การมีอยู่ของ ‘โรงเรียนทางเลือก’ เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาในระบบโรงเรียนไม่สามารถโอบรับความหลากหลายหรือความต้องการเฉพาะของนักเรียนทุกคนได้ หรือแม้แต่ในระบบการศึกษาทางเลือกเองก็ยังคงมีปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเช่นกัน ซึ่งจะนำไปสู่คำถามที่ว่า ระบบการศึกษาสามารถอุ้มชูทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือกให้มีคุณภาพเท่าเทียมกันได้หรือไม่ เพื่อให้การศึกษาทางเลือกกลายเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้อย่างแท้จริง
มายาคติการศึกษาทางเลือกในประเทศไทยเกิดจากการที่โรงเรียนทางเลือกถูกให้นิยามว่าเป็นโรงเรียนสำหรับกลุ่มเด็กพิเศษเป็นหลัก เช่น กลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน เป็นต้น ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโรงเรียนในระบบทั่วไป ทำให้ผู้ปกครองเลือกที่จะให้บุตรหลานเรียนในโรงเรียนทางเลือกแทน
แต่ในความเป็นจริง การศึกษาทางเลือกมีความหลากหลายและแตกต่างจากการศึกษาในระบบ ด้วยคุณค่าจากปรัชญาการศึกษาโดยเน้นตัวนักเรียนเป็นสำคัญ เช่น ทัศนคติต่อชีวิต การเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน การศึกษาทางเลือกก็เป็นการศึกษาที่ต้องการต้นทุนทางทรัพยากรสูงกว่าการศึกษาในระบบ เมื่อโรงเรียนทางเลือกที่ต้องอาศัยงบประมาณของรัฐ ไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังเหมือนโรงเรียนทางเลือกของเอกชน ทำให้ทรัพยากรในการจัดการเรียนการสอนไม่มีคุณภาพเพียงพอ
ยิ่งในภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนึ่งในรูปแบบของการศึกษาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพคือ ‘บ้านเรียน’ หรือ ‘Home School’ ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ตามความสนใจและศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ ทำให้เด็กได้เรียนรู้อยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมกับครอบครัวและชุมชนรอบตัวโดยไม่ถูกแยกขาดจากกันเหมือนการศึกษาในระบบ อย่างไรก็ตาม การศึกษาแบบ Home School ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีต้นทุนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมากเพียงพอที่จะจัดการศึกษาให้แก่เด็กได้ Home School จึงอาจเป็นภาพฝันที่ไกลจากความเป็นจริงของเด็กในครอบครัวกลุ่มเปราะบางที่เศรษฐานะและสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย
การศึกษาทางเลือกจึงถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งโรงเรียน ชุมชน และครอบครัว โดยอาศัยการเรียนรู้ในบริบทของพื้นที่ที่แตกต่างกันไป ให้ทุกพื้นที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้และพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของเด็กได้ สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การแก้ไขระเบียบการจัดตั้งโรงเรียนทางเลือก การพัฒนาบุคลากรครูสำหรับโรงเรียนทางเลือก การปรับเปลี่ยนระบบการวัดประเมินผล ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ปกครอง ปรับปรุงระบบงบประมาณอุดหนุนโรงเรียน เป็นต้น เนื่องจากกลไกเชิงโครงสร้างเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ส่งผลให้ทั้งการศึกษากระแสหลักและการศึกษาทางเลือกไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางเลือกหรือการศึกษาในระบบ สิ่งสำคัญคือการกระจายความเท่าเทียมทางการศึกษาให้เด็กเข้าถึงได้มากที่สุด เนื่องจากการพัฒนาการศึกษาจะไม่มีความหมายเลย หากเด็กส่วนใหญ่ยังคงถูกกับดักช่องว่างความเหลื่อมล้ำปิดโอกาสอยู่
อ้างอิง
- การสัมมนาวิชาการ ‘ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง (Revamping Thai Education System: Quality for All)’ ประจำปี 2554 ในหัวข้อ ‘โรงเรียนทางเลือกกับทางเลือกในการศึกษาของประชาชน’ โดย ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สุนทร ตันมันทอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
- ครอบครัวโฮมสคูลแนะเลือกระบบการศึกษา สอดคล้องยุคโลกเปลี่ยน
- โรงเรียน Sandbox ผลลัพธ์ความร่วมมือคนในพื้นที่ รัฐ เอกชน สู่ ร.ร. ดีใกล้บ้าน