การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในด้านนโยบาย จากผู้สมัครกว่า 30 คนในหลายพรรคการเมืองรวมทั้งผู้สมัครอิสระ ซึ่งชัดเจนแล้วว่าผู้ว่าฯกทม.คนใหม่คือ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ชู 200 นโยบายแก้ปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ โดยนโยบายหลักที่จำเป็นต้องกล่าวถึง คือเรื่องของการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในชีวิต โดยเฉพาะการศึกษาของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนสูงที่สุดในประเทศ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้สำรวจค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศถึง 2 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจน 10% ล่างสุดของกรุงเทพฯ กับครัวเรือนที่รวยที่สุด 10% แรกของกรุงเทพฯ พบว่าห่างกันถึง 12 เท่า สะท้อนให้เห็นวิกฤตทางการศึกษาของกลุ่มเด็กคนจนเมือง ที่ถูกปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว บีบให้ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไปโดยปริยาย
ในการเสวนาออนไลน์ ทบทวนนโยบายการศึกษา ว่าที่ผู้ว่าฯกทม. ความหวังใหม่ของมหานครเหลื่อมล้ำสูง ที่มี ดร.สมพงษ์ จิตรระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ กสศ. ดร.ภูมิศรันย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการวสศ. และอ.อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนาวิเคราะห์นโยบายของ 4 แคนดิเดตผู้ว่าฯ
สำหรับนโยบายของคุณชัชชาติที่เกี่ยวกับเรื่องการศึกษานั้นมี 28 นโยบาย“เรียนดี” ที่มีทั้งการพัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก , เรียนฟรีชุดฟรี , ให้โรงเรียนเป็นแหล่งโภชนาการที่มีคุณภาพ , After School Pragram , เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่เรียนรู้ , ยกระดับห้องแล็บคอมพิวเตอร์ , พัฒนาฟรีWIFI , จัดหาแท็บเล็ต , คืนครูให้นักเรียน , เพิ่มสวัสดิการครู , เพิ่มครูผู้เชี่ยวชาญ , ปรับเกณฑ์เลื่อนวิทยฐานะ , Digital Talent , พัฒนาโรงเรียน 3 ภาษา , โครงการพี่สอนน้องนอกเวลาเรียน , Open Data , Learning School , พัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็ก , คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น , พัฒนาห้องสมุด , ดูแลห้องสมุดชุมชน , e-Library , ให้ห้องสมุดเป็น Co-working Space , พัฒนาทักษะยุคใหม่ , ขยายขีดความสามารถโรงเรียน-ศูนย์ฝึกอาชีพ , ปรับเงื่อนไขทุนเอราวัณ , วิชาชีพเลือกเสรี และหลักสูตรการเรียนรวม
ทั้งนี้ ดร.สมพงษ์ มองว่าหากผู้ว่าฯกทม.มีนโยบายด้านการศึกษาที่ชัดเจน สามารถยกระดับการศึกษาได้อย่างเหมาะสม ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ว่าฯคนนั้นมองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ในการสร้างเมืองที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ซึ่งในการเสวนาบางช่วงบางตอน ดร.สมพงษ์ ได้กล่าวถึงนโยบายของคุณชัชชาติในประเด็นที่เกี่ยวกับสวัสดิการของเด็กว่าเป็นประเด็นที่ดีมาก โดยเสนอให้มีสวัสดิการตั้งแต่แรกเกิด
ดร.สมพงษ์ ยังมองประเด็นการเพิ่มพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็กว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญ หากทำได้ก็จะสามารถดึงเด็กออกจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีได้ พร้อมเสนอให้กทม.ประสานกับภาคเอกชน ทำพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ให้กับเด็ก ในรูปแบบของการคืนกำไรให้สังคม ด้วยการใช้พื้นที่รกร้าง หรือพื้นที่ใต้ทางด่วน มาทำสนามเด็กเล่น มีอินเตอร์เน็ต และหนังสือสำหรับเด็ก ขณะที่นโยบายเปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรมและพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กในชุมชนนั้น หากสามารถทำได้ ก็จะทำให้เด็กในชุมชน โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสจากครัวเรือนยากจน ได้มีพื้นที่เล่นและเรียนรู้เพิ่มขึ้น ลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมเมืองลงได้บ้างไม่มากก็น้อย
เช่นเดียวกับดร.ภูมิศรันย์ ที่เห็นด้วยกับนโยบายซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการจัดพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน โดยเฉพาะในชุมชนที่มีเด็กด้อยโอกาสอยู่จำนวนมาก เพราะเด็กกลุ่มนี้ ผู้ปกครองไม่สามารถพาไปหาที่เรียนรู้ได้ เนื่องจากไม่มีเงิน รวมทั้งมีความยากลำบากอื่นๆ หากสร้างพื้นที่เรียนรู้ภายในชุมชนได้ทุกชุมชน ก็ถือเป็นเรื่องดี สอดคล้องกับความคิดเห็นของ อ.อนรรฆ ที่มองเห็นจุดเด่นของนโยบายด้านการศึกษาของคุณชัชชาติ ว่าไม่ใช่เพียงการสร้างความเข้มแข็งของระบบการศึกษาในกทม.และความมั่นคงของบุคลากรทางการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงเรื่องพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ให้เด็กๆในชุมชนที่ด้อยโอกาสได้เข้าถึงด้วย โดยหากทำได้ จะเป็นการสร้างเด็กอีกจำนวนมากให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพในอนาคต
ทั้งนี้นโยบายด้านการศึกษาของผู้สมัครผู้ว่าอีกหลายคน ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ หากได้รับการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรมจากผู้ว่าฯคนใหม่ อย่างนโยบาย “เรียนฟรี เรียนดี มีอาชีพ” ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ ที่ครั้งนี้ไม่ได้รับเลือกกลับมาสานต่อ แต่นโยบายที่เคยทำมาทั้งเรื่องเงินอุดหนุนค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าเครื่องแบบที่แม้จะช่วยผู้ปกครองได้เพียง 1 ใน 5 แต่ ดร.สมพงษ์ กลับมองว่าหากปรับอัตราเงินอุดหนุนที่ใช้มานานกว่า 15 ปี และเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับเด็ก ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพปัจจุบัน ก็จะลดภาระให้กับหลายครัวเรือนในชุมชนที่มีความยากจนได้ เพราะครัวเรือนเหล่านี้มีรายได้ต่ำ การให้บุตรหลานไปโรงเรียนถือเป็นภาระที่หนัก เช่นเดียวกับ ดร.ภูมิศรันย์ ที่มองนโยบายการเรียนฟรีว่า ควรคิดไปถึงการออกแบบนโยบายของแต่ละโรงเรียน ให้ลดจำนวนเครื่องแบบของเด็กลง เพราะจากผลสำรวจของ วสศ. พบว่า เครื่องแบบนักเรียนกทม.ราคาค่อนข้างสูง ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเองปีละกว่า 2,000 บาท กระทบกับรายได้ของครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ทำให้เด็กหลายคนต้องหลุดจากระบบการศึกษาเพราะไม่มีเงินจ่ายส่วนต่างนี้ แต่ในส่วนของโยบายอื่นอย่างการรับฝากเด็กช่วงเย็นขณะผู้ปกครองยังไม่เลิกงาน , นโยบายโรงเรียน 3 ภาษา รวมทั้งการนำเด็กพิเศษมาเรียนรวมกับเด็กปกติก็เป็นนโยบายที่ดี ที่ควรได้รับสนับสนุน เพราะทำให้เด็กพิเศษได้มีพัฒนาการในระยาว
ขณะที่นโยบายด้านการศึกษาของคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิสร ที่เน้นพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก นั้น ดร.สมพงษ์มองว่า ที่ผ่านมา กทม.ละเลยศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ในระดับปานกลางไปจนถึงระดับที่ต้องแก้ไข ซึ่งมีกว่า 70% ในขณะที่ศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพในกทม.มีเพียง 20% เท่านั้น จึงอยากเห็นนโยบายที่สามารถดูแลเด็กปฐมวัยในศูนย์เด็กเล็กสังกัดกทม.กว่า 290 แห่ง ให้ทัดเทียมกับของภาคเอกชน ด้านดร.ภูมิศรันย์ เชื่อว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีประโยชน์ทั้งด้านมูลค่าทางคุณวุฒิ มูลค่าทางเศรษฐกิจ และยังสามารถช่วยเหลือผู้ปกครอง นำไปสู่การช่วยเหลือชุมชนได้ด้วย
ส่วนนโยบายด้านการศึกษาของ คุณสุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่มุ่งเน้นไปที่การนำหลักสูตรจากสิงคโปร์มาปรับใช้ในกรุงเทพฯ ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบนั้น ดร.สมพงษ์ เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะขณะนี้หลักสูตรที่โรงเรียนในกทม.ใช้ เป็นหลักสูตรที่ล้าสมัย ขณะที่นโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดร.สมพงษ์เสนอแนะว่าต้องเน้นที่การป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นสำคัญ โดยต้องดูแลตั้งแต่อาหารเช้าของเด็ก ทุนการศึกษา การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครู หาอาชีพให้เด็ก หากทำได้ทั้งหมดก็เชื่อว่าจะทำให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษามากขึ้น ด้านดร.ภูมิศรันย์ เห็นว่าการปรับหลักสูตรเป็นนโยบายที่ดีแต่ในทางปฏิบัตินั้น การจะนำหลักสูตรของสิงคโปร์หรือฟินแลนด์มาใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย และเชื่อว่าก่อนหน้านี้ก็มีหลายคนที่พยายามจะทำมาแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้จะเห็นว่าหลายนโยบายด้านการศึกษาของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ตรงกัน หลายนโยบายก็แตกต่างกัน แต่เป้าหมายสำคัญ คือการมุ่งพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ หากผู้ว่าฯคนใหม่สามารถออกแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับกลุ่มคน ด้วยการหยิบยืมนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ มาทำงานร่วมกัน ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ในการช่วยเหลือเด็กจากครัวเรือนยากจน ไม่ให้ต้องเสียโอกาสทางการศึกษา และสามารถก้าวผ่านการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นไปได้ ส่วนจะพัฒนาการศึกษาของเด็กชุมชนเมืองได้ในระดับใด ลดความเหลื่อมล้ำได้มากหรือน้อยอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการนำไปปฏิบัติจริงของผู้ว่าฯ ซึ่งมีอำนาจบริหาร เพราะนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง ส่วนใหญ่มาจากผู้บริหารที่เข้มแข็ง และทำงานอย่างต่อเนื่อง บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนได้จริง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน