ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา Equity lab ภายใต้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.มุ่งเป้าพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียน ด้วยการส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนและคุณครูโรงเรียนขยายโอกาสที่อยู่พื้นที่ห่างไกล เปิดโอกาสการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพนอกห้องเรียน ผ่าน “โครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ Equity Partnership’s School Network” ร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติและภาคเอกชน อย่าง บริษัท SEA ประเทศไทย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ Shopee จนเกิด “โมเดลลดความเหลื่อมล้ำด้วยแนวคิดนวัตกรรมสถานศึกษา” ที่ยั่งยืน โดยปัจจุบันมีโรงเรียนขยายโอกาสในเครือข่าย กสศ. 53 โรงเรียน และ โรงเรียนนานาชาติอีก 9 โรงเรียนที่เข้าร่วมและประสบผลสำเร็จในโครงการ ตลอดจนสามารถขยายผลต่อยอดองค์ความรู้ ทักษะของนักเรียน คุณครูและนำไปสู่การเป็นโรงเรียนที่พึ่งพาตนเองได้
ก้าวสู่ความสำเร็จปีที่ 5 ‘พื้นที่แห่งความร่วมมือ’ และ ‘มิตรภาพ’
เป้าหมายสำคัญของโครงการ Equity Partnership’s School Network ปีที่ 5 นี้ คือ การขยายผลต่อยอดกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษา ครู และนักเรียนในเขตเมืองและชนบทที่ยั่งยืน ผ่านหลักสูตร Digital Marketing ซึ่งช่วยให้นักเรียนและคุณครูเกิดประสบการณ์ใหม่ๆ เกิดการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 อย่างเช่น ทักษะ Soft Skill (ทักษะทางสังคม) ในระหว่างการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 สถานศึกษาที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งในด้านการเรียนการสอน และวัฒนธรรม ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ ตลอดจนเกิดการเติมเต็มองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานโดยตรงจากภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน ในเรื่องการทำการตลาดออนไลน์ (Digital Marketing) การสร้างแบรนด์ การเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าจากทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นการเปิดร้านค้าออนไลน์ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในโครงการ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนและชุมชนจำนวนไม่น้อย
ก้าวแรกและก้าวสำคัญของโรงเรียนบ้านนาเลา กับโอกาสการพัฒนาศักยภาพและทักษะของนักเรียน คุณครู
แม้ Equity Partnership’s School Network จะจัดขึ้นมาเป็นปีที่ 5 แล้ว แต่ที่ผ่านมายังมีโรงเรียนสนใจสมัครเข้าร่วมมาโดยตลอด โดยปีนี้เป็นปีแรกของ ‘โรงเรียนบ้านนาเลา’ จังหวัดมหาสารคาม ที่ได้เข้าร่วม เนื่องจากโรงเรียนมีหลักสูตรที่ต้องการส่งเสริมทักษะอาชีพแก่นักเรียน เพื่อใช้ประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาอยู่แล้ว โดยเฉพาะงานในท้องถิ่น ทำให้โรงเรียนได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีที่ 5 ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียน ก็มองว่า เป็นโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน คุณครูและตัวโรงเรียน
วิชญ์คุณ ปะสังติโย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาเลาเล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการว่า “ทางโรงเรียนเห็นโครงการนี้ดำเนินมาแล้วถึง 4 ปี จึงพิจารณาวัตถุประสงค์ของโครงการ และพบว่ามันตอบโจทย์หลักสูตรของเราได้ เดิมทีหลักสูตรของโรงเรียนก็เน้นสนับสนุนส่งเสริมทักษะอาชีพของนักเรียนเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนขยายโอกาสอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับนักเรียนที่ด้อยโอกาสในพื้นที่ เมื่อเราได้เห็นโครงการในปีที่ 5 นี้ ทำให้มองเห็นว่าโรงเรียนเราน่าจะมีโอกาสแสดงสิ่งที่เราได้ทำสู่สาธารณชน เราจึงตัดสินใจเข้าร่วม”
ด้วยฐานเดิมของชุมชนมีปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาชีพปูนปั้น หลังจากโรงเรียนเคยพานักเรียนไปฝึกทักษะอาชีพจากปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น ปรากฏว่านักเรียนมีความสนใจ โรงเรียนจึงเพิ่มเนื้อหาตรงนี้เข้าไปในเป็นหลักสูตรท้องถิ่นก่อนเข้าร่วมโครงการ โดยโรงเรียนตั้งเป้าไว้ว่า ต้องการให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง มีชิ้นงานที่ใช้งานได้ และหากผู้ปกครองหรือบุคคลภายนอกสนใจ โรงเรียนก็เปิดโอกาสให้นักเรียนนำผลงานไปจำหน่ายในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ โดยโรงเรียนมองว่ากิจกรรมนี้ เป็นทักษะพื้นฐานที่เด็กสามารถนำไปต่อยอดได้หลังเรียนจบ จึงเป็นเหตุผลที่โรงเรียน ต้องการเรียนรู้กระบวนการด้านการตลาด การทำความเข้าใจวิธีคำนวณต้นทุนและตั้งราคา การสร้างแบรนด์ ตลอดจนการทำการประชาสัมพันธ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง เพราะองค์ความรู้ด้านนี้จะช่วยให้นักเรียนสามารถนำไปต่อยอดได้อีก
เปิดโลกทัศน์ใหม่ เสริมสร้างทักษะ ที่นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน
นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่าอย่างยิ่งของนักเรียนและคุณครู หลังจากเข้าร่วมโครงการ Equity Partnership’s School Network โดย ผอ.วิชญ์คุณมองว่า
“นี่ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่โรงเรียนได้เจอ เปิดโลกทัศน์ให้กับครูและนักเรียน ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกับนักเรียนนานาชาติ ทั้งยังได้รับการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด เกี่ยวกับการตลาดดิจิทัล และการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการสื่อสารและการตลาดแบบสมัยใหม่ นับเป็นการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมที่มีคุณค่า”
นอกจากนี้การร่วมมือกันระหว่างนักเรียนทุนเสมอภาคกับนักเรียนนานาชาติในกระบวนการพบปะเพื่อเตรียมความพร้อม การเวิร์กชอป 2 ครั้งทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญการตลาดจากภาคเอกชนเป็นวิทยากร รวมไปถึงการลงพื้นที่ศึกษาชุมชนในกิจกรรม Field Trip ทำให้นักเรียนและครูของโรงเรียนบ้านนาเลาได้เปิดมุมมองใหม่ และเผยให้เห็นเราว่ายังมีทั้งพื้นที่และศักยภาพให้พัฒนาอีกมากมาย ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี และภาษาเพื่อการสื่อสาร การเข้าร่วมโครงการนี้จึงเป็นประตูสู่ความคิดใหม่ ๆ อีกทั้งการเปิดรับนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติเข้ามาทัศนศึกษาที่โรงเรียนในชุมชน นอกจากเยาวชนในชุมชนจะได้รับความรู้เพิ่มเติมจากการแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกันเยาวชนจากโรงเรียนนานาชาติ ก็ได้ความเข้าใจต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นกัน นับเป็นโอกาสอันดีในการสร้างทักษะการทำความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม Cross-culture Understanding ทำให้ทุกฝ่ายต่างได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากกันและกันเพื่อเติมเต็มองค์ความรู้นอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าแสดงออก รวมไปถึงการปรับตัวและทำงานร่วมกันในสังคมที่มีพื้นเพทางวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลาย ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ก่อนที่จะเข้าสู่สังคมหลังจบการศึกษา
มากไปกว่านั้น การเปิดโลกทัศน์ให้เห็นสิ่งที่อยู่นอกชุมชนยังทำให้โรงเรียนและชุมชนได้เข้าใจความสำคัญของทักษะ กระบวนการ และแนวทางการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเข้าใจแหล่งวัสดุ การวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตสินค้าจริง และการทำบรรจุภัณฑ์เพื่อให้คงทนระหว่างการขนส่ง การสื่อสารความน่าสนใจของตัวสินค้า ตลอดจนการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความเอนกประสงค์ ใช้งานได้หลากหลาย
ส่งต่อความสำเร็จสู่ชุมชน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยทักษะที่ได้จากโครงการ
หลังจบโครงการ โรงเรียนบ้านนาเลา นำความรู้จากโครงการ มาขยายผลกลับสู่ชุมชน เริ่มจากประชาสัมพันธ์กับชุมชน ว่าโรงเรียนได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับโครงการของ กสศ. รวมไปถึงยังร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) จากผ้าขาวม้า โดยโรงเรียนเป็นคนออกแบบ และชาวบ้านช่วยกัดตัดเย็บ ซึ่งเป็นส่วนที่ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม และสร้างรายได้ให้กระจายสู่ครัวเรือนอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเอาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมมาต่อยอดด้วยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ดูสวยงามและแตกต่างจากลักษณะเดิม เป็นแนวคิดเล็ก ๆ ถือเป็นการต่อยอดจากทักษะที่ได้เรียนจากการเข้าร่วมโครงการ นี้อาจนำไปสู่ผลผลิตที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมากเมื่อเวลาผ่านไป
“การขยายผลอีกอย่างหนึ่งที่เราได้ทำสำเร็จไปแล้ว คือการส่งขายตามนิทรรศการต่าง ๆ ของชุมชน ในส่วนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนอื่นหรือหน่วยงานเอกชน เราก็ได้ทดลองทำไว้เป็นแนวทางนำร่องแล้วเช่นกัน เช่น เวลามีงานนำเสนอของสำนักงานเขตหรือหน่วยงานโรงเรียน จะมีการนำเอาโครงการที่เราทำร่วมกับ กสศ. ไปจัดแสดง รวมถึงจัดจำหน่ายสินค้าทาง Shopee ผลที่ได้รับก็คือมันเพิ่มพูนทั้งทักษะ ประสบการณ์จากการปฏิบัติ และรายได้ให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดี ช่วยให้นักเรียนได้มีที่ทางสำหรับประกอบอาชีพที่ทำได้จริง”
นอกจากนี้ ผอ.วิชญ์คุณ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริงและมองเห็นช่องทางในการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับภาคเอกชนเข้าไปในหลักสูตรของโรงเรียนจากการเข้าร่วมในโครงการ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะพร้อมใช้งานและสร้างรายได้หลังเรียนจบ นับได้ว่าเป็นการหยิบยื่นเครื่องมือที่สำคัญให้กับนักเรียนให้ได้มองเห็นช่องทางสำหรับประกอบอาชีพในอนาคต รวมถึงสร้างรายได้ให้กับพวกเขาระหว่างที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา การร่วมโครงการนี้จึงไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะอาชีพ แต่ยังส่งเสริมให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากโรงเรียนนานาชาติ รวมไปถึงภาคเอกชน นับเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้นักเรียนพร้อมรับมือกับสังคมในอนาคต ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จหลังจบการศึกษา แม้นี่จะเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านนนาเลา เข้าร่วมโครงการ แต่ก็นี่นับเป็นความสำเร็จที่เกินเป้าหมาย และยังสามารถต่อยอดหลังเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง
4 ปีที่เข้าร่วมโครงการของ ‘โรงเรียนบ้านขุนแปะ’ หาเครือข่ายหนุนเสริม ขยายผลต่อยอดอย่างยั่งยืน
เมื่อการมุ่งเน้นทางด้านวิชาการ อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนชายขอบ จึงเป็นเหตุผลที่ ‘โรงเรียนบ้านขุนแปะ’ จ.เชียงใหม่ เลือกเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ รัชนี ต๊ะคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขุนแปะ เล่าให้ฟังว่า ได้รับข้อมูลโครงการผ่านการประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ของ กสศ. พบว่าแนวทางของโครงการสามารถนำมาปรับใช้กับโรงเรียนบ้านขุนแปะได้ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการในปีแรก (ซีซั่น 1)
“โรงเรียนชายขอบ ถ้าพัฒนาเรื่องวิชาการอย่างเดียว เด็ก ๆ ก็คงจะไปไม่ถึงเป้าหมาย ปลายทางของงานวิชาการคือการศึกษาเรียนต่อ สุดท้ายแล้วพอถึงช่วงที่เด็กจะทำงาน ส่วนใหญ่พวกเขาก็จะกลับมาที่ชุมชนพอพิจารณาจากเนื้อหาของโครงการ Equity Partnership’s School Network เราก็มองว่า เราพอจะมีองค์ความรู้ที่น่าจะปรับประยุกต์ในตัวโครงการได้ จึงอยากจะหาความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะกับเครือข่ายที่จะมาช่วยเหลือโรงเรียนเรา”
หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ ผอ.รัชนี ระบุว่า ประโยชน์ที่ทั้งโรงเรียนและชุมชนได้รับไปไกลยิ่งกว่าความคาดหมาย ทั้งการได้เข้าร่วมเครือข่ายจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันผ่านกิจกรรมปฐมนิเทศ เวิร์กชอป ประชุมร่วมกันทางออนไลน์ ตลอดไปจนร่วมการประกวดผลิตภัณฑ์ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญซึ่งช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับครูและนักเรียน ไม่เพียงทำให้ครูมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการออกแบบการเรียนการสอน แต่ยังเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนจากโรงเรียนชุมชนและโรงเรียนนานาชาติอย่างสร้างสรรค์อีกด้วย
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาทักษะอาชีพของโรงเรียนบ้านขุนแปะได้ต่อยอดผลสำเร็จออกมาหลายด้านด้วยกัน ทั้งด้านการเสริมศักยภาพบุคลากร และด้านการสร้างเครือข่ายภายในและภายนอกโรงเรียน ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาของผู้เข้าร่วมโครงการอย่างยั่งยืน การต่อยอดผลสัมฤทธิ์ในภาคส่วนของบุคลากรในโรงเรียน เริ่มต้นที่การพัฒนาทักษะของครูและการสร้างเครือข่ายอันเข้มแข็งระหว่างครูกับผู้สนับสนุนจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน
ครูที่เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาแนวคิดเรื่องการบริหารและการทำงานร่วมกับพันธมิตร (Partnership) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับงบประมาณและทรัพยากรที่จำเป็น ตลอดจนการประสานงานกับบริษัท CP ALL ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดองค์ความรู้สำหรับพัฒนาและปรับปรุงโครงการต่อไปในอนาคตได้
ปัจจุบัน CP ALL ได้ให้การสนับสนุนทรัพยากรแก่โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งโรงเรียนและชุมชนมีโอกาสขยายเครือข่ายไปยังบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพในการสนับสนุนโครงการในระยะยาว
ส่วนในด้านการขยายผลร่วมกับชุมชนนั้น โรงเรียนได้สร้างความร่วมมือกับชุมชนเพื่อส่งเสริมอาชีพและทักษะงานฝีมือ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ให้แก่ชุมชน เช่น ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนางานฝีมือซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักเรียนร่วมกับชุมชนเพื่อให้เกิดการยอมรับทักษะงานฝีมือของเหล่านักเรียน อีกทั้งยังสร้างความภาคภูมิใจและกำลังใจให้กับผู้เรียนอีกด้วย
ทางโรงเรียนเล็งเห็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่นักเรียนและชุมชนผ่านการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาตนเองและชุมชนให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง
จากความสำเร็จของการขยายผลต่อยอดโครงการใน 4 ปี นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียน
หนึ่งในผลลัพธ์สำคัญที่โรงเรียนบ้านขุนแปะได้จากการเข้าร่วมโครงการ คือการปรับหลักสูตรของโรงเรียนให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนในปัจจุบันยิ่งขึ้น ผอ.รัชนี อธิบายว่า”พอได้เข้าร่วมโครงการแล้ว ครูก็ได้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ทักษะทางอาชีพ” การได้มีส่วนร่วมในการอบรมนอกโรงเรียน และที่ชุมชนของโรงเรียน ทำให้ครูได้เล็งเห็นความสำคัญของการออกแบบการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงการเพิ่มพูนทักษะการสื่อสาร การคิดคำนวณต้นทุน วิธีการออกแบบการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงทักษะอื่น ๆ อีกมากมายเพื่อให้ผู้เรียนได้นำประสบการณ์ตรงไปประยุกต์ใช้เป็นทักษะชีวิตได้
นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้รับการสนับสนุนจากชุมชน ผู้ปกครอง และเครือข่ายพันธมิตร ทั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธิโครงการหลวง ในการนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสานเข้ากับกระบวนการเรียนรู้อีกด้วย การดำเนินโครงการของโรงเรียนเน้นการพัฒนา “ทักษะอาชีพ” ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง อาทิ งานสาน งานทอผ้า และการย้อมสี ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งจากการฝึกฝนและการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองด้วยหลักสูตร ‘ชุมนุม’ ที่เปิดให้นักเรียนในระดับชั้น ป.4 ถึง ม.3 เข้าร่วมตามความสนใจ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สัมผัสและคุ้นเคยกับทักษะอาชีพโดยตรง
อีกส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จคือ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างโรงเรียน ชุมชน ชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงวิทยากรจากภาคเอกชนที่มาเสริมสร้างความรู้ให้กับทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง การจัดกิจกรรมในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้นักเรียนไทยพัฒนาตนเองและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับการศึกษาให้ทัดเทียมกับโรงเรียนในเมืองได้ในที่สุด
เครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา กลไกที่สำคัญช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
การเปิดพื้นที่ให้นักเรียนและคุณครูระหว่าง 2 สถานศึกษาที่มีความแตกต่างกันอย่างโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนขยายโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับการเปิดโลกทัศน์ ขยายมุมมองใหม่ ๆ
ผอ.รัชนี เล่าว่า
“ถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของโรงเรียน พอเราได้สัมผัสแนวคิดของน้อง ๆ นานาชาติ สิ่งที่เขานำเสนอ รวมถึงเรื่องราวที่เราออกแบบร่วมกัน ก็พบว่าแนวคิดเขาสร้างสรรค์มาก เราเองยังคิดไม่ถึงเลย มองเห็นได้ชัดเจนว่ายังมีระยะห่างเรื่องคุณภาพการศึกษาระหว่างเด็ก ๆ ห่างเรื่องของความคิด เรื่องความรับผิดชอบ คิดว่าเราสามารถมองเขาเป็นแบบอย่างในเรื่องของการเสาะแสวงหาองค์ความรู้หรือการลงมือทำงานร่วมกันให้สำเร็จได้เลย”
กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับต่างโรงเรียนช่วยเสริมสร้างความคิดและการนำเสนอที่สร้างสรรค์ให้กับนักเรียน นับเป็นอีกตัวอย่างในการวางแนวทางเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน
ในมิติของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผอ.รัชนี มองว่า โครงการนี้ได้มอบโอกาสในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแก่เยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ การเข้าร่วมโครงการทำให้นักเรียนที่ขาดโอกาสได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่พวกเขาไม่เคยมี การได้รับโอกาสพบเจอและทำงานร่วมกับนักเรียนจากต่างโรงเรียน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนในโรงเรียนชายขอบ ได้เห็นถึงความเป็นไปได้มากมายที่พวกเขาไม่เคยคำนึงถึงมาก่อน ซึ่งจะนำไปสู่การขยายขอบเขตการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน