“เด็กคนนี้หาดีไม่ได้”
เราอาจเคยได้ยินประโยคนี้จากใครสักคน ไม่พ่อก็แม่ ไม่แม่ก็ครู หรือจากคนรอบข้าง
ประโยคนี้ไม่เป็นความจริง สำหรับ อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ และในทันที เขาจะตอบกลับด้วยประโยคที่ว่า “เด็กคนนี้หาดีได้แน่นอน” พร้อมๆ กับการยื่นเครื่องมือที่เรียกว่า ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ ให้กับคนตรงหน้า เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าคนทุกคนล้วนมีจุดแข็งและด้านสว่างในตนเอง เพียงแต่เราอยู่ในสังคมที่ไม่ได้หยิบยื่นพื้นที่ทางโอกาสและเครื่องมือที่เพียงพอให้มนุษย์ได้มองเห็นสิ่งเหล่านั้น
แล้วจิตวิทยาเชิงบวกคืออะไร?
หากจิตวิทยากระแสหลัก คือการ Focus on what’s wrong หรือการเข้าไปเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์เชิงลบของมนุษย์ เพื่อทำให้ภาวะที่ไม่ปกติกลับมาสู่ภาวะปกติ จิตวิทยาเชิงบวกจะมองหาสิ่งที่เรียกว่า What’s work หรือสิ่งที่ยังทำงานได้ดีในตัวคนที่อยู่ตรงหน้า แล้วทำงานกับสิ่งนั้นเพื่อให้เขาแข็งแรง สามารถใช้จุดแข็งของตัวเองมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งรู้จักกับความหมายและคุณค่าของตัวเอง
อรุณฉัตรนำหลักการของจิตวิทยาเชิงบวกมาประยุกต์เป็นนวัตกรรมเพื่อทำงานร่วมกับโรงเรียนและครอบครัว ไปจนถึงการทำงานฟื้นฟูด้านจิตใจแก่กลุ่มคนที่เป็นเหยื่อ และกลุ่มที่เป็นผู้กระทำ ให้เขาเหล่านั้นสามารถมีเครื่องมือในการใช้ชีวิต ผ่านการเป็นผู้บริหารองค์กรที่ชื่อว่า Life Education Thailand
ในอีกบทบาท เขาคือผู้บริหารบริษัท Mindset Maker เน้นการสร้าง Growth Mindset (กรอบความคิดแบบเติบโตที่เชื่อว่าสมองของมนุษย์ทุกคนพัฒนาได้ผ่านการเรียนรู้) ให้กับเด็ก ครู ครอบครัว ผ่านเครื่องมือที่เป็น interactive ในห้องเรียน เพื่อให้ครูมีตัวช่วยในการทำงานสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจของเด็ก บนพื้นฐานของจิตวิทยาเชิงบวก
โดยการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหานั้น ต้องทำคู่ขนานไปกับการเรียกร้องเชิงนโยบายจากภาครัฐ ท่ามกลางบรรยากาศที่บทสนทนาว่าด้วยความฝันในอนาคตถูกแทนที่ด้วยการเอาตัวให้รอดในระบบที่เหลื่อมล้ำต่ำสูง
และนี่คือทั้งหมดที่เรากำลังจะสนทนากันถัดจากนี้
ในหลายๆ กรณี สังคมมักมองเด็กที่กระทำความผิดในมิติความเลวร้ายแบบปัจเจก คำถามคือ มีปัญหาร่วมทางสังคมใดผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้เดินทางสู่พื้นที่เสี่ยงต่างๆ
ผมรู้สึกว่า เราขาดพื้นที่ชีวิตประจำวันที่จะสร้างความสุขให้กับเด็กได้อย่างเพียงพอ เพราะการที่เราจะเติบโตในแต่ละช่วงอายุ จำเป็นต้องถูกเติมเต็มบางอย่าง เช่น เติมเต็มประสบการณ์ เติมเต็มความฝัน เติมเต็มโอกาส แต่ว่าการเติมเต็มเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวมันเอง มันต้องถูกดีไซน์จากรัฐ เมืองต่างๆ ต้องถูกออกแบบมาให้เด็กมีพื้นที่ใช้ชีวิต ยิ่งเด็กอยู่ห่างไกลโอกาสเท่าไหร่ เขาก็จะไม่รู้ว่าจะสร้างความสุขให้ตัวเองยังไง
ปัญหาร่วมที่เห็นชัดที่สุดเรื่องหนึ่งคือ การที่เด็กไม่รู้ว่าตัวเองมีงานอดิเรกอะไร ไม่รู้ว่าความสุขของตัวเองสร้างจากอะไรได้บ้าง พอไม่รู้ เขาก็ใช้ชีวิตไปกับการทดลอง และสำรวจว่าอะไรบ้างที่ทำแล้วสามารถสร้างตัวตนให้ถูกมองเห็นได้ เพราะความสุขของเขาไม่ได้ถูกเรียนรู้ผ่านวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานอดิเรกในโรงเรียน ไม่ว่าจะดนตรี ศิลปะ การเพิ่มทักษะสังคมก็น้อยลงและกลายเป็นแพทเทิร์น เป็นระเบียบไปหมด ไม่ได้มีการจินตนาการ หรือการทำให้กีฬาเป็นการแข่งขันแทนที่จะเป็นการออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบย่อยๆ ที่ผสมกันแล้วสร้างความหนักหน่วงให้กับเด็ก
