การขาดทักษะและความพร้อมจนไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ภายหลังวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ปัญหาดังกล่าวยิ่งถูกซ้ำเติม เพิ่มความบอบช้ำให้แก่สังคม โดยเฉพาะผู้เรียนที่ต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่จำกัดจากการเรียนออนไลน์ ทำให้ทักษะบางอย่างหล่นหายไป
ประเด็นนี้นับเป็นเรื่องเร่งด่วน Equity Lab สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงชวนทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดมากมายที่อาจนำมาสู่ปัญหาความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้เรียน เพราะการเรียนรู้ในบางสาขาวิชาไม่สามารถทดแทนด้วยการเรียนออนไลน์ได้
เหตุตั้งต้นดังกล่าว จึงนำมาสู่การจัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘CAREER READINESS: ทักษะหล่น แรงงานร่วง ปัญหาและทางออก ความ (ไม่) พร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน’ ซึ่งประเด็น Career Readiness หรือโครงการเพื่อประเมินความพร้อมของผู้เรียนในการเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นเรื่องที่ วสศ. และ กสศ. ให้ความสำคัญ รวมถึงผลักดันเพื่อช่วยเหลือเด็กหรือผู้เรียนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้เรียนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติโควิด-19 นำไปสู่การขาดทักษะในการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ รวมไปถึงการขาดโอกาสในการค้นหาความสนใจและทักษะในด้านอื่นๆ ส่งผลให้คุณสมบัติของผู้ที่จบการศึกษาออกไปนั้นไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
การเปลี่ยนแปลงฉับพลัน จนสถานศึกษาตั้งรับไม่ทัน
ครูประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูอาชีวศึกษา ผู้สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคพังงา และหัวหน้าโครงการดูแลทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สะท้อนสถานการณ์การเรียนการสอนในสายอาชีวศึกษา ในฐานะบุคลากรผู้อยู่หน้างานโดยตรงว่า หลายจังหวัดในฝั่งอันดามัน ผู้เรียนในพื้นที่จะเน้นเรียนสาขาการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ โดยก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 สาขาอาชีพนี้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก อีกทั้งสถานประกอบการทั่วประเทศยังเปิดรับผู้เรียนเข้าฝึกงาน แต่ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อสถานประกอบการหลายแห่งต้องปิดตัวลง พนักงานจำนวนมากถูกลดเงินเดือนหรือต้องออกจากงาน
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้เรียนมีความกังวลว่า เมื่อเรียนจบออกไปแล้วจะมีงานทำหรือไม่ อีกทั้งมาตรการควบคุมโรคระบาดของรัฐ ทำให้สถานประกอบการไม่สามารถเปิดรับนักศึกษาฝึกงานได้ ทั้งๆ ที่การฝึกงานจำเป็นต่อการเรียนในสายอาชีพอย่างมาก เมื่อผู้เรียนไม่สามารถฝึกงานได้ก็ยิ่งส่งผลให้ขาดการพัฒนาทักษะ ประกอบกับการจัดการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติก็เป็นไปได้ยาก ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่การเกิดภาวะที่ผู้เรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก
แรงงานต้องมีทักษะที่ยืดหยุ่นและหลากหลายจึงจะอยู่รอดได้
