ดร.ฮันนาห์ อัลเฟิร์ตส (Hannah Ulferts) นักวิเคราะห์นโยบายจาก OECD กล่าวอย่างมุ่งมั่น พร้อมประโยคตามหลังที่น่าสนใจว่า “แต่การสร้างทักษะทางอารมณ์และสังคมไม่ใช่แค่ให้เด็กทำงานกลุ่ม”
เรื่องของทักษะทางอารมณ์และสังคม หรือ Social and Emotional Skills เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของงานเสวนาวิชาการนานาชาติ เรื่องนวัตกรรมการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ (International Seminar on Pupil Outcomes Assessments) ที่ทาง กสศ.จัดขึ้น และได้เชิญ ดร.ฮันนาห์ อัลเฟิร์ตส (Hannah Ulferts) นักวิเคราะห์นโยบายจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มาเล่าให้เราฟัง

ดร.ฮันนาห์เป็นหนึ่งในผู้จัดทำโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในแต่ละประเทศว่าสามารถเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพในการดำรงชีวิตบนโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ หนึ่งในประเทศที่ได้คะแนนดีกว่าใครเพื่อนเสมอมา คือ ประเทศฟินแลนด์ อีกทั้งได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศที่ระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก นอกจากเด็ก ๆ ฟินแลนด์ไปโรงเรียนอย่างมีความสุขแล้ว ยังเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพที่พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต หากเราเจาะลึกไปถึงรากฐานสำคัญจะพบว่าโรงเรียนได้ปลูกต้นกล้าที่มีชื่อว่า ทักษะทางอารมณ์และสังคม ไว้ในตัวเด็กทุกคนแล้วนั่นเอง
มีงานวิจัยนับไม่ถ้วนพิสูจน์แล้วว่าการทำงานทุกอย่างจะมีโอกาสสำเร็จได้มากขึ้น หากมีทักษะในการเข้าใจและจัดการอารมณ์ตนเอง ทักษะการเข้าสังคมหรือเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไปจนถึงทักษะการโน้มน้าวใจคน ทักษะเหล่านี้จะสอนให้เด็กรู้จักปรับตัวตามความเหมาะสมของสถานการณ์ แม้สังคมจะคาดหวังให้ครูในโรงเรียนสอนทักษะเหล่านี้กับเด็ก ๆ แต่ดร.ฮันนาห์ เล่าให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า โลกของเด็กไม่ได้หมุนรอบตัวครูเพียงอย่างเดียว
“การแพร่ระบาดของโควิดทำให้เราเห็นชัดว่า เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับโลกนอกห้องเรียนไม่น้อยไปกว่าในห้องเรียน บางคนอาจคิดว่าเด็กประถมยังต้องได้รับการดูแลจากผู้ปกครองที่บ้าน แต่พอถึงวัยมัธยมกลับปล่อยปละละเลยให้โรงเรียนดูแล ทำให้ภาระทั้งหลายตกมาอยู่ที่คุณครู”
ลองคิดดูว่า จู่ ๆ จะให้ครูเปลี่ยน mindset และปลูกฝังทักษะนี้ในตัวเด็กเลยคงไม่ง่าย ครูส่วนใหญ่ทุกวันนี้จึงทำได้เพียงการให้เด็กจับกลุ่มทำงาน แต่อาจมองข้ามการสอนวิธีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โรงเรียนควรมีการฝึกอบรมให้ครูหรือแม้แต่มีเครือข่ายระหว่างโรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เหตุผลสำคัญที่บุคลากรครูต้องมีทักษะนี้ในตัวเองด้วยก็เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน เมื่อครูไม่ได้คิดถึงแต่เนื้อหาการสอน แต่ใส่ใจว่าเด็กจะมีความสุขในห้องเรียนได้อย่างไร ในท้ายที่สุด เด็กที่จัดการอารมณ์ได้ดี จะมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้มากขึ้น