ทำไมเด็กยุคปัจจุบันจึงจินตนาการถึงการสร้างความสุขให้ตัวเองได้ยากขนาดนี้
คำถามคือ เรามีพื้นที่ให้คนมีความสุขร่วมกันตรงไหนได้บ้าง มีกิจกรรมตรงไหนบ้าง ห้องสมุดที่เป็นมิตรกับเด็กและผู้คนอยู่ตรงไหนบ้าง เรามีอาคารสวยๆ ที่คนเข้าถึงได้ยากเหรอ มันควรจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า หรือมันควรจะอยู่ทุกหมู่บ้าน ทุกพื้นที่ เรามีบุคลากรที่เล่นกับเด็ก ชวนคุย หรือมีเครื่องมือเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กันและกันหรือเปล่า ซึ่งคำตอบ ณ ปัจจุบันคือมีน้อยมาก คนที่จะเข้าถึงความสุขในปัจจุบันต้องใช้เงิน ไปห้างครั้งหนึ่ง ก็แค่ไปเล่นเกม ขนาดจะวิ่งยังต้องเสียเงินเลย เราควรจะทำให้ความสุขของประเทศนี้เป็นความปกติให้ได้ เด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี จะได้ไม่ต้องไปหาความสุขจากสิ่งอื่นที่ไม่ปกติ
‘การโอบอุ้มเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่ดี จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาอย่างแข็งแรง’ ประโยคเหล่านี้ในทางปฏิบัติแล้ว สามารถเป็นจริงได้ไหม ภายใต้บริบททางสังคมและระบบการศึกษาที่มีเงื่อนไขมากมาย
คนเรามีวิธีการจัดลำดับความสำคัญไม่เหมือนกัน ประเด็นคือว่า เรามีวิธีการในการชวนให้คนในสังคมมาร่วมจัดลำดับความสำคัญกับเด็กและความสัมพันธ์ในครอบครัวได้มากน้อยขนาดไหน วิธีการชวนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เรามีการถ่ายทอดไหม คุยกับลูกแบบไหนได้บ้าง มีการออกแบบไหมว่าพ่อแม่จะเข้าถึงวิธีการเลี้ยงลูกที่ดีต้องทำยังไง ถ้าในด้านสาธารณสุขเรามีเช็คลิสต์หมดเลยนะ ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ต้องไปฉีดวัคซีนตามเวลา ต้องเข้ามาเช็คอัพกับหมอต่างๆ แต่ในแง่ของการส่งเสริมทางด้านสุขภาพจิต เราแทบไม่มี
เราไม่มี parenting guide box (กล่องคู่มือการเลี้ยงลูก) ให้กับคนที่กำลังจะเป็นพ่อแม่ ซึ่งในหลายประเทศมี ถ้าใครจะเป็นพ่อแม่ปั๊บ เข้ามาเลย ไม่ต้องเสียเงินสักบาท เขามีกระบวนการเรียนรู้ให้ว่าจะเลี้ยงลูกในแต่ละช่วงวัยยังไง เป็นบริการของรัฐ
ก่อนที่พ่อแม่จะรู้ เราอาจคิดว่า อันนั้นพอทำได้แหละ เด็กไม่ได้เรียกร้องอะไรก็ปล่อยมันไป แต่พอเรารู้แล้วเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เรามักจะมองปัญหาที่ดูเป็นเรื่องใหญ่มาก เช่น พ่อแม่อาจจะไม่มีเวลา หาเช้ากินค่ำ แต่จริงๆ แล้วเขาอาจจะจัดเวลาได้ก็ได้ ถ้าเขารู้ว่าเรื่องนั้นสำคัญ ประเด็นคือทำยังไงให้เขารู้ เราทำอย่างเต็มที่หรือยังเพื่อให้เขารู้ แล้วเราสนับสนุนการรู้ของเขาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหน เช่น พอเขารู้แล้ว เขามีตัวช่วยไหม มีอะไรที่พอจะหยิบจับไปใช้ได้บ้างโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน
ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยว่า มีความเป็นไปได้ใดบ้างที่จะช่วยให้พ่อแม่และครูมีเครื่องมือในการดูแลเด็กคนหนึ่ง
ผมเคยทำโปรเจ็คต์กับโรงเรียนแห่งหนึ่ง เป็นวันจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก แล้วเด็กเขาเลือกการ์ดใบหนึ่งที่เขียนว่า ‘ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน’ เพื่อสะท้อนว่าเขาเหงา โดดเดี่ยวมาก ในวันนั้นแม่ของเด็กบอกว่า ทุกๆ วันเขาจะอยู่คลองเตย ส่วนลูกอยู่ที่รามอินทรา เจอลูกเดือนละไม่กี่ครั้ง โดยที่เขาคิดว่าไม่เป็นไร เพราะลูกก็ยังไปโรงเรียนได้ ยังโทรคุยกันบ่อยๆ ได้ แต่ในวันนั้น ลูกสะท้อนว่ารู้สึกว่าเหงา อยากมีกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่ หลังจากได้ยินคำพูดนั้นของลูก แม่เขาตัดสินใจเลยว่าจะมาทำกิจกรรมร่วมกับลูกบ่อยขึ้น แม่พูด ณ ตรงนั้นเลย ซึ่งเราในฐานะคนจัดกิจกรรมไม่ได้เรียกร้องว่าพ่อแม่ต้องทำอะไรบ้าง แต่เขารู้ว่าลูกมีความต้องการอยากจะทำอะไร เขาก็อยากจะทำสิ่งนั้นให้ดี เพราะพ่อแม่มีทุนความรักมหาศาลกับลูกอยู่แล้วโดยส่วนใหญ่
ประเด็นคือเราจะทำยังไงให้เขาได้เรียนรู้ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่บางคนที่อาจมีต้นทุนไม่ค่อยดีนักในด้านความรู้สึก การจัดการตัวเอง หรือการจัดการอารมณ์ การที่ทำให้เขาได้ถูกเรียนรู้เรื่องแบบนี้บ่อยๆ ก็อาจทำให้เขาจัดการตัวเองได้ดีขึ้น ไม่ไปทำความรุนแรงกับคนในครอบครัว หรือตอกย้ำบาดแผลของลูก
สิ่งเหล่านี้ผมว่ามันเป็นการตั้งคำถามแบบไก่กับไข่อะไรควรเกิดก่อนอะไร เราควรจะทำให้สังคมมีพื้นที่ของโอกาสเพียงพอก่อน หรือควรพัฒนามนุษย์ไปเลยเพื่อให้มนุษย์ช่วยกันพัฒนาตัวเอง คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูป แต่ทั้งสองทางควรทำอย่างจริงจังไปพร้อมๆ กัน อะไรที่ทำได้ก็ทำเลย เช่น ณ วันนี้เรารู้แล้วว่าการสื่อสารในครอบครัวมีปัญหา หรือการที่ครูไม่มีเครื่องมือช่วยเด็กจนทำให้เขาหลุดออกจากระบบมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้มันแก้ได้ ทำตรงนี้ก่อน ส่วนเรื่องเมืองและรัฐที่ไม่มีโอกาสให้ประชาชน และไม่มีพื้นที่สร้างสรรค์เพียงพอ เราก็เรียกร้องอีกขาหนึ่ง ขนาบกันไป แต่ว่าเราจะเรียกร้องอย่างเดียวโดยที่ไม่สร้างนวัตกรรมเลยก็ไม่ได้
การที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามต้องสร้างด้วยนวัตกรรม เราจะไม่มีการสื่อสารที่เร็วขนาดนี้เลยถ้าไม่มีคนทุ่มสร้างอินเทอร์เน็ตขึ้นมา นี่คือเหตุผลว่าเราอยากจะโฟกัสให้มีนวัตกรรมออกมามากที่สุด มีกระบวนการทางปัญญาที่จะส่งต่อให้สังคมมากที่สุดเท่าที่เราจะทำไหว แล้วให้สังคมได้หยิบเอาไปใช้ในบริบทที่เข้ากับตัวเอง นี่คือเจตนารมณ์ของพวกเรา
การใช้จิตวิทยาเชิงบวกเข้าไปทำงานกับโรงเรียนและครอบครัว ตลอดจนการฟื้นฟูจิตใจเด็กผู้กระทำความผิด สำคัญอย่างไร
ผมอยากลองชวนให้คิดอย่างนี้ว่า จินตนการว่าหากเราเป็นพ่อแม่ จะมีสักกี่ครั้งที่ได้รับสายจากครูแล้วเรารู้สึกดี น้อยนะ เป็นไปได้ยากมาก ครูโทรมาหาที่บ้านส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องราวที่ซีเรียส ทั้งๆ ที่กระบวนการทำงานร่วมกันเป็นเรื่องจำเป็น แล้วอยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาเลยว่าครูกับครอบครัวคือทีมเดียวกัน ในการช่วยให้เด็กเติบโตและเรียนรู้ ทั้งด้านของชีวิตด้านของการเรียนรู้ตามบทเรียนต่างๆ แล้วทำไมมันถึงไม่เกิด เหตุผลที่ยังไม่เกิดเพราะเรายังไม่มี How to ให้ครูเลย ส่วนหนึ่งในประเทศนี้คือเราไม่ได้เตรียมการสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับกระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งพอเราไม่สามารถสร้างกระบวนการที่เหมาะสม แน่นอนว่าวงกลมสองวง มันก็แยกขาดจากกัน โดยที่ทุกอย่างมันยุติที่รั้วของโรงเรียน เวลาผู้ปกครองมาส่งลูกก็จบที่รั้ว ที่เหลือคือหน้าที่ครู เวลาครูส่งเด็กออกที่รั้ว ก็คือจบหน้าที่ครู แล้วช่วงโควิดเป็นไงครับ?
ในช่วงโควิด เรามักเห็นอาการของพ่อแม่ที่รับมือไม่ถูกเมื่อลูกอยู่บ้านตลอดเวลา
ใช่ครับ ตามหลักการแล้วมันคือพื้นที่วงกลมสองวงที่ต้องทับซ้อนกัน ซึ่งในสังคมไทยยังไม่ถูกออกแบบว่าครูจะสามารถเอื้อมมือไปสู่ที่บ้านได้ระดับไหน แล้วครอบครัวจะสามารถเอื้อมมือเข้ามาในโรงเรียนได้ระดับไหน แล้วการเอื้อมมือไปหากันและกัน ครูจะช่วยอะไรพ่อแม่ให้ทำงานกับที่บ้านได้มากขึ้น แล้วพ่อแม่จะช่วยอะไรกับครูให้ทำงานกับที่โรงเรียนได้มากขึ้น ผมว่าสิ่งที่เหล่านี้ยังไม่ได้ถูกออกแบบ กระทั่งบทในการพูดคุยกัน ครูจะแจ้งข่าวดีของลูกให้กับพ่อแม่ฟัง ครูมีวิธีการแจ้งไหม เราไม่เคยถูกสอนแม้กระทั่งในคณะครุศาสตร์ นี่คือระดับโครงสร้างเลย
คณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ คือการสร้างครูของประเทศ แต่ว่าไม่มีการออกแบบว่าครูกับครอบครัวของเด็กจะทำงานร่วมกันยังไงอยู่ในบทเรียนอย่างชัดเจน ไม่มี Tool ที่ Practical ให้สามารถใช้งานได้ง่าย เอาไปชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ที่ไม่ใช่ทฤษฎีจิตวิทยาที่สั่นกระดิ่งแล้วหมาน้ำลายไหล
ตอนผมไปบรรยายเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก มีครูคนหนึ่งบอกกับผมว่า ‘ก่อนหน้านี้ที่เรียนครูมา สิ่งที่จำได้มากที่สุดคือการสั่นกระดิ่งแล้วหมาน้ำลายไหล’ โดยที่ครูก็ยังจำไม่ได้เลยว่าการสั่นกระดิ่งเกี่ยวอะไรกับเด็ก พอถึงวันที่ครูต้องลงสนามจริง ครูไม่มีเครื่องมือ ไม่สามารถทำงานร่วมกับครอบครัวได้ นี่เป็นปัญหาใหญ่ ครูไม่รู้ว่าเด็กเจออะไรมาบ้างที่บ้าน แล้วก็กว่าครูจะรู้ก็อาจเป็นวันที่เด็กมีบาดแผลเต็มตัวแล้ว ครูไม่สามารถทำงานเชิงป้องกันได้อีกต่อไป ครูต้องมานั่งปวดหัวว่าจะทำยังไงให้เด็กรอด เด็กคนนี้ไม่ได้คุยกับพ่อแม่มาเลยหรือโดนพ่อแม่ทำร้าย หรือคนที่บ้านทำอะไรมาต่างๆ ครูไม่รู้เลย มารู้ในวันที่เด็กใกล้จะไม่รอดแล้ว จะเอื้อมมือไปจับไปช่วยก็ยาก
เด็กจำนวนมากต้องเติบโตมาในพื้นที่เสี่ยง สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พวกเขาทดลองกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย หรือนำไปสู่การกระทำความผิด คำถามคือในวันนี้เราทำอะไรได้บ้าง หากเราเป็นพ่อแม่ ครูในโรงเรียน หรือคนในชุมชนของเด็กเหล่านั้น
เราเห็นเด็กที่ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นเติบโตมาหลายรูปแบบ บางคนก็รอด บางคนก็ไม่รอด หากเราไปถามว่าคนที่รอดส่วนใหญ่เขามีบริบทของการรอดยังไง สิ่งหนึ่งที่ค้นพบคือ เขามีคนคุยด้วย มีคนปรึกษาหารือด้วย มีคนแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกของเขา สมมุติเขาเจอคนขายยาเสพติดตรงหน้าซึ่งเป็นเพื่อนเขาด้วย เขาก็อาจจะไม่ไปขายยาหรือไม่ไปเสพยา ถ้าเขามีอีกคนหนึ่งที่คุยกับเขาว่า “เฮ้ย การขายยาไม่ใช่ทางรอดอีกทางของเรานะ” เขาก็จะกำกับตัวเองได้มากขึ้น
ผมว่าสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นทางรอด เราสามารถจะทำให้คนกำกับตัวเองได้ เราเชื่อใน free will (เจตจำนงเสรี) ของคนว่า เขามีสิทธิ์ที่จะทำหรือไม่ทำอะไร เขามีความสามารถเพียงพอที่จะทำหรือไม่ทำอะไร เราต้องเชื่อตรงนี้ให้ได้ก่อน แล้วใส่วิธีการทั้งหมดที่จะเพิ่มโอกาสการรอดให้เขาไป แน่นอนว่าเราย้ายบ้านให้เขาไม่ได้ แต่เราเพิ่มพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนในครอบครัวให้เขาได้ อันนี้ผมว่าน่าจะเป็นทางรอดหนึ่งที่สำคัญ แต่แน่นอนว่ามันก็มีแรงกระตุ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่กระบวนการของรัฐยังไม่สามารถจัดการกับพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างเป็นระบบ
พูดได้ไหมว่า ท้ายที่สุดเราก็ต้องเรียกร้องจากรัฐบาล ในฐานะผู้มีหน้าที่กระจายทรัพยากรและมีงบประมาณอยู่ในมือ
ใช่ครับ สุดท้ายเราต้องดูว่า ปัจจัยของรัฐจะต้องมาสนับสนุนการพัฒนาสังคมยังไง อันนี้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าข้อเสนอเราเป็นข้อเสนอที่ใช่ ต้องพิสูจน์กันก่อน ผมว่าเรื่องนี้สำคัญ การทำให้เกิดหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสิ่งนี้มันใช่ แล้วเราก็ขยับขับเคลื่อนไป เพื่อให้เห็นว่าสิ่งนี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้นะ มาร่วมมือกัน แล้วรัฐกับประชาชนไม่ควรจะถูกแยกส่วนกันขนาดนี้
ในประเด็นของความเหลื่อมล้ำที่ผลักเด็กจำนวนมากออกจากระบบการศึกษา สู่พื้นที่เสี่ยงต่างๆ มีเครื่องมือใดหรือกระบวนการใดบ้างที่ถูกพิสูจน์แล้วว่ามันเวิร์ค ทั้งในแง่การป้องกัน และการแก้ไขซ่อมแซม
มันสามารถพิสูจน์ได้ 2 ส่วน ส่วนแรกก็คือ กระบวนการที่บ้านกาญจนาภิเษกทำ เราสามารถถอดบทเรียนออกมาแล้วอธิบายด้วยจิตวิทยาเชิงบวกได้เกือบทุกข้อ นี่คือในคอนเซ็ปต์ที่ป้ามล (ทิชา ณ นคร) พยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยกับเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกว่า ฉันยังเติบโตได้ ยังสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ แล้วเขาจะมองเห็นคุณค่าและความหมายในตัวตนของแต่ละคนที่มีความเหมือนและต่างกัน และในความเหมือนและต่างกัน เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันยังไงได้บ้าง สิ่งเหล่านี้ถูกพิสูจน์ในบ้านกาญจนาฯ และถูกพิสูจน์มาได้สิบกว่าปีแล้ว นั่นทำให้อัตราการทำความผิดซ้ำของเด็กในบ้านกาญจนาฯ ลดต่ำลงเรื่อยๆ สวนทางกับสังคมกระแสหลักที่เด็กทำความผิดมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวยืนยันว่าการทำกิจกรรมที่อยู่บนฐานคิดของจิตวิทยาเชิงบวก ก็คือการ ‘Focus on what’s work’ หรือการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ยังพอทำงานได้ดีในตัวคน การเชื่อว่าคนทุกคนมีแสงสว่างในตัวเอง การทำงานด้วยฐานคิดแบบนี้มันเวิร์คกับกลุ่มคนที่เป็นผู้กระทำ
ส่วนที่สองคือ เราทำงานกับโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนสามารถเอื้อมมือไปถึงครอบครัวได้ กลุ่มนี้เราพิสูจน์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างเยอะ ทั้งหมด 12 โรงเรียน ซึ่งใน 12 โรงเรียน มีถึง 9 โรงเรียนที่พยายามปรับเปลี่ยนการทำงานกับครอบครัวโดยที่เราไม่ต้องให้ทุนสนับสนุนด้วยซ้ำ เพราะเมื่อครูเขารู้ว่าฉันทำอะไรได้ดีขึ้นมากกว่านี้ และเกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งกับตัวเอง กับเด็ก และกับครอบครัวของเด็ก เขาก็จะมีพลังงานที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเขาเอง ในแบบของเขาเอง โดยที่ไม่ต้องไปออกแบบหรือกะเกณฑ์ให้เขา
ขยายความหน่อยว่า การทำงานกับโรงเรียนมีกระบวนการอย่างไรบ้างที่ทำให้ครูมีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขของระบบการศึกษาที่บีบรัดด้วยภาระงาน
วิธีการที่เราทำงานกับโรงเรียนและครอบครัว คือการให้เขาได้เรียนรู้ว่าจิตวิทยาเชิงบวกคืออะไร ให้เขามีแบบฝึกหัดกับตัวเองก่อน โดยใช้ 3 ขั้นตอนหลักๆ
ขั้นตอนที่หนึ่ง ปรับมุมมอง จากเดิมที่ทุกอย่างดูแข็งตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ให้เป็นมุมมองที่เติบโตได้ พัฒนาได้ มุมมองจากเดิมที่เขามองเห็นเด็กแล้วไม่รู้จะเรียกข้อดีของเด็กด้วยคำว่าอะไร เราอาจจะเคยได้ยินครูพูดว่า “เด็กคนนี้หาดีไม่ค่อยได้” ซึ่งเราก็จะบอกครูว่า หาดีได้แน่นอน มาเรียกข้อดีของเขากันเถอะ ด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยาเชิงบวกมันมีชุดคำศัพท์ที่จะทำให้เขาสามารถปรับมุมมองเพื่อมองหาแสงสว่างของเด็กเจอ
เช่นอะไรบ้าง
เรามีคำศัพท์ในกลุ่มของ Character Strengths 24 อุปนิสัยที่เป็นจุดแข็ง ใน 24 คำนี้จะแบ่งออกเป็น 6 หมวด และมีรายละเอียดที่สามารถไปแมตช์กับเด็ก ไม่ว่าเขาจะมีพฤติกรรมไม่ดีเรื่องอะไรก็ตาม เราจะสามารถเจอข้อดีของเขา 1 ใน 24 หรืออาจจะมากกว่า 1 เมื่อครูมีชุดในการมองแบบนี้ จะทำให้ครูมีหลักยึดว่า “เอ้อ เด็กคนนี้ไม่ใช่ว่ามันไม่มีดีเลย แต่ความดีของเขายังไม่ถูกส่งเสริมอย่างถูกที่ถูกเวลา” เพราะฉะนั้น นี่คือขั้นตอนแรกที่เราทำงาน
ขั้นตอนที่สอง คือการเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร มีการอบรมเกี่ยวกับเรื่องของ I message You message หรือแม้กระทั่งการใช้ชุดคำศัพท์ใน Character Strengths ในการที่จะทำให้เขามีวิธีการสื่อสารแบบใหม่ สมมุติจะชมเด็ก ก็เปลี่ยนจากการชมลอยๆ ว่า “เธอดีจังเลย” เปลี่ยนเป็น “ครูชื่นชอบความกล้าหาญของเธอ ชื่นชอบในความพยายามของเธอ” มันมีคำศัพท์บางอย่างที่เพิ่มต้นทุนและเด็กก็เข้าใจด้วยว่าครูต้องการสื่อสารอะไร คือไม่ได้สื่อสารไปที่ผลลัพธ์ แต่สื่อสารไปที่ process ซึ่งพอเกิดอย่างนี้บ่อยขึ้น วัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันระหว่างครูกับเด็กก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลง ครูกับครอบครัวก็เช่นกัน เพราะเวลาที่มุมมองเปลี่ยน การสื่อสารเปลี่ยน การปฏิสัมพันธ์ก็จะเปลี่ยนตาม
ขั้นตอนสุดท้ายคือ การปลูกกิจกรรม เช่น ที่เชียงรายเราทำเรื่อง Home Hug จากเดิมวันพบผู้ปกครองคือผู้ปกครองต้องมาที่โรงเรียน เปลี่ยนเป็นขนครูไปตามหมู่บ้าน มารวมตัวกันในงาน แลกเปลี่ยน กินข้าว พูดคุยเรื่องเล็กๆ ในบ้านกัน มาทายใจกัน โดยที่มีเด็กมาเป็นคนโชว์ และพ่อแม่ก็ทำกับข้าวเข้ามาในงานด้วย
สิ่งเหล่านี้เป็นสามขั้นตอนที่เราได้ใช้คือ ‘ปรับ เปลี่ยน ปลูก’ โดยเราค้นพบ 3 เรื่องที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนจิตวิทยาเชิงบวก อันแรกก็คือ Growth Mindset เป็นปัจจัยแรกเลยที่ผมคิดว่าจำเป็นมากๆ หากเราจะทำงานกับผู้คนให้เขาเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในชีวิต ทำยังไงให้เขารู้สึกว่าความไม่สมบูรณ์เป็นสิ่งที่เขาเจอได้และเรียนรู้กับมันได้ ความไม่เปลี่ยนแปลงไม่มีอยู่จริง ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงเติบโตได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ในกระบวนการที่เหมาะสม ความเชื่อแบบนี้จำเป็นที่จะต้องถูกถ่ายทอด เรื่องที่สองคือ การ Mastery of Self คือการจัดการตัวเองทั้งด้านอารมณ์ ร่างกาย ความคิด เรื่องที่สามก็คือ Strength of Character คือความเข้าใจว่าแต่ละคนมีจุดดีอะไร มีคุณค่าอะไรทั้งตัวเองและคนรอบข้าง เพราะฉะนั้น Growth Mindset, Mastery of Self, Strength of Character สามปัจจัยนี้ถือเป็นหลักยึดสำคัญในการขับเคลื่อนคนทุกกลุ่มเป้าหมายไปสู่การเปลี่ยนแปลง นี่คือข้อค้นพบจากงานที่เราทำมาตลอด 3 ปี
นอกจากเด็ก ครู และสังคมแล้ว รัฐเองจำเป็นต้องมี Growth Mindset ไหม
รัฐที่ไม่มี Growth Mindset คือรัฐที่พัฒนาไม่เป็น รัฐที่ไม่มี Growth Mindset คือรัฐที่ไม่เชื่อในผู้คนว่าสามารถเติบโตได้ ผู้คนที่สามารถเรียนรู้จากความล้มเหลวได้ และรัฐที่ไม่มี Growth Mindset คือรัฐที่ไม่เคารพประวัติศาสตร์
การลงทุนเพื่อการศึกษาจะป้องกันเด็กไม่ให้ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างไร
ผมขอแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ การลงทุนกับโรงเรียน และการลงทุนสำหรับการเรียนรู้
หนึ่ง – การลงทุนเพื่อให้เด็กมาอยู่ในโรงเรียน เป็นเหมือนการซื้อเวลาช่วงที่เด็กกำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งกระบวนการเติบโของมนุษย์นั้นแน่นอนว่าสมองส่วนอารมณ์ทำงานค่อนข้างมากในช่วงวัยรุ่น เขาต้องการเวลาในการฟอร์มบุคลิกภาพของตัวเอง ฟอร์มการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม การมีโรงเรียนเพื่อให้เด็กเข้าไปอยู่ในนั้น คือการให้เด็กได้มาลองถูกลองผิด ลองใช้ชีวิตร่วมกันภายใต้กติกาเดียวกัน ลองคิด ลองคุย ลองแก้ปัญหา เมื่อทะเลาะกันก็จะมีคนกลางอย่างครูหรือเพื่อนในห้อง เรียกว่ามีระบบทางสังคมมาช่วยดูแลได้ สภาพแบบนี้เป็นเหมือนเกราะชั้นที่ 1 ในการช่วยให้เด็กไม่ไปกระทำความผิดที่รุนแรงหรือเกินขอบเขตมากเกินไป เพราะมีสังคมที่คอยช่วยเป็นเหมือนเส้นโยงใยให้เขามีจุดเกาะเกี่ยวได้
สอง – การลงทุนกับการเรียนรู้ของเด็ก หรือกระบวนการคิดและเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง เมื่อเด็กมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเขา เขาจะไม่ได้มองผ่านเเว่นตาเดียว แต่จะมองผ่านหลายๆ แว่น เมื่อเขาต้องตัดสินใจอะไรก็ตาม กรอบความคิดก็จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น การลงทุนกับกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เด็กได้ฝึกคิด ฝึกพูดคุยและแสดงความคิดเห็นในรูปแบบที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย จะช่วยทำให้โอกาสที่เขาจะก้าวพลาดหรือแสดงออกในเชิงรุนแรงลดน้อยลง
จินตนาการง่ายๆ เวลาที่เราเล่นกับเด็กทารก เขาจะรู้สึกหงุดหงิดง่ายมากเมื่อเราไม่เข้าใจเขา แล้วเวลาที่เขาจะสื่อสารความหงุดหงิดนั้น ก็จะตะโกน ร้องไห้ เช่นเดียวกันกับวัยรุ่นหรือวัยอื่นๆ เมื่อใดก็ตามที่เราสื่อสารแล้วคนตรงหน้าไม่เข้าใจ แน่นอนว่าการแสดงออกซึ่งความรุนแรงมันจะมากขึ้น แต่หากเรามีกระบวนการสร้างพื้นที่ให้เด็กได้สะท้อนคิดกับตัวเอง ได้แลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่นอย่างต่อเนื่อง ทุนทางความคิดและคำศัพท์ในการสื่อสารเพื่อให้คนตรงหน้าเข้าใจจะมากขึ้น แล้วมันจะเป็นเกราะให้เขาไม่ต้องไปตะโกนใส่ใคร ทำร้ายใคร หรือเหยียบย่ำใคร
การลงทุนกับโรงเรียนและการเรียนรู้ ต้องลงทุนแค่ไหนจึงจะเพียงพอ
ในมิติของโรงเรียน เราต้องไม่ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปิด ส่วนจะลงทุนแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพแต่ละพื้นที่ด้วย ทำอย่างไรไม่ให้รั้วโรงเรียนแข็งแรงจนกีดกันเด็กออกจากการศึกษาเร็วเกินไป แล้วมีพื้นที่เปิดให้เด็กที่ขาดที่พึ่งในช่วงเสาร์อาทิตย์หรือช่วงปิดเทอม ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการ learning lose ให้พวกเขาได้เข้ามาใช้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เรียกร้องการสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐพอสมควร เพื่อทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่เพื่อการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขโมยเวลาของเด็กจากเดิมที่ต้องใช้ไปกับสิ่งอื่น ให้มาอยู่ในพื้นที่ตรงนี้แทนได้
ส่วนการลงทุนในมิติการเรียนรู้ ปัจจุบันผมมองว่ายังขาดการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพื้นที่ให้มากเพียงพอ ถามว่าต้องมากขนาดไหน อันนี้ตอบยากมาก แต่จำเป็นต้องเริ่มชวนองค์กรต่างๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาสนับสนุนโครงการในลักษณะกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่มากขึ้น และต้องไม่ใช่กระบวนการแบบ one size fits all แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ที่สามารถสอดรับไปกับสภาพการใช้ชีวิตของเด็กในแต่ละพื้นที่ได้
ตัวอย่างเช่น หากเราชวนเด็กภาคเหนือคุย เราต้องชวนคุยด้วยชุดภาษาและความเข้าใจของคนเหนือ หากเราจะยกเหตุการณ์มาเป็นต้นแบบ ก็ต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้บ้านเขา เราจำเป็นต้องออกแบบกระบวนการตามบริบทพื้นที่ ฉะนั้น ทำอย่างไรให้กระบวนการสร้างการเรียนรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยกระทรวงศึกษาธิการ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอื่นๆ สามารถเป็นผู้เล่นหลักได้ โดยมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยสนับสนุนให้ท้องถิ่นทำงานเรื่องนี้ได้ดีขึ้น
จิตวิทยาเชิงบวกจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร
กำลังใจในการเรียนรู้มันมีพลังมากนะ พลังที่จะทำให้เด็กยากจนหรือขาดแคลนมากๆ มีกำลังใจในการเดินต่อ ซึ่งจิตวิทยาเชิงบวกจะทำงานกับจุดแข็งในตัวของมนุษย์โดยตรง ทำให้มนุษย์รู้สึกถึงคุณค่าของตนเองที่เติบโตได้ หากเด็กๆ เกิดความรู้สึกเหล่านี้ ต่อให้ชีวิตยากขนาดไหน เขาก็จะสู้ เขามีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิตตัวเอง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นโดยนิเวศรอบตัวของเขาในการที่จะใส่กระบวนการ ใส่บทสนทนา ใส่เครื่องมือทางความคิดลงไป สิ่งเหล่านี้คือจิตวิทยาเชิงบวกครับ
เราคงไม่สามารถหาครูคุณภาพสูงสุดๆ ไปอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศได้ในตอนนี้ แต่เราสามารถหาครูที่มีวิธีคิดในการสร้างกำลังทางใจให้เด็ก ครูที่มีวิธีการสร้างพลังให้เด็ก แบบนี้ผมว่าหาได้ สร้างได้ และลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะตราบใดที่เด็กมีกำลังใจเติบโต มีครูที่มีพลังเสริมเด็ก ยิ่งเรามีดิจิทัลแพลตฟอร์ม ครูและเด็กอยู่ในทีมเดียวกัน มีแพลตฟอร์มเข้ามาช่วย ผมว่าไม่น่ายากเกินไป แต่ครูต้องรู้ก่อนว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กไว้ใจและรู้สึกว่าตนมีคุณค่าพอ ไม่ว่าเขาจะผิดพลาดขนาดไหน เขาจะรู้ว่าทุกประสบการณ์สร้างการเรียนรู้ให้กับเขาได้
ทุกเรื่องที่เราคุยกันตั้งแต่ต้น คุณมองว่าความวิกฤติและเร่งด่วนของปัญหาอยู่ในระดับไหน
ผมมองด้วยสายตาของพ่อที่กำลังมีลูกอายุ 1 ขวบนะ ผมยังมองไม่เห็นว่าลูกจะเติบโตอย่างมีความสุขและมีความหวังได้ยังไง ถ้าเขาไม่มีพ่อแม่แบบพวกเรา
หมายถึงว่าถ้าเราปล่อยเขาออกไปสู่สังคม ผมยังมองไม่เห็นตรงนั้น ถ้าถามว่าเร่งด่วนไหม เร่งด่วนแน่ๆ เพราะในสายตาของคนเป็นพ่อคนหนึ่ง ผมรู้สึกเป็นห่วงว่าลูกผมจะโตมาในสังคมที่หดหู่ขนาดนี้ได้ยังไง ในสังคมที่เราไม่มีเรื่องความฝันคุยกันในวงเพื่อน เมื่อก่อนเรายังเคยมีวงสนทนาในการคุยกันว่า “เฮ้ย เราอยากทำอะไร” แต่ทุกวันนี้บทสนทนามันไปในทางวิพากษ์วิจารณ์ แตะตรงไหนก็มีแต่ปัญหา เราจะเอาเวลาตรงไหนมานั่งคิดว่าสังคมจะดีกว่านี้ได้ยังไง เราจะพัฒนาตัวเองกันยังไง เราจะสร้างความฝันร่วมกันยังไง สร้างสิ่งใหม่มาดิสรัปต์สังคมเดิมยังไง เราจะเอาเวลาตรงไหนไปพูดคุยเรื่องตรงนั้น ในเมื่อเวลาถูกเอาไปใช้กับการก่นด่ากัน การวิพากษ์วิจารณ์คนที่มีหน้าที่ไม่ทำตามหน้าที่ที่ควรทำอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นวิกฤติและควรเร่งแก้ด้วย เพราะถ้าไม่แก้ generation gap จะทำให้สังคมระเบิดได้
เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้แล้ว และจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะที่เราอาจจะคาดไม่ถึงเลยก็ได้ ซึ่งสังคมยับยั้งตรงนั้นได้ แต่วิธีการยับยั้งไม่ใช่การเอากฎหมายไปคุม แต่คือการส่งมอบความหวัง ความรักให้มันเกิดขึ้นทั่วแผ่นดิน ซึ่งการจะทำอย่างนั้นหมายความว่า รัฐต้องเปิด เราไม่สามารถเป็นรัฐที่ปิดได้ แต่ละพื้นที่ต้องมีพื้นที่การหายใจของความหวังเกิดขึ้นมา เราต้องจินตนาการออกว่าเราจะสร้างจังหวัดของเราให้ดีขึ้นยังไง เราต้องจินตนาการออกว่าประเทศของเราจะดีขึ้นได้ยังไง
หากแม้กระทั่งการจินตนาการ เรายังจินตนาการยังไม่ออก มันคือการกดทับความหวังอย่างมหาศาล และจะทำให้คนรู้สึกอึดอัดในการเติบโต และความรู้สึกนี้ไม่สามารถทำให้เขารู้จักส่งต่อความรักให้คนอื่น
อ้างอิง: