เมื่อความเสมอภาคทางการศึกษาไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงการแสวงหาผู้สนับสนุนด้านการระดมทุน ทว่าต้องควบคู่กับการพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่เพื่อการพัฒนา หรือเรียกว่า ‘นวัตกรรมทางการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ (innovative finance) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกทางการเงินโดยเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ที่สนใจให้ทุนเพื่อการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น
Equity lab ชวนสนทนากับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อบอกเล่าความเป็นไปได้ของนวัตกรรมทางการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในสังคมไทย
อะไรคือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
เนื่องจากปัจจุบันวิธีการระดมทุนเพื่อการช่วยเหลือด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องพัฒนาการมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการด้านการศึกษาและด้านสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย อาจไม่ใช่เพียงแค่การทำสัญญารูปแบบเดิมที่หน่วยงานรัฐจ้างภาคเอกชนให้จัดกิจกรรม แล้วภาครัฐก็จ่ายเงินตามกิจกรรมหรือผลผลิต และจบไปโดยไม่ได้พิจารณาผลลัพธ์ว่าเป็นยังไง
การพัฒนาผู้ให้บริการด้านการศึกษาต่างๆ ที่เรากำลังพูดถึงคือ การทำสัญญารูปแบบใหม่ โดยรัฐจะจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการเมื่อโครงการประสบความสำเร็จ (pay for success) ตามเป้าหมายที่วางไว้ ภาครัฐสามารถเลือกที่จะจ่ายเงินก้อนแรกให้ก่อนสำหรับนำไปดำเนินกิจกรรมเบื้องต้นซึ่งระหว่างนี้จะต้องมีการติดตามการดำเนินการ หากผลลัพธ์ประสบความสำเร็จตามที่ตกลงกันไว้ รัฐจึงจะจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนที่เหลือ ถ้าผลลัพธ์ไม่ประสบความสำเร็จ เรียกได้ว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในกรณีนี้ผู้ให้บริการด้านการศึกษาก็จะพยายามเป็นอย่างมากเพื่อให้ผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมาย
ประกอบกับทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อยากรู้ว่ามีนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใดบ้างนอกเหนือจากสิ่งที่เขาดำเนินการอยู่แล้ว เราจึงไปศึกษาภูมิทัศน์ของนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการศึกษาให้ กสศ. ในปีแรก และต่อมาในปีที่ 2 เราพิจารณาจากสิ่งที่ศึกษาว่า มีอะไรบ้างที่ กสศ. สามารถถอดบทเรียน แล้วพัฒนาเป็นโครงการและนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้
ผลจากการศึกษารูปแบบนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการศึกษา นำไปสู่ข้อค้นพบอย่างไรบ้าง
ตอนนี้เรามีโครงสร้างหลัก คือ Pay For Success model (PFS) หรือรูปแบบการจ่ายเงินตามผลลัพธ์ ซึ่งมีโครงสร้างย่อยที่ชื่อว่า สัญญาเพื่อผลลัพธ์ทางการศึกษา (Outcome-Based Contact) เป็นสัญญาที่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ในการดำเนินการของผู้ให้บริการทางการศึกษา ในที่นี้คือ Vulcan Coalition บริษัทผู้จัดเตรียมข้อมูลด้านระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับบริษัทเอกชนอื่นๆ
เนื่องจากเราเล็งเห็นว่า ปัจจุบันมีการจ้างผู้พิการในการทำงานป้อนข้อมูล และทางบริษัท Vulcan ก็อยากทำงานกับนักศึกษาทุพพลภาพอยู่แล้ว ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในความสนใจของ กสศ. เราเลยมาพิจารณากันว่า จะสามารถดำเนินโครงการร่วมกันได้ไหม แล้วเราสามารถช่วยเหลืออะไรเขาได้บ้าง และให้ทางบริษัทประเมินค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยงวดแรกเราจะจ่ายล่วงหน้าให้ก่อน 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 60 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเราจะประเมินตามผลลัพธ์ความสำเร็จ
แรกเริ่มกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้เน้นไปที่กลุ่มผู้มีปัญหาด้านการสื่อสารหรือผู้บกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา ภาคค่ำ วิทยาลัยเทคนิคดอนบอสโก และได้รับการจ้างงานจากบริษัทที่พาร์ทเนอร์กับ Vulcan ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 ทั้งนี้ เพื่อขยายขอบเขตการศึกษาให้กว้างขึ้น เราจึงเพิ่มนักศึกษากลุ่มผู้บกพร่องทางด้านสายตาและด้านการเคลื่อนไหว จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการอื่นๆ กับ Vulcan อยู่แล้ว
งานส่วนหนึ่งที่เราทำคือ ดูว่านักศึกษากลุ่มนี้ขาดอะไร ต้องการอะไร อย่างตอนไปคุยกับวิทยาลัยเทคนิคดอนบอสโก เราสัมภาษณ์คุณครูที่ดูแลนักศึกษาด้วย ประเด็นสำคัญที่พบคือ เขาไม่มีคอมพิวเตอร์ในการทำงาน เขาต้องใช้โทรศัพท์มือถือแทน ทำให้เสียสายตา หลายครั้งทำงานผิดพลาด ซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำงานเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ศักยภาพการทำงานของเขาต่ำกว่ากลุ่มที่มีคอมพิวเตอร์ในการทำงาน
นอกจากนี้ บางกรณีที่ทำงานในมือถือไม่ได้ เขาจะไปยืมคอมพิวเตอร์รุ่นพี่ตอนกลางคืน เพราะรุ่นพี่ใช้ตอนกลางวัน ส่วนรุ่นพี่ก็ต้องไปนอนเฝ้าคอมพิวเตอร์ มันก็เป็นความลำบากในการแบ่งปันคอมพิวเตอร์รูปแบบนี้ ถ้าวิทยาลัยเทคนิคดอนบอสโกได้ทรัพยากรมาเพิ่มก็น่าจะดีขึ้น เพราะเขาสามารถที่จะเอาคอมพิวเตอร์ไปใช้ในรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป หรือใช้ในกิจกรรมอื่นได้ เป็นผลประโยชน์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวสำหรับนักศึกษา
นักศึกษาพิการที่เข้ามาทำงานในโครงการนี้จะได้รับการพัฒนาอย่างไรบ้าง
สำหรับนักศึกษาอาชีวะ เขาจะมีหน้าที่จำแนกรูปภาพที่มีว่าคืออะไร เช่น รูปเก้าอี้ ก็กดรูปเก้าอี้และเลือกคำว่าเก้าอี้ เป็นการทำแบบนี้ซ้ำๆ เพื่อป้อนข้อมูลให้ AI เรียนรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร โดยนักศึกษากลุ่มนี้ต้องผ่านการอบรมและการทดสอบก่อนจึงจะมาทำงานนี้ได้
