สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 – ก.ย. 2563) ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ ซึ่งตรงกับภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2562 (2/2562) สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในหลายด้าน แต่ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 ขยายตัวในวงกว้าง ในช่วงไตรมาสที่ 3 (ภาคเรียนที่ 1/2563) ทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย ยิ่งมีแนวโน้มแย่ลง
วิกฤตการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐานะของครัวเรือนนักเรียนผู้ขาดแคลนทุุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาส ทำให้จำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านคน ในปี 2563 ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 12,000 คน เพื่อประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และนำข้อมูลมาปรับแผนการทำงานของ กสศ. ให้สอดคล้องกับสถานการณ์
จากผลการสำรวจพบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านร่างกาย และโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ในระยะสั้น เช่น ภาวะทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และสภาวะที่นักเรียนเกิดความรู้ถดถอย (learning loss) เป็นต้้น หากไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ และทันท่วงที ผลกระทบจากโควิด-19 นี้ย่อมมีผลในระยะยาวต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย เช่น ผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประชากรวัยแรงงานของไทย (labour force competitiveness) และโอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางตามกรอบเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี