การเสวนาหยุดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล รวมพลังทุกฝ่ายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้แถลงผลสำรวจและวิเคราะห์การใช้จ่ายด้านอินเตอร์เน็ตของนักเรียนทุนเสมอภาคในปี 2564 ซึ่งยังมีการปิดเรียนออนไซต์ จากปัญหาการแพร่ระบาดขอโควิด-19 เพื่อพิจารณาถึงความเสมอภาคในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของเด็กนักเรียน กว่า 2.5 ล้านคน จากนักเรียนทั่วประเทศทุกสังกัดประมาณ 9 ล้านคน ด้วยการเยี่ยมบ้านของครูให้ได้เห็นสภาพจริง พร้อมแบ่งระดับสถานะความยากจนของเด็ก จากเส้นความยากจนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พบเด็กกลุ่มยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,014 บาทต่อเดือน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจาก กสศ.
ดร.ไกรยส ยังเปิดเผยด้วยว่า การศึกษาของไทยในช่วงปีที่ผ่านมา เด็กอยู่กับการศึกษาขนาดเพียง 3 นิ้วเท่านั้น หรือแปลได้ว่าเด็กเกือบ 100% ต้องเรียนผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ทำให้พบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าเด็กนักเรียนทุนเสมอภาคเกือบทั้งหมด ไม่มีอินเตอร์เน็ตบ้าน ต้องเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยวิธีการเติมเงินครั้งละไม่มาก จากรายได้ของผู้ปกครองที่มีจำกัด ทั้งนี้จากผลสำรวจ นักเรียนทุนเสมอภาคจะเติมเงินเฉลี่ยครั้งละประมาณ 75 บาท ขณะที่นักเรียนทั่วไปเติมเงินครั้งละประมาณ 355 บาท และเมื่อไปดูที่สัดส่วนการเติมเงินค่าอินเตอร์เน็ตกับรายได้ยังพบว่าในกลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาคเป็นค่าใช้จ่าย 16.8% จากรายได้ต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมาก ต่างจากกลุ่มนักเรียนทั่วไปถึง 4 เท่า ทำให้นักเรียนทุนเสมอภาคถูกข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต กระทบไปถึงการศึกษา และเมื่อเด็กไม่ได้รับความเสมอภาคทางการศึกษาก็อาจทำให้เด็กกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาได้ง่าย
กสศ.จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ประเด็นหลัก โดยให้กสทช.สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต รวมทั้งเสนอผู้ให้บริการโทรคมนาคมจัดให้มีซิมโทรศัพท์สำหรับเด็ก ที่จะไม่เสียค่าใช้จ่ายเมื่อนำไปใช้ในด้านการศึกษา และเสนอให้ผู้ให้บริการเติมเงินอินเตอร์เน็ตลดค่าธรรมเนียมให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมแล้ว กลับพบว่ายิ่งเติมครั้งละน้อยๆ กลับยิ่งถูกหักค่าธรรมเนียมมาก พร้อมทั้งยังเห็นว่าการให้ภาคเอกชนได้เกิดการแข่งขันกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก ที่เด็กยากจนจะได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างครอบคลุม
ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของกสศ. ที่ให้ใช้กลไกทางการตลาดมาทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา โดยมองว่าเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะทำให้ราคาค่าบริการอินเตอร์เน็ตถูกลง ซึ่งในอนาคตระบบการศึกษาของไทยจะยิ่งต้องพึ่งพาการใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ถือเป็นโจทย์สำคัญให้ค่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆได้เกิดการแข่งขัน และยังเห็นว่าหากเป็นไปได้ ให้กสทช.นำเงินกองทุนที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียม มาบริหารจัดการเพื่อให้กลุ่มเด็กยากจนได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างครอบคลุม จากข้อมูลของกสศ.ที่ระบุรายละเอียดตัวบุคคลของเด็กกลุ่มยากจนพิเศษที่ต้องการการช่วยเหลือ
ทั้งนี้ยังมองว่ากองทุนของกสทช.จะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของเด็กกลุ่มยากจนพิเศษนี้ได้ โดยเสนอให้กสทช.เป็นแกนกลางประสานนำโทรศัพท์มือถือมือสองมาให้เด็กกลุ่มนี้ได้ใช้ สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองให้หลุดพ้นจากสภาพการศึกษาที่แย่ได้ด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับระบบการศึกษาของไทยต้องทำในหลายประเด็นร่วมกับหลายหน่วยงาน การที่กสศ.เลือกเป็นผู้ชี้เป้าบุคคลกลุ่มที่ต้องการรับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ขณะเดียวกันภาครัฐยังจำเป็นต้องร่วมจัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก โดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่อยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ควรเป็นกลุ่มแรกที่ต้องได้รับการดูแล
ด้าน คุณต่อพงษ์ เสลานนท์ คณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน เตรียมนำข้อเสนอแนะที่ได้รับในครั้งนี้ ไปเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. พร้อมระบุว่าแม้ที่ผ่านมาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด กสทช.ได้เคยให้การช่วยเหลือค่าอินเตอร์เน็ตสำหรับให้เด็กใช้เรียนหนังสือไปแล้ว แต่เป็นการช่วยเหลือในระยะสั้นเพียง 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งในกลุ่มเด็กครอบครัวยากจน การเรียนออนไลน์ถือเป็นภาระที่มาซ้ำเติม จึงเห็นว่าข้อเสนอแนะของกสศ. ใน 3 ประเด็นเบื้องต้น เป็นสิ่งที่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ โดยใช้กองทุนวิจัยเพื่อประโยชน์สาธารณะมาดำเนินการบรรจุลงในแผน พร้อมยอมรับว่าค่าธรรมเนียมในการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นปัญหาสำคัญต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กครอบครัวยากจน และยังเห็นว่าที่ผ่านมาการจัดสวัสดิการของรัฐส่วนใหญ่ จะใช้วิธีการหารเท่ากัน ทำให้บุคคลที่ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ได้ประโยชน์ไปด้วย ในขณะที่เด็กกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือกลับได้รับไปไม่เพียงพอ การที่กสศ.จัดทำข้อมูลนี้ขึ้นมา ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้การจัดสรรสวัสดิการมีประสิทธิผลมากขึ้นตามไปด้วย
การเรียนออนไลน์นอกจากจะต้องใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมแล้ว สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ดียังเป็นสิ่งจำเป็นในการลดความเหลื่อล้ำทางการศึกษา แก้ปัญหาเด็กยากจนพิเศษหลุดออกจากระบบจากต้นทุนชีวิตที่น้อยกว่าคนอื่น หากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำผลสำรวจของ กสศ. ที่ระบุข้อมูลรายบุคคลของเด็กกลุ่มนี้ไปใช้ในการช่วยเหลือได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ก็เป็นไปได้ว่า จะสามารถลดตัวเลขเด็กที่หลุดเสี่ยงออกจากระบบการศึกษา ก้าวผ่านกับดักความยากจน และสร้างโอกาสให้กับเด็กกลุ่มที่มีฐานะยากจนพิเศษได้มากขึ้น เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป