ปัจจุบันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีที่พัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็วได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญกับวงการการศึกษาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความมุ่งมั่นพัฒนาขีดความสามารถในการออกแบบการสอนให้ดียิ่งขึ้น หรือจะเป็นเพราะบริบทจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระดับโลกอย่างไวรัส COVID-19 บีบบังคับก็ตาม แวดวงการศึกษาก็มีโอกาสในการ ‘ก้าวกระโดดครั้งใหญ่’ แต่อีกด้านก็อาจจะทำให้สังคมเผลอทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วยเช่นกัน
ประเด็นดังกล่าวถูกกล่าวถึงด้วยความห่วงใยจากอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสุขภาวะสาธารณะประจำโครงการการศึกษา ‘Alpha Partners Education’ อย่าง อลีเวีย บรูซ (Alyvia Bruce) ซึ่งได้เขียนไว้บนเว็บไซต์ Harvard Political Review ว่า สถานการณ์ช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลก นักเรียนเกือบทั้งหมดต้องเรียนผ่านระบบทางไกล ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘the digital learning gap’ ที่จำเป็นต้องอาศัยความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรทางเทคโนโลยี รวมถึงการออกนโยบายรองรับอย่างเช่นการให้นักเรียนสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คได้แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ไปจนถึงการเสริมสร้างศักยภาพของแต่ละครอบครัวให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในระดับพื้นฐานได้
นอกจากนั้น สำนักวิจัยพิว (The Pew Research Center) ได้ทำการสำรวจในปี 2016 พบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่มีรายได้ต่ำมีความเป็นไปได้ในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เท่าทันยุคสมัยน้อยกว่าผู้มีรายได้สูง ซึ่งถึงแม้ว่าอาจจะฟังดูเป็นเรื่องปกติ แต่อัตราตัวเลขเชิงสถิตินับว่าน่าตกใจมาก เมื่อพบว่าชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 64 ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 30,000 ดอลลาร์ สามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์ มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าว
เทคโนโลยีที่ยิ่งพัฒนารุดหน้า สวนทางกับความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี จึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเข้าไปอีก ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ยุคสมัยการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เท่านั้น แต่เริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาผนวกเข้ากับระบบการสั่งการบ้านมาก่อนหน้านี้แล้ว จากการสำรวจของสำนักวิจัยพิว ในปี 2018 ยังค้นพบอีกด้วยว่า นักเรียนอเมริกันช่วงอายุระหว่าง 13-17 ปี จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 743 คน มีนักเรียนถึงร้อยละ 17 ที่ระบุว่า ไม่สามารถทำการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมายในห้องเรียนให้สำเร็จได้ เพราะปัญหาด้านอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากระบบการศึกษา และการกระจายองค์ความรู้เริ่มถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่บนพื้นที่อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่มากขึ้นนี้เอง ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพียงด้านเดียว แต่อาจจะหมายรวมไปถึงด้านอื่นๆ อย่างสภาพการศึกษาของผู้ปกครอง ไปจนถึงความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติของเด็ก เมื่อสถาบันวิจัยพิวมีข้อค้นพบอีกเช่นกันว่า จากตัวเลขในแบบสำรวจก่อนหน้า เด็กผิวดำมีอัตราการไม่สามารถทำการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมายเพราะกำแพงด้านเทคโนโลยีถึงร้อยละ 13 ขณะที่เด็กชาวฮิสแปนิกร้อยละ 6 ประสบปัญหาเดียวกัน ยกเว้นเด็กผิวขาวเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่ประสบปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ สัดส่วนของเด็กเชื้อชาติเอเชียยังไม่มีมากเพียงพอที่จะคำนวณได้
เป็นไปได้ว่า ระบบการศึกษาที่เริ่มขยับขยายพื้นที่ของตนเองเข้าสู่ปริมณฑลของเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ นั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือควรถูกต่อต้าน แต่อาจจำเป็นสำหรับนักการศึกษาที่ต้องหันกลับมามองพื้นที่เดิมของการเรียนการสอนที่เริ่มถูกทิ้งร้าง ว่ายังเหลือเด็กอีกจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่ยังไม่สามารถก้าวกระโดดไปยังขอบเขตใหม่ของการเรียนรู้ได้เท่ากับเด็กจำนวนที่เหลือ
อ้างอิง
- Alyvia Bruce. (2020). Bridging the Technological Divide in Education. Harvard Political, From https://harvardpolitics.com/education-tech-gaps/
- Pedro Nicolaci da Costa. (2017). A technology gap between the rich and poor is deepening US inequality. Insider, From https://www.businessinsider.com/technology-gap-deepening-us-inequality-2017-5
- Monica Anderson and Andrew Perrin. (2018). Nearly one-in-five teens can’t always finish their homework because of the digital divide. Pew Research Center, From https://www.pewresearch.org/fact-tank/2018/10/26/nearly-one-in-five-teens-cant-always-finish-their-homework-because-of-the-digital-divide/