“เราอยากเห็นคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เด็กๆได้เรียนหนังสือ มีการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ อยากเห็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี อำนวยความสะดวกให้กับทุกคน เราอยากเป็นส่วนเล็กๆที่จะช่วยให้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง”
‘โบ๊ท’ ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช
ความฝันของ ‘โบ๊ท’ ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช บัณฑิตปริญญาโทสาขา Data, Economics, and Development Policy ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ MIT ที่อยากจะเป็นส่วนเล็กๆในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ กับต้นทุนทางร่างกายที่ไม่เท่ากับคนอื่น จึงต้องแลกมาด้วยความพยายามและการทำงานหนักในวัยเรียนเพื่อจะนำความรู้ที่ได้ศึกษามาใช้พัฒนาประเทศ
ด้วยความบกพร่องทางสายตาตั้งแต่กำเนิด ความฝันที่จะอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศจึงไม่ง่ายนัก ในช่วงระหว่างการเดินทางมีอุปสรรคมากมายที่ทำให้ ‘โบ๊ท’ ต้องขยันและอดทนเพื่อก้าวข้ามผ่าน
อุปสรรคที่ต้องเจอในวัยเรียน เมื่อต้นทุนทางร่างกายไม่เท่ากับคนอื่น
เขาเข้าถึงการเรียนรู้อย่างยากลำบากจากการที่เขามองไม่ค่อยเห็น ซึ่งระดับการมองเห็นที่เปลี่ยนไปตามอายุ ก็ทำให้พบเจออุปสรรคที่แตกต่างกัน ประกอบกับเขาอยู่ในโรงเรียนทั่วไปที่ไม่ใช่โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ
สิ่งอำนวยความสะดวกจึงไม่เอื้อให้เขาเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ช่วงแรกๆในชั้นอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้น อุปสรรคก็อาจยังไม่มากเท่าไหร่ ถ้านั่งแถวหน้าสุดของแถวเรียนก็ยังพออ่านกระดานได้บ้าง ถ้าเป็นหนังสือหรือเอกสารมองใกล้มากๆก็ยังพอจะอ่านได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อะไรเพิ่มเติม รวมถึงช่วงนั้นยังมีการเขียนตัวหนังสือเต็มบรรทัดก็ยังไม่เป็นปัญหามาก แต่พอชั้นประถมศึกษาตอนปลายขึ้นไปก็เริ่มไม่เหมือนเดิม แม้จะนั่งแถวหน้าสุดก็ยังมองไม่เห็นกระดาน ส่วนเอกสารข้อสอบหรือเอกสารประกอบการเรียนก็ต้องใช้อุปกรณ์อย่างแว่นขยายในการช่วย บางทีได้เอกสารที่มีขนาดปกติเหมือนคนอื่นๆและพิมพ์ตัวอักษรสีที่มีความเข้มต่ำ ทำให้อ่านแทบไม่ได้ อีกทั้งเวลาในการสอบเท่ากับคนปกติ พอเข้าสู่มัธยมศึกษาตอนปลายเริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เวลาเรียนเราสามารถอัดวิดีโอหรือถ่ายรูปได้ แต่บางอย่างที่เป็นสมการ กราฟหรือภาพก็ไม่สามารถใช้ได้ เพราะจินตนาการไม่ออกว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนวิถีชีวิตมีคุณแม่ดูแลอยู่ตลอด พออยู่โรงเรียนเรื่องพวกนี้จะไม่ใช่เรื่องยากมาก เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่ปิด ไม่มีปัญหาเรื่องอันตรายในการเดินทาง แต่พอเป็นมหาวิทยาลัยมันค่อนข้างเป็นสถานที่กึ่งเปิด คุณแม่จึงค่อนข้างกังวลเรื่องความปลอดภัย
แรงผลักดันให้ก้าวไปสู่ความฝัน
เรามักจะมีภาพจำของสังคมอยู่เสมอว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาคงทำอะไรได้ไม่ค่อยมาก แต่‘โบ๊ท’อยากจะสื่อสารกับสังคมว่า เด็กเหล่านี้ก็มีความสามารถ มีศักยภาพและทำประโยชน์ให้กับคนในสังคมและประเทศได้เหมือนคนปกติทั่วไป และเชื่อว่า การศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ จะช่วยผลักดันเขาขึ้นมาแล้วบอกกับสังคมแบบนั้นได้ เขาจึงตั้งใจและทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตัดสินใจเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ แล้วเศรษฐศาสตร์การพัฒนาก็ตอบโจทย์เขาในการที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมและพัฒนาประเทศ เพราะไม่ใช่แค่เรียนไปเพื่อหาทางทำกำไรให้กับธุรกิจเท่านั้น แต่อีกมิตินึงคือความเป็นอยู่ของคนทุกคน
แนวทางใหม่ที่ทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ด้วยความที่ ‘โบ๊ท’ชอบที่จะค้นหาคำตอบและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงเกิดความสนใจในการทำงานเชิงวิจัยเพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายในประเทศ ซึ่งปริญญาตรีอาจไม่เพียงพอ เขาจึงไปหาเรียนหลักสูตรออนไลน์และพบกับหลักสูตร MIT Micromasters ซึ่งเป็นความร่วมมือของคณะเศรษฐศาสตร์ของ MIT และ J-Pal Lab (The Abdul Latif Jameel Poverty Action Lab) ซึ่งทำวิจัยเชิงนโยบายโดยนำเครื่องมือทางหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์มาใช้เป็นเครื่องมือทางสังคม ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การเงิน จะช่วยให้เราเห็นประสิทธิภาพของนโยบายได้ชัดเจนที่สุด
โดยปกติแล้วการสอบเข้าเรียนต่อจะต้องสอบแบบมาตรฐานกลางแล้วนำคะแนนไปยื่น แต่โปรแกรมนี้กำหนดให้ผู้เรียนต้องเรียนหลักสูตรออนไลน์ 5 คอร์ส ก่อนเพื่อปรับพื้นฐาน แล้วนำคะแนนชุดนี้ไปยื่นให้กับคณะกรรมการคัดเลือก เนื่องจากผู้สอนมองว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานทางการศึกษาที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเด็กที่มาจากประเทศต่างกัน รวมไปถึงยังมีปัจจัยพื้นฐานอื่นๆที่ทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาอย่างไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งการศึกษาบางประเทศอาจเน้นวิชาการ แต่บางประเทศไม่เน้นวิชาการเข้มข้น กลายเป็นกระบวนการแบบ “Flipped Admission ” แนวทางใหม่ที่น่าสนใจในระดับอุดมศึกษาที่ทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
การช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาหรือพิการทางการมองเห็น
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆเพราะต้องอาศัยการระดมความคิดและทรัพยากรจากหลายภาคส่วน ขณะที่การเรียนรู้ในสถานการณ์ปกติของเด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาเหล่านี้ก็ยากที่จะเข้าถึงได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ยิ่งโควิด-19 เข้ามา จึงยิ่งซ้ำเติมเด็กเหล่านี้เพิ่มขึ้นไปอีก ปัญหาหลักๆที่พบ คือ ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี เด็กหลายคนที่บ้านไม่ได้มีอุปกรณ์สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาที่พร้อมและเอื้อต่อการเรียนออนไลน์ ทำให้เด็กต้องสูญเสียการเรียนรู้ในช่วงที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ จึงเหมือนยิ่งผลักไสให้พวกเขาถอยห่างจากการศึกษาไปทีละนิด มีเด็กหลายคนที่ต้องขาดเรียนและหลุดออกจากระบบการศึกษา ทางที่จะช่วยได้ คือ ควรจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการพิเศษของพวกเขา ซึ่งจะต้องมีการเก็บข้อมูลว่าการสูญเสียการเรียนรู้จริงๆมันเกิดขึ้นเท่าไหร่ เด็กตามไม่ทันเท่าไหร่ โดยใช้วิธีการประเมินผลแบบไม่จริงจังมากและจัดระดับการสูญเสียการเรียนรู้ในเด็กออกมา เด็กแต่ละคนแม้จะมีความบกพร่องทางการมองเห็นที่เหมือนกัน แต่ระดับการมองเห็นและความสามารถในการเรียนแตกต่างกัน จึงต้องอาศัยข้อมูลชุดนี้เพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กแต่ละคนได้ตรงจุด
ช่วงนี้บางโรงเรียนเริ่มเปิดได้แล้ว อาจใช้วิธีการสอนเสริมเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะกลุ่มให้กับเด็กที่สูญเสียการเรียนรู้ตามระดับ สำหรับโรงเรียนการศึกษาพิเศษอาจไม่มีปัญหามากนักเพราะมีครูการศึกษาพิเศษอยู่แล้ว แต่สำหรับโรงเรียนเรียนร่วมหรือโรงเรียนปกติอาจเป็นไปได้ยากที่จะมีการจัดสอนเสริมและติดตามผลเด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาโดยเฉพาะ ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรครูและความเชี่ยวชาญในการสอน ซึ่งวิธีนี้พอจะช่วยแก้การสูญเสียการเรียนรู้ได้บ้าง แต่ก็ยังเป็นเรื่องท้าทาย ต้องอาศัยความร่วมมือและการให้ความสำคัญจากหลายๆภาคส่วนอย่างที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งสำคัญคือการที่เราต้องมีหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ซึ่งทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะเข้าไปช่วยตรงนี้ได้ รวมถึงมีโครงการ I SEE THE FUTURE ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเด็กมีปัญหาสายตาหรือความบกพร่องทางการมองเห็นได้มองเห็นอย่างชัดเจนเพื่อที่ช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำตรงนี้ให้เด็กทุกคนเข้าถึงและเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
กานดา ณ.พิกุล
ผู้เขียน