19 พฤษภาคม 2564, ขอนแก่น
“อายุ 31 ปี พื้นเพเป็นคนมหาสารคาม แต่ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองขอนแก่นได้สักพักแล้ว เดิมเป็นพนักงานขายเสื้อผ้า และเป็นลูกมือให้ร้านขายส้มตำ ทำงาน 2 ที่ไปพร้อมกัน เพื่อเลี้ยงลูก 2 คน ลูกคนโตอยู่กับเรา ลูกคนเล็กอยู่กับพ่อของเขา แม้เราตัดสินใจแยกทางกัน แต่ก็ยังต้องส่งเงินแบ่งเบาค่าใช้จ่ายให้ลูกคนเล็กด้วยเช่นกัน
“ตอนทำงานเขาจ่ายค่าแรงให้รายสัปดาห์ รับ 2 ที่รวมกันสัปดาห์ละ 3,000 บาท เดือนนึงก็หมื่นกว่า ถ้ามีทิปก็อาจจะได้เพิ่มมากขึ้นอีกนิดหน่อย นั่นคือรายรับนะ ส่วนรายจ่ายแต่ละเดือนก็หมดไปกับค่ากินค่าอยู่ ให้ลูกไปโรงเรียนบ้าง ส่งให้ลูกคนเล็กเดือนละ 1,000 บาท ค่าห้อง ค่าน้ำไฟก็ราว 1,500 บาท โดยรวมแล้วก็พอใช้ชีวิตอยู่ได้ มีเงินเก็บนิดหน่อยพอเอาไว้ใช้ยามเจ็บป่วย โชคดีด้วยแหละที่ไม่มีหนี้สิน แต่เมษายนปีที่แล้ว (2563) นี่ทำเอาคิดหนักเลย
“นายจ้างเขาเริ่มปิดกิจการตามนโยบายของรัฐ ตอนแรกปิดร้านส้มตำก่อน จากนั้นก็ปิดร้านเสื้อผ้า เราคิดหลายอย่างเลยว่าจากนี้จะทำยังไง จะหาเงินจากที่ไหนมาส่งลูกเรียน คือคิดเรื่องลูกอย่างเดียวเลย จริงอยู่ตอนนั้นเป็นเดือนเมษายน น้องเขาปิดเทอมแล้ว แต่อีกไม่กี่เดือนก็ต้องเปิดเทอม แล้วน้องเขาขึ้นจากชั้นอนุบาลมาเป็นชั้น ป.1 ทีนี้ชุดนักเรียนก็เปลี่ยน สมุดหนังสือก็เปลี่ยน ค่าใช้จ่ายจะมากกว่าปกติ
“เมื่อร้านปิดลง เราอยู่ในห้องเช่า แทบไม่ออกไปไหนเลย ตั้งแต่เมษายนถึงกันยายน เป็น 6 เดือนที่มีแต่รายจ่าย ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีรายรับ วันนึงก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้องแล้ว เลยตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่บ้านโฮมแสนสุข (ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน จังหวัดขอนแก่น) จูงแขนลูกมา มีเงินติดตัวแค่ 300 บาท เป็นเงินก้อนสุดท้ายแล้วที่เหลืออยู่
“ไม่เคยคิดว่าบ้านเมืองเราจะเจอวิกฤติแบบนี้ คิดแต่ว่าเดี๋ยวคงเจริญไปข้างหน้าเรื่อยๆ แต่นี่ก็เกือบปีแล้วที่ไม่มีงานประจำทำ ตอนนี้ใครใช้ทำอะไรก็ทำหมด ดีหน่อยที่มีน้องสาวเจ้าของร้านส้มตำที่เราเคยเป็นลูกจ้างเขามาเปิดร้านส้มตำ เราก็ไปช่วยเขาทำงาน แต่ต้องรับค่าแรงรายวัน เพราะเศรษฐกิจแบบนี้เขาก็ไม่มีตังค์จ้างประจำ ตอนออกไปทำงานก็ฝากลูกไว้กับคนในบ้านโฮมฯ เราไปช่วยเขาเสิร์ฟ ล้างถ้วยล้างชาม พอได้เงินมาเก็บไว้ และได้กับน้ำกับข้าวติดมือมาบ้าง เปิดเทอมนี้คิดว่าพอสำหรับค่าใช้จ่าย แต่ก็ต้องหาเพิ่มเหมือนกันนะ เพราะปกติจะมีค่าใช้จ่ายจุกจิกตามมาเสมอ
“เราอยากให้เขาได้เรียน เอาให้สูงที่สุดเท่าที่เขาอยากจะไป แต่ถามว่าจะทำอย่างไรถึงจะส่งเสียเขาเรียนได้ก็ไม่รู้ ตอนนี้ต้องคิดแบบวันต่อวัน”