เมื่อชนเผ่าพื้นเมือง
มีวิถีของตนพึ่งพิงเพียงธรรมชาติ ตัดขาดจากโลกภายนอก เฟสบุ๊ค ยูทูปไม่มีอยู่ในการรับรู้ และแน่นอนองค์ความรู้ต่าง ๆ รวมถึง “การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน” ก็เช่นกัน ทำให้แม้แต่การรักษาพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดข้อผิดพลาดก็อาจส่งผลต่อชีวิตได้
เมื่อคนภายนอกเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา หลายสิ่งหลายอย่างกลับเป็นปัญหาตาม จากความแตกต่างทางวัฒนธรรมจนถึงความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสุขภาพ
แล้วจะทำอย่างไรดีละ ? อะไรคือคำตอบที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถสื่อสารกับชนเผ่าพื้นเมืองให้เข้าใจตรงกันได้
งานวิจัย “Using developmental evaluation to support knowledge translation: reflections from a large-scale quality improvement project in Indigenous primary healthcare” หรือการใช้การประเมินเชิงพัฒนาเพื่อสนับสนุนการส่งผ่านองค์ความรู้ : ภาพสะท้อนจากโครงการปรับปรุงการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง” จะพาให้ทุกคนได้เข้าใจว่าการประเมินเชิงพัฒนา (Developmental evaluation) หรือ DE นั้นช่วยอะไร ? และมันสามารถเปลี่ยนแปลงโลกอันเต็มไปด้วยปัญหาซับซ้อนนี้ได้อย่างไร?
ชนเผ่าพื้นเมือง
ชาวอะบอริจินและชาวเกาะทอร์เรสสเทรตเป็นชนพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย ในแรกเริ่มนั้นนักมนุษยวิทยาจัดให้พวกเขาเป็นมนุษย์สมัยยุคหิน หรือมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พวกเขาไม่รู้จักการทอผ้า การเพาะปลูก แม้ในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายชนเผ่าเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ยังดำรงวิถีชีวิตแบบดั่งเดิม และยังไม่รู้จักโลกภายนอกมากนัก
สิ่งนี้นำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพและสาธารณสุข ประเทศออสเตรเลียจัดเป็นประเทศฐานะร่ำรวยแต่กลับมีความเหลื่อมล้ำดังกล่าวระหว่างชนพื้นเมืองกับคนทั่วไปอยู่มาก สาเหตุมาจากการล่าอาณานิคมซ้ำเติมด้วยความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการเหยียดชาติพันธุ์
ชนพื้นเมืองเข้าถึงการสาธารณสุขพื้นฐานผ่านศูนย์ควบคุมชุมชนและการจัดการของรัฐบาลซึ่งมีขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองเหล่านี้ซึ่งมีความหลากหลาย
ปัญหาก็คือการจะปรับปรุงด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชนพื้นเมืองต้องเผชิญกับชนพื้นเมืองในหลายพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลาย เพราะต่างก็มีสิ่งแวดล้อมด้านสุขภาพที่ซับซ้อนซึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลงในหลายระดับของระบบสุขภาพ การประเมินแบบเดิม ๆ จึงยังไม่สามารถช่วยให้เกิดการพัฒนาได้เท่าที่ควร
DE ดีไปด้วยกัน
การประเมินเชิงพัฒนา (Developmental evaluation) หรือ DE ช่วยอะไร?
DE เป็นวิธีการประเมินที่คำนึกถึงความหลากหลายซับซ้อนและพลวัตรของระบบ พูดให้ชัด วิธีคิดของการประเมินนี้มองปัญหาที่ซับซ้อนเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่งซึ่งเกี่ยวพันกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนานวัตธรรมที่ผู้ถูกประเมินจะสามารถนำไปใช้ได้จริง
เมื่อระบบการจัดการสุขภาพกับชนพื้นเมืองมีการนำ DE มาประเมิน DE จะเข้ามาอยู่ร่วมกับความซับซ้อนของระบบสุขภาพสำรวจเข้าไปในปัญหาที่เกิด ทั้งยังเข้าไปเฝ้าสังเกตถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งชนพื้นเมืองที่หลากหลาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพของแต่ละพื้นที่
หัวใจหลักสำคัญอย่างหนึ่งคือกระบวนทั้งหมดเกิดเป็นวงจรการเรียนรู้ เริ่มจากการเก็บข้อมูล การตอบรับ การตอบสนองและการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง เพราะ DE จะทำให้ผลการประเมินเป็นนวัตกรรม นำมาใช้แก้ปัญหาผ่านการทดสอบเพื่อนำไปปรับใช้ต่อและถูกใช้เพื่อปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของผู้ใช้งาน
กระบวนการเหล่านี้นำมาซึ่งการมีส่วนร่วมของผู้คนที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ ช่วยสร้างเสริมให้เกิดเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แข็งแรงและพัฒนาการมีส่วนร่วมได้อย่างเป็นกระบวนการ
สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระบวนการในการส่งผ่านองค์ความรู้ มีการประยุกต์นวัตกรรมจากการประเมินไปสู่การใช้งานจริง และพร้อมกันนั้นยังเปลี่ยนให้สอดคล้องกับนวัตกรรมการดูแลสุขภาพตามแต่บริบทของชนพื้นเมือง
ความสำเร็จเหล่านี้เกิดผ่านกระบวนการประเมิน การปรับเปลี่ยนให้สอดรับทั้งเพิ่มศักยภาพ มีการส่งผ่านองค์ความรู้จากการทำ DE นำไปใช้ต่อในวงกว้างเพื่อปรับปรุงการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของชนพื้นเมืองต่อไป
สิ่งเหล่านี้คือแนวคิดโดยรวมของ DE ที่แม้จะเป็นการประเมินแต่ก็ไม่ใช่การประเมินแบบตัดสินถูกผิด หากเป็นการประเมินที่มุ่งเน้นให้เกิดความเข้าใจ และชี้ให้เห็นถึงหนทางใหม่ ๆ ที่จะสามารถปรับปรุงทั้งระบบได้
อ้างอิง