ความแตกต่างทางเพศ มีผลต่อทักษะทางอารมณ์และสังคมไหม?
แน่นอนว่าการสำรวจทักษะทางอารมณ์และสังคมมีการแบ่งชุดข้อมูลตามเพศอยู่แล้ว เราน่าจะพอคาดเดาผลสำรวจกันได้ว่า เด็กผู้ชายจะมีความกล้าแสดงออก ความคุมอารมณ์ อดทนต่อความเครียดและแรงกดดันได้ดีกว่า ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะโดดเด่นในเรื่องของความรับผิดชอบและความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน สิ่งที่สำคัญคือ คุณครูควรรู้จักวิธีการตอบสนองต่ออารมณ์เหล่านี้ และช่วยเติมทักษะที่แต่ละเพศมีไม่เหมือนกัน
ถ้าไม่ใช่ครู แล้วจะเป็นใคร?
ชุมชนโดยรอบสามารถมีบทบาทในการเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคมให้เด็ก ๆ ได้ โดยเฉพาะบริการสาธารณะ (Community Services) ตามละแวกบ้าน เช่น การจัดตั้งห้องสมุดชุมชนหรือพื้นที่ส่วนกลาง จากการสำรวจพบว่าเด็กจำนวนไม่น้อยมีปัญหาเรื่องความเครียดจากที่บ้าน มีปัญหาด้านการเงิน หรือถูกเพื่อนในโรงเรียนกลั่นแกล้ง การมีพื้นที่ให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้นนอกเหนือจากที่บ้านและโรงเรียน ย่อมเป็นการลดอุปสรรคทางสังคมที่เด็ก ๆ ต้องพบเจอ
นอกจากนี้ เด็กด้อยโอกาสก็เป็นกลุ่มที่ OECD ทำงานแบบพุ่งเป้า (Targeted approach) ด้วยการเสริมความช่วยเหลือมากกว่าเด็กทั่วไป เพราะเด็กกลุ่มนี้อาจไม่ได้รับปัจจัยพื้นฐานจากที่บ้าน เช่น ด้านโภชนาการ และด้านการสื่อสาร ต้องยอมรับว่าเด็กที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงความรู้วิชาการเพียงพอ มักจะขาดการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมไปด้วยเป็นเงาตามตัว ยิ่งทำให้โอกาสการเติบโตขึ้นมาในสังคมที่ดีถูกจำกัด
ในโลกของการทำงาน ทักษะทางอารมณ์และสังคมยิ่งมีความสำคัญตั้งแต่การเลือกงานที่ดีให้ตนเองไปจนถึงความสำเร็จในหน้าที่การงาน นายจ้างจึงเป็นอีกหนึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในที่ทำงาน (Work-based learning) ยิ่งลูกจ้างเรียนรู้ไว กล้าเสนอไอเดียใหม่ ๆ ยิ่งเป็นผลดีต่อบริษัท ซึ่งการเรียนรู้ไปพร้อมกับเพื่อนร่วมงานจะเกิดขึ้นอย่างราบรื่นได้หรือไม่ ก็ต้องย้อนกลับมาที่ความพร้อมด้านทักษะทางอารมณ์และสังคมของลูกจ้าง

ควรเริ่มสร้างทักษะทางอารมณ์และสังคมเมื่อไหร่ดี?
ดร.ฮันนาห์ตอบอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ยังไม่ทันจบประโยคคำถามว่า ยิ่งเร็วที่สุดยิ่งดี ในอดีตเราอาจคิดว่าบุคลิกของคนเปลี่ยนไม่ได้ แท้จริงแล้ว บุคลิกของเราเปลี่ยนไปตามการเรียนรู้และประสบการณ์ในชีวิต มีงานวิจัยที่เคยทำกับเด็กอายุ 5 ขวบ เริ่มเห็นการเหมารวม (Stereotype) จากสังคมโดยรอบ จนเด็กตัดสินตัวเองไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้การเปลี่ยนบุคลิกหลังจากนี้ยากมากขึ้น แต่ดร.ฮันนาห์ได้ให้กำลังใจว่า แม้จะเริ่มช้าก็ยังดีกว่าไม่เริ่มเลย การมีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่พร้อม ย่อมทำให้คนเปิดรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายมากขึ้น