ขณะเดียวกันยังมีการอบรมเพิ่มเติมที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเด็กพิการ เนื่องจากเด็กพิการจะมีโอกาสเข้าถึงการอบรมต่างๆ น้อยกว่าเด็กปกติ ซึ่งการอบรมนี้เราจะให้เด็กแต่ละคนเลือกว่าตัวเองอยากจะเรียนเรื่องอะไร จากการให้เขาทำแบบสอบถามว่า เด็กต้องการการอบรมอะไรบ้างที่สามารถนำไปประกอบอาชีพ เพื่อจะได้จัดหาหลักสูตรการอบรมที่ตรงความต้องการของเด็กกลุ่มนี้มากที่สุด โดยมีหลักสูตรการอบรมทั้งเรื่องการทำธุรกิจโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) หรือช่องทางออนไลน์ การทำกราฟิกเพื่อวาดภาพสติกเกอร์ไลน์ขาย และการเขียนคอนเทนต์เพื่อการตลาดที่เหมาะกับนักศึกษาพิการกลุ่มต่างๆ ซึ่งเราเป็นคนเสนอให้บริษัท Vulcan ทำและพัฒนาเพิ่มเติมเป็นสื่อการสอนออนไลน์ระยะสั้นที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มพิการโดยเฉพาะ ถ้าทาง Vulcan สามารถแสดงให้เห็นว่า เขาช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้ประสบความสำเร็จได้ เราก็สามารถจ่ายเงินก้อนที่สองให้เขาได้ ตามสัญญาการจ่ายเงินตามความสำเร็จ
อะไรคือตัวชี้วัดว่า โครงการประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือนักศึกษาพิการ
เรามีตัวชี้วัด 2 ตัว เนื่องจากเป็นโครงการระยะสั้น 5 เดือน โดยตัวชี้วัดที่แรกเป็นเรื่องของผลลัพธ์ (outcome) ซึ่งคำนวณจากผลการทำงานเป็นหน่วยเหรียญ (token) ตามเกณฑ์ทำงานที่จะต้องทำให้ได้ 8,000 เหรียญต่อเดือน หรือราว 80 ชั่วโมง ในกรณีที่เด็กทำงานเร็วและมีคุณภาพก็สามารถสะสมครบ 8,000 เหรียญได้ โดยไม่ต้องทำงานถึง 80 ชั่วโมง
เดิมทีนักศึกษาพิการที่ทำงานป้อนข้อมูลให้กับ AI แม้จะได้รับการว่าจ้างตามมาตรา 35 แต่ถ้าทำงานคุณภาพไม่ดี หรือจำนวนเหรียญไม่ครบตามกำหนด ก็จะไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเด็กไม่มีอุปกรณ์หรือไม่มีความพร้อมในการทำงาน ทำให้พวกเขาไม่สามารถทำงานให้สำเร็จตามเกณฑ์ของบริษัทได้ แล้วพวกเขาก็ต้องไปหางานตามร้านกาแฟที่มีระดับรายได้ต่ำกว่าและความมั่นคงน้อยกว่า และกลุ่มพิการที่สื่อสารลำบาก โอกาสการจ้างงานก็จะต่ำลงไปด้วย
อีกส่วนหนึ่ง Vulcan ต้องแสดงให้เห็นว่า เมื่อได้รับเงินส่วนแรกแล้ว เด็กที่ทำงานให้เขาแม้จะไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ก็มีประสิทธิภาพการทำงานได้เทียบเท่ากับเด็กที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ แล้วสามารถอยู่ในระบบนี้ได้ สามารถทำงานเก็บเงินได้ต่อไป เราจะใช้เวลาในการประเมินส่วนนี้ประมาณ 4 เดือน ดูว่าแต่ละเดือนเขาสามารถจัดกิจกรรมได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ไหม โดยประเมินจากชั่วโมงการทำงานและหลักฐานในการจ่ายเงินให้กับเด็ก เพื่อดูว่าเด็กยังคงอยู่ในระบบและได้รับเงินจริง
ส่วนตัวชี้วัดที่ 2 คือผลผลิต (output) ที่เราจะประเมินจากผลผลิตของหลักสูตรการอบรมต่างๆ และแบบทดสอบที่เด็กจะทำหลังอบรมเสร็จสิ้น ซึ่งเด็กต้องผ่าน 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเด็กทั้งหมดในโครงการ รวมถึงประเมินการจัดตั้งร้านค้าออนไลน์ จำนวน 16 ร้าน ซึ่งการประเมินจะยุติที่ตรงนี้สำหรับการอบรม เนื่องจากโครงการเราเป็นโครงการระยะสั้น ขณะที่ทักษะที่ได้จากการอบรมจำเป็นต้องใช้เวลา ทำให้ไม่สามารถประเมินที่ผลลัพธ์ได้ว่าเด็กสามารถสร้างรายได้จากการอบรมหรือไม่
ทั้งนี้ เราหวังว่าปลายปีจะไปติดตามผลกับ Vulcan อีกครั้งว่า เด็กได้นำทักษะที่ได้จากการอบรมไปใช้ไหม ทักษะเหล่านี้ก่อให้เกิดรายได้กับเขาหรือเปล่า เราจึงจะรู้ว่าโครงการประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
นอกจากการมีหรือไม่มีคอมพิวเตอร์แล้วยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาอีกไหม
จริงๆ เราดูที่ผลลัพธ์ว่าการมีคอมพิวเตอร์ส่งผลยังไงกับการทำงานของเด็ก จำนวนชั่วโมงการทำงานเด็กเพิ่มขึ้นไหม เพราะจากการสัมภาษณ์เด็กที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ เขาจะเหนื่อยล้า ไม่อยากทำงาน หรือว่าประสบปัญหาท้อแท้ และมีโอกาสเลิกทำงาน ฉะนั้นเราคิดว่า การมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นให้เขาอยากที่จะทำงานหรือมากขึ้น ช่วยให้เขามีรายได้เพิ่มเติมในช่วงเรียนหนังสือมากขึ้น และสะสมทักษะไปด้วย
นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องอุปกรณ์อย่างเดียว ยังมีเรื่องแรงผลักดันจากภายนอก คือทักษะทางสังคม (soft skill) ที่เราปลูกฝังและกระตุ้นให้เขาทำงาน บางทีอาจมาจากผู้สอน ผู้ดูแล หรือรุ่นพี่บอกต่อรุ่นน้องก็ได้ หัวใจสำคัญต้องมาจากการดูแลเด็ก เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กไม่ได้ตกหล่นไปไหน ยังอยู่ในระบบ ยังทำงานอยู่นะ หรือใครที่ประสบปัญหาก็จะมีคนสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ โดย Vulcan สามารถติดตามจำนวนชั่วโมงการทำงานและคุณภาพของงานได้ตลอดเวลา อีกทั้งช่วยกระตุ้นเด็กได้ เช่น ให้ข้อมูลผลการทำงานกับเด็ก บอกกับเขาว่าอย่าลืมทำงานนะ นี่เป็นสิ่งเพิ่มเติมเข้ามา
การอบรมเพิ่มทักษะต่างๆ ให้กับนักศึกษาผู้พิการ จะมีส่วนช่วยให้เขาสามารถทำงานหารายได้เลี้ยงชีพในอนาคตได้อย่างไรบ้าง
เราคิดว่าขึ้นอยู่กับการติดตามและการประเมินในอนาคตระยะยาว ถ้าเราวางระบบในการติดตามดี จะทำให้เราได้รู้ว่า จริงๆ แล้วทักษะที่เพิ่มขึ้นมาของคนที่ผ่านโครงการนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ผ่านโครงการ มีพัฒนาการในเรื่องของรายได้และการใช้ชีวิตดีกว่าอีกกลุ่มหนึ่งหรือเปล่า
เด็กในโครงการเราเป็นกลุ่ม ปวช. ปวส. ระยะเวลา 1-2 ปี เรายังสามารถติดตามเขาได้ เพียงแค่อาจจะต้องหากลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น สนับสนุนให้มากขึ้น และติดตามอย่างเป็นระบบมากขึ้น เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการระยะเริ่มต้นที่เพิ่งเคยมีมา เราอาจจะมาคุยกันและตอบได้ภายในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
มีความคาดหวังอย่างไรบ้างจากการผลักดันโครงการนี้
เราคาดการณ์ว่าการศึกษานี้จะช่วยให้เกิดรูปแบบการทำสัญญาจ้างที่ส่งเสริมนวัตกรรมต่างๆ เพื่อการศึกษาและสังคมเพิ่มขึ้น เพราะนวัตกรรมเพื่อสังคมบางอย่างหาทุนสนับสนุนค่อนข้างลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเงินบริจาค การระดมทุน หรือรูปแบบต่างๆ ซึ่งบางครั้งไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้มีข้อจำกัดตรงนี้อยู่
นวัตกรรมการจ่ายเงินเมื่อประสบความสำเร็จ จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เป็นรูปแบบของการแบ่งความเสี่ยงกันระหว่างภาครัฐกับผู้ให้บริการธุรกิจเพื่อสังคม ทำให้ภาครัฐกล้าที่จะลงทุนสนับสนุนในโครงการที่มีความเสี่ยงมากขึ้นโดยการที่ภาคเอกชนรับความเสี่ยงส่วนหนึ่งก็เป็นเหมือนแรงจูงใจให้ลงแรงมากขึ้นเพื่อความสำเร็จได้ และถ้าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายรัฐก็จะสนับสนุนการลงทุนนั้นทั้งหมด จะเห็นได้ว่าถ้าไม่สำเร็จภาครัฐก็เสียทรัพยากