786 ล้านบาท คือตัวเลขงบประมาณของสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.98 ของงบประมาณทั้งหมด 79,885 ล้านบาท ซึ่งถูกจัดไว้ลำดับสุดท้ายในแผนงานงบประมาณ กทม. ปี 2565 และหากย้อนกลับไปสำรวจงบประมาณในปี 2564 จะพบว่า สำนักการศึกษาได้รับงบประมาณน้อยลงจากเดิมที่เคยได้มาประมาณ 900 ล้านบาท
ประเด็นที่ชวนสังเกตคือ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างเม็ดเงินงบประมาณของสำนักการศึกษาที่ลดลง แต่ปัญหาด้านการศึกษากลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากข้อมูลที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้เปิดเผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในกรุงเทพฯ พบว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนทั้งประเทศถึง 2 เท่า
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายในพื้นที่กรุงเทพฯ กับครัวเรือนที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก พบว่าห่างกันถึง 12 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาด้านการศึกษาถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ และเกี่ยวข้องกับผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาโดยตรง
Equity Lab ชวนสำรวจและติดตามนโยบายด้านการศึกษาของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ ‘นโยบายเรียนดี’ ประกอบไปด้วย 30 นโยบาย และมีหมุดหมายสำคัญคือการลดความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษาและพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้งหมด โดยสามารถแบ่งแผนนโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับผู้เรียน ระดับครูหรือผู้สอน และระดับสถานศึกษา ดังต่อไปนี้
ระดับผู้เรียน: เด็กทุกกลุ่มต้องได้รับโอกาสทางการศึกษา และติดตั้งทักษะอาชีพอย่างทั่วถึง
● ปรับเนื้อหาหลักสูตร
นโยบายเพื่อปรับเนื้อหาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบันมากขึ้น อีกทั้งยังติดตั้งทักษะชีวิตที่นอกเหนือไปจากวิชาการเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานให้แก่นักเรียน เช่น การเพิ่มเนื้อหาในวิชาประวัติศาสตร์ให้สอดคล้องกับประเด็นสังคมในปัจจุบัน ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ไปจนถึงวิชาการใช้เทคโนโลยี การส่งเสริมทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ทักษะการวิเคราะห์ การตระหนักถึงการกลั่นแกล้ง (bullying) ในโรงเรียนและโลกออนไลน์ วิชาการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) วิชาการเงินส่วนบุคคลและบัญชีครัวเรือน โดยจะกำหนดให้วิชาเหล่านี้เป็นวิชาเลือกให้กับนักเรียนในสังกัด กทม.
อีกหนึ่งในนโยบายการศึกษาที่สำคัญคือ การจัดให้วิชาว่ายน้ำเป็นหลักสูตรพื้นฐานของโรงเรียนในสังกัด กทม. ทุกโรงเรียน เนื่องจากในปี 2564 ประเทศไทยมีสถิติเด็กจมน้ำเสียชีวิต 658 คน หรือเฉลี่ย 2 คนต่อวัน อีกทั้งการจมน้ำยังนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ด้วยเหตุนี้ ทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาตัวรอดจึงถูกจัดเป็นทักษะสำคัญสำหรับนักเรียนด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการสนับสนุนศูนย์ฝึกอาชีพใน กทม. 17 แห่ง และโรงเรียนฝึกอาชีพอีก 10 แห่ง ที่จะมุ่งเน้นการสอนทักษะเพื่อนำไปประกอบวิชาชีพในอนาคต เช่น การตัดผม ทำอาหาร ตัดเย็บเสื้อผ้า งานช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างระบบในอาคาร และงานภาษา เป็นต้น
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นทักษะทั้งหมดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ ประกอบด้วยนโยบายย่อยดังต่อไปนี้
- ให้การศึกษา พัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก
- After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน
- พัฒนาโรงเรียน 3 ภาษา สอนผ่านหลักสูตรไทย ต่างประเทศ และเทคโนโลยีเพื่อการทำงาน
- ส่งเสริมหลักสูตร คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น สำหรับเด็กช่วง 0-8 ปี
- เด็ก กทม. เล่นน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น
- ฝึกอาชีพ พัฒนาทักษะยุคใหม่
- วิชาเลือกเสรีสำหรับนักเรียน
- หลักสูตรการเรียนรวม คือการศึกษาสำหรับทุกคน
● เปิดโอกาสเข้าถึงการศึกษา
นโยบายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกกลุ่มได้เข้าศึกษาในระบบการศึกษาอย่าง
เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในกรณีผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษหรือมีภาวะบกพร่องทางด้านร่างกาย โดยจะพัฒนาหลักสูตรให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้ ซึ่งจะใช้หลักสูตรที่เรียกว่า ‘การเรียนร่วม’ (Inclusion) เพื่อส่งเสริมทักษะการอยู่ร่วมกับคนในสังคม และสามารถจบออกไปประกอบอาชีพได้
รายละเอียดดังกล่าวถูกจัดอยู่ในนโยบาย ‘หลักสูตรการเรียนรวม คือการศึกษาสำหรับทุกคน’
ระดับครูหรือผู้สอน: เพิ่มสวัสดิการ พัฒนาทักษะ คืนครูสู่นักเรียน
● ลดภาระงานครู
นโยบายเพื่อลดภาระของผู้สอน เน้นไปที่การลดปริมาณงานประเภทเอกสาร เพิ่มเวลาและประสิทธิภาพการสอนของครูโดยใช้ Digital Talent เข้ามาส่งเสริมการสอน สนับสนุนให้เกิดการทำงานบนพื้นที่ดิจิทัลซึ่งสามารถตรวจสอบและประมวลผลได้ เพื่อที่ครูจะได้ไม่ต้องทำเอกสารซ้ำหลายครั้ง และข้อมูลที่ถูกจัดเก็บลงในระบบส่วนกลางนี้จะถูกนำไปช่วยในการประเมินวิทยฐานะเพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนาการสอน
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะของผู้สอนที่หลากหลาย รวมถึงการเพิ่มจำนวนครูผู้สอนเฉพาะทาง พัฒนาครูผู้เชี่ยวชาญต้นแบบในประเด็นต่างๆ เช่น วิชาวิทยาการคำนวณ (coding) วิชาภาษาต่างประเทศ โดยให้ครูผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้หมุนเวียนไปตามโรงเรียนต่างๆ หรือสอนผ่านออนไลน์ เป็นตัวอย่างให้ครูแต่ละโรงเรียนได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอนกัน ซึ่งจะดำเนินการผ่านโครงการความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา โครงการครูแลกเปลี่ยนระหว่างครูไทยและครูต่างชาติ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ถูกบรรจุลงในนโยบาย 5 ข้อ ได้แก่
- คืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี
- เพิ่มครูผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ช่วยครู สำหรับวิชาเฉพาะทาง เช่น ภาษา เทคโนโลยี
- ปรับหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะให้สอดคล้องกับการสอน ลดภาระการทำเอกสาร
- Digital Talent ผู้ช่วยด้านเทคโนโลยีให้กับคุณครู
● เพิ่มสวัสดิการครู
- นโยบายเพิ่มสวัสดิการครูให้เหมาะสม สืบเนื่องจากปัญหาหนึ่งที่พบในปัจจุบัน คือครู กทม. ย้ายออกจากพื้นที่จำนวนมาก เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากประกาศสอบแข่งขันเพื่อบรรจุครูผู้ช่วยครั้งที่ 1/2565 พบว่า มีการกำหนดอัตราเงินเดือนครูผู้ช่วย เริ่มต้นอยู่ที่ 15,050-15,800 บาท ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของครู รวมถึงสวัสดิการบ้านพักครูบางแห่งในกรุงเทพฯ ยังขาดความครอบคลุม โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีค่าครองชีพค่อนข้างสูง นโยบายนี้จึงมุ่งเน้นเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับครูเพิ่มเติมตามความต้องการ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีค่าเช่าสูง รวมถึงช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตให้กับครู
ระดับสถานศึกษา: ส่งเสริมการศึกษา ลดภาระผู้ปกครอง กระจายการเรียนรู้สู่ชุมชน
● พัฒนาคุณภาพโรงเรียนสังกัด กทม.
นโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนสังกัด กทม. และส่งเสริมด้าน
เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ โดยสนับสนุนคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนและพัฒนาให้มี Free Wi-Fi ให้นักเรียนและชุมชนสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงพัฒนาการศึกษาอย่างรอบด้านภายในโรงเรียน ซึ่งประกอบไปด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านการลงมือปฏิบัติ (Action-oriented) และเรียนรู้ร่วมกันในระดับชั้นเรียน ผลักดันให้เกิดสมรรถนะผู้เรียน (Competency) ที่ทันต่อการประกอบอาชีพในอนาคต ส่งเสริมการพัฒนาครูผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ ‘ครูช่วยครู’ และร่วมออกแบบ สะท้อนแนวคิด แนะนำการเรียนการสอนให้กับครู สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร
นอกจากนี้ ยังออกแบบนโยบายเพื่อเพิ่มครูเข้าสู่ระบบการศึกษาในพื้นที่ กทม. โดยสำรวจอัตราบุคลากร กำหนดสาขาการศึกษาที่ขาดแคลน และเปิดรับทุนให้สอดคล้องกับสาขาวิชานั้นๆ ผ่านการขยายโอกาสของทุนเอราวัณ
- ยกระดับห้องแล็บคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียนให้ทันสมัยและเพียงพอ
- พัฒนาการสอนในโรงเรียนด้วยแนวคิด ‘โรงเรียนแห่งการเรียนรู้’ (Learning School)
- พัฒนา Free Wi-Fi ทุกโรงเรียน รองรับการสอนผ่านสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ และการสืบค้นข้อมูล
- ปรับเงื่อนไขทุนเอราวัณ เพิ่มโอกาสสร้างครู กทม.
- โรงเรียนมีประสิทธิภาพด้วย Open Data
● เพิ่มพื้นที่การเรียนรู้
นโบายพัฒนาพื้นที่เรียนรู้และสร้างเป้าหมายร่วมกับชุมชน มีปลายทางสำคัญคือ นักเรียนต้องเข้าถึงการเรียนรู้ได้ในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบโรงเรียนหรือการศึกษานอกห้องเรียน ผลักดันให้ชุมชนเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันทั้งของนักเรียน นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และประชาชนทั่วไปที่มีความตั้งใจอยากช่วยเหลือการศึกษา โดยสนันสนุนพื้นที่การเรียนรู้อย่างห้องสมุดเคลื่อนที่ Co-working space ห้องสมุดออนไลน์ รวมไปถึงพื้นที่แสดงออกทางศิลปะและความสามารถพิเศษอื่นๆ นอกเหนือจากในตำราเรียน ซึ่งประกอบไปด้วยนโยบายย่อย ดังนี้
- เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน
- สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน โครงการพี่สอนน้องนอกเวลาเรียน
- พัฒนาห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้เคลื่อนที่
- วิชาศิลปะนอกห้องเรียน ส่งเสริมความคิด ความสร้างสรรค์ ผ่านแนวร่วมศิลปินทั่วกรุง
- เพิ่มฟังก์ชั่นให้ห้องสมุดเป็น Co-working space
- พัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงาน
- ดูแลห้องสมุดชุมชน บ้านหนังสือ ให้มีความทันสมัยน่าใช้งาน
- ห้องสมุดออนไลน์ (e-Library) อ่าน e-Book ได้จากทุกที่
● สนับสนุนงบประมาณ
นโยบายด้านงบประมาณเพื่อสวัสดิการทางการศึกษาที่ทั่วถึง ส่งเสริมให้เกิดโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบางในพื้นที่ กทม. โดยเน้นการสนับสนุนปัจจัยทางการศึกษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้เงินอุดหนุนค่าชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ประกันอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน สนับสนุนโรงเรียนขยายโอกาสที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบตามหลัก Universal Design เพื่อรองรับคนพิการ รวมถึงพัฒนาหลักสูตรสร้างเสริมอาชีพและรายได้ให้กับคนพิการ ดังนี้
- เรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม
- โรงเรียนเป็นแหล่งโภชนาการที่มีคุณภาพให้กับเยาวชนทั้งมื้อเช้าและมื้อกลางวัน
- ร่วมกับเอกชนจัดหาแท็บเล็ตให้นักเรียนใช้ โดยเฉพาะในช่วงการ Study from home
- ขยายขีดความสามารถของโรงเรียนและศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. ให้สามารถดูแลและฝึกทักษะคนพิการได้
จากรายละเอียดภาพรวม ‘30 นโยบายเรียนดี’ ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สะท้อนให้เห็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องการมุ่งเน้นพัฒนาและปรับเปลี่ยนเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์กับโลกยุคปัจจุบันมากขึ้น โดยส่งเสริมให้มีวิชาเพื่อเสริมทักษะชีวิตและทักษะอาชีพเพื่อรองรับกับตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งเป้าหมายใหญ่คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้เด็กทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม และช่วยลดภาระในการทำงานให้กับครูหรือผู้สอน ไปจนถึงการช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้ผู้ปกครองด้วยเช่นกัน
ท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาด้านการศึกษาในกรุงเทพฯ อาจไม่สามารถได้รับการแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์โดยผู้ว่าฯ กทม. เพียงผู้เดียว หากยังต้องการความร่วมมือจากรัฐบาล หน่วยงาน หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนและให้ความร่วมมือเพื่อผลักดันระบบการศึกษาสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน