เด็กนักเรียนไทยทุกคนอาจเคยชินกับระบบการสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง หรือการแบ่งห้องตามความเก่งทางวิชาการ เด็กจึงมองกันและกันว่าแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเด็กห้องคิง เด็กห้องควีน หรือเด็ก EP (English Program) ไปจนถึงเด็กห้องธรรมดาที่เป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ในความเป็นจริงชีวิตของนักเรียนคนหนึ่งไม่ได้มีแค่โลกทางวิชาการเพียงเท่านั้น แต่สังคมในโรงเรียนกลับแบ่งแยกเด็กออกจากกัน เพราะความสามารถทางวิชาการที่ไม่เท่ากัน
ระบบการแบ่งนักเรียนตามคะแนนวิชาการในประเทศไทยค่อนข้างเข้มข้น เห็นได้จากระบบสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียน นักเรียนประมาณ 3 ใน 4 หรือ 77 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมด อยู่ในโรงเรียนที่แบ่งกลุ่มนักเรียนอย่างถาวรตามความสามารถ หรือแม้แต่โรงเรียนที่คัดเลือกนักเรียนด้วยการสอบเข้าแล้วยังมีการแบ่งกันเองในโรงเรียนอีกถึง 50 เปอร์เซ็นต์
คำถามคือ การแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ตามความสามารถทางวิชาการเช่นนี้ช่วยส่งเสริมตัวนักเรียนอย่างไรบ้าง? ในขณะที่ประโยชน์ส่วนใหญ่นั้นตกอยู่กับครู เพราะทำให้ครูสอนได้ง่ายขึ้นเท่านั้นหรือ? ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจะทำให้ทักษะการสอนของครูไม่พัฒนาด้วยหรือไม่ เพราะครูไม่เกิดการเรียนรู้ที่จะสอนนักเรียนอย่างหลากหลาย แต่สอนผ่านสายตาที่ตัดสินไปแล้วว่าเด็กห้องไหนควรได้รับความสำคัญมากกว่ากัน
จากรายงานของ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development – องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) สะท้อนผลคะแนน PISA ผ่านการจำแนกนักเรียนตามผลการเรียนได้ว่า ประเทศที่มีการจำแนกนักเรียนเช่นนี้มีแนวโน้มที่ผลการประเมินความสามารถทางคณิตศาสตร์จะต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้มีระบบจำแนกนักเรียน
นอกจากนี้ การแบ่งสายการเรียนตั้งแต่นักเรียนอายุยังน้อยๆ ยิ่งส่งผลให้ผลการประเมินต่ำลง ซึ่งหากพิจารณาระบบการสอบคัดเลือกนักเรียนตามคะแนนทางวิชาการแล้ว จะพบว่าทั้งโรงเรียนที่คัดเลือกอย่างเข้มข้นหรือโรงเรียนที่ไม่ได้คัดเลือกนักเรียนตามคะแนนก็มีผลประเมินไม่ต่างกัน เนื่องจากผลการเรียนและความรู้ทางวิชาการของนักเรียนมีปัจจัยเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่เบื้องหลัง
ดังนั้น ไม่ว่านักเรียนเก่งหรือนักเรียนอ่อนจะถูกแบ่งแยกหรือกระจุกกันอยู่ที่ใด แต่เด็กทุกคนก็ยังอยู่ภายใต้ระบบการศึกษาแบบเดียวกัน การแบ่งแยกนักเรียนเช่นนี้จึงไม่ได้ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากจะเป็นการปิดกั้นโอกาสของนักเรียนที่เรียนอ่อนแล้ว ยังทำให้เกิดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน หากระบบการศึกษาเอื้ออำนวย การคละนักเรียนเก่งและนักเรียนอ่อนให้อยู่ร่วมกันกลับจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่า เนื่องจากเด็กอ่อนจะมีโอกาสได้เห็นต้นแบบที่เขาควรได้เรียนรู้จากเด็กเก่ง ในขณะที่เด็กเก่งก็สามารถช่วยเหลือเด็กอ่อนได้ ซึ่งจะทำให้เด็กเก่งได้ฝึกทักษะการถ่ายทอดและพัฒนาความรู้ความเข้าใจของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
การคละนักเรียนจะทำให้เด็กที่มีภูมิหลังด้านครอบครัวแตกต่างกันได้มีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อนร่วมชั้นที่หลากหลายจะทำให้เด็กมีฐานความคิดที่ขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ได้มากกว่าการเรียนที่มุ่งเน้นเชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว
การทลายกำแพงที่แบ่งแยกเด็กเก่งกับเด็กอ่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเกิดขึ้นในระบบการศึกษา เพราะการแบ่งแยกเช่นนี้สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของระบบหลายประการ โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียม หากเราเห็นความสำคัญของการศึกษาในฐานะเครื่องมือพัฒนามนุษย์ ย่อมไม่ควรให้ความสำคัญกับการเชิดชูแค่เพียงเด็กเก่งเท่านั้น แต่ควรทำให้เด็กทุกคนสามารถอยู่ในระบบเช่นนี้ได้อย่างรู้คุณค่าของตนเอง โดยไม่ถูกจำกัดหรือปิดกั้นความสามารถไว้เพียงด้านเดียว
อ้างอิง
- สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2559). การคัดเลือกและแยกกลุ่มนักเรียนสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้อย่างไร. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2564.
- Chiu, M. M., Chow, B. W.-Y., & Joh, S. W. (2017). Streaming, tracking and reading achievement: A multilevel analysis of students in 40 countries. Journal of Educational Psychology, 109(7), 915–934.