ภาคธุรกิจต่างหันมาให้คุณค่ากับงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเพราะเป็นทางรอดของการแข่งขัน ส่วนงานที่ไม่ซับซ้อนกลับถูกย้ายออกไปให้ Outsource หรือ AI ทำแทน เห็นได้จากสตาร์พอัพที่กลายมาเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตทางศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด เหล่าสตาร์ทอัพได้สร้างคุณค่าใหม่ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นนวัตกรรมนั่นเอง
หากใครยังไม่แน่ใจว่าตัวเองมีทักษะนี้ในตัวหรือเปล่า ข่าวดีคือความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในตัวทุกคน แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีมากน้อยแค่ไหน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการวัดคะแนนความคิดสร้างสรรค์ ในงานเสวนาวิชาการนานาชาติ เรื่องนวัตกรรมการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ (International Seminar on Pupil Outcomes Assessments)

หนึ่งในวิทยากรชั้นนำของเราคือ ดร.ทอดด์ ลูเบิร์ต (Todd Lubart) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาประยุกต์ จาก Université de Paris Cité และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธาน International Society for the Study of Creativity and Innovation (ISSCI) ทอดด์ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ที่เปล่งแสงแตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคล หรืออาจจะถูกยอมรับต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม หนึ่งในงานวิจัยที่ถูกนำไปต่อยอดในสาขาครุศาสตร์ทั่วโลก คือ ตัวชี้วัดศักยภาพในการใช้ความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็กและวัยรุ่น ที่มีชื่อว่า EPoC (Evaluation of Potential Creativity)
ทีมวิจัยของทอดด์ได้พัฒนาเครื่องมือวัดความคิดสร้างสรรค์ตามโดเมนหรือความรู้ความสนใจของแต่ละบุคคล โดยแบ่งเป็นบททดสอบ 2 ประเภท ได้แก่ Divergent – explorartory task เป็นการให้สร้างสรรค์ไอเดียที่หลากหลาย จากจุดเริ่มต้นเพียงหนึ่งอย่าง และ Convergent – integrative task คือการให้สร้างสรรค์ผลงานเพียงหนึ่งชิ้น จากการรวมองค์ประกอบหลายอย่างเข้าด้วยกัน
ทอดด์ยกตัวอย่างการวาดรูป ที่แค่ฟังก็น่าสนุกแล้วว่า เขาทดลองใช้รูปทรงกล้วยเป็นสื่อกลาง ให้ผู้เข้าร่วมวาดภาพให้หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยใช้รูปทรงกล้วยเป็นส่วนประกอบ ในขณะที่อีกหนึ่งแบบทดสอบ เขาให้รูปภาพสิ่งของ 8 อย่าง ผู้เข้าร่วมต้องวาดภาพเพียงหนึ่งชิ้นที่ประกอบไปด้วยสิ่งของเหล่านั้นอย่างน้อย 4 อย่าง โดยเน้นย้ำว่าภาพที่วาดออกมาต้องเป็นต้นฉบับของตนเองไม่ซ้ำใคร เพื่อกระตุ้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ส่วนบุคคลให้มากที่สุด
นอกจากโดเมนเรื่องการวาดภาพ เครื่องมือนี้ยังสามารถปรับใช้กับหมวดต่าง ๆ ได้แก่ การออกแบบกราฟฟิก การเล่าเรื่อง การแก้ปัญหา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดนตรี ใครจะไปคิดว่าแม้แต่หมวดการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็สามารถวัดผลและให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์ได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กคนไหนมีหรือไม่มีความคิดสร้างสรรค์?
เคยสงสัยกันไหมว่าความคิดสร้างสรรค์มาจากไหน ทอดด์ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากประสบการณ์การเรียนรู้ที่แตกต่างกันของคนทุกคน บางคนที่คิดว่าตัวเองไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เมื่อได้ผ่านการทดสอบจาก EPoC จะรู้ว่าตนเองก็คิดอย่างสร้างสรรค์ได้ในบางด้านนะ พอรู้อย่างนี้แล้ว ย่อมทำให้คนคนนั้นมีความมั่นใจในการหัดใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม บางคนอาจคิดว่าตนเองมีระดับความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเลิศ แต่ผลคะแนนกลับออกมาอยู่ในระดับปานกลาง นั่นก็เป็นการกระตุ้นให้เขาพัฒนะทักษะตนเองขึ้นไปอีก
ทุกครั้งที่เด็กทำแบบทดสอบ เขาพบว่าเด็กรู้สึกสนุกและอยากมีส่วนร่วม การให้เด็กได้ปลดปล่อยไอเดียของตนเองจึงเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนอย่างมีความสุขแบบง่าย ๆ รวมไปถึงกลุ่มเด็กด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางที่มักมีความรู้สึกด้อยกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันในห้องเรียนปกติ หากมีเครื่องมือที่ให้เขาได้ฉายแววด้านความคิดสร้างสรรค์บ้าง ไม่ใช่เพียงแค่ด้านวิชาการ ย่อมทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนมากขึ้น
แม้กระทั่งด้านการใช้ชีวิตในสังคมให้มีความสุข ปัจจัยเรื่องสุขภาวะที่ดีย่อมต้องมีองค์ประกอบเรื่องการคิดอย่างสร้างสรรค์ (Creative thinking) และ การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ (Creative expression) รวมอยู่ด้วย
ทำอย่างไรที่จะสนับสนุนให้ครูหันมาใช้เครื่องมือวัดความคิดสร้างสรรค์กันมากขึ้น?
เครื่องมือ EPoC ช่วยให้เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ที่คนส่วนใหญ่มองว่าจับต้องยาก กลายเป็นสิ่งที่ทำได้จริงและวัดผลได้ แต่ต้องมีตัวกลางที่พาเครื่องมือนี้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างแรกคือคุณครูควรได้รู้จักกับเครื่องมือเหล่านี้ ทำให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำไปใช้ ต่อมาคือการให้ครูเห็นถึงความสำคัญของการปลูกความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะชีวิตที่จำเป็นในอนาคต ทอดด์เชื่อว่าจะมีกลุ่มผู้ใช้กลุ่มแรกที่เห็นความสำคัญและอยากลองใช้ จากนั้น คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นตัวอย่างให้คนที่สนใจ และอาจขยายเป็นชุมชนในระบบการศึกษาที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อได้
ปัจจุบัน เครื่องมือ EPoC ได้ถูกนำไปใช้ในโรงเรียนหลากหลายรูปแบบ รวมถึงมีนักวิชาการนำไปทดลองใช้และตีพิมพ์ผลงานวิจัยออกมามากมาย ที่นิยมมากที่สุดคือการวัดผลก่อนและหลังการเรียนการสอนในเชิงครุศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการเสริมเครื่องมือนี้เข้าไปในตารางเรียน คือการให้ครูสละเวลามาเรียนรู้วิธีใช้งาน เป็นที่ทราบกันดีว่าบุคลากรครูส่วนใหญ่มักมีงานหลักที่ยุ่งอยู่แล้ว เครื่องมือ EPoC จึงมักถูกใช้โดยนักจิตวิทยาหรือครูแนะแนว ในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์แทน
ในยุคที่มี AI แสนฉลาดช่วยคิดแทน มนุษย์ควรทำอย่างไร?
หลายคนที่ประสบปัญหาคิดไม่ออก เมื่อลองหยอดไอเดียลงใน AI อย่าง ChatGPT, Doll-E, MidJourney ผลลัพธ์กลับออกมาอย่างรวดเร็วและจับต้องได้มากขึ้น ช่วยร่นระยะเวลาและพลังสมองในการขบคิดจนคนทั่วโลกรู้สึกทึ่ง แต่อาจทำให้บางคนหมดความมั่นใจว่า มนุษย์อย่างเราคงคิดไม่ได้เท่า AI
ทอดด์แสดงความเห็นอย่างไร้กังวลว่า การได้มาลองทำแบบทดสอบด้านความคิดสร้างสรรค์ อย่าง EPoC จะช่วยจุดประกายให้หลายคนเห็นว่ายังมีความคิดสร้างสรรค์บางมุมที่ตัวเองทำได้และเหนือกว่า AI เหล่านี้ด้วย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การเรียนรู้ของแต่ละบุคคล เจ้าปัญญาประดิษฐ์จึงเกิดขึ้นมาเพื่อต่อยอดกระบวนการคิดของมนุษย์เท่านั้นเอง ในประเทศที่มีสิ่งแวดล้อมเชิงสร้างสรรค์ที่ดีจะยิ่งช่วยขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น
“นโยบายด้านการศึกษาที่ไม่มีความต่อเนื่อง ย่อมเป็นผลลบต่อกระบวนการวัดผลอย่างแน่นอน นโยบายใหม่ที่เปลี่ยนไปมักให้ความสำคัญกับสิ่งใหม่ และการวัดผลรูปแบบใหม่ก็จะตามมา การจะวัดผลสิ่งใดสิ่งหนึ่งต้องอยู่ในระบบที่สามารถควบคุมได้และมีความต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถประเมินผลลัพธ์ในระยะยาวได้”
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผลเชิงความคิดสร้างสรรค์ ทอดด์แนะนำว่า ผู้กำหนดนโยบายควรมีความเข้าใจในเครื่องมือวัดผลที่ใช้ โดยเฉพาะเมื่อถูกนำไปใช้ในวงกว้างระดับประเทศ ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่อะไรในอนาคต หากผู้กำหนดนโยบายไม่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนพอ ก็จะผลักดันทั้งระบบไปไม่ถูกทาง