เมื่อวันที่ 6 – 7 กรกฎาคม 2567 Equity lab โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ลงพื้นที่ร่วมติดตามกระบวนการส่งต่อเด็กนักเรียนที่มีความผิดปกติทางสายตาเพื่อเข้ารับการตรวจและรักษา ตามสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE” แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต ณ โรงพยาบาลปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ภายหลังจากได้มีการตรวจคัดกรองสายตาเชิงรุก โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายตาจากเครือข่ายสมาคมทัศนมาตรศาสตร์แห่งประเทศไทย คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเจ้าหน้าที่และพยาบาลจากโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 27 – 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่า มีเด็กนักเรียนที่มีความผิดปกติทางสายตาที่จำเป็นต้องส่งต่อจักษุแพทย์ จำนวน 77 คน
ในวันที่ 6 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลปัตตานี เปิดให้คุณครูนำเอกสารของเด็กนักเรียนมายืนยันตัวตน และในช่วงเช้าของวันที่ 7 กรกฎาคม เปิดให้ผู้ปกครองและคุณครูพาบุตรหลานมาเข้ารับการตรวจและรักษา โดยมีเด็กนักเรียนที่มาเข้ารับการตรวจ ทั้งหมดจำนวน 62 คน และมีบางส่วนทยอยเข้ามาตรวจในภายหลัง
พญ.นิมิษติกา หะยีวามิง จักษุแพทย์โรงพยาบาลปัตตานีที่เข้าร่วมในโครงการฯ กล่าวว่า เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อเด็กในพื้นที่อย่างมาก ทำให้เด็กเข้าถึงแว่นสายตาและการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และทำให้คุณภาพชีวิตเด็กดีขึ้น
“โครงการฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อคัดกรองสายตาเด็ก มีประโยชน์มาก ๆ โดยเฉพาะในเด็ก 4 – 6 ขวบ เขาจะยังบอกไม่ได้ว่า เขามองไม่ชัด ต้องใช้วิธีการวัดสายตา จึงบอกได้ว่า เด็กคนนี้มองชัดหรือไม่ชัด ในช่วงแรกเกิด – 8 ขวบ หากมองเห็นชัดเท่าไหร่ สมองเขาจะพัฒนาการมองเห็นได้มากขึ้นเท่านั้น เมื่อสมองมีการพัฒนาการมองเห็น โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่หากมารู้หลังอายุ 8 ขวบว่ามีปัญหาสายตา ต่อให้ตัดแว่นดียังไงก็ไม่สามารถเรียกการมองเห็นกลับมาได้ เพราะสมองพัฒนาการมองเห็นแค่แรกเกิด – 8 ขวบ”
นพ.ภูมิเตชิษฐ์ พัฒน์ธานิศ จักษุแพทย์อีก 1 ท่านที่เข้าร่วมตรวจคัดกรองสายตาเด็ก กล่าวถึงปัญหาสายตาที่ตรวจพบในเด็กกลุ่มนี้
“สภาพปัญหาที่เจอเยอะ คือ สายตาสั้น ยาว และเอียง ตาเข ตาขี้เกียจ มีทั้งเคสที่มาทันเวลา สามารถแก้ไขได้ ซึ่งในช่วงอายุ 0 – 7 ขวบ จะพัฒนา 100 เปอร์เซ็น หากมีความผิดปกติในช่วงอายุนี้ แล้วไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงที จะทำให้สายตาชะงักไป ซึ่งมีบางเคสที่หลุดไป เช่น เด็กอายุ 11 ขวบแล้ว แต่มีเพียง 2 – 3 เปอร์เซ็น”
ด้านผู้ปกครอง นางนูรียะ วัย 38 ปี แม่ของ น้องซัลมา (นามสมมุติ) ลูกสาววัย 9 ปี จากโรงเรียนบ้านกระหวะ อ.มายอ จ.ปัตตานี อธิบายถึง อาการเคืองตา มองพร่ามัวของลูกสาว แต่เธอยังไม่เคยพาลูกสาวไปพบหมอ เมื่อมีโครงการฯนี้ เข้ามาคัดกรองสายตาและพาเข้าสู่ระบบส่งต่อพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจซ้ำ ก็ช่วยให้เธอรู้ว่า ลูกสาวมีปัญหาสายตาที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งเธอมีความรู้สึกดีใจที่ปัญหาสายตาของลูกสาวนั้นจะถูกแก้ไขได้ทันเวลา
นอกจากนี้ คุณครูฉวีวรรณ เพชรพิมล ครูประจำชั้นป.3 โรงเรียนบ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ผู้ดูแล น้องอับดุล (นามสมมุติ) วัย 9 ขวบ ตัวแทนผู้ปกครองที่พาลูกศิษย์มาเข้ารับการตรวจและรักษา กล่าวขอบคุณโครงการฯนี้ และรู้สึกดีใจแทนนักเรียนทุกคนที่ทำให้นักเรียนมีการเรียนและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ปีที่แล้วครูไปสอนคณิตศาสตร์ แล้วเขาบอกมองไม่เห็น ต้องไปยืนชิดกระดาน เขียนช้ามาก ต้องดูทีละตัว จึงพาไปตัดแว่นใส่มา 1 ปี พอมีโครงการฯ ก็อยากให้มาตรวจและตัดแว่นเพิ่มจะได้มีแว่นสำรอง เพราะทางบ้านเขาฐานะลำบาก และหมอบอกว่าสายตาค่อนข้างสั้นมาก ต้องบริหารสายตาโดยการปิดตาด้วย ใช้ตาข้างละ 3 ชั่วโมง สลับตาซ้ายขวา มีแผ่นปิดตาปิดที่แว่น ซึ่งถ้าอายุ 10 ปี สายตาจะกู้คืนมาลำบาก จะเป็นถาวร”
ดังนั้นผู้ปกครอง คุณครูต้องหมั่นคอยสังเกตอาการของเด็กๆ หากเห็นถึงความผิดปกติทางสายตา ควรติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชน หรือ โรงพยาบาลที่มีหน่วยตรวจตา เพื่อขอรับความช่วยเหลือในการตรวจวัดสายตาเบื้องต้นและรักษาตามขั้นตอนต่อไปอย่างเร่งด่วน เพื่อการมองเห็นและชีวิตที่ดีขึ้นของเด็กๆ ทั้งนี้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่สามารถตรวจคัดกรองและตัดแว่นสายตาฟรีสำหรับเด็กอายุ 3-12 ปี อยู่