‘เจนิก้า’ คือหนึ่งในเด็กอีกนับล้านของประเทศฟิลิปปินส์ ที่การเรียนต่อมหาวิทยาลัยนั้นเป็นเรื่องไกลจนเกินจินตนาการ ครอบครัวของเธอมีรายได้เพียงพอประทังชีวิตเท่านั้น
เธอได้งานทำเป็นพนักงานขายของ ณ ร้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองหลวงฟิลิปปินส์ ได้ค่าแรง 70 ดอลลาร์ต่อเดือน ทำงานวันละ 10 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าน้อยมาก และเป็นเรื่องยากที่จะก้าวหน้าในอาชีพการงาน
กระทั่งเธอได้พบโปรแกรมฝึกทักษะก่อนการจ้างงานที่ชื่อว่า ‘TPaaS’ (Talent Pipeline as a Service) หลังจบโปรแกรม เจนิก้าได้งานทำในบริษัทคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ มีรายได้มากกว่าเดิมถึง 5 เท่า ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำและทำงานอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 5 ปี
การงานของเธอรุดหน้า เธอมีศักยภาพในการรับผิดชอบงานที่ดี และได้เลื่อนตำแหน่งถึง 2 ครั้ง ในปี 2018 เธอเปลี่ยนแปลงตัวเองจนกลายมาเป็นพนักงานที่มีศักยภาพ และตอนนี้เธอได้ใช้ศักยภาพของเธอในการพัฒนาคนอื่น
ไชฮาน ลี (Zhihan Lee) เล่าเรื่องของเจนิก้าก่อนที่จะอธิบายต่อว่า ทักษะที่จำเป็นของเด็กและเยาวชนในยุคสมัยที่ธุรกิจกำลังวิวัฒนาการไปสู่โลกเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่เพียงแค่ทักษะดิจิทัล หรือ STEM (การจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ทักษะความเป็นมนุษย์’
ความเป็นมนุษย์ในโลกดิจิทัล
“ผมอยากให้คุณนึกถึงใครคนหนึ่งที่คุณชื่นชมในอาชีพการงาน คนคนนั้นอาจเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่คุณทำงานด้วยอย่างใกล้ชิด
“ทำไมคนคนนี้ถึงได้พิเศษสำหรับคุณ เขามีพฤติกรรม ทัศนคติ ทักษะแบบไหน ที่ทำให้คุณมองว่าเขาประสบความสำเร็จ?”
ไชฮาน ลี เริ่มต้นด้วยประโยคคำถาม เขาเว้นวรรคให้ผู้ฟังได้คิดตามอยู่ครู่หนึ่ง จึงเฉลยมุมมองของเขาด้วยประโยคคำถามอีกเช่นกัน
“คุณเห็นด้วยไหมว่า ทัศนคติ พฤติกรรม และทักษะหลายๆ ด้านของคนคนนั้น ทำให้คุณรู้สึกปลอดภัย มั่นใจ และได้รับแรงบันดาลใจ คุณจะเรียกคุณสมบัติเหล่านี้ที่คนคนนั้นมีอยู่ว่าอย่างไร”
สำหรับลี ซีอีโอหนุ่มแห่ง BagoSphere คุณสมบัติที่ว่านั้น เขาเรียกมันว่า ‘พฤติกรรมของมนุษย์’ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับอาชีพในอนาคต
ด้วยประสบการณ์ทำงานของลี ทั้งในฐานะสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ในสตอกโฮล์ม และการได้ทำงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานด้าน IT ในแถบชนบทอินเดีย ทำให้เขามองเห็นภูมิทัศน์ของโลกอุตสาหกรรมที่เรียกร้องทักษะจากคนทำงานในหลายแง่มุม
“ปัญหาของโลกปัจจุบันคือ เราเน้นหนักแต่เรื่องทักษะ STEM สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความกังวลมากขึ้น เพราะทักษะหลักในตอนนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ทักษะดิจิทัล หรือ STEM เท่านั้น”
จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยธนาคารโลกในปี 2017 ว่าด้วยนายจ้างที่มองหาลูกจ้างในประเทศฟิลิปปินส์ พบว่า 1 ใน 3 ของนายจ้างทั้งหมดไม่สามารถหาพนักงานมาเติมตำแหน่งว่างได้ เหตุผลหลักคือ เขาเหล่านั้นมองหาคนที่มีทักษะทางอารมณ์และสังคม การสื่อสาร ความสามารถในการปรับตัว การแก้ไขปัญหา การคิดอย่างมีเหตุผล การพูดในที่สาธารณะ
หรืออีกหนึ่งข้อมูลจาก PricewaterhouseCoopers pwc ที่ได้สำรวจความต้องการแรงงานของกลุ่มซีอีโอ พบว่า ทักษะหลักๆ ที่เหล่านายจ้างกำลังมองหา คือทักษะการแก้ปัญหา การเป็นผู้นำ การปรับตัว ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
ทั้งหมดที่ว่านี้ ลีกล่าวว่า มันคือทักษะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์
“น่าเสียดายที่วิกฤติ COVID-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นต่อการเข้ามามีบทบาทของ AI เครื่องจักรอัตโนมัติที่ได้เข้ามาในชีวิตเราเมื่อ 10-15 ปีที่แล้ว
“จากข้อมูลของกรมแรงงานในฟิลิปปินส์ คนจำนวน 5-10 ล้านคน กำลังจะไม่มีงานทำ หรือตกงานไปแล้ว”
สำหรับนายจ้างแล้ว โลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและมีตัวแปรมหาศาลที่พร้อมจะ disrupt ธุรกิจอยู่ตลอดเวลานั้น ส่งผลให้เหล่านายจ้างต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น การทำงานจากที่บ้าน หรือต้องคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนของเทรนด์ต่างๆ นั่นหมายความว่า หากลูกจ้างไม่ปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง นั่นคงไม่ใช่สัญญาณที่ดีนัก
“เราเห็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่แค่การขาดทักษะด้านดิจิทัลและ STEM ขณะเดียวกันเราก็ยังมุ่งเน้นการแก้ปัญหาแค่จุดนั้น แต่ทักษะมนุษย์ขั้นพื้นฐาน เช่น การแก้ไขปัญหา ภาวะผู้นำ กลับกลายเป็นทักษะที่ยังขาดแคลนเป็นอย่างมาก”
ในขณะที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ยิ่งทำให้เราทำงานไกลกันมากขึ้น เจอหน้ากันน้อยลง ลีเชื่อว่าการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลูกจ้างในการทำงานให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น
นั่นทำให้เขาเกิดคำถามและมองหาทางออก ว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะปล่อยให้แรงงานมหาศาลต้องตกงานจริงหรือ ทักษะที่เรามองว่าสำคัญในปัจจุบันที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชน แท้จริงแล้วยังขาดสิ่งใดหรือไม่ ไปจนถึงอานุภาพของปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังขับเคลื่อนโลก แล้วมนุษย์อย่างเราๆ จะหยัดยืนอยู่ตรงไหนกันดี
หางานให้กับคน – หาคนให้เหมาะกับงาน
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ลีจึงมองหาวิธีการบางอย่างเพื่อปิดช่องว่างด้านการขาดทักษะของมนุษย์ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ และสร้างกลไกการบริหารจัดการคนที่มีศักยภาพ เขาเรียกสิ่งนี้ว่า Talent Pipeline as a Service หรือ TPaaS
สิ่งแรกที่เขาทำ คือโปรแกรมก่อนการจ้างงาน โดยโฟกัสไปที่กลุ่มเยาวชนจนถึงวัยทำงาน 18-35 ปี ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้หญิงที่จบการศึกษามัธยมปลายในพื้นที่ชนบทแล้วออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน ซึ่งโปรแกรมนี้จะเชื่อมต่อกับบริษัทข้ามชาติในฟิลิปปินส์ เพื่อทำหน้าที่ฝึกฝนและพัฒนาทักษะของนักเรียนผ่านหน้างานจริง โดยมีรายได้ตอบแทนประมาณ 300-350 ดอลลาร์ต่อเดือน คิดเป็น 2 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำในฟิลิปปินส์ อีกทั้งเด็กและเยาวชนที่ผ่านโปรมแกรมนี้จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจาก Ateneo de Manila University อีกด้วย
นอกจากการเตรียมความพร้อมของเยาวชนก่อนการจ้างงาน TPaaS ยังทำงานต่อเนื่องตั้งแต่หางานให้คน และหาคนให้เหมาะกับงาน เพื่อให้แรงงานทำหน้าที่ได้สอดคล้องกับศักยภาพ พร้อมๆ กับสร้างทักษะใหม่ที่จะรองรับการทำงานในอนาคตให้แก่พวกเขา
ลีเชื่อว่า การเชื่อมโยงการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับผลลัพธ์ทางธุรกิจนั้นสำคัญ สิ่งนี้แม้อาจฟังดูง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้วเขาพบว่า บริษัทจำนวนมากยังไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง และมักจัดอบรมพนักงานทั้งที่ยังไม่เข้าใจบริบทของธุรกิจนั้นๆ
การเรียนรู้จะเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ทางธุรกิจหมายถึงอะไร? ลีอธิบายง่ายๆ ผ่านตัวอย่างนี้
“ถ้าผมต้องการลดช่วงเวลาในการคุยสายกับ call center ให้น้อยลง โดยผมเข้าใจว่าองค์กรที่ผมทำงานด้วยนั้นต้องการลดค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย ผมจะพยายามดูว่าสถานการณ์ใดที่เราสามารถลดช่วงเวลาการโทรได้บ้างในแต่ละครั้ง และเหตุการณ์สำคัญที่หลายๆ คนเจอ คือการรับมือกับลูกค้าที่กำลังโมโห เราจึงนำสถานการณ์เหล่านี้มาเป็นตัวอย่าง เพื่อที่จะนำมาเรียนรู้ว่าพนักงานจะต้องรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร
“เราได้สร้างโปรแกรมที่เป็นชุดคำสั่งรวมทักษะความเป็นมนุษย์ 7 อย่างเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะพยายามแก้ปัญหานี้ เพราะสถานการณ์นี้เราไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะมนุษย์ทั้งหมดที่เรามี ผมคิดว่าสิ่งที่เราเรียนรู้จากตรงนี้ คือเราพยายามที่จะสอนเพื่อเพิ่มทักษะความเป็นมนุษย์หรือทักษะทางอารมณ์และสังคมได้”
ท้ายที่สุดแล้ว การศึกษาและการพัฒนาอาชีพของเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสในทุกสังคม อาจต้องก้าวเดินไปในจังหวะเดียวกันกับการเดินทางของโลกธุรกิจ การมีหลายหลากทักษะอาจฟังดูง่าย เช่น ความเป็นมนุษย์อันเป็นพื้นฐานของชีวิต การสื่อสาร การเข้าสังคม แต่แท้จริงแล้ว ทักษะเหล่านี้จำเป็นอย่างมากที่สังคมต้องให้ความสำคัญ และมองเห็นว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ คือทักษะที่จะทำให้ผู้คนมีโอกาสหยัดยืนและก้าวหน้าในการงาน