Equity lab จึงชวนคุยกับ “นักออกแบบการเรียนรู้” ผู้ก่อตั้ง Deep Academy จาก 3 องค์กร : ‘มั๋ม’ เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ CEO & Co-Founder BASE Playhouse ‘โน๊ต’ วรัตม์ เชิดเกียรติตระกูล Co-Founder Black Box และ ‘บี’ มิรา เวฬุภาค CEO Flock learning และ Mappa ที่จะพาทุกคนมาลงลึกเรื่องของ “Learning Designer” หรือ “นักออกแบบการเรียนรู้” ที่จะมาออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้การเรียนรู้ถูกเติมเต็มในหลายๆพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน
Deep Academy คืออะไร
Deep Academyเกิดจากการรวมตัวของ 3 องค์กร คือ Flock learning, Base playhouse และ Blackbox ซึ่งสนใจในเรื่องของการเรียนรู้ พอเจอกันก็คุยกันว่าถ้ามีสถานการณ์บางสถานการณ์ คนเราเรียนรู้อย่างไรหรือมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง หรือจะเปลี่ยนเรื่องบางเรื่องให้เป็นการเรียนรู้ได้อย่างไร แล้วนำไปต่อยอดในงานที่ทำอยู่ได้ พอได้คุยกันก็รู้สึกว่ามีการเรียนรู้บางอย่างที่สามารถลงลึกได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งก็คิดว่า Deep เป็นเหมือนองค์กรที่จะพาการเรียนรู้ให้มันเข้าไปลึกขึ้นอีกนิดนึง เพื่อให้คนเข้าใจว่าถ้าเราเข้าใจการเรียนรู้ของตัวเอง เห็นกระบวนการเรียนรู้ของเรา ก็จะทำให้เราก้าวหน้าขึ้นหรือสามารถพัฒนาขึ้นได้ ซึ่งเราทั้ง 3 คนมองว่าการรวมตัวกันจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมในเรื่อง “Learning Designer” หรือ “อาชีพนักออกแบบการเรียนรู้” สามารถเปลี่ยนให้คนในสังคมหันกลับมาเห็นสิ่งนี้และให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขยายเครือข่ายของ Learning Designer
ทำไม Deep Academy ให้ความสำคัญกับ Learning Designer
ในระยะ 4-5 ปีหลังมานี้ เรารู้แล้วว่าแค่โรงเรียนไม่พอกับการเรียนรู้ กับโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว และการจะปฏิรูปการศึกษาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ต้องใช้ระยะเวลาอย่างยาวนาน แค่ homeschool ไม่พอ โรงเรียนก็ไม่พอ การขับเคลื่อนการเรียนรู้อยู่ในมิติแบบนี้ไม่พอแล้ว ตอนนั้นเราจึงเริ่มมองหาการทำงานแบบอื่นที่จะสามารถผลักดันการเรียนรู้นอกโรงเรียนให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งการขับเคลื่อนต้องอาศัยคนเป็นส่วนประกอบ ทั้ง 3 องค์กรมองตรงกันว่าต้องหา “Learning Designer” ที่จะมาออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้การเรียนรู้ถูกเติมเต็มในหลายๆพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่โรงเรียนเท่านั้น นอกจากความสนใจเรื่องการเรียนรู้แล้วเราอยากจะสร้างคนที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ต่อจากเรา เราจึงไม่อยากหยุดอยู่แค่ 3 องค์กร อยากคุยกับคนอื่นให้มากขึ้น อยากให้ Community นี้หรือคนกลุ่มนี้เกิดเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนสังคมได้จริง จึงเกิดเป็นงาน Deep Academy ขึ้นมา
Learning designer คืออะไรและมีกระบวนการเป็นอย่างไร
