เด็กทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง แต่การวัดผลด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ศักยภาพด้านอื่นถูกละเลย ลองจินตนาการว่าเรามีแว่นขยายที่สามารถมองเห็นศักยภาพรอบด้านของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งมีจุดแข็งในด้านความกล้าหาญ (Courage) และทักษะการล้มแล้วลุกเร็ว (Resilience) แต่ยังขาดด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถออกแบบการเรียนรู้โดยเฉพาะสำหรับเด็กคนนี้ ด้วยการหยิบเรื่องความกล้าหาญของเขามาใช้ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้น

เด็กนักเรียนทั่วโลกที่กำลังอยู่ในระบบการศึกษาขณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นเด็กแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มตัว แม้เราจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 (ปีค.ศ. 2000 – 2099) ได้เพียง 23 ปี แต่โลกได้เผชิญกับความปั่นป่วนครั้งแล้วครั้งเล่าชนิดที่ไม่ให้หยุดพักหายใจ ทั้งเทคโนโลยีดิสรัปชัน ภาวะโลกรวน โรคระบาด และความไม่แน่นอนอีกมากมาย นอกจากความสงสัยว่า เรายังจะต้องเผชิญกับอะไรอีกบ้าง เราควรมาตั้งคำถามกันต่อว่า แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร
ดร.นาธาน โรเบอร์สัน (Nathan Roberson) ในฐานะ Chief Research Officer จาก Beyond Education สตาร์ทอัพด้านการศึกษาจากฝรั่งเศส ได้มาร่วมงานเสวนาวิชาการนานาชาติ เรื่องนวัตกรรมการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ (International Seminar on Pupil Outcomes Assessments) ที่ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดขึ้น โดยมาพร้อมกับเครื่องมือวัดผลสุดล้ำที่มุ่งเน้นเรื่องการผลักดันศักยภาพการเรียนรู้ให้อยู่รอดในศตวรรษที่ 21
ดร.นาธานเล่าถึงจุดเริ่มต้นการผันตัวจากนักวิชาการมาเป็นผู้ประกอบการ EdTech ว่า ตัวเองเป็นทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายการศึกษามาก่อน ในการสอนแต่ละครั้ง นาธานจะทุ่มเทให้กับการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และคาดหวังให้ผู้เรียนได้ประโยชน์สูงสุด แต่เขาพบว่านักเรียนแต่ละคนมีลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน แถมยังถูกท้าทายด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีอีกมากมาย จึงเป็นที่มาของการเริ่มสร้างระบบวัดขีดความสามารถของนักเรียนและโรงเรียน

4 เสาหลัก ที่ต้องมีในศตวรรษที่ 21 คืออะไรบ้าง?
Beyond Education ได้คิดค้นเครื่องคำนวณขีดความสามารถ (Competency Calculator) โดยอ้างอิงจาก Center for Curriculum Redesign (CCR) ด้วยการแบ่งความสำคัญออกเป็น 4 มิติหลัก หนึ่งในเสาหลักคือเรื่อง องค์ความรู้ (Knowledge) ที่ทุกโรงเรียนมีเป็นทุนเดิมและมีการวัดผลอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 3 มิติ ได้แก่ ทักษะ (Skills) ลักษณะนิสัย (Character) และการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Metalearning) ที่มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องวิชาการ แต่ยังขาดการนำมาวิเคราะห์เป็นคะแนนที่น่าเชื่อถือ ในโปรแกรมของ Beyond Education มีการขยายผล 3 มิตินี้ให้กลายเป็น 12 ขีดความสามารถ เช่น การสื่อสาร จริยธรรม ความเป็นผู้นำ เป็นต้น หลังการทำแบบประเมินนี้ เด็กทุกคนจะได้กราฟใยแมงมุมที่เปิดเผยศักยภาพทั้ง 12 ด้านของตนเองออกมา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์จุดแข็ง (Asset Competency) และจุดที่ยังพัฒนาต่อได้ (Improvable Competency) ในรายบุคคลแบบไม่ซ้ำกันเลย
ส่วนในระดับโรงเรียน คุณครูสามารถศึกษาขีดความสามารถของเด็กแต่ละคนภายในห้องเรียนเดียวกัน หรืออาจแบ่งตามเพศ ตามระดับชั้นเพื่อหาความเชื่อมโยง แล้วนำมาออกแบบหลักสูตรให้พัฒนาอย่างตรงจุดมากขึ้น เครื่องมือชิ้นนี้จึงเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนตัวตนรายบุคคล และแผนที่นำทางในการปลดปล่อยศักยภาพของเด็กให้ออกมาอย่างเต็มที่
นอกจากเด็กทั่วไปในช่วงอายุ 10-20 ปีที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับแบบประเมินนี้ เด็กที่อยู่ในกลุ่มด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางก็สามารถใช้โอกาสนี้ค้นหาจุดเด่นเพื่อสร้างความมั่นใจในตัวเอง ท่ามกลางบริบททางสังคมที่บดบังศักยภาพของเด็ก ๆ เหล่านี้อยู่
ปัจจุบัน Beyond Education ทำงานร่วมกับ 6 ประเทศและเขตแดน ได้แก่ ฝรั่งเศส สโลวาเกีย โปรตุเกส บราซิล แอฟริกาใต้ และฮ่องกง โดยเฉพาะประเทศบราซิลมีการทำงานร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายการศึกษาจนสามารถขยายไปกว่าหนึ่งแสนโรงเรียนทั่วประเทศ ขอแค่ในพื้นที่มีอินเตอร์เน็ตให้เข้าถึงข้อมูลได้ โรงเรียนไหนก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ แต่ความท้าทายที่สุดของการพัฒนาแบบประเมินให้เป็นสากลใช้ได้ทั่วโลก คือการแปลชุดคำถามอย่างแม่นยำ และสอดคล้องกับบริบทหรือวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ ไม่สามารถที่จะแปลภาษาอย่างตรงอย่างตรงไปตรงมาได้ ในขณะนี้ Beyond Education จึงมีเพียง 3 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และโปรตุเกส อย่างไรก็ตาม ดร.นาธานแย้มว่า ยินดีร่วมงานกับสตาร์ทอัพด้านการศึกษาไทย เพื่อรับคำแนะนำจากคนท้องถิ่นอย่างแท้จริงด้วย