งานวิจัย ‘สภาพการจัดประสบการณ์เรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง และแนวทางในการพัฒนาสื่อประสมสองภาษา: กรณีศึกษาจังหวัดนราธิวาส’ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระบุว่า “พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยมีเอกลักษณ์ทางภาษา ซึ่งชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ร้อยละ 83 ใช้ภาษามลายูในการติดต่อสื่อสาร แต่โรงเรียนสายสามัญของกระทรวงศึกษาธิการ จัดการเรียนการสอนและใช้สื่อการสอนเป็นภาษาทางการหรือภาษาไทยทั้งหมด ทำให้เด็กในพื้นที่ที่มีภาษาแม่เป็นภาษามลายู และมีภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้”
งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ด้วยว่า “การเรียนภาษาที่สองให้เหมือนกับเป็นภาษาแม่นั้น กระทบต่อการเรียนรู้ในหลายๆ วิชา ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และต่ำที่สุดในประเทศ”
ความไม่หลากหลายทางภาษาในพื้นที่พหุวัฒนธรรม
รายงานเรื่อง ‘สะพานเชื่อมโยงไปสู่อนาคตอันสดใส: โครงการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น)’ ขององค์การยูนิเซฟและมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อุปสรรคหนึ่งของการเรียนรู้ นอกจากความยากจนแล้วยังมีเรื่องภาษาที่เป็นส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กด้วย
ในประเทศไทย เด็กที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ทำให้พวกเขามีโอกาสอยู่ในระบบการศึกษาน้อยกว่าเด็กทั่วไป ทั้งยังมีผลคะแนนสอบวัดระดับอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำอีกด้วย รวมถึงมีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ หัวหน้าวิจัยการเรียนการสอนแบบทวิภาษา กล่าวว่า เด็กในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 40-50 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ ทั้งนี้เพราะเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีภาษามลายูเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ทำให้พวกเขาต้องปรับตัวในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพื่อให้เข้าถึงระบบการศึกษาที่ถูกออกแบบมาจากส่วนกลาง ซึ่งกำหนดให้ใช้ภาษาไทยในหลักสูตรการเรียนการสอน อีกทั้งยังใช้ภาษาไทยในการวัดผลสอบต่างๆ
เด็กชาติพันธุ์ที่ไม่ได้พูดภาษาไทยแต่กำเนิด พวกเขาสามารถมีผลการเรียนและทักษะการเรียนรู้ภาษาไทยดีขึ้นได้ หากมีการผสมผสานภาษาไทยและภาษาแม่ในการเรียนการสอน โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานของการเรียนรู้
ทวิภาษาแก้ปัญหาการศึกษาให้เท่าเทียม
กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำโครงการการจัดการเรียนรู้ระบบสองภาษา (ไทย-มลายู) โดยกำหนดเป็นนโยบายด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการสอนแบบทวิภาษามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและความเป็นอยู่ของเด็กในพื้นที่
จากงานวิจัยสภาพการจัดประสบการณ์เรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง และแนวทางในการพัฒนาสื่อประสมสองภาษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระบุว่า ทวิภาษาสามารถแก้ปัญหาความไม่หลากหลายของการศึกษาในกรณีศึกษาจังหวัดนราธิวาสได้ ดังนี้
หนึ่ง – ด้านความพร้อมของเด็ก พบว่า ปัญหาสำคัญของเด็กส่วนใหญ่คือ เด็กใช้ภาษามลายูเป็นหลัก แต่ไม่สามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารการเรียนรู้ได้ เมื่อมีโครงการทวิภาษาเข้ามาช่วยทำให้ครูใช้ภาษามลายูเป็นฐานในการเรียนการสอน ส่งผลให้เด็กสนใจ กล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมในห้องเรียนมากขึ้น ทั้งนี้ สื่อการเรียนต่างๆ อย่างนิทาน ยังช่วยพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ของเด็กได้เป็นอย่างดี
สอง – ด้านความพร้อมของครู จำนวนครูปฐมวัยมีไม่เพียงพอต่อจำนวนของเด็ก ซึ่งปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก
ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ในปี 2556-2558 ได้มีการจัดตั้งโครงการโดยนำเอาแนวคิดการสอนแบบทวิ-พหุภาษาเข้าสู่ระบบผลิตครูและพัฒนาครู โดยสร้างหลักสูตรเพื่อพัฒนาครูและนักศึกษาฝึกสอน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถเป็นต้นแบบในการสอนแบบทวิภาษาได้
โครงการเรียนรู้วิธีการเรียนการสอนแบบทวิภาษายังเปิดรับสมัครโรงเรียนในพื้นที่ให้เข้าร่วมเพื่อพัฒนาครูในโรงเรียน โดยมีการจัดอบรมครู เช่น สอนการผลิตสื่อ สอนการทำแผนการสอน และสอนการวัดผลประเมินผล เป็นเวลา 21-22 วัน ทำให้ครูสามารถสอนเด็กที่โรงเรียนของตนเองได้ด้วยระบบทวิภาษา เพื่อให้เด็กเข้าใจภาษาไทยมากขึ้น
สาม – ด้านปัจจัยเกื้อหนุนการจัดการเรียนรู้ โรงเรียนส่วนใหญ่ขาดสื่อการเรียนการสอนที่เอื้อให้พวกเขาเรียนภาษาไทยได้ดีขึ้น ซึ่งสื่อออนไลน์ถือว่ามีบทบาทสำคัญมากในโลกปัจจุบัน เพราะการเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้แก่เด็ก อีกทั้งการมีสื่อเพื่อการเรียนการสอนยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กเกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับครูและเพื่อนๆ อาทิ โรงเรียนบ้านประจันที่นำเอารูปภาพแผนที่ในชุมชนมาประกอบการสอนให้เด็กได้คิดตามว่าสถานที่นี้คืออะไร เอาไว้ทำอะไร เป็นต้น
การจัดการเรียนการสอนที่คำนึงถึงอัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมในท้องถิ่นสามารถช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งหากเด็กมีทักษะทางภาษาที่ถูกต้องจะทำให้พวกเขามีความพร้อมในการเรียนรู้ในระดับต่อไป
อ้างอิง
- งานวิจัยเรื่อง สภาพการจัดประสบการณ์เรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง และแนวทางในการพัฒนาสื่อประสมสองภาษา: กรณีศึกษาจังหวัดนราธิวาส จัดทำโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 2556
- การศึกษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน สร้างโอกาสที่เท่าเทียม ในการเรียนรู้ให้กับเด็กชาติพันธุ์, องค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย, 8 กันยายน 2561
- โรงเรียนทวิภาษา แก้ปัญหาการเรียนของเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, บีบีซีไทย, 12 ตุลาคม 2559
- วิธีการสอนในรูปแบบทวิภาษา ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้, Waeasri Waemaji, 8 พฤศจิกายน 2562