ความยากจนคือสิ่งที่ทุกคนไม่อยากจะตกอยู่ในสถานะนั้น เพราะความยากจนนำมาซึ่งการขาดโอกาสต่อการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการศึกษา
เมื่อมนุษย์คนหนึ่งไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนหรือได้รับการศึกษาที่ดี โอกาสที่จะได้พัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพก็ย่อมลดน้อยถอยลง ส่งผลต่อโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต หรืออาจตกอยู่ในวงจรความยากจนต่อไปไม่สิ้นสุด
โรงเรียน Akshar Forum หรือโรงเรียนอัคชาร์ ฟอรั่ม ประเทศอินเดีย ถือเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนต้นแบบที่พยายามแก้ไขปัญหาวงจรความยากจนของเด็กๆ ในพื้นที่ โดยไม่มุ่งหวังถึงตัวเงินที่อาจได้จากค่าเทอมของเด็ก แต่มุ่งส่งเสริมให้เด็กนำ ‘ขยะ’ มาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงการศึกษา
ขยะแลกความรู้ แนวคิดใหม่ของโรงเรียนอัคชาร์ ฟอรั่ม
คงเป็นที่น่าแปลกใจสำหรับใครหลายๆ คน หากได้รู้เรื่องราวของโรงเรียนอัคชาร์ ฟอรั่ม โรงเรียนที่ถือว่าเป็นต้นแบบในการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมพร้อมกับการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
โรงเรียนอัคชาร์ ฟอรั่ม เป็นโรงเรียนชนบทเล็กๆ ที่หมู่บ้าน Pamohi รัฐ Assam (อัสสัม) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 โดย ศาสตราจารย์อลาคา ซาร์มา (Alaka Sarma) กับหนึ่งคู่รัก มาซิน มุคห์ตาร์ (Mazin Mukhtar) และ พาร์มิตา ซาร์มา (Parmita Sarma)
“เราตัดสินใจเก็บพลาสติกจากนักเรียน เพราะว่านั่นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ เราได้ยินนักเรียนบอกว่า พวกเขาเผาพลาสติกเกือบทุกวันในช่วงหน้าหนาว นักเรียนต้องมาอยู่ใกล้ๆ กองไฟ เพื่อรับความอบอุ่น เราจึงต้องแก้ปัญหาสุขภาพของพวกเขา” พาร์มิตา ซาร์มา ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนอัคชาร์ ฟอรั่ม กล่าว
โครงการแลกขยะสู่การเรียนรู้ เริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2018 โดยโครงการนี้ต้องการให้เด็กๆ และผู้ปกครองเล็งเห็นถึงปัญหาด้านสุขภาพจากการเผาขยะ เพราะสารจากพลาสติกส่งผลให้เกิดสุขภาพที่ไม่ดีตามมา
โรงเรียนมีนโยบายให้นักเรียนแต่ละคนเก็บขยะจากบ้านอย่างน้อยคนละ 25 ชิ้นต่อสัปดาห์ ซึ่งขยะเหล่านี้จะถูกนำไปแปรรูปเป็น eco-bricks หรือ ‘อิฐอีโค่’ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อไป โดยใช้วิธีบรรจุเศษพลาสติกต่างๆ ลงในขวดน้ำพลาสติกและนำไปเรียงเป็นเหมือนก้อนอิฐล้อมต้นไม้ หรือนำก้อนอิฐอีโค่เหล่านี้มาทำเป็นทางเดินเชื่อมต่อระหว่างห้องเรียน อีกทั้งในอนาคตอาจมีการทำห้องน้ำจากอิฐอีโค่เหล่านี้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การนำขยะพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์ยังเป็นการสอนให้พวกเขาได้รู้จักการรีไซเคิล หรือการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาแปรรูปเป็นอย่างอื่นเพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียที่มีมากถึง 25,940 ตันต่อวัน หรือเทียบเท่ากับน้ำหนักของวาฬสีน้ำเงินจำนวน 150 ตัวเลยทีเดียว
Learn More to Earn More เรียนรู้พร้อมรายได้สร้างตน
นอกจากการสร้างความรู้จากขยะ อีกหนึ่งในจุดเด่นของโรงเรียนอัคชาร์คือ การสร้างอาชีพให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน นักเรียนจำนวนไม่น้อยในชุมชนแห่งนี้ต้องพลาดโอกาสทางการศึกษา บางคนต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะปัญหาความยากจน พวกเขาไม่มีเงินหรือทุนทรัพย์เพียงพอต่อการจ่ายค่าเล่าเรียนในแต่ละเทอม
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้โรงเรียนอัคชาร์ก่อตั้งขึ้นเพื่อต้องการที่จะตัดวงจรความยากจนในพื้นที่แห่งนี้ออกไป และยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบการศึกษาในลักษณะนี้กับโรงเรียนรัฐอีก 100 แห่งทั่วประเทศ โรงเรียนจึงมีหลักสูตรแบบ Meta Teaching (teaching how to teach) หรือการสอนให้รู้จักการสอน กล่าวคือ โรงเรียนมีการว่าจ้างให้เด็กโตหรือเด็กที่อยู่ในระดับชั้นสูงกว่ามาเป็นผู้ช่วยครู เพื่อสอนหนังสือให้เด็กเล็กหรือเด็กที่อยู่ในระดับชั้นต่ำกว่า โดยเป็นการสอนแบบรายชั่วโมง ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับนักเรียนที่ยากจนด้วยอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ หลักสูตรของโรงเรียนยังเน้นเรื่องการสร้างอาชีพให้นักเรียนหรือแม้แต่ผู้ปกครองของนักเรียนอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การสอนงานฝีมือ (handcraft) เพื่อสร้างของใช้หรือเครื่องประดับที่ทำจากดินเหนียวและพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งทางโรงเรียนจะช่วยนำไปขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้สร้างผลงานด้วยอีกแรงหนึ่ง
อีกทั้งโรงเรียนยังสร้างหลักสูตรที่ช่วยพัฒนาศักยภาพและเพิ่มการว่าจ้างงานให้กับแรงงานชายในหมู่บ้านที่ก่อนหน้านี้มีอัตราการว่างงานสูงและติดแอลกอฮอล์สูงให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น อาทิ ช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างเฟอร์นิเจอร์ หรือการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ติดตั้งเครื่องกรองน้ำ เป็นต้น ซึ่งทางโรงเรียนจะมีการประสานกับบริษัทหรือโรงงานต่างๆ เพื่อหางานให้กับผู้ปกครองของเด็กในชุมชน
“เราหวังว่า พวกเขาจะมีทักษะมากพอที่จะยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ เรากำลังพยายามพัฒนาแบบจำลอง ซึ่งเริ่มจากการให้การศึกษา ไปจนถึงการจ้างงาน” พาร์มิตา ซาร์มา กล่าว
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนอัคชาร์นั้นไม่ได้มุ่งหวังในการพัฒนาเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ยังเห็นถึงปัญหาพื้นฐานของครอบครัวเด็กในพื้นที่อีกด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เด็กไม่สามารถเข้าเรียนหรือได้รับการศึกษาที่ดีพอ พวกเขาจึงต้องการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ถูกจุดและยั่งยืน โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิต และให้ความรู้แก่นักเรียนและผู้ปกครองของเด็กไปพร้อมๆ กัน