นักออกแบบการเรียนรู้มืออาชีพอย่าง ‘มั๋ม’ มองว่าการเรียนรู้มี 2 แบบ แบบแรกเป็นการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เกิดขึ้นโดยที่คนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง แต่สำหรับการเรียนรู้อีกประเภทหนึ่งเป็น Target Base Learning การเรียนรู้ที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือรู้ว่าเรียนเพื่อจะเอาไปทำอะไรต่อ ซึ่งระบบการศึกษาไทยส่วนใหญ่มุ่งไปทางนั้น แต่ว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่จะเปลี่ยนคนจากจุดๆ A ให้กลายไปเป็นจุด B ให้เขามี “สมรรถนะ” จะต้องมีกระบวนการบางอย่างที่สามารถทำสิ่งนั้นให้ตอบโจทย์ได้จริงๆ ซึ่ง “Learning designer” จะทำหน้าที่สร้างเส้นทางจากจุด A ไปจุด B โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเราอยากจะเปลี่ยนคนๆนึงให้ทำอะไรได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม และสร้างเส้นทางจากจุด A ที่เขาอยู่ในปัจจุบันให้ทำสิ่งนั้นได้เร็วที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุดและเหมาะกับการเรียนรู้ของมนุษย์ได้มากที่สุด โดยการเร่งกระบวนการบางอย่างที่เป็นวิธีการเรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์
โดย ‘โน๊ต’ ยังเสริมอีกว่า ปกติแล้วการเรียนรู้ในธรรมชาติ มักจะเกิดความล้มเหลวหรือผิดพลาดหลายครั้งก่อนจะไปถึงจุด B ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่เกิดขึ้นยาวนาน แต่ “Learning designer” จะเร่งกระชับกระบวนการเหล่านี้ให้เกิดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป็นคนออกแบบหรือวางกระบวนการว่า คนที่เป็นผู้เรียนเขาจะต้องทำอะไร เจออะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร ได้จับอะไร เหมือนสร้างสิ่งแวดล้อมให้เขาสามารถพาตัวเขาเองจากจุด A ไปยังจุด B ได้
การพาคนจากจุด A ไปยังจุด B ซึ่งมีคนเป็นองค์ประกอบอยู่ในนั้น ‘บี’ มองว่า “Learning designer” ก็จำเป็นต้องเข้าใจคนด้วย ไม่ได้เข้าใจแค่จุด A กับ B เท่านั้น Deep Academy จึงพยายามหากระบวนการที่จะทำให้ Learning designer เห็นกระบวนการระหว่างทางที่ผู้เรียนจะต้องเดินไปให้ถึงจุด B เพื่อพาเขามองว่าตอนนี้เขาช้าไปหรือเร็วไป เกิดขึ้นเพราะอะไร ไม่มีผิดถูก ไม่ได้เป็นวิธีการเดียวและไม่จำเป็นที่จะต้องเดินด้วยจังหวะเดียวกันทั้งหมด นอกจาก A ไป B แล้ว ถ้าเขาสนใจ B 1.3 หรือ C5 จะหาวิธีการนั้นได้อย่างไร และทางที่จะไปนั้นสามารถทำให้เขาเห็นตัวตนของเขาหรือเรียนรู้ว่าอะไรที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เขาเป็นแบบนั้น
การออกแบบการเรียนรู้ที่น่าสนใจ
ยกตัวอย่างการออกแบบการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกับการเรียนรู้ที่อยู่ในโรงเรียน อย่าง ‘บี’ จะเทรนน้องในออฟฟิศ สิ่งแรกที่ ‘บี’ ต้องรู้คือแต่ละคนเรียนรู้ไม่เหมือนกัน ไม่สามารถใช้รูปแบบการเทรนแบบเดียวกับทุกคนได้ แน่นอนว่าเราอาจจะมีสิ่งที่เป็นข้อกำหนดร่วมกันอย่างการทำ Blueprint หรือแผนภาพการทำงานขึ้นมา แต่ว่าในแง่ของการที่ต้องทำงานกับมนุษย์ เราจำเป็นต้องทำให้เขารู้ว่าการเรียนรู้ของแต่ละคนคืออะไร เขาเรียนรู้ด้วยวิธีการแบบไหน จะเทรนให้เขาไปถึงจุดนั้นได้อย่างไรและอุปสรรคของเขาคืออะไร สมมติเรามีนักสร้างสรรค์คอนเทนต์หรือ Content Creator อยู่ 4 คน เราต้องการได้คอนเทนต์เชิงลึก เราในฐานะโค้ชที่จะทำให้เขาสามารถทำคอนเทนต์เชิงลึกได้ จะต้องเห็นการเรียนรู้ของเขาก่อน ถ้าเราไม่เห็นเราก็จะไม่สามารถหาวิธีการแก้ไขได้ สุดท้ายก็เกิดการแก้งานซ้ำๆที่จุดเดิม แต่ถ้าเรารู้ว่าน้องคนนี้เริ่มเขียนงานสักชิ้นหนึ่งแล้วเขากลัว พอกลัวแล้วทำให้การวางแผนเขียนโครงร่างงานไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีการอื่นมาให้เขาพร้อมกับสะท้อนกระบวนการเรียนรู้ของเขาให้เห็น ก็จะเกิดผลลัพธ์ที่เร็วขึ้นกว่าการไปแก้งานซ้ำๆ
