เมื่อเยาวชนไทยต้องเข้าสู่โหมดการเรียนออนไลน์เป็นเวลานาน เด็กจำนวนมากต้องหลุดจากระบบการศึกษา และจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและพัฒนาการการเรียนรู้ที่ถดถอย
วันที่ 28 มกราคม 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเสวนาวิชาการ Equity Forum ในหัวข้อ ‘โรงเรียนต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อโควิด-19 รุกรานการศึกษา?’ โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษา กสศ. กล่าวในประเด็นการศึกษาที่ถดถอยจากการปิดโรงเรียนเป็นเวลานานว่า หากคำนวณระยะเวลาการปิดโรงเรียน 2 รอบ รวม 90 วัน จากทั้งหมด 200 วัน ส่งผลให้อัตราการถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็กสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ โดยทักษะการอ่าน ทักษะทางวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ถดถอย 20-50 เปอร์เซ็นต์ การปิดโรงเรียนเพราะโรคระบาดยิ่งทำให้ปัญหาการศึกษาไทยเข้าขั้นวิกฤติจากเดิมที่มีปัญหาหนักอยู่แล้ว
เพื่อเป็นการฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กในวันที่โรงเรียนเปิดอีกครั้ง The California School Boards Association (CSBA) หรือ กลุ่มความร่วมมือจากเขตการศึกษาและสำนักงานเขตการศึกษาของรัฐแคลิฟอร์เนียกว่า 1,000 แห่ง ได้เสนอกลยุทธ์และแนวทางการฟื้นฟูความรู้ให้กับเด็ก ดังนี้
ทำแบบประเมินเพื่อเติมเต็มความรู้ที่ขาดหาย
CSBA มองว่า หลังสถานการณ์วิกฤติผ่านพ้นหรือมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเด็กได้กลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้ง การทำแบบประเมิน (formative assessment) ตามความต้องการของเด็กคือสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสอบถามเด็กโดยตรง หรือทำแบบสอบถามหลังคาบเรียน จะช่วยทำให้ผู้สอนได้ทราบว่า ขณะนี้นักเรียนส่วนใหญ่เข้าใจเนื้อหาที่เรียนในช่วงออนไลน์มากน้อยแค่ไหน และมีความรู้ความเข้าใจอยู่ในระดับใด เพื่อวางแผนเติมเต็มเนื้อหาที่ขาดหายไปให้มากขึ้น
การทำแบบประเมินยังช่วยให้ผู้สอนได้เข้าใจถึงความต้องการของผู้เรียนว่า ผู้เรียนต้องการศึกษาเนื้อหาในส่วนไหนเป็นพิเศษ หรือไม่เข้าใจเนื้อหาในจุดใด การทำเช่นนี้จะช่วยให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดและตรงความต้องการผู้เรียนมากขึ้น
การเรียนซ้ำชั้น ยิ่งบั่นทอนพัฒนาการ
การให้เด็กกลับไปเรียนเนื้อหาเดิมที่เคยเรียนในช่วงออนไลน์ หรือการให้เด็กที่ไม่ผ่านการประเมินต้องเรียนซ้ำชั้น CSBA มองว่า วิธีการนี้จะทำให้เด็กหมดกำลังใจในการเรียน และพัฒนาได้ช้ากว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน
หากโรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง แนวทางการซ้ำชั้นจึงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง แต่วิธีที่ควรทำมากกว่าคือ การกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กเกิดการพัฒนาตามช่วงวัย และระดับชั้นของตนอย่างเหมาะสม
การกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อาจทำได้ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประกอบการเรียนการสอน เพราะการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย นอกจากจะส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กแล้ว ยังช่วยผ่อนแรงผู้สอนให้มีเวลาคิดและพัฒนารูปแบบการสอนอื่นๆ ต่อไป
ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่นำมาสนับสนุนการเรียนรู้ได้ เช่น MATHia ซอฟต์แวร์คณิตศาสตร์ที่เสมือนครูผู้ช่วยสอนส่วนตัวให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหา และวิธีคิดเชิงลึกเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ได้มากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับวิธีทำ คำอธิบาย ตัวอย่างประกอบ และแบบฝึกหัด เป็นต้น
มุ่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และการอ่าน
แผนกลยุทธ์การฟื้นฟูการศึกษาหลังโควิด-19 ของ CSBA ระบุว่า การศึกษาในสถานการณ์โรคระบาดส่งผลให้ทักษะการคิดวิเคราะห์ และทักษะการอ่านของเด็กถดถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีฐานะยากจนที่พบว่าทักษะการอ่านลดต่ำลงกว่าเด็กที่มีฐานะปานกลางขึ้นไป ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับนักวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ (MGH Institute of Health Professions) และสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย (Georgia Institute for Technology) ที่คาดการณ์ว่า เด็กอนุบาลในสหรัฐอเมริกาอาจสูญเสียทักษะการอ่านถึง 67 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กโตหากกลับเข้าสู่โรงเรียนอีกครั้งอาจพบว่า พวกเขามีทักษะการอ่านอยู่ที่ 65 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น CSBA ได้เสนอตัวอย่างแนวทางที่เป็นรูปธรรมคือ โรงเรียนอาจต้องจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมให้กับเด็กยากจนอย่างน้อย 4 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยห้องเรียนควรมีเด็กประมาณ 6 คน หรือน้อยกว่านั้น และไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อมุ่งเน้นและเสริมทักษะความรู้วิชาต่างๆ ที่ขาดหายไปในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19
ขยายเวลาเรียน ปรับลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็น
การขยายเวลาเรียน จะช่วยให้เด็กได้มีเวลาย้อนกลับไปเรียนรู้เนื้อหาที่ไม่เข้าใจในช่วงเรียนออนไลน์ และเป็นการปรับพื้นฐานความรู้สู่การเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ CSBA มองว่า ควรขยายเวลาเรียนในวิชาสามัญเป็นหลัก เช่น คณิตศาสตร์ เพราะเด็กส่วนใหญ่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ลดลง และเพื่อไม่ให้พัฒนาการของเด็กล่าช้าหรือเกิดภาวะเครียดมากจนเกินไป การปรับหลักสูตรจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเนื้อหาในบางวิชา หรือปรับตัวชี้วัดการประเมินผล เช่น ลดการบ้านลง จะช่วยให้เด็กมีเวลาทบทวนบทเรียนก่อนหน้านี้ และให้พวกเขาได้มีเวลาทำในสิ่งที่สนใจมากขึ้น
ช่วยเหลือและให้การสนับสนุนครูผู้สอน
คุณครูหรือผู้สอนถือเป็นบุคลากรที่สำคัญในระบบการศึกษา การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้การสอนของครูเป็นไปอย่างราบรื่น จะส่งผลให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ขึ้นด้วยเช่นกัน
การช่วยเหลือครูอาจเป็นไปในรูปแบบของการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ หรืออย่างที่บทความ ‘วิบากกรรมระบบการศึกษาไทย สู่ข้อเสนอ 6 มาตรการ (6 Re’s) เพื่อหาทางออกร่วมกันในช่วงโควิด’ ของ พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO บริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษา StartDee และ ธีรศักดิ์ จิระตราชู นักวิชาการการศึกษา ที่เผยแพร่ใน WorkpointTODAY วันที่ 25 สิงหาคม 2564 เสนอว่า ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีแหล่งรวบรวมและแบ่งปันสื่อการเรียนการสอนให้กับครูและโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถนำเนื้อหาหรือรูปแบบการเรียนการสอนไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและนักเรียน หรือมีการจัดทำคู่มือแนะนำครู ให้ครูสามารถนำคำแนะนำเหล่านั้นมาปรับใช้กับวิธีการสอนของตนเอง เป็นต้น
ร่วมมือและสื่อสาร แก้ปัญหาการศึกษาหลังโควิด
เมื่อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อปัญหาการศึกษาในระยะยาว CSBA จึงเสนอแนวทางว่า หากเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ หรือเด็กจำเป็นต้องเรียนออนไลน์อีกครั้ง หน่วยงานท้องถิ่นต้องเข้ามาช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้ผู้สอนหรือโรงเรียนได้สื่อสารกับนักเรียนและผู้ปกครองมากกว่านี้ เพื่อถามไถ่สภาพจิตใจ ความต้องการ และหาทางออกร่วมกัน
เช่นเดียวกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้เสนอแนวทางการร่วมมือกันของทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาช่วงโควิด-19 ผ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 ว่า กระทรวงศึกษาธิการควรให้ศึกษานิเทศก์คอยให้คำแนะนำหรือคำปรึกษากับครูในการเลือกตัวชี้วัดและเนื้อหาวิชาต่างๆ ให้เหมาะกับบริบทและสถานการณ์ของพื้นที่ อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการควรออกคู่มือหลักสูตรฉบับย่อสำหรับผู้ปกครองด้วย เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจบทบาทและรูปแบบการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนไป พร้อมทั้งยังสามารถติดตามการเรียนรู้ของเด็กหรือบุตรหลานตนเองได้
อ้างอิง
- Understanding and Addressing Disruptions to Learning During the COVID-19 Pandemic
- Learning Acceleration, Not Remediation, for a Fantastic School Year
- Reading Loss During COVID-19: Early Data
- วิบากกรรมระบบการศึกษาไทย สู่ข้อเสนอ 6 มาตรการ (6 Re’s) เพื่อหาทางออกร่วมกันในช่วงโควิด
- จัดการเรียนการสอนอย่างไรในสถานการณ์โควิด-19: จากบทเรียนต่างประเทศสู่การจัดการเรียนรู้ของไทย
- นักการศึกษาเสนอรัฐออกนโยบาย โรงเรียนชนะ เยียวยาการศึกษาจากโควิด-19