วัยเด็ก ความเป็นเด็ก หรือ เวลาเป็นเด็ก
Childhood แปลว่า “วัยเด็ก ความเป็นเด็ก หรือ เวลาเป็นเด็ก” เมื่อนึกถึงวันเวลาในช่วงวัยเหล่านั้น สิ่งที่เราต้องการทำคืออะไร? หนังเรื่องนี้พาให้เราไปติดตามชีวิตเด็กวัย 6 ขวบที่เข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลออโรรา ประเทศนอร์เวย์
แต่ละวันของการไปเรียนที่โรงเรียนนี้ คือ การที่ครูจะพาออกไปเล่น และสนับสนุนการเล่น เป็นห้องเรียนที่เปิดกว้าง ไม่มีกระดานดำ ไม่มีตำรา และไม่มีฝาผนัง เด็กจะสำรวจโลกและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ค้นพบและขบคิดกับสิ่งต่าง ๆ รวมถึงได้จัดการกับความขัดแย้งกันบ้างในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ๆ
มันเป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ที่เราจะได้ย้อนวัยกลับไปคิดว่า ถ้าเราได้เห็น ได้เล่นแบบนั้นแล้ว ด้วยสายตาความเป็นเด็กเราจะคิดอะไร ? จะแก้ปัญหาและเรียนรู้ได้เร็วอย่างเด็ก ๆ ในเรื่องไหม ? เรามีประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีและมีความสุขในการไปโรงเรียนในทุก ๆ วันแบบนั้นมาบ้างหรือเปล่า ?
เรียนรู้จากการเล่น
ถ้าจะปล่อยให้เด็กเรียนรู้จากการเล่น ต้องปล่อยให้เด็กเล่นจนสุด เพื่อให้เขาลองผิดลองถูกและเรียนรู้ หนังเรื่องนี้จึงไม่มีเนื้อเรื่อง สคริปต์บทพูดที่วางไว้ชัดเจน เหมือนกับการเรียนการสอนที่ไม่ได้มีแบบแผนที่ตายตัว มีแต่เพียงโจทย์ที่ท้าทาย และคำถามที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้
ไม่มีคำว่า ‘ไม่’ ไม่มีคำว่า ‘ห้าม’ หรือ ‘อย่า’
ในช่วงนึงของหนังครูพาเด็กๆเข้าป่า โดยมอบภารกิจให้กับเด็กๆว่าห้ามใครรู้เด็ดขาดและต้องลักลอบกลับเข้ามาไม่ให้ใครเห็น เด็ก ๆ เริ่มจากการหากิ่งไม้มาทำเป็นม้าเพื่อใช้ขี่เดินทาง ในระหว่างที่เข้าป่ามีเด็กชายคนหนึ่งกินมดเข้าไป แล้วพูดกับครูว่า “มดรสเปรี้ยวอย่างกับมะนาวเลย” ครูเอะใจสงสัยจึงถามไปว่า “เธอกินมดเข้าไปเหรอ” แต่เมื่อเด็กตอบครูก็ไม่ได้ดุหรือห้ามอะไร ครูปล่อยให้เด็กเล่น พูดคุยกันเอง คิดแก้ปัญหากันเองไปจนกว่าจะแก้ปัญหาไม่ได้ จึงจะแนะนำว่าควรทำอย่างไร ครูอาจจะมีบทบาทบ้างเวลาที่เด็ก ๆ เริ่มทะเลาะ แต่นั่นก็เพราะเมื่อเราทะเลาะเราจะหยุดเรียนรู้ ต้องสงบหรือไตร่ตรองสิ่งที่เกิดขึ้นเวลาที่จิตใจและอารมณ์สงบก่อน
เราไม่วัดหรือตัดเกรดการเล่น
เด็กทุกคนในที่นี้เรียนรู้และเติบโตผ่านธรรมชาติ ทั้งธรรมชาติของเด็กตามช่วงวัยและธรรมชาติรอบตัวตามที่เด็กสนใจและพาตัวเองเข้าไปใกล้ ในทุกๆวันที่เด็กมาโรงเรียน คือ วันที่มีความสุข การเรียนรู้คือการทำความเข้าใจสิ่งใหม่ ๆ และเก็บเอาไว้ประยุกต์ผสมผสานใช้ในอนาคต เกรดจึงไม่อาจกำหนดการเรียนรู้จากการเล่นได้ และเกรดอาจไม่ได้เป็นตัวแทนที่จะบอกว่าเด็กคนไหนเรียนรู้ได้มากกว่ากัน
เราอาจจะต้องมาตั้งหลักกันใหม่ว่าจริง ๆ แล้วเราอยากให้เด็กได้เกรดดี หรือ อยากให้เด็กได้รับการเรียนรู้ที่ดี ในช่วงวัยของการสำรวจโลก การเล่นอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เขาไต่ระดับความเข้าใจต่อโลกใบนี้ได้ตามลำดับขั้นและระยะก้าวตามความสนใจ การเล่นอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องไร้สาระเสมอไป
ผู้ใหญ่อย่างเราบางครั้งก็หลงลืม Childhood ของตัวเราเองไปในบางที
หรือไม่ วัยเด็ก เวลาเด็กของเราอาจจะไม่ได้รับโอกาสที่จะได้เล่นและมีการเรียนรู้ที่มีคุณภาพก็ได้
หนัง Childhood อาจจะเป็นคำตอบหรือเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ให้เราได้เติมเต็มการเรียนรู้ในวัยเด็กของเราอีกครั้ง