ในส่วนของการใช้เครื่องมือ ‘มั๋ม’ ได้ยกตัวอย่างการสอนเด็กให้รู้จักการทำธุรกิจ ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องที่ยาก ถ้าปล่อยเขาเรียนแบบธรรมชาติ เขาก็จะออกไปและทำธุรกิจของตัวเอง และในช่วงเวลาที่เขาเรียนรู้หรือทดลองนี้ อาจใช้เวลา 3 เดือน 6 เดือนหรือ 1 ปี ซึ่งเสียต้นทุนในการเรียนรู้ไปกว่าเขาจะเกิดความคิดและกระบวนการของการเป็นผู้ประกอบการได้ ในฐานะนักออกแบบการเรียนรู้ เราจึงสร้างต้องเครื่องมือเหมือนเป็นเกมจำลองให้เขาได้ลองทำธุรกิจจริงๆภายในเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง จำลองความเสี่ยง บังคับให้เขาล้มแล้วทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ตรงนั้น โดยที่ใช้พื้นที่ที่เสี่ยงน้อยกว่า ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า และเร่งเวลาให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าแต่เกิดผลลัพธ์เหมือนกัน
นอกจากนี้ถ้า ‘บี’ พูดในมุมของ Edtech หรือการใช้เทคโนโลยี ในฐานะนักออกแบบการเรียนรู้ เราจะต้องจินตนาการว่าเราจะพาคนไปเรียนรู้อีกที่หนึ่งที่ไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียนอย่างไร แล้วเราจะเอาแอฟพลิเคชั่นของเราไปทำให้เขาเรียนรู้ที่บ้านของเขา ศูนย์ของเขาหรือที่ไหนก็ตาม ซึ่งอยู่ห่างออกไปแบบ 100 กิโลนั้นได้อย่างไร นักออกแบบการเรียนรู้จำเป็นต้องนึกถึงว่าเขาน่าจะมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขอะไร บริบทในบ้านเขาเป็นอย่างไร ดังนั้นการออกแบบการเรียนรู้ต้องออกแบบโดยคิดในข้อจำกัดที่ต่ำที่สุด เช่น ถ้าไม่มีพื้นที่และอุปกรณ์เลยจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเครื่องมือที่จะต้องนำมาใช้สร้างการเรียนรู้ต้องหาได้ง่ายที่สุดสำหรับเขา
ทุกคนสามารถเป็น “Learning Designer” ได้
“Everyone is Learning Designer” ทุกคนสามารถเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ได้ นี่คือสิ่งที่ ‘โน๊ต’ เชื่อ การออกแบบการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกสถานที่และทุกเวลา ดังนั้นทุกคนในทุกจังหวะของชีวิตมีโอกาสเป็นได้หมด ซึ่ง ‘มั๋ม’ ก็เห็นด้วยกับ ‘โน๊ต’ และมองว่าด้วยความที่เราเป็นมนุษย์ ซึ่งมนุษย์เรียนรู้อยู่แล้วด้วยตัวเองตลอดเวลา เพราะฉะนั้นนักออกแบบการเรียนรู้จึงไม่จำเป็นต้องอยู่แค่บทบาทบางบทบาทที่ถูกสังคมกำหนดมาว่าต้องทำ เช่น ครู แต่การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่ากับเพื่อน พ่อแม่หรือใครก็ตาม สามารถมีทักษะของนักออกแบบการเรียนรู้ได้ และทำให้เราแลกเปลี่ยนชุดความสามารถของกันและกันได้ ก็จะส่งผลให้แต่ละคนพัฒนาได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นนักออกแบบการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในวงกว้างในสังคมโดยที่ไม่ได้ยึดติดกับบทบาทใดบทบาทหนึ่งหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง