Equity lab จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้ชุดเครื่องมือการเรียนรู้ 4CEF+ สื่อเพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์และทักษะสมองส่วนหน้า (EF) แก่ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมภูเรือ แซงค์ฌัวรี รีสอร์ท แอนด์สปา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โดยมีทีมจากสถาบันรักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป (RLG) และมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต เป็นวิทยากรในการจัดอบรมครั้งนี้ ซึ่งมีคุณครูเข้าร่วมอบรมทั้งหมดจำนวน 25 คน จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนต้นแบบ 4 โรงเรียน ในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 ได้แก่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเป้า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนานกปีด โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนฮิลมาร์พาเบิล จังหวัดเลย และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเวียงงาม จังหวัดอุดรธานี เพื่อเติมเต็มศักยภาพบุคลากรของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และทักษะสมองส่วนหน้าแก่นักเรียนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมุ่งเน้นให้คุณครูสามารถนำชุดเครื่องมือการเรียนรู้ 4CEF+ ไปประยุกต์ใช้ได้จริง พร้อมทั้งเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่นักเรียนและบุคลากรท่านอื่นๆ
การอบรมในครั้งที่ 2 นี้เป็นการเติมเต็มความรู้เรื่องการใช้อุปกรณ์ที่อยู่ในชุดเครื่องมือการเรียนรู้ 4CEF+ เพิ่มเติมจากครั้งแรก พร้อมให้คุณครูได้ฝึกคิดเชื่อมโยงหรือบูรณาการใช้กับแผนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องและตอบโจทย์ตัวชี้วัดของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้คุณครูสามารถนำชุดเครื่องมือไปประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณลดาวัลย์ ศรีขาว มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต วิทยากรในการอบรมครั้งนี้ กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้นทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษนี้ คือ ทักษะเกี่ยวกับการอ่านออกเขียนได้เด็กจะสามารถนําไปใช้ในชีวิตประจำวันของตนเองได้ และเรื่องของความรู้ ทักษะ คุณลักษณะที่เป็นสมรรถนะ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่เด็กจะนําไปใช้เวลาเจอปัญหา หรือเป็นสิ่งที่จะนําไปสู่ทักษะเรียนรู้ (Soft skill) คือ การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะขั้นพื้นฐานรวมทั้งการจัดการตัวเอง(Character quality) ทั้งในเรื่องความรู้ ทักษะ และการจัดการตนเองในสังคมที่เปลี่ยนไป สุดท้ายคือ ทักษะสมองส่วนหน้า (EF) คือการยับยั้งชั่งใจ โดยสิ่งเหล่านี้จำเป็นจะต้องมีการปลูกฝังหรือปูพื้นฐานตั้งแต่ต้น ซึ่งก็ต้องสอดรับกับการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน หรือ รวมทั้งหลักสูตร หากเด็กได้รับการปูพื้นฐานตั้งแต่ต้นก็จะถูกกระตุ้นให้มีความพร้อมที่จะรับมือในทุกสถานการณ์
“ถ้าหลักสูตรปัจจุบันหรือในห้องเรียนยังมีการท่องจำอยู่ EF ของเรามันก็ไม่ได้ถูกการพัฒนา เด็กก็ไม่ได้รับการฝึกทักษะต่อเนื่องค่ะ ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ก็ไม่เกิด”
สำหรับบริบทของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน คุณครูมีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเชิงรุก (Active learning) คือ ให้เด็กได้ลงพื้นที่ สํารวจ และลงมือปฏิบัติ เช่น เลี้ยงไก่ ปลูกผักอยู่แล้ว ดังนั้นการอบรมจึงเป็นเหมือนการเข้าไปขยายมุมมองใหม่ๆให้กับคุณครู เช่น ให้คุณครูได้สอนแบบบูรณาการ เป็นการเติมสมรรถนะให้คุณครูได้ออกแบบ ได้คิด ลงมือปฏิบัติ ซึ่งเรามีต้นทุนเครื่องมือและองค์ความรู้ให้ คุณครูเพียงต้องนำไปปรับและพัฒนาใช้ตามบริบทที่ตัวเองอยู่ จนกลายเป็นโรงเรียนที่พึ่งพาตนเองได้
คุณมณีวรรณ วังกธาตุ คุณครูจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนฮิลมาร์พาเบิร์ล กล่าวว่า ชุดเครื่องมือนี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดภาระงานของคุณครูโรงเรียนขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะการเตรียมการสอนที่ต้องใช้เวลา รวมถึงเป็นตัวช่วยในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบ Active learning ที่กระตุ้นความสนใจ ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนเป็นอย่างดี
“ช่วยแบ่งเบาภาระของครูได้ค่ะ ปกติครูก็จะสร้างสื่อเองค่ะ มันก็จะใช้เวลานานหน่อยเวลาที่จะมาสอน สมมุติถ้าจะสอนเรื่องนี้ต้องทำสื่อขึ้นมาสอน แล้วถ้าเรามีสื่อตัวนี้ใช่ไหมคะ เด็กก็จะเข้าใจมากยิ่งขึ้นค่ะ เพราะว่าเด็กเขาจะไม่ชอบตัวหนังสือมาก เขาจะชอบเล่นเกมอย่างนี้ค่ะ พวกบัตรคำเด็กจะชอบ เป็นรูปต่างๆเด็กจะตื่นเต้นว่ารูปนี้เป็นแบบไหน สัตว์อะไรอย่างนี้ค่ะ”
ดาบตำรวจหญิงพิชญา นามเสนา คุณครูจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนานกปีด เผยว่า เครื่องมือนี้เข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องของการจัดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆของตนเองที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์แก่ผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนได้คิดอย่างอิสระ ส่วนคุณครูเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้เท่านั้น
“มันตอบโจทย์ในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ของเด็ก เพราะว่าเด็กทุกวันนี้มีแต่ครูป้อน มีแต่ครูสอนตามหนังสือ ถามว่าเด็กได้คิดไหมก็คิดอยู่นะ แต่มันไม่ใช่แนวที่เขาต้องคิดแบบอิสระ ต้องคิดไปตามระบบ คิดไปตามกระบวนการ อย่างคณิตศาสตร์เขาก็มีสูตรให้คิด ภาษาไทยก็มีหลักภาษาไทย ถ้าปล่อยให้เขาคิดเอง อิสระของเขา แล้วเด็กเขาก็จะรู้สึกสนุก คนที่ไม่ค่อยชอบร่วมกิจกรรมก็หันมาร่วม เพราะว่าเขาไม่เครียด แล้วครูก็ไม่ได้บอกว่าเธอต้องทำอย่างนี้นะ เราปล่อยให้เขาทำอัตโนมัติ”
ดาบตำรวจหญิงจิรภา สายตาดำ คุณครูจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเป้า ได้แบ่งปันประสบการณ์และผลลัพธ์จากการทดลองใช้เครื่องมือการเรียนรู้ 4CEF+ หลังจากเข้าร่วมการอบรมก่อนหน้านี้ ว่าเครื่องมือดังกล่าวช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียนให้เกิดการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนและสร้างการเรียนรู้ที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น
“เด็กๆ ก็ชอบค่ะ มีความสนุกสนานตื่นเต้น เป็นการกระตุ้นให้เด็กได้เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และทำให้การเรียนเป็นระบบมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนเราอาจจะสอนมีข้อกำหนดให้เด็ก อาจจะเป็นการปิดกั้นความคิดเด็ก แต่จากที่เราได้ศึกษาแล้วก็ได้ทดลองใช้ ก็มีความคิดกลับไปว่า เราต้องเปลี่ยนวิธีการของเรา เปลี่ยนวิธีการสอน อาจจะเป็นใช้คำถามปลายเปิดเพื่อที่ให้เด็กเกิดความกระตุ้นความคิดเด็ก ให้เด็กใช้จินตนาการของตัวเองค่ะ”
ด้าน ดาบตำรวจกรณ์ทิพย์ ทิพอาสน์ คุณครูจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเวียงงาม กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับหลังจากการอบรม และการนำเครื่องมือไปประยุกต์ใช้กับบริบทของครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
“เราได้ความรู้ในเรื่อง 4CEF+ ในการทำแผน เชื่อมต่อกับหลักสูตร กพด. เราได้เทคนิคว่าเราจะสอนทักษะ 4C เราจะสอน EF แล้วเราจะเขียนแผนการเรียนการสอนอย่างไร แล้วจะเอาไปใช้กับเด็กอย่างไรครับ แล้วก็บูรณาการใส่กับวิชาอื่น เครื่องมือที่ให้มามันมีประโยชน์ เพราะว่าเราเคยเอาไปใช้แล้ว คุณครูที่โรงเรียนเอาไปใช้แล้ว มานั่งคุยกันสะท้อนผลมันก็ดีนะที่เราเอามาใช้ แล้วเราก็จะพัฒนาสิ่งไหนที่เรายังไม่รู้ พอเรารู้เราก็เพิ่มเติม แล้วก็สามารถนำไปใช้กับเด็กต่อไป”
ภายหลังจากการอบรมในครั้งนี้ คุณครูจะต้องนำชุดเครื่องมือการเรียนรู้ 4CEF+ ไปทดลองใช้ในชั้นเรียนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 ถึงกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งครอบคลุม 1 ภาคการศึกษา และจะมีการติดตามผลจากทีมวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินความเปลี่ยนแปลงของคุณครูและผู้เรียนที่เกิดขึ้นจากการใช้งานชุดเครื่องมือนี้ต่อไป