ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ชื่อนี้เป็นที่คุ้นหูของชาวเชียงใหม่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สนใจด้านศิลปวัฒนธรรมและการศึกษาทางเลือก ในฐานะที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ‘โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา’ ควบคู่ไปกับตำแหน่งเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก
‘โฮงเฮียน’ ที่ชัชวาลย์ร่วมผลักดันกับ ‘พ่อครูแม่ครู’ อีกนับร้อยชีวิต มีปรัชญาสำคัญ คือการเคารพความเป็นมนุษย์ เพราะเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีศักยภาพอยู่ในตัว แต่ศักยภาพของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เด็กคนหนึ่งอาจมีความรัก ความชอบ ความถนัด และความฝันไม่เหมือนกับเพื่อนๆ ร่วมรุ่นของเขา
ดังนั้น การศึกษาจึงควรสอดคล้องไปกับความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ เพื่อโอบรับเด็กๆ ให้เติบโตได้ตามศักยภาพของตน โดยไม่ต้องฝืนไปวิ่งใน ‘ลู่’ ที่เขาไม่ถนัด อย่างที่การศึกษากระแสหลักพยายามสร้างมาตรฐานเดียวมาใช้วัดเด็กทุกคน
Equity Lab ได้พูดคุยกับชัชวาลย์ เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่า การศึกษาทางเลือกคืออะไร มีเป้าหมายอะไร ต้องเผชิญอุปสรรคใด ไปจนถึงกระทั่งมีความคาดหวังที่จะเห็นอนาคตการศึกษาทางเลือกของเด็กไทยในทิศทางใด
“เราต้องเปิดพื้นที่ให้แก่เด็ก เพื่อให้เขามีโอกาสเลือกเรียน เพราะการที่ใครสักคนจะค้นพบตนเองได้นั้น บางทีเขาต้องได้ทดลองและเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างมาก และเพราะโลกข้างหน้าที่พวกเขาต้องเผชิญนั้นหฤโหดมาก เราจึงต้องเปิดโลกการเรียนรู้ให้เขาทดลองอย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เขามีความสุขและสนุกจากการเรียนรู้ด้วย”
ช่วยเล่าถึงความเป็นมาของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาให้ฟังอีกสักครั้ง
ผมเรียนจบก็ไปเป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) รุ่นที่ 1 ในปี 2523 จากนั้นก็ทำงานพัฒนาชนบทมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากทำงานในพื้นที่ต่างๆ กว่า 20 ปี ผมพบว่ารากฐานสำคัญของมนุษย์คือ ‘ภูมิปัญญา’ โดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีปริมาณและความหลากหลายสูง ในแต่ละชุมชนจะมี ‘ผู้รู้’ ของเขา ก่อนหน้านี้เราแทบไม่ให้ความสำคัญกับผู้รู้เลยนะ มีแต่ด็อกเตอร์ที่จบจากสถาบันการศึกษาต่างๆ (หัวเราะ)
แต่จากการทำงานในหมู่บ้าน ทำให้ได้พบผู้รู้ทางด้านสมุนไพร เหมืองฝาย ศิลปะ หัตถกรรม และอื่นๆ อีกมาก จนเป็นแรงบันดาลใจให้เรา ประกอบกับช่วงนั้นเป็นปีที่ครบรอบก่อตั้งเชียงใหม่ 700 ปี จึงร่วมกับพรรคพวกเฉลิมฉลองด้วยการจัดงานชื่อ ‘งานสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนา’ เราพยายามย่อยคำว่าภูมิปัญญาชาวบ้านให้คนทั่วไปเข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายๆ จนได้ข้อสรุปว่าจะจัดงานล้อธีม ‘ปัจจัย 4’ โดยจะจัดงาน 4 วัน วันแรกเป็นเรื่องผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง วันที่ 2 เป็นการดูแลรักษาโดยหมอพื้นบ้าน วันที่ 3 เป็นเรื่องเครื่องนุ่งห่ม อาทิ ผ้านซิ่นตีนจก ผ้าลายน้ำไหล ผ้ายกดอก ผ้าชนเผ่า เป็นต้น วันสุดท้ายก็เป็นเรื่องที่อยู่อาศัย โดยเอาช่างล้านนาหรือทางเหนือเราเรียก ‘สล่า’ ซึ่งเทียบได้กับช่างสิบหมู่มาให้ความรู้
เราจัดงานในลักษณะนี้ได้ประมาณ 3 ปี ก็มีเด็กที่เข้าร่วมงานถามว่า “อาจารย์ครับ หากจบงานแล้วผมอยากเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เพิ่มเติม จะหาเรียนได้ที่ไหน” โอ้โห ตอนนั้นมัน inspiration (บันดาลใจ) ให้เราได้มากเลย เพราะตอนแรกที่เริ่มจัดเป็นแค่อีเวนท์หรือเทศกาล ไม่ได้คิดต่อยอดมาก เมื่อได้ปรึกษากับพ่อครูแม่ครูก็ตกผลึก ตัดสินใจก่อตั้ง ‘โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา’ ขึ้น โดยมีครูพื้นบ้านอาสาสมัคร 30 ท่านในขณะนั้น
เมื่อจัดงานในปีที่ 4 เราจึงเปลี่ยนธีมการจัดงานใหม่โดยเน้น ‘ครูภูมิปัญญา’ เอาวิชาต่างๆ เช่น แกะสลัก หัตถกรรม จักสาน ทอผ้า และการรักษาโรคแบบพื้นบ้านมาสาธิต แล้วเปิดให้คนสมัครเรียนได้เลย จำได้ว่าตอนนั้นมีนักเรียน 170 คน เราก็มีพิธีไหว้ครูแล้วตั้งโฮงเฮียนฯ ขึ้นในปี 2543 เป็นต้นมาครับ
การทำงานในโฮงเฮียนเป็นต้นเรื่องที่ทำให้ผมถูกดึงเข้ามาอยู่ในเครือข่ายการศึกษาทางเลือก ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว การเข้าร่วมเครือข่ายฯ ทำให้ค้นพบว่ายังมีการศึกษาทางเลือกอีกหลายแบบมาก เช่น home school ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน นี่คือที่มาที่ไปของการขับเคลื่อนการศึกษาทางเลือกเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันครับ
งานอาสาสมัครของ มอส. ในช่วงนั้นมีบทบาทอย่างไรบ้าง
ในสมัยนั้น (พ.ศ. 2523) มีองค์กรพัฒนาเอกชนอยู่บ้างแล้ว เช่น บัณฑิตอาสาสมัครของธรรมศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นโดยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ส่งอาสาสมัครไปทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นแนวคิดนำร่องให้เกิดการตั้งองค์การพัฒนาเอกชน มูลนิธิ หรือสมาคมอื่นๆ ตามมาอีกเยอะ
แต่ปัญหาสำคัญคือบุคลากรขององค์กรเหล่านี้ยังมีน้อย ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ เช่น อาจารย์เสน่ห์ จามริก อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หมอประเวศ วะสี อาจารย์โคทม อารียา หรือจอน อึ๊งภากรณ์ ก็ปรึกษากันจนเกิดความคิดว่า เราน่าจะสร้างอาสาสมัครขึ้นมา เหล่าอาจารย์ท่านก็จะช่วยคัดเลือกคน แล้วก็ส่งอาสาสมัครเหล่านี้ไปให้องค์การพัฒนาเอกชนต่างๆ ทั่วประเทศ
เรียกว่าตอนนั้นพวกผมเป็นรุ่นหนูทดลองครับ ลองดูว่าโครงการจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็จะเลิก แต่พอดีว่ามันก็พอไปได้ จนมีรุ่นต่อๆ มาครับ
เครือข่ายการศึกษาทางเลือกมีการดำเนินการร่วมกับโรงเรียน ซึ่งเป็นการศึกษากระแสหลักของรัฐด้วยหรือไม่
จริงๆ แล้วเราไม่ได้ปฏิเสธโรงเรียนของรัฐ เพียงแต่เราวิพากษ์ว่าการผลิตคนให้เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศแบบ ‘ยกโหล’
ปรัชญาของการศึกษาทางเลือกที่เรายึดถือเป็นหลักคือ การเคารพความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์แต่ละคนมีศักยภาพและธรรมชาติแตกต่างกัน มีความรัก ความชอบ ความถนัด และความฝันที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราจึงอยากเห็นการศึกษาที่ตอบโจทย์หรือสอดคล้องกับความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์แต่ละคน การศึกษากระแสหลักถือเป็นเพียงหนึ่งในการเรียนรู้นี้เฉกเช่นเดียวกับเรา
จากท่าทีในการวิพากษ์ระบบการศึกษาของรัฐ ทำให้ถูกตั้งแง่จากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่บ้างไหม
เราเข้าใจว่าภารกิจที่โรงเรียนเหล่านี้ได้รับมอบหมายคือ การรับผิดชอบต่อหลักสูตรแกนกลางที่มาจากกระทรวงศึกษาธิการ เขาต้องนำพาเด็กไปสอบแล้วได้คะแนนตามผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังไว้ แต่เมื่อเราเสนอให้มีการศึกษาทางเลือก เขาก็บอกว่ารูปแบบของเราไม่เข้ากับกระแสหลัก ไม่ตอบโจทย์ภารกิจของเขาเลย
ผมคิดว่าตอนนี้เราเหมือนกับวิ่งกันคนละลู่ครับ เหมือนเดินคู่ขนานกันไป แต่ก็มีบ้างในบางจุดที่เราได้เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนเอกชนที่เปิดกว้าง เราเรียกว่า ‘โรงเรียนทางเลือก’ ซึ่งเขาสอนโดยเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม เชื่อมระหว่างเด็กกับชุมชน เช่น พาไปเรียนในวัด ให้เด็กได้เรียนรู้กับผู้รู้ต่างๆ ในชุมชน ตามหลักการ ‘บ้าน วัด โรงเรียน’ (บวร)
เราไม่ปฏิเสธที่จะร่วมทำงานกับโรงเรียนเหล่านี้ แต่ส่วนของโรงเรียนกระแสหลักซึ่งต้องทำตามภารกิจของกระทรวงฯ และรัฐจึงจะได้ผลงานและเลื่อนสถานะ พอมาทำการศึกษาแบบทางเลือกอาจจะสร้างความลำบากให้กับเขา เด็กอาจได้คะแนนไม่ดี เราก็เลยไม่ได้ร่วมงานกันมากนัก
เราจึงพยายามผลักดันอย่างยิ่งในประเด็นว่าต้องการให้มีกลไกดูแลการศึกษาทางเลือกโดยเฉพาะ จริงๆ การศึกษาทางเลือกมี 2 แบบ คือ ดำเนินการตามอิสระ โดยไม่ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงฯ และดำเนินการแบบจดทะเบียนจัดตั้งกับกระทรวงฯ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือศึกษาธิการจังหวัด อาทิ home school ศูนย์การเรียนรู้โดยชุมชนหรือองค์กรเอกชน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับทางรัฐ แต่เราต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่ราบรื่นนัก
มีอุปสรรคอะไรหรือ
อุปสรรคสำคัญก็คือหน่วยงานรัฐเขายังไม่ค่อยเข้าใจ สมมติพ่อแม่ไปจดทะเบียนให้ลูกเรียนที่บ้าน เนื่องจากไม่เชื่อมั่นว่าโรงเรียนในระบบจะมีคุณภาพ ถ้าส่งลูกเข้าเรียนในระบบแล้ว เด็กอาจหลุดจากการดูแลของพวกเขาด้วย แต่คำถามแรกที่พวกเขาจะเจอก็คือ เฮ้ย ทำไมไม่เอาลูกเข้าโรงเรียนของรัฐ ทำไมเอาไปสอนเอง
ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ที่เลือกการศึกษาทางเลือกยังรู้สึกว่า การเรียนในระบบของรัฐจะทำให้ลูกเสียโอกาส โอกาสเพียงอย่างเดียวที่เด็กจะได้คือผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ แต่จะเสียโอกาสด้านอื่นๆ ไปหมดเลย เช่น ทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน จินตนาการ ไปจนถึงศักยภาพในการพัฒนาตามธรรมชาติของเด็กที่จะขาดหายไปหากเรียนในระบบ
โฮงเฮียนสืบสานฯ จดทะเบียนแบบไหน
ตอนแรกสุดก็มีคนแนะนำให้ผมไปจดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ ปรากฏว่าคำแรกที่เขาถามคือ คุณเรียนจบอะไรมา ซึ่งผมจบนิติศาสตร์ ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง คำถามที่สองคือ มีห้องเรียน มีอาคารเรียนเรียบร้อยดีไหม ซึ่งต้องกว้างเท่านั้น ยาวเท่านี้ หรือมีหลักสูตรพร้อมแล้วไหม ซึ่งหลักสูตรของเราขึ้นอยู่กับพ่อครูแม่ครูครับ ส่วนสถานที่เราก็เรียนกันแบบธรรมชาติ ที่บ้านครูบ้าง ที่ซุ้มในหมู่บ้านบ้าง เขาเลยบอกว่าตามระเบียบแล้วไม่ได้นะครับ คุณยังไม่พร้อมที่จะจดทะเบียน
ผมเลยบอกไม่เป็นไร ขอทดลองก่อน หากพร้อมเมื่อไหร่จะมาจด แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ไปจดเลย เราใช้วิธีดำเนินการแบบมูลนิธิชื่อ ‘มูลนิธิสืบสานล้านนา’
ตอนนี้ผลิตนักเรียนออกมารุ่นที่เท่าไหร่แล้ว
โห เราไม่ได้นับเป๊ะขนาดนั้นครับ แต่นับจากปี 2543 ก็น่าจะเยอะ เดิมมีรุ่นเดียวต่อปี ตอนนี้เราขยายมาเป็นปีละ 3 รุ่น ทยอยเปิด
แล้วการศึกษาทางเลือกมีตัววัดผลหรือไม่ อย่างไร
มีครับ แต่ของเราเป็นการประเมินที่เน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก ผู้ปกครอง และคนที่จัดการศึกษา นี่คือหลักสำคัญ เรายังประเมินผลจากสภาพจริงของเด็กด้วย หมายความว่า เด็กได้รับความรู้ความสามารถอะไรเพิ่มขึ้นก็วัดตามนั้น ไม่ได้วัดกันที่คะแนน เรียกง่ายๆ ผมว่ามันคือการวัดสมรรถนะ ซึ่งเป็นศักยภาพและความสามารถที่แท้จริงในตัวเด็กมากกว่าจะวัดจากเกณฑ์คะแนนใดๆ
จากสมัยก่อตั้งโฮงเฮียนใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะมากในช่วง 20 กว่าปีมานี้ เมื่อก่อนเด็กของเราไม่กล้าพูดภาษาท้องถิ่นหรือแต่งกายแบบพื้นเมือง เครื่องดนตรีพื้นถิ่นอย่างซึงหรือสะล้อก็ยังไม่กล้าถือ เพราะอาย ของพวกนี้ถูกมองว่าล้าหลัง ไม่อินเทรนด์ ความรู้ท้องถิ่นของเราถูกกดทับอย่างแรงเหมือนมีก้อนหินมาทับหญ้าเอาไว้
พอเราตั้งโฮงเฮียนสืบสานฯ ก็เหมือนได้ยกหินก้อนนั้นออก ต้นหญ้าเหล่านั้นแม้เหี่ยวเฉาบ้าง แต่รากของมันยังคงแข็งแรงอยู่ พอได้น้ำ ได้ลม ได้อากาศดีๆ ก็งอกงาม
เราได้ประโยชน์ 2 ทางคือ พ่อครูแม่ครูซึ่งก่อนหน้านี้ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษา ทั้งๆ ที่มีความรู้สูงและเก่งมากในแต่ละเรื่อง กลับไม่ได้รับการสนับสนุนหรือดูแลเลย แต่ตอนนี้พวกเขามีกำลังใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันเด็กๆ ก็ได้รับความรู้เหล่านั้นจากพ่อครูแม่ครู ทำให้เขาภาคภูมิใจกับความเป็นท้องถิ่นของตน ช่วงหลังเราจึงเห็นเด็กแต่งชุดพื้นเมืองแล้วเท่ เล่นดนตรีพื้นบ้านแล้วเท่ เพราะเขารู้สึกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
โฮงเฮียนเรามีหลักสูตร 3 ขั้นครับ หนึ่ง-เพื่อการเรียนรู้ โดยจะเน้นไปที่เด็กนักเรียน โรงเรียนต่างๆ ส่งเด็กมาเรียนรู้กับเราเยอะมาก เพราะครูของเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องท้องถิ่น จึงสอนไม่เป็น เราเลยกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับโรงเรียนของรัฐ
เมื่อเด็กทั้งหลายได้มาสัมผัสกับความรู้จากเราก็เปิดโลกให้เขามาก เพราะเขาไม่เคยได้รับคำแนะนำจากที่ไหนเลย เพราะมันอยู่นอกสารบบ ซึ่งก็มีเด็กบางคนที่สนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติม
ถัดมาขั้นที่สอง-เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตหรือเอาไปประกอบอาชีพ และขั้นที่สาม-เพื่อการถ่ายทอด โฮงเฮียนเรายังมีหลักสูตรพัฒนาครูรุ่นใหม่ที่จะไปถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ต่อ เพราะครูรุ่นเก่าๆ ในยุคก่อตั้ง มีอายุ 60-80 ปีกันแล้ว ช่วงหลังเขาก็ทำงานไม่ค่อยไหว บางคนบอก “โอ้ย อาจารย์ ผมมาสอนที่โฮงเฮียนบ่าค่อยไหวแล้วนะ ขอปิ๊กบ้านละ” ซึ่งตอนนี้เราก็มีการเปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยนะครับ สอนโดยพ่อครูแม่ครูรุ่นอาวุโส ส่วนลูกศิษย์รุ่นใหม่ๆ ก็ขยับขึ้นมาเป็นครูที่โฮงเฮียนแทน เหมือนสโลแกนของเราว่า “เรียนขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนสืบสาน ถ้าขั้นแอดวานซ์ต้องไปบ้านครู”
โมเดลอย่างนี้มีแค่ในภาคเหนือหรือเชียงใหม่เท่านั้นไหม หรือมีเครือข่ายในภาคอื่นๆ ด้วย
จริงๆ เราพยายามสร้างเครือข่าย ‘เยาวชนสืบสานภูมิปัญญา 4 ภาค’ ตอนหลังก็กระจายตัวไป อาทิ มีกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ที่สุราษฎร์ธานี ภาคอีสานก็มีที่อุบลราชธานี ภาคกลางที่ระยอง เช่น กลุ่มรักษ์เขาชะเมา ตอนหลังก็ขยายมาที่ลพบุรี ซึ่งกลุ่มเยาวชนสืบสานฯ เหล่านี้เป็นกลุ่มสำคัญที่ขับเคลื่อนกันอยู่ตอนนี้ อย่างไรก็ดี ในภาคอื่นๆ เครือข่ายอาจยังไม่ใหญ่มากนัก การทำงานยังกระจายเป็นจุดเป็นหย่อมอยู่ครับ เมื่อเทียบกับเชียงใหม่ที่ค่อนข้างเป็นรูปเป็นร่าง เป็นเครือข่ายที่มีความชัดเจนมากกว่า
ไอเดียที่จะทำโรงเรียนทางเลือกอาจฟังดูเหมือนเรื่องง่าย แต่เอาเข้าจริงน่าจะเจออุปสรรคเยอะมาก เช่น การขอความร่วมมือจากชุมชน การทำความเข้าใจกับพ่อแม่ คุณชัชวาลย์มีวิธีการเริ่มต้นอย่างไร
ถ้าย้อนกลับไปดูช่วงแรกเริ่ม เหมือนกับเราจัดเฟสติวัล แล้วเอาผู้รู้มาสาธิต มาสอน ให้คนได้เข้ามาสัมผัส มาเรียนรู้ จนกระทั่งพัฒนาขึ้นเป็นโฮงเฮียนสืบสานฯ ในระยะแรกนั้นก็จะมีอาสาสมัครครู 30 ท่าน มาสอนวิชาต่างๆ ที่ตนถนัด อาทิ ภาษาล้านนา วรรณกรรม หัตถกรรม ศิลปกรรม สมุนไพร ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ
เราค่อยๆ เอาความรู้พวกนี้มาจัดหมวดหมู่ แล้วแตกแขนงออกไปเป็นสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งกระบวนการจัดการเรียนรู้นี้คือเฟสที่ 2 แล้ว เราพยายามจัดการเรียนตามความต้องการของเด็กครับ เพราะเด็กจะสมัครเรียนตามที่เขาอยากเรียน เราก็จัดให้ตามนั้น หรือบางครั้งโรงเรียนต่างๆ ติดต่อเข้ามา เนื่องจากเห็นว่าเรารวบรวมครูภูมิปัญญาเอาไว้มาก เราก็จัดให้เรียน 3-5 วิชา ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน คล้ายเป็นหน่วยบริการผู้รู้แก่โรงเรียนของรัฐ
สถานที่ของโฮงเฮียนสืบสานฯ ร่มรื่นมากนะครับ สวยมาก และอยู่กลางเมืองเชียงใหม่เลย ครูและเด็กที่เข้ามาเห็นก็อยากจะพาเด็กมาอีก หรือบางครั้งหากมีชุมชนใดสนใจ เราก็ส่งพ่อครูแม่ครูไปสอนในชุมชนบ้าง บางทีเด็กของเราอยากจะทำค่าย เราก็จัดให้มีค่าย เป็นค่ายที่ยืดหยุ่นมาก เราจัดการสอนตามความต้องการของเด็กว่าเขาอยากจะเรียนรู้แบบไหน อย่างไร
หลังจากเปิดสอนเรื่อยมา เราเริ่มมีลูกศิษย์จำนวนมากขึ้น จึงพัฒนาไปเป็นเครือข่าย เช่น คนที่สนใจเรื่องภาษาล้านนาก็รวมตัวกันเป็นเครือข่ายด้านนี้ เราจะเห็นว่าจากเฟสติวัล กลายมาเป็นโฮงเฮียนสืบสานฯ แล้วก็มาสร้างเน็ตเวิร์ก ซึ่งจะช่วยขยายวงต่อไปได้เรื่อยๆ เป็นระลอกๆ
หากไม่มีการเรียนการสอนหลักสูตรทางเลือกเหล่านี้จะเกิดอะไรขึ้น นักปราชญ์ท้องถิ่นจะล้มหายไปไหม และจะส่งผลให้เราสูญเสียภูมิปัญญาด้วยหรือไม่
คำว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นทำให้เราต้องย้อนไปพิจารณาบริบทของแต่ละท้องถิ่นครับ อย่างเชียงใหม่เคยเป็นอาณาจักรล้านนาเดิม มีอายุ 625 ปี มีภาษา วัฒนธรรม และองค์ความรู้ต่างๆ เฉพาะตน เราเป็นเมืองที่อยู่ในเขตป่าต้นน้ำขนาดใหญ่ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เป็นต้นทางให้แม่น้ำกก แม่น้ำอิง ไหลลงสู่แม่น้ำโขง แม่น้ำยวมไหลลงสาละวิน
บริบทของธรรมชาติในพื้นที่เป็นบ่อเกิดของภูมิปัญญามนุษย์นะครับ ภูมิแปลว่าแผ่นดิน ปัญญาแปลว่าความรู้แจ้ง มันจึงเป็นความรู้แจ้งที่งอกเงยขึ้นจากแผ่นดินและเป็นความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น เช่น ทางใต้เป็นทะเล เขาจะรู้เรื่องประมง เกลือเขา เกลือเล เกลือทุ่ง ทางอีสานเป็นแอ่งกระทะ ทำนาผืนใหญ่รับน้ำฟ้า ในขณะที่ทางเหนือใช้ระบบเหมืองฝายหรือนาขั้นบันได เพราะว่าเป็นภูเขา ระบบการผลิตของที่ท้องถิ่นจึงสอดคล้องกับระบบนิเวศ ซึ่งความรู้ก็จะสอดคล้องกันไปอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ ในแต่ละพื้นที่ก็มีกลุ่มคนที่หลากหลายอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกันด้วย ทางเหนือมีไม่น้อยกว่า 20 กลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งแต่ชาวม้งที่จะอยู่บนดอยสูง ส่วนชาวอาข่า ลาหู่ ปกาเกอะญอ และลัวะ จะอยู่ต่ำลงมา จนถึงพื้นราบที่มีไทยวน ไทเขิน ไทลื้อ และไทใหญ่ คนเหล่านี้อยู่ร่วมกันแบบเกื้อกูล ยั่งยืน และยังเคารพธรรมชาติ
การเคารพธรรมชาติคือ ‘แก่น’ ที่พ่อครูแม่ครูของเราสอนตลอดเวลา นักเรียนจะต้องอยู่กันแบบ ‘เจ้าหมู่’ คือเป็นกลุ่มก้อน เป็นพี่น้องที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพาตนเองได้ นี่ต่างหากคือการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งถูกตัดหายไปจากระบบการศึกษากระแสหลัก
ทักษะชีวิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถนำมาใช้ในชีวิตปัจจุบันได้ไหม ขณะเดียวกันเด็กต้องเรียนรู้ทักษะสมัยใหม่อย่างเทคโนโลยี เพื่อก้าวให้ทันโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยไหม
เราก็ไม่ได้ปฏิเสธนี่ครับ สโลแกนของโฮงเฮียนสืบสานฯ คือ ‘เรียนรู้รากเหง้า เท่าทันโลกาภิวัตน์’ เราเน้นว่านักเรียนสามารถเอาทั้งความรู้เก่าและใหม่มาจัดการตัวเองได้อย่างเหมาะสม
สิ่งที่โรงเรียนเราทำคือ การเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากระบบการศึกษาปัจจุบัน โดยภาพรวม ณ ตอนนี้ เด็กทุกคนแทบจะมีมือถือและเข้าถึงระบบไอที (เทคโนโลยีสารสนเทศ) กันหมดแล้ว พวกเขาผ่านการเรียนรู้ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการกันมาหมด แต่แทบไม่รู้เรื่องภูมิปัญญาในท้องถิ่นเลย นี่คือสิ่งเราจะเติมเข้าไปให้ โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจระดับโลกและเศรษฐกิจไทย ตลาดแรงงานหดตัว ผู้คนทยอยกลับถิ่นฐานในต่างจังหวัด
เมื่อคนกลับไปพึ่งพาตนเอง เศรษฐกิจรากฐานในท้องถิ่นจึงทวีความสำคัญขึ้นมาก แต่นั่นก็ต้องใช้ความรู้จากภูมิปัญญาเดิมส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันเขาก็ต้องเอาความรู้ใหม่ไปพัฒนา ต่อยอด และสร้างสรรค์ความรู้ท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยเช่นกัน ผมมองว่ามันหนุนเสริมกันครับ
ความหมายที่แท้ของคำว่า ‘รากเหง้า’ คืออะไร ทำไมเด็กจึงต้องรู้จักรากเหง้าของตัวเอง รวมถึงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนสำคัญต่อการดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่อย่างไร
อันที่จริง รากเหง้าคือการรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้ง เมื่อกล่าวถึงราก เราอาจกำลังพูดถึง ‘รากประวัติศาสตร์’ หรือที่มาที่ไปของมนุษย์แต่ละคนแต่ละกลุ่ม เราคือใคร มาจากไหน เทือกเขาเหล่ากออะไร ชาติพันธุ์อะไร การเรียนรู้รากเพื่อทำความเข้าใจตัวเองเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ เพราะจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับเรา ที่ผ่านมาเราถูกใครก็ไม่รู้ตัดรากออก แล้วทำให้เรารู้สึกอ่อนด้อย คุณอยู่ในชนบทก็ถูกมองว่าล้าหลัง คุณเป็นชนเผ่าก็ถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสอง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องอ่อนด้อยอะไรเลยหากถามผม เพราะรากที่แท้จริงนั้นคือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกันต่างหาก
สองคือ ‘รากถิ่นฐาน’ กล่าวคือ เราเข้าใจระบบภูมินิเวศที่เราอาศัยอยู่หรือไม่ เช่น เชียงใหม่เป็นวนานคร ซึ่งติดกับผืนป่า ทิศตะวันตกเป็นดอยสุเทพ ติดตะวันออกเป็นแม่น้ำปิง เราจึงจำเป็นต้องรู้ว่ารากเหล่านี้สัมพันธ์กับวิธีการดูแลผืนแผ่นดินที่เป็นต้นน้ำลำธารของเรา เพราะระบบการผลิตจะต้องสอดคล้องกับระบบนิเวศด้วย
สามคือ ‘รากที่เป็นวิถีชีวิต’ ได้แก่ วัฒนธรรม ภาษา และอื่นๆ ซึ่งเรียกรวมๆ ได้ว่าเป็นการเข้าใจตัวตนอย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ การเข้าใจว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดิน แล้วผืนแผ่นดินนั้นเป็นอย่างไรก็ต้องเข้าใจมันด้วย เพื่อจะได้ดำรงชีวิตให้สอดคล้อง และเป็นประโยชน์กับแผ่นดินนี้อย่างสอดคล้องกับบริบททางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
การเข้าใจประวัติศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคตจากการต่อยอดความรู้ที่เรามีอยู่แล้วได้ ผมไม่ได้ปิดกั้นความรู้สมัยใหม่ที่เป็นสากลนะครับ แต่การรับความรู้ใหม่เหล่านี้จะต้องไม่เข้ามาตัดรากเราทิ้ง กลับกัน มันต้องมาเสริมรากฐานที่เรามีอยู่ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เราต้องการปุ๋ยที่ทำให้เราเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ไม่ใช่จะมาโค่นต้นไม้เดิม แล้วไปปลูกต้นไม้ใหม่ซึ่งอ่อนแอ ไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและบริบทของเรา
สิ่งสำคัญที่สุดของการศึกษาทางเลือกก็คือว่า เด็กทุกคนควรมีสิทธิ์เลือกการศึกษาที่เหมาะกับตัวเอง การจะทำเช่นนั้นได้อย่างแรกสุุดเราต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการค้นพบตนเอง แต่เรื่องเหล่านี้กลับไม่มีอยู่ในสารบบการศึกษากระแสหลัก เด็กต้องเรียนไปตามขั้นตอนที่รัฐกำหนด เรียน-สอบ เรียน-สอบ วนอยู่เรื่อยๆ อย่างนั้นเอง ในขณะการศึกษาทางเลือกจะให้ความสำคัญกับการค้นพบตัวเองก่อน เด็กรัก ชอบ ถนัด หรือใฝ่ฝันอะไร จากนั้นค่อยจัดหลักสูตรที่เหมาะสมกับเขา เพื่อค้นหาเส้นทางชีวิตกันต่อไป
บางคนสนใจอยากเป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น บางคนอยากไปทางด้านหัตถกรรม เราก็สนับสนุนให้พัฒนาอย่างเต็มที่ บางคนอยากทำงานไอทีเพื่อมาซัพพอร์ตชุมชน บางคนอาจจะหลุดไปเลยก็ได้ เช่น อยากไปเป็นนักดนตรี นักกีฬา นักสร้างเกม อะไรแบบนี้ก็ได้ นี่เป็นกระบวนการที่เด็กแต่ละคนจะได้กำหนดชีวิตของตนเอง โดยเราช่วยเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ให้เต็มศักยภาพ
คุณชัชวาลย์เคยพูดถึงแนวคิด ‘ห้องเรียนมีชีวิต’ มันหมายถึงอะไร
หากเราเข้าใจในเรื่องความหลากหลายของเด็ก ก็จะรู้ว่าการเปิดโลกการเรียนรู้ให้เต็มพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องสร้างปรัชญาของการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ให้เกิดขึ้นจริงๆ ให้ได้ ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีการเรียนรู้ตลอดเวลา เพียงแต่โอกาสในการเรียน (ตามระบบ) มีไม่เท่ากัน ดังนั้นเราจึงต้องเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กว้างที่สุด เช่น ชุมชนก็เป็นห้องเรียนได้ เพราะมีความรู้ซุกซ่อนอยู่ในนั้นมากมาย รวมถึงสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัด ห้องสมุด ลานกีฬา
เราต้องเปิดพื้นที่ให้แก่เด็ก เพื่อให้เขามีโอกาสเลือกเรียน เพราะการที่ใครสักคนจะค้นพบตนเองได้นั้น บางทีเขาต้องได้ทดลองและเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างมากเลย บางคนเรียนเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วอาจไม่ชอบ แต่ไปสนใจเรื่องไอทีก็ได้ เรามีหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ให้กับเด็ก คอยเชื่อมโยงความรู้ใหม่ๆ กับฐานเดิม แล้วให้คำแนะนำว่าเขาจะไปต่อยอดอย่างไร หากสามารถทำให้เด็กออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองได้จะยิ่งวิเศษเลยครับ
เด็กจะมีคุณภาพได้หากมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจและนโยบายที่สนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะโลกข้างหน้าที่พวกเขาต้องเผชิญมันหฤโหดมากนะ ตั้งแต่ตลาดแรงงานที่หดตัว โรคภัยไข้เจ็บที่สูงขึ้น ไปจนถึงโลกที่ร้อนขึ้น เขาต้องเก่งและมีศักยภาพมากๆ หากจะอยู่รอดได้ เราจึงต้องเปิดโลกการเรียนรู้ให้เขาทดลองอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือเขาต้องมีความสุขและสนุกจากการเรียนรู้ด้วย
‘ห้องเรียนมีชีวิต’ น่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะค้นพบทางของตนเอง แต่ด้วยความเป็นโรงเรียนที่ต้องมีระยะเวลาเรียนจำกัด หลักสูตรแต่ละรุ่นจะมีระยะเวลาไหม หรือว่าจบไปแล้วก็ยังกลับมาที่โรงเรียนได้ตลอด
อย่างที่บอกว่าการศึกษาทางเลือกมีหลายรูปแบบมาก เช่น การศึกษาโดยฐานครูภูมิปัญญา การเรียนรู้บนฐานครอบครัวหรือ home school หรือการเรียนรู้บนฐานชุมชน หรือองค์กร มูลนิธิ สมาคมต่างๆ โดยการเรียนรู้แต่ละแบบจะมีระยะเวลาการเรียนรู้ต่างกัน แต่ทั้งหมดต้องเชื่อมโยงกัน หมายความว่าถ้าเด็กสามารถค้นพบตนเองว่าอยากไปต่อในทิศทางใด ก็ยังมีทางเชื่อมโยงให้พวกเขาได้ เด็กบางคนมาเรียนการศึกษาทางเลือกแล้วอยากเข้ามหาวิทยาลัย ก็กลับเข้าไปได้ พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วรู้สึกไม่ไหว ก็อาจจะแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาเรียนข้างนอก
สำหรับผม เราควรทำให้การศึกษายืดหยุ่น เชื่อมโยง และที่สำคัญให้เด็กเป็นผู้เลือกการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เพราะการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัยหรือช่วงเวลาไม่เหมือนกัน ช่วงเวลาหนึ่งเขาอาจอยากคุยกับผู้รู้เยอะหน่อย เราก็จัดผู้รู้มาสอนเขา แต่ช่วงต่อมาเขาอยากไปลงมือปฏิบัติเองแล้ว เขาก็อาจต้องการแค่ที่ปรึกษาหรืออาจจะเปิด YouTube ดูเองก็ได้ แต่ในช่วงไหนที่เขาต้องการพัฒนาไปสู่ประเด็นใหญ่และสลับซับซ้อนขึ้น เขาอาจต้องการความรู้จากสายวิชาการเพิ่ม เขาอาจต้องการผู้มีประสบการณ์ นักพัฒนาสังคมมาช่วย
เราต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์เหล่านี้ โดยไม่ถูกจำกัดกรอบอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม หรือถูกกำกับว่าต้องสอบได้คะแนนเท่านั้นเท่านี้ แต่โฟกัสที่กระบวนการเรียนรู้จริงๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก ซึ่งตอบโจทย์ความรัก ความฝัน และความชอบของเขา นี่คือโจทย์ของการศึกษาทางเลือกที่เราฝันไกลและอยากไปให้ถึงครับ
นอกจากการทำโรงเรียนทางเลือกแล้ว คุณชัชวาลย์ยังเกาะติดประเด็นปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่นเชียงใหม่ด้วย ตั้งแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่น pm 2.5 สถานะพลเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กระทั่งเหมืองแร่ งานเหล่านี้มาเชื่อมต่อกันได้อย่างไร
ผมถือว่าเราเป็นผู้สร้าง platform หรือเปิดพื้นที่การเรียนรู้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและความสนใจของผู้เรียนด้วย เราพบว่าเด็กบางคนก็สนใจเข้าร่วมจัดการกับปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น ครั้งหนึ่งเราไปทำงานที่ป่าแหว่ง ก็มีเด็กสนใจตามไปช่วยงานด้วย ไปช่วยฟ้อน ช่วยปลูกต้นไม้ หรือทำในสิ่งที่เขาถนัด เราก็เปิดพื้นที่ให้
แต่ผมคิดว่ามันเป็นธรรมชาติของการเรียนรู้มากๆ เลย หากคุณเริ่มจากการเรียนรู้เรื่องพันธุ์ไม้บนดอยสุเทพ สุดท้ายก็อาจพาเราไปศึกษาประวัติศาสตร์ โครงสร้างของรัฐไทย จนพบว่ามันมีการตัดสินใจที่รวมศูนย์จากกรุงเทพฯ แล้วส่งผลกระทบต่อท้องถิ่น เขาอาจไปเรียนรู้เรื่องระเบียบกฎหมายหรือการกระจายอำนาจเพิ่มเติม เพราะอยากจะแก้ปัญหา
ผมว่าการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น คือการเรียนรู้จากปัญหาจริง และน่าจะเปิดโอกาสให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งในที่สุดแล้วเขาจะมองเห็นว่าทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ได้หมดเลย ในทางกลับกัน การศึกษาที่อยู่ในระบบมันไปตัดนักเรียนออกจากสภาวะความเป็นจริงหรือปัญหาต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเขา จนนักเรียนแทบไม่รู้จักชุมชนของตนเลย ซึ่งน่าจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก การเรียนรู้น่าจะต้องทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน รับรู้ปัญหา รู้ร้อนรู้หนาวกับสังคม จนเข้าไปมีส่วนร่วมเท่าที่เงื่อนไขจะเอื้ออำนวยให้เขาได้
มีคำพูดที่ว่า ‘ความรู้คืออำนาจ’ แต่เมื่อเราเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนมากขึ้น บางทีกลับพบว่าแทบไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหา ดังนั้นการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นควรมาพร้อมการกระจายอำนาจสู่ชุมชนด้วยไหม
ที่ผ่านมารัฐใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือจัดระเบียบและชี้นำสังคม ใช้เกณฑ์ส่วนกลางเป็นหลักในการกำหนดวิถีชีวิตให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นคุณต้องเป็นพลเมืองดี ต้องอยู่ในกรอบกติกาบางอย่าง ต้องสงบเสงี่ยม หากใครที่ผิดไปจากกรอบนี้ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือตราหน้า
การศึกษาที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักตนเองจึงสำคัญมาก เพราะจะช่วยคัดง้างกับระบบการศึกษาของรัฐที่ทำให้เราหลงลืมตนเอง แล้วทำตามกระแส ตามกรอบที่รัฐวางไว้อย่างเดียว การศึกษาแบบนั้นไม่ตอบโจทย์ชีวิต แต่ดันไปตอบโจทย์อย่างอื่น เพราะเบื้องหลังรัฐยังมีทั้งทุนและอำนาจอะไรต่อมิอะไรที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การรู้จักตัวเองจึงยิ่งสำคัญหากจะสร้างประโยชน์ให้ท้องถิ่นและชุมชนได้อย่างยั่งยืน
หากทำงานผลักดันเรื่องการศึกษา จะพบว่าเราถูกล็อกด้วยกฎระเบียบของกระทรวงฯ ซึ่งรวมศูนย์การตัดสินใจเอาไว้ ตอนนี้เราจึงอยากเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาคืนแก่ท้องถิ่น เราอยากให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น เพราะตอนนี้ถูกกำกับและควบคุมมากเกินไป
หลังจากทำงานเรื่อยมา เราได้เห็นแล้วว่าเราถูกจัดการอยู่ตลอดเวลาจากภายนอก เราอยากจะจัดการตัวเองให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่มากขึ้น ตั้งแต่ด้านการศึกษาไปจนถึงทรัพยากร เราไม่อยากปลูกข้าวโพดบนดอยแล้วทำให้ดอยหัวโล้น เราอยากจะมีระบบเกษตรที่ยั่งยืน เราอยากมีระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับระบบภูมินิเวศของเรา ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องขับเคลื่อนด้วยความรู้ครับ
วิชาไหนในโฮงเฮียนสืบสานฯ ที่ป๊อป หรือเป็นที่นิยมของเด็กๆ
ส่วนมากวิชาที่มีคนสนใจจะเป็นวิชาที่มีสีสันหน่อยครับ เช่น ดนตรีพื้นเมือง กลองสะบัดชัย การฟ้อน ศิลปะการต่อสู้ งานหัตถกรรม งานเพ้นท์บนวัสดุต่างๆ อย่างพัด เสื้อ หรือร่ม กระทั่งภาษาล้านนา ก็แล้วแต่ช่วงด้วยครับ บางช่วงเราทำโคม ทำตุง ก็จะมีคนเข้ามาเรียนเยอะมาก
แม้การเข้ามาเรียนของนักเรียนจะเลือกวิชาตามความสนใจ แต่เมื่อเรียนไปหลายๆ วิชา เขาจะเห็น ‘วิถี’ ตัวอย่างเช่นเมื่อเขาเรียนภาษาล้านนา การแสดงฟ้อนรำ และหัตถกรรม ก็พอจะเห็นสิ่งที่เรียกรวมๆ กันได้ว่า ‘วิถีล้านนา’ เมื่อเป็นอย่างนี้ พวกเราก็คุยกันในหมู่ครูว่าจะพยายามทำให้นักเรียนต่อยอดจากวิชาเป็นวิถีให้ได้
เป้าหมายสุดท้ายคือให้เด็กรับเอาความเป็นจิตวิญญาณของล้านนา การเรียนรู้ของเขาจะขับเคลื่อนด้วยความ ‘ฮัก’ ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืนครับ
เข้าใจว่าทางโรงเรียนต้องมีค่าดำเนินการที่ต้องใช้จ่าย หากมีเด็กๆ อยากเรียน แต่ไม่มีทุน จะมีวิธีการช่วยเหลืออย่างไร
เราเก็บเงินไม่เยอะอยู่แล้ว เพราะไม่ได้หวังผลทางธุรกิจเป็นหลัก โดยเก็บเงินตั้งแต่ต้น คอร์สละ 500 บาท จริงๆ เราเคยถกเถียงกันเรื่องนี้ บางปีเคยไม่เก็บเงินเลย แต่พอไม่เก็บแล้วเราจัดการเรียนยากมาก เด็กมาเรียนบ้าง ไม่มาเรียนบ้าง
อันที่จริง สำหรับคนที่อยากเรียนแต่ไม่มีเงิน เราก็ให้เขาไปเรียนที่บ้านพ่อครูแม่ครูได้ครับ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เก็บเงิน มีค่าไหว้ครูตามศรัทธา ตามกำลังที่มีอยู่มากกว่า แต่ที่โฮงเฮียนสืบสานฯ ต้องมีการจัดการ มีเจ้าหน้าที่คอยรับเรื่อง ดูแลระบบต่างๆ ในสำนักงาน เราจึงต้องเก็บค่าธรรมเนียมตรงนี้ แต่ถ้าหากใครไม่มีเลยจริงๆ ก็จะมีพื้นที่เปิดให้เรียนคือ บ้านพ่อครูแม่ครูทั้งหลาย
ทำไมในมุมของรัฐ แนวคิดเรื่องการจัดการศึกษาทางเลือกจึงไม่ถูกสมาทานให้เป็นกระแสหลัก ซ้ำร้ายกลับมีท่าทีต่อต้านกลายๆ
ก็อย่างที่บอกครับ รัฐมองว่าการศึกษาเชื่อมโยงกับความมั่นคงของรัฐ จึงพยายามควบคุมและจัดระเบียบ ถ้าจะใช้คำใหญ่คำโตก็คือว่า รัฐปลูกฝังอุดมการณ์ผ่านระบบการศึกษา
เราต้องยอมรับว่าประชาชนโตขึ้น ผู้คนมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ทั้งในเชิงภูมิวัฒนธรรมและเชิงชาติพันธุ์ คนแต่ละกลุ่มมีอัตลักษณ์ของตน แต่รัฐกลับพยายามที่จะรวมศูนย์ รวมความเป็นชาติเอาไว้ หากมันทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดี ได้รับการดูแลและมีระบบสวัสดิการ มันก็ยังพอรับได้ แต่ที่ผ่านมาผมว่าเรายากจนกันมากขึ้น เหลื่อมล้ำมากขึ้น มีความไม่เป็นธรรมในสังคมเกิดขึ้นจำนวนมาก
การปล่อยให้ประชาชนเติบโตด้วยตนเอง ให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิที่ตนพึงมีในการกำหนดชีวิตตนเองบ้าง โดยเตรียมพื้นฐานสำคัญอย่างการศึกษาให้เขา เขาจะได้เข้าใจตนเองผ่านการเรียนรู้ ตื่นตัว และแก้โจทย์ปัญหาในชีวิต ตลอดจนพยายามสร้างชีวิตในอนาคตตามเส้นทางที่วาดฝัน ผมว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากนะ รัฐควรต้องยอมรับความหลากหลาย แล้วหาจุดสมดุลระหว่างสิ่งที่รัฐต้องการกับสิ่งที่ผู้คนต้องการซึ่งมันหลากหลายมากๆ หากเชื่อมโยงกันได้จะเป็นอะไรที่วิเศษมากครับ
มีตัวอย่างนักเรียนที่ฉายให้เราเห็นการพัฒนาตามกระบวนการเรียนรู้ของโฮงเฮียนสืบสานฯ ในภาพรวมบ้างไหม
นักเรียนหลายคนสามารถพึ่งตนเองได้จากความรู้ของที่นี่ ซึ่งจริงๆ แล้วโฮงเฮียนสืบสานฯ ของเราไม่ได้สอนเดี่ยวๆ แต่ยังเชื่อมโยงกับเครือข่ายการศึกษาทางเลือกแบบอื่น เช่น home school บางคนเรียนทั้ง 2 แบบ แล้วไปเข้ามหาวิทยาลัยต่ออีกก็มีนะครับ เช่น น้องคนหนึ่งเคยมาเรียนรู้กับครูภูมิปัญญา หลังจากเรียนเสร็จ เขาก็ไปเรียนครูที่ราชภัฏเชียงใหม่ แต่ช่วงนี้เขามาสนใจเรื่องการแพทย์ทางเลือก ก็เลยกลับมาเรียนรู้ที่นี่อีกครั้ง นอกจากนี้เรายังมีเด็กที่พัฒนาเติบโตไปเป็นนักจัดการทางวัฒนธรรมอีกหลายคน
สถานการณ์โควิด-19 สร้างปัญหาให้ระบบการศึกษาทางเลือกมากน้อยแค่ไหน
โควิดแทบไม่มีผลกระทบกับการศึกษาทางเลือกเลย เด็กของเรายังเรียนรู้ได้ตามปกติ ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ก็ยังเปิดให้เรียน กลุ่มที่มีโรงเรียนเยอะหน่อยก็อาจกระทบบ้าง ต้องสลับกันไปเรียน อย่างไรก็ดี การเรียนรู้ของเรายืดหยุ่นมาก ไม่มีกรอบของ 8 กลุ่มสาระวิชา ไม่ต้องสอบในสนามต่างๆ เยอะแยะมากมายเหมือนกระแสหลัก การเรียนรู้ของเราสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและชุมชนมากก็เลยไม่กระทบเลยครับ
เราเคยแชร์ประเด็นเหล่านี้ เพื่อเป็นไอเดียให้กลุ่มผู้ปกครองที่ส่งลูกไปเรียนในกระแสหลัก โดยชวนมาขบคิดว่าในช่วงโควิด ครอบครัวสามารถช่วยจัดการศึกษาอย่างไรได้บ้าง เพื่อทำให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง นี่กลายเป็นว่าพอลูกอยู่บ้าน พ่อแม่เป็นทุกข์มากเพราะทำอะไรไม่ถูก เด็กก็เบื่อเพราะไม่รู้จะทำอะไร นี่เป็นเพราะกรอบความคิดที่ปลูกฝังกันว่า หากเป็นเรื่องการศึกษาต้องเอาลูกส่งโรงเรียนเท่านั้น ไม่ควรเป็นภาระให้พ่อแม่จัดการ อย่างไรก็ตาม หากเราพลิกมุมมองเพียงนิดเดียว จะพบว่าพ่อแม่ก็สามารถจัดการเรียนรู้ให้ลูกได้
พอเปิดมุมมองอย่างนี้มันจะเชื่อมโยงกันหมดเลย สถานที่ไหนๆ ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ การศึกษาทางเลือกจึงไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากนัก ผมจึงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์นี้ให้การศึกษากระแสหลักด้วยซ้ำไป
ประเทศเราชอบคิดอะไรเป็นตัวเลข โดยเฉพาะผลกำไร ถ้าเราเอาวิธีคิดเศรษฐศาสตร์มามองการศึกษาทางเลือก การลงทุนในด้านนี้จะตอบแทนประเทศอย่างไรบ้าง
เราต้องการพลเมืองที่มีคุณภาพถูกไหมครับ แต่นั่นต้องรวมถึงทุกภาคส่วนด้วย ที่ผ่านมาการศึกษากระแสหลักเอนเอียงไปรับใช้ภาคอุตสาหกรรมมากเกินไป ในขณะที่สังคมยังต้องการคนกลุ่มอื่นๆ เช่น พระหรือนักบวชที่มีคุณภาพ สามารถทำให้คนเข้าถึงธรรมะหรือเข้าใจมิติด้านจิตวิญญาณมากขึ้น ไม่ใช่จะปล่อยให้คนที่ไม่มีที่ไป เรียนอะไรก็ไม่ได้ แล้วไปบวชแบบที่เป็นอยู่นี้
เราต้องการครูที่เจ๋ง นักวิชาการที่เก่งและอิงกับความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ เกษตรกรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผลิตแบบอินทรีย์ ใส่ใจสุขภาพผู้บริโภค และสามารถทำการตลาดเองได้ ตลอดจนเราต้องการศิลปินที่ยิ่งใหญ่สามารถสร้างงานศิลปะที่ทำให้ผู้คนได้รื่นรมย์ ทุกศาสตร์ทุกวิชาล้วนมีคุณประโยชน์ในการสร้างสังคมที่ดีงามและน่าอยู่ แต่ที่ผ่านมาเราสอนให้เด็กรู้จักเอาตัวรอดเฉยๆ
เมื่อมองถึงอนาคต เรายิ่งจำเป็นต้องลงทุนพัฒนาคุณภาพของคน เพื่อที่จะกอบกู้เศรษฐกิจ รวมทั้งทำให้สังคมไทยของเรามีความเข้มแข็งและมีคุณภาพ เพื่อที่จะอยู่กับโลกใบนี้อย่างยั่งยืน ดังนั้นเราจึงต้องลงทุน การศึกษาควรเป็นสวัสดิการจากรัฐ แต่ก็ต้องเปิดรับความหลากหลายมากขึ้น การศึกษากระแสหลักก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมอย่างไม่ตั้งใจ เด็กจำนวนมากเริ่มหลุดออกจากระบบมากขึ้นโดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด เพราะพ่อแม่เจอปัญหาทางเศรษฐกิจจนไม่อาจส่งลูกเข้าเรียน เราควรต้องปรับปรุงการศึกษา โดยไม่มองว่ามันคือการลงทุนทางเศรษฐกิจแต่ถ่ายเดียว การสร้างคนที่มีคุณภาพเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ต่อสังคมมากกว่านั้น
ถ้าเราจะยืนอยู่อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และสง่างามในโลก เรายิ่งต้องการคนเก่ง มีคุณภาพและคุณธรรม ผมมองไม่เห็นเลยว่าทำไมเราไม่ควรลงทุนตรงนี้