กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดตั้งขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพครู พบข้อมูลเบื้องต้นมีเด็กและเยาวชนเพียงร้อยละ 5 จากครอบครัวยากจนกลุ่ม 20% ล่างสุดของประเทศ ที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ สาเหตุเกิดจากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยข้อมูลบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ พบว่า ครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้ ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเมื่อเทียบกับรายได้ สูงกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ส่งผลต่อการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) และนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา กล่าวในการเสวนาออนไลน์ Career Readiness ทักษะหล่น แรงงานร่วง ปัญหาและทางออก ถึงความสำคัญในการช่วยเหลือกลุ่มเด็กด้อยโอกาส รวมทั้งเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนกลุ่ม 20% ล่างสุดว่า กสศ.ต้องการให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถก้าวพ้นจากกับดักความยากจนได้ เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องการศึกษาและอาชีพ จึงมีแนวคิดในการติดตามการเติบโตของบุคคลทุกช่วงวัย ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอุดมศึกษาอาชีวะศึกษา ไปจนถึงเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน กสศ.จึงมีแนวคิดให้มีระบบติดตามและประเมินผล ตรวจสอบความพร้อม เก็บฐานข้อมูลของเด็กและเยาวชนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะที่มีความแม่นยำและชัดเจนมากขึ้น
สำหรับโครงการในกลุ่ม Rediness หรือการเตรียมความพร้อมในกลุ่มเด็กด้อยโอกาสนั้น มีตั้งแต่โครงการ School Rediness ติดตามเด็กปฐมวัย ด้านพัฒนาการ ให้มีความพร้อมเข้าสู่การศึกษาระดับประถมศึกษา โดยดูแลทั้งเรื่องคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ช่วยเหลือผู้ปกครองสนับสนุนพัฒนาการของเด็ก และเมื่อเด็กเข้าสู่ระดับประถมศึกษา ก็จะมีโครงการ Career Readiness ซึ่งเป็นระบบประเมินทักษะความสามารถ รวมถึงความคิดในการประกอบอาชีพ ว่ามีความถนัดในอาชีพกลุ่มใด ต้องการเรียนต่อสาขาไหน ประเมินด้านทัศนคติ ความสามารถและองค์ความรู้ของเด็ก เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้วางแผนในกลุ่มโรงเรียนหรือกลุ่มจังหวัดต่อไป
โครงการ Career Readiness ซึ่งก็คือการประเมินความพร้อมของเด็กในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยกสศ.ไม่ได้มองเพียงเรื่องความรู้ของเด็กเท่านั้น แต่ยังมองเรื่องแรงจูงใจ ว่าเด็กเรียนอะไรแล้วมีความสุข สำหรับข้อมูลต่างๆจากโครงการ Career Readiness นั้นนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผน ให้เด็กได้เลือกอาชีพตามความถนัดและความเหมาะสมของแต่ละคน ให้สามารถทำงานสร้างรายได้ได้ทันทีที่ศึกษาจบแล้ว ยังสามารถแก้ปัญหา Overeducation หรือความไม่สอดคล้องกันในตลาดแรงงานได้ด้วย โดยมีการสำรวจเก็บข้อมูลทัศนคติ ความพร้อมเกี่ยวกับอาชีพของเด็ก พร้อมสร้างแบบประเมินความพร้อมให้กับเด็กทั่วประเทศ
Career Readiness จึงเป็นเหมือนครูแนะแนว ที่จะช่วยให้เห็นความถนัดของนักเรียนแต่ละคนว่ามีทักษะในด้านใด ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันมีอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้น ทำให้โอกาสการทำงานของเด็กและเยาวชนก็มีมากขึ้นตามไปด้วย และหลายอาชีพก็สามารถทำได้ตั้งแต่ยังอยู่ในระบบการศึกษา เด็กหลายคนสามารถหารายได้เป็นของตนเองจากอาชีพใหม่ๆ จนสามารถเป็นหลักให้กับครอบครัว โดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่อยู่ในการดูแลของ กสศ. ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มยากจนและด้อยโอกาส การที่เด็กเหล่านี้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็ว จนสามารถพึ่งพาตนเองได้เร็วมากเท่าไหร่ หรือการที่เด็กกลุ่มนี้มีช่องทางให้ได้พัฒนาอาชีพให้พ้นจากความยากจนได้ ก็จะยิ่งทำให้ชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ดีขึ้น
ส่วนอาชีพที่กสศ.สนับสนุนให้เด็กกลุ่มยากจนและด้อยโอกาสได้ทำนั้น ส่วนใหญ่เป็นอาชีพในระยะสั้น ซึ่งกสศ.จะมีโครงการให้ทุนสำหรับชุมชน เพื่อฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนในท้องที่ต่างๆ โดยเป็นอาชีพที่สามารถฝึกได้เร็ว และเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ง่าย รวมทั้งเหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ แม้ที่ผ่านมาสังคมไทยจะสนับสนุนให้เด็กเรียนในสายสามัญ มากกว่าสายอาชีพ แต่กสศ.กลับมองว่าการสนับสนุนให้เด็กกลุ่มยากจนและด้อยโอกาส ได้เรียนในสายอาชีพ เป็นช่องทางที่มีความเหมาะสม และเข้ากับวิถีของเด็กกลุ่มนี้ ที่ต้องเรียนพร้อมกับทำงาน ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วก็ยังสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที รวมทั้งสถานการณ์ในตลาดแรงงานขณะนี้ ยังต้องการแรงงานที่มีทักษะจำนวนมาก การให้ทุนหรือสนับสนุนให้เด็กได้เรียนสายอาชีพ จึงถือว่าตอบโจทย์มากที่สุด
“จากสถานการณ์โควิด หลายอาชีพมีความจำเป็นต้องฝึกหน้างานจริง อย่างที่ จังหวัดภูเก็ต ที่มีการฝึกช่างให้เป็นช่างเจ็ทสกี กลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบ เพราะในช่วงโควิดจะต้องเรียนออนไลน์ แต่การฝึกทักษะช่างด้วยการเรียนออนไลน์ ก็ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเท่าที่ควร ขณะเดียวกันในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดก็เกิดอาชีพใหม่จำนวนมาก เด็กจึงจำเป็นต้องมีทักษะต่อการเรียนรู้ต่อสิ่งใหม่ๆด้วย กสศ.จึงจำเป็นต้องเร่งทำโครงการ Career Readiness ให้เป็นวาระเร่งด่วน” ดร.ภูมิศรัณย์กล่าว
ที่ผ่านมา กสศ. พยายามเชื่อมโยงนักเรียนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กับหลักสูตรนอกระบบ เพื่อเป็นทางเลือกให้นักเรียนกลุ่มที่ กสศ. ดูแลได้เข้าถึงการศึกษาให้มากขึ้น นอกจากนี้กสศ.ยังมองไปถึงการทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มีแนวคิดการเรียนแบบผสมผสาน ให้สามารถเรียนหลายสถาบัน หลายคณะ แล้วเก็บเครดิตไว้ใช้ โดยไม่จำเป็นต้องจบสาขาใดสาขาหนึ่งโดยตรง ทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น ส่วนโครงการที่กสศ.เริ่มดำเนินการไปแล้วอย่าง โปรแกรม Self Directed Learning (SDL) เน้นพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความเข้าใจและความสามารถในการปรับตัว ซึ่งทักษะดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ว่าทักษะต่อการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างไร แต่หากมีทัศนคติเชิงบวก ไม่ว่าจะไปทำงานอะไรหรือที่ไหนก็สามารถก้าวหน้าในอาชีพนั้นได้
การช่วยเหลือเด็กกลุ่มยากจนและด้อยโอกาส จะมองที่เพียงการสนับสนุนทุนการศึกษาเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น แต่การจะแก้ปัญหาในระยะยาว ยังคงต้องร่วมกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง แก้ไขทั้งระบบ โดยเฉพาะภาครัฐที่ควรต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ สนับสนุนตั้งแต่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้เด็กกลุ่มนี้ ไม่ต้องดิ้นรนในการใช้ชีวิตมากเกินไป ลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แคบลงมามากที่สุด ให้เด็กทุกคนไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมแบบใด ก็สามารถที่จะเติบโตไปพร้อมๆกันได้