สถานการณ์ทางการเมืองของโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่งผลให้จำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลที่พ่วงมากับการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานคือ จำนวนประชากรที่กระจุกอยู่ในศูนย์พักพิง ทรัพยากรที่ไม่เพียงพอจะรองรับทุกชีวิต นำมาซึ่งความขาดแคลนในแทบทุกมิติ รวมไปถึงโอกาสในการเข้าสู่การศึกษาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดี
สถิติที่ปรากฏในรายงาน Global Trends ซึ่งเผยแพร่ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2564 มีผู้ลี้ภัยจากทั่วโลกเป็นจำนวน 21.3 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากจำนวน 10.5 ล้านคนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในจำนวนนั้นมีผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ในวัยเรียนถึง 7.4 ล้านคน
เยาวชนจำนวนไม่น้อยอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย สิ่งที่ตามมาคือความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามรายงาน ‘STEPPING UP: Refugee Education in Crisis’ ระบุว่ามีผู้ลี้ภัยวัยเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 3.7 ล้านคน อันเนื่องมาจากข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษา ทั้งนี้ ข้อมูลในปี พ.ศ. 2561 มีผู้ลี้ภัยเด็กที่ได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาทั้งหมด 63% จากจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่ยังอยู่ในวัยเรียน ขณะที่จำนวนผู้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษาคิดเป็น 24% และ 3% ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเพียง 1-2% เท่านั้น
แม้ว่าภาพรวมการเข้าถึงการศึกษาของผู้ลี้ภัยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อนำตัวเลขเหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับจำนวนเยาวชนที่มีสิทธิเข้าถึงการศึกษาในระดับเดียวกัน ก็ยิ่งค่อนข้างชัดว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยยังขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาที่มีเด็กอยู่ในระบบถึง 84% จากทั่วทั้งโลก
มองย้อนกลับมายังประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีผู้ลี้ภัยเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก ตัวเลขผู้ลี้ภัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งถูกเปิดเผยในงานวิจัย ‘อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย’ โดยองค์กรช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the Children) เมื่อปี พ.ศ. 2561 มีจำนวนถึง 6,000 คน ซึ่งเป็นเด็กมากกว่า 2,000 คน เมื่อเด็กเหล่านี้ถูกควบคุมตัวไว้ในสถานกักกัน จึงถูกลิดรอนโอกาสทางการศึกษา ส่งผลระยะยาวถึงคุณภาพชีวิตในวัยผู้ใหญ่
แนวทางเพื่อส่งเสริมด้านการศึกษาให้แก่ผู้ลี้ภัยซึ่งค้นพบจากงานวิจัยดังกล่าว อธิบายไว้ว่าแม้รัฐบาลจะสนับสนุนการศึกษาแก่ผู้ลี้ภัยผ่านนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน (Education For All) แต่ยังพบช่องโหว่ซึ่งไม่ครอบคลุมและไม่สอดรับกับนโยบายการจัดการผู้ลี้ภัย ทำให้เกิดความทับซ้อนของการจัดการศึกษา เด็กจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเต็มที่ บางส่วนไม่กล้าเข้าสู่ระบบการศึกษาส่วนกลางเพราะมีความกังวลในเรื่องสิทธิและการมีตัวตนอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลควรให้การรับรองการมีตัวตนของผู้ลี้ภัย ทำให้เด็กได้รับสถานะอย่างถูกต้องเพื่อช่วยให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาของประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ในส่วนของผู้ปกครอง เมื่อได้รับสถานะแล้วรัฐควรสนับสนุนให้ได้ทำงานอย่างถูกต้องเพื่อให้มีรายได้สำหรับการศึกษาของลูก
นอกเหนือจากการสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยเด็กได้เข้าถึงการศึกษาในระบบกลาง ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการ Urban Education Project (UEP) ขององค์การเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย (Jesuit Refugee Service) ภาคเอเชียแฟซิฟิก ได้ดำเนินการสนับสนุนการศึกษาแก่ผู้ลี้ภัยที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ กทม. โดยเน้นการศึกษาระยะสั้นและส่งเสริมทักษะที่สามารถต่อยอดในการทำงานได้ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของโครงการคือข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยได้สามารถมีส่วนร่วมในพื้นที่การเรียนรู้นี้ได้
ที่มา