เป็นที่ทราบกันว่า การได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาคถ้วนหน้าและมีคุณภาพเท่าเทียมกัน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนทั้งในระดับครัวเรือน ท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ ภารกิจในการส่งมอบการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่เด็กทุกคน เป็นสิ่งสำคัญทั้งในทางปฏิบัติและทางนโยบาย
ประเทศจีน เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างพื้นที่แต่ละภูมิภาค หรือระหว่างเมืองกับชนบท เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเพื่อลดช่องว่างนี้ รัฐบาลจีนจึงออกนโยบายให้มีการฝึกฝนครูจำนวนมาก เพื่อเข้าไปทำหน้าที่สอนนักเรียนตามพื้นที่ชนบท
เหวย หวัง (Wei Wang) ผู้อำนวยการประจำแผนกกิจการครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แห่งประเทศจีน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพของครูในพื้นที่ชนบท ในเวทีสัมมนาวิชาการ ‘Teacher System and Policy for the Disadvantage Groups’ ว่า
“การออกแบบโครงสร้างในการผลิตครูที่มีความเป็นมืออาชีพ มีคุณภาพสูง และมีความคิดริเริ่ม คือสิ่งยืนยันว่าจีนจะสามารถสร้างการศึกษาที่มีความเสมอภาคและมีคุณภาพได้”
การออกแบบโครงสร้างดังกล่าวนี้ ได้มีการปฏิบัติผ่าน 5 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่
ขั้นแรก: การฝึกอบรมครูผู้สอนประจำ (In-service Teacher Training) โดยครูจะต้องเก็บชั่วโมงฝึกสอนให้ได้ 360 ชั่วโมง ตลอดทุกๆ 5 ปี จึงจะสามารถทำการลงทะเบียนขอรับใบประกอบวิชาชีพครูได้ ในขั้นนี้อาจทำได้ทั้งการส่งครูในระดับมณฑลให้ไปช่วยอบรมครูในระดับชนบท หรือการฝึกอบรมครูชนบทผ่านทางออนไลน์
“โครงการฝึกอบรมครูระดับชาตินี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2010 โดยมีครูชนบทในภาคกลางและตะวันตกของจีนเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ จนถึงปี 2015 จึงหันมาเน้นอบรมครูที่อยู่ในพื้นที่ยากจน และเมื่อถึงสิ้นปี 2019 รัฐบาลได้ลงทุนไปกว่า 17 พันล้านหยวน (2.4 พันล้านดอลลาร์) โดยมีครูกว่า 15 ล้านคน ผ่านโครงการอบรมนี้”
ขั้นที่สอง: การฝึกอบรมนักศึกษาครู (Pre-service Teacher Training) ในขั้นนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูในพื้นที่ชนบท โดย เหวย หวัง ได้ยกตัวอย่างว่า จะมีการสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาสมัครเป็นนักศึกษาครูภายใต้โครงการนี้ ผ่านการยกเว้นการเก็บค่าเล่าเรียนและค่าที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังได้รับค่าครองชีพในทุกๆ เดือน ภายใต้เงื่อนไขผูกพันว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องไปเป็นครูอย่างน้อย 6 ปี โดยร้อยละ 90 ของผู้เข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นครูในภาคกลางและตะวันตกของจีน
ขั้นที่สาม: การจัดหาและจัดสรรครูผู้สอน (Teacher Recruit and Deployment) เป็นการหมุนเวียนครูจากโรงเรียนหนึ่งไปยังอีกโรงเรียนหนึ่งในพื้นที่ชนบท เพื่อให้ครูที่มีความสามารถได้สลับสับเปลี่ยนไปยังทุกโรงเรียน และจัดการเรียนการสอนตามระยะเวลาที่กำหนด
ขั้นที่สี่: เงินเดือนครู (Teacher’s Salary) หวังกล่าวว่า อาชีพครูนับเป็นอาชีพที่ได้เงินเดือนน้อยที่สุดในหมู่ข้าราชการพลเรือนด้วยกันเอง ทางโครงการจึงได้เพิ่มเงินสมทบเป็นจำนวน 200 หยวน ให้แก่ครูที่เลือกไปสอนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ครูออกไปสอนในแถบชนบท กลยุทธ์นี้ส่งผลให้ในปี 2020 มีครูไปประจำการยังพื้นที่ชนบทจำนวนกว่า 1.3 ล้านคน และในโรงเรียนชนบทกว่า 80,000 แห่ง
ขั้นที่ห้า: ริเริ่มพัฒนาครูผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ (AI-assisted Teacher Development Initiatives) หวังเล่าว่า ในขั้นนี้จะมีการดำเนินการหลัก 4 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ 1) ส่งเสริมให้ครูผู้สอนมีทักษะในการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการจัดการสอน 2) ผลักดันนวัตกรรมการสอนแห่งอนาคต 3) ช่วยเหลือครูในพื้นที่ห่างไกลและยากจน โดยการวัดระดับสติปัญญาและแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษา และ 4) สำรวจและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ผ่าน Big Data เพื่อสนับสนุนการร่างนโยบายและพัฒนาความสามารถของครูให้เกิดประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
หวังยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ถึงที่สุดแล้วครูผู้สอนก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการออกแบบนโยบายทางการศึกษา โดยข้อมูลของครูผู้สอนในแต่ละพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ในการออกแบบนโยบาย
“ในตอนที่เราออกนโยบายด้านครูผู้สอน เราได้เดินทางไปยังหลายจังหวัด เพื่อศึกษารายละเอียดและสถานการณ์ที่ครูแต่ละคนพบเจอ และได้รวบรวมรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้เข้าไปอยู่ในนโยบาย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาการศึกษาต่อไปในอนาคต”
ที่มา