เมื่อโควิด-19 ทำให้สังคมเปลี่ยน ตลาดแรงงานและความต้องการของสถานประกอบการก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายภาวะการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดทั้งในฝั่งธุรกิจ แรงงาน และการศึกษา ผ่านทฤษฎีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า ‘K-Shaped Recovery’ โดยการฟื้นตัวในลักษณะนี้เป็นการฟื้นตัวที่มีปลายทางแยกออกเป็น 2 ด้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการศึกษาอย่างมาก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤติเช่นนี้ส่งผลให้หลายธุรกิจปรับตัวไม่ทัน แต่จะมีเพียงธุรกิจกลุ่มเดียวที่มีวิธีคิดต่างออกไปจนสามารถปรับตัวทัน ธุรกิจกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่เรียกว่า ‘Ocean Hopping’ คือลักษณะของธุรกิจที่คล่องตัว กระโดดได้ไม่หยุด โดยการกระโดด 1 ครั้ง จะนำพาคนหรือแรงงานให้พัฒนาไปด้วย แต่หากใครไม่สามารถตามทันก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เหลือเพียงคนที่สามารถพาไปด้วยได้เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจที่จะอยู่ในส่วนหัวของ K-Shaped ได้ จะเป็นในลักษณะ Ocean Hopping โดยธุรกิจจะต้องเลือกคน เพราะฉะนั้นตลาดแรงงานจึงได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน แรงงานที่จบออกมาจะต้องเผชิญกับการประเมินที่เข้มข้น ไม่ใช่แค่เพียงการดูวุฒิการศึกษาเท่านั้น แต่รวมไปถึงการประเมินทักษะของผู้เรียนที่เพิ่งจบออกมาว่ายืดหยุ่นพอที่จะไปต่อได้หรือไม่ กล่าวโดยสรุปได้ว่า คนที่พร้อมในยุคนี้ไม่ใช่คนที่มีใบปริญญาหรือผ่านการฝึกอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นคนที่มีความคล่องตัวและพร้อมที่จะปรับเปลี่้ยนอาชีพของตนเองได้ตลอดเวลาเพื่อให้ไปกับธุรกิจที่ปรับตัวได้อีกด้วย
ภาวะดังกล่าวส่งผลให้มีแรงงานที่ไปรอดเพียงกลุ่มเดียว โดยกลุ่มนี้คือเรียกได้ว่าเป็น ‘ซูเปอร์เป็ด’ ที่รู้ทุกอย่างและสามารถดึงทักษะหรือสิ่งที่จำเป็นออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอีกกลุ่มคือ Innovator Jobs ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานในลักษณะที่คนอื่นคิดไม่ถึง ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่า ซูเปอร์เป็ดคือกลุ่มคนที่คล่องตัว สามารถปรับตัวและกระโดดไปได้ ส่วนกลุ่มที่เหลือจะอยู่ในส่วนหาง K-Shaped ซึ่งจะต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และเมื่อคนที่มีรายได้น้อยมีลูก ก็จะมีต้นทุนในการเลี้ยงดูน้อยลง ตรงนี้จะยิ่งนำไปสู่การเกิด K-Shaped ในระบบการศึกษาตามมา ส่วนคนที่อยู่ข้างบนจะมีต้นทุนสูงกว่า มีงบประมาณในการเรียนมากกว่า ขณะที่คนที่ไม่พร้อมก็จะถูกกดลงไปเรื่อยๆ หรือถูกบีบให้ทำงานเพียงเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น และด้วยรายได้ที่น้อย เวลาที่น้อย ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเลี้ยงดูลูกที่น้อยลงไปอีก จนทำให้กลายเป็นภาระของโรงเรียนไปในที่สุด ในขณะเดียวกัน โรงเรียนยังประกอบไปด้วยโรงเรียนที่มีทรัพยากรที่เพียบพร้อมและไม่พร้อม ทำให้เกิดวงจรความเหลื่อมล้ำไม่สิ้นสุด
จะเป็น ‘ซูเปอร์เป็ด’ หรือเป็น ‘เป็ดที่มีคุณภาพ’ ได้อย่างไร
“ต้องมองหา สนใจ และศึกษาทักษะใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อมีโอกาสเข้ามา แม้จะยังไม่ได้มีทักษะที่เต็มร้อยก็ต้องเลือกที่จะกระโดดเข้าไปก่อน อาจเข้าไปในรูปแบบการขอฝึกงานและรับเงินที่น้อยก่อนก็ยังได้ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างละเอียด”
ข้อเสนอแนะข้างต้นถูกนำเสนอโดย นิก-อชิร รวีวงศ์ Creative Brand Manager ประจำ Fastwork ในฐานะหนึ่งในผู้ที่กระโจนเข้าสู่การทำงานตั้งแต่วัยเด็กและได้เปลี่ยนอาชีพมาแล้วอย่างหลากหลาย เขายังได้ชี้แนะเพิ่มเติมถึงการใช้สื่อออนไลน์เพื่อหาข้อมูลและศึกษาในภาคปฏิบัติแก่ผู้เรียนในสายอาชีวศึกษาที่การฝึกงานเชิงปฏิบัติถือเป็นเรื่องสำคัญว่า ในปัจจุบันมีคนที่ทำงานสายแรงงานฝีมือมากมายที่สอนงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างยูทูบ (Youtube) ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องรอการเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากผู้เรียนในยุคนี้สามารถหาแรงจูงใจจากภายนอกหรือเรียนรู้ว่ามีอาชีพที่หลากหลายขึ้น ก็จะสามารถสร้างทางเลือกได้มากขึ้น
ขณะที่ ดร.เกียรติอนันต์ เสริมขึ้นว่า สถานศึกษาก็ต้องพัฒนาตนเองเป็นซูเปอร์เป็ดด้วยเช่นกัน ผู้สอนต้องมีความรู้เชิงพหุ โดยอาจไม่ต้องเป็นเป็ดทุกคน แต่ต้องสามารถรวมตัวกันเป็นกองทัพเป็ดได้ รวมถึงต้องมีการปรับโมเดลการเรียนรู้ใหม่ เนื่องจากระบบที่ผ่านมามักคาดหวังว่าผู้เรียนทุกคนจะต้องมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงนั้น ความเป็นเป็ดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากระบบการศึกษาไม่อนุญาตให้ผู้เรียนงอกงามได้ตามทุนมนุษย์ที่พวกเขามี
ด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการ วสศ. และนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา กล่าวว่า วสศ. มีความต้องการที่จะพัฒนาผู้เรียนและบริบททางการศึกษาให้มีกรอบคิด (Mindset) ที่ไม่ยึดติดอยู่แต่เพียงในกรอบศตวรรษที่ 21 เท่านั้น โดยช่วงแรกอาจมุ่งเน้นการทำงานกับผู้สอนในระบบเป็นพิเศษ แต่ในอนาคตอาจรวมไปถึงการผลักดันการศึกษาที่อยู่นอกระบบด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ วสศ. ยังมีความสนใจในทักษะทางอารมณ์และสังคม (SEL: Social and Emotional Learning) ซึ่งเป็นความสามารถในการเข้าใจและปรับตัว ที่ถือเป็นทักษะสำคัญต่อการเติบโตไปเป็นเป็ดได้ เพราะการที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้นั้นจะต้องมี Growth Mindset ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหนหรือสนใจเรื่องอะไร ก็จะสามารถมีความก้าวหน้าในอาชีพได้
บทบาทของรัฐและสถานศึกษากับการสร้าง Career Readiness
ดร.ภูมิศรัณย์ เสนอว่าต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยในเนื้อหาต้องมีการกล่าวถึงประเด็น Career Readiness ให้มากขึ้น นอกจากนี้ ต้องมีการยืดหยุ่นในเรื่องของวุฒิการศึกษา หรือเรื่องเวลาในการเรียนมากขึ้น และอีกประเด็นที่ยังไม่ได้รับการพูดถึงมากนักคือเรื่องผู้สอน ที่ควรมีการเลือกผู้ที่มีทักษะจริงๆ เข้ามาอยู่ในระบบ แต่ระบบที่เป็นไปในลักษณะราชการอาจจะไม่ยืดหยุ่นมากนัก นอกจากนี้ โรงเรียนเองต้องกดทับผู้เรียนให้น้อยลง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกมากขึ้น
ด้าน ดร.เกียรติอนันต์ อธิบายถึงแนวทางที่รัฐควรทำความเข้าใจว่า การเตรียมความพร้อมบนฐานของทุนมนุษย์ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษา แต่แก่นที่แท้จริงคือ ต้องทำให้ผู้เรียนมีทักษะที่เข้มแข็งแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม โดยเริ่มจากหาจุดแข็งของคนในแต่ละกลุ่มเสียก่อน โดยเฉพาะในด้าน Soft Skills หรือทักษะทางอารมณ์และสังคม ความยืดหยุ่น ความอดทน ซึ่งสำคัญกว่า Hard Skills อย่างมาก เนื่องจากเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้และจะอยู่กับเราไปตลอด แต่ที่ผ่านมาระบบการศึกษามักมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา Hard Skills ในขณะที่จิตวิทยาการเรียนรู้มีข้อค้นพบว่า ‘คนจะเรียนรู้ได้ดี เมื่อมีความสุข’ หากผู้เรียนไม่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ก็จะไม่เกิดความรู้สึกที่อยากจะพัฒนา
นอกจากนี้ ดร.เกียรติอนันต์ ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขผ่าน ‘4C Model’ โดยเริ่มต้นจาก Core (แก่น) ที่จะนำไปสู่ Cope หรือ Career Adaptability นั่นคือความสามารถในการปรับตัวเมื่อรู้ศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง สามารถเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพได้ ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นมากยิ่งขึ้น และเกิดความมั่นใจในที่สุด จากนั้นจึงตามมาด้วยขั้นต่อไปคือ Craft หรือความสามารถที่จะวางกลยุทธ์ของตนเองได้ เป็นการหาช่องทางการเรียนรู้โดยที่ผู้เรียนไม่ต้องถูกยัดเยียดและสามารถเลือกทรัพยากรการเรียนรู้ที่เหมาะสมได้ รวมถึงสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม จนนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ Create หรือการสร้างทุนมนุษย์ได้ด้วยตัวเองที่สอดคล้องกับบริบทนั้นได้ในที่สุด
ทางด้าน อชิร กล่าวเพิ่มเติมว่า การไม่มี Soft Skills เป็นเรื่องยากสำหรับการทำงานในยุคนี้ เพราะยุคนี้ต้องมีการสื่อสารในทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขององค์กร ส่วน Hard Skills สามารถไปเรียนรู้ในภายหลังได้ แต่หากไม่มี Soft Skills ก็จะไม่สามารถต่อยอดการทำงานได้
ความคาดหวังและความเป็นไปได้ในอนาคต
ครูประทิน กล่าวในฐานะผู้สอนที่อยู่ในสายอาชีวศึกษาว่า สถานศึกษาต้องมีการส่งเสริมทักษะผู้เรียน อย่างกรณีอาชีวศึกษาจะต้องเน้นการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิชาชีพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้สอน นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอเป้าหมายในการพัฒนาทักษะซึ่งแบ่งออก 3 ด้าน ดังนี้
หนึ่ง – ทักษะทางด้านการเรียนรู้ในนวัตกรรมต่างๆ ให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ มีวิจารณญาณ หรือมี Soft Skills นั่นเอง
สอง – ทักษะสารสนเทศและเทคโนโลยี เพื่อให้เท่าทันสื่อ
สาม – ทักษะด้านชีวิตและอาชีพ ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ให้เป็น ใส่ใจในตัวเอง รู้จักเข้าสังคม รู้จักการปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรม และหมั่นหาความรู้รอบตัว เพื่อให้สามารถปรับตัวไปสู่โลกที่ก้าวกระโดดขึ้นทุกวันได้
ด้าน อชิร ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่จะสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อีกสิ่งคือ ‘แรงจูงใจ’ แต่สังคมทุกวันนี้ขาดแรงจูงใจ หากยังไม่สามารถปรับโครงสร้างได้ รัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องปรับการสื่อสารแรงเพื่อจูงใจใหม่ให้ผู้เรียนมองเห็นถึงอาชีพใหม่ๆ ให้มากขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาการขาดทักษะและความพร้อมของผู้เรียนในการเข้าสู่ตลาดแรงงานยังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง ด้วยเหตุนี้ รัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ไขปัญหาและผลกระทบในระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้เรียนที่อยู่ในระบบสามารถจบออกไปเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการและของตนเองได้ด้วยเช่นกัน
รับชมวงเสวนา Equity Talk ได้ที่ https://www.facebook.com/equitylabeef/videos/369148665229840