้เด็กนักเรียนนั่งในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่นั่งข้างหลัง ไม่นั่งด้านข้าง นั่งอยู่ในมุมที่เด็กมองเห็นได้ชัด”
นางบุญเที่ยง เหลาคม ผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนเทศบาลท่าตูม อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าหลานมีความผิดปกติทางสายตา เนื่องจากไม่เคยตรวจ และไม่รู้สิทธิ แต่โครงการนี้ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสายตาในบุตรหลานมากขึ้น
“เมื่อเรารู้ก็จะได้ทำการรักษา หรือแก้ไข เพราะว่าสายตาเป็นสิ่งสำคัญ คือ อย่างน้อย ๆ ก็ดีกับตัวของหลาน ผู้ปกครองก็จะพลอยสบายใจไปด้วย ในอนาคตข้างหน้าเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แต่ในเมื่อเรารู้วันนี้เราก็อยากรีบแก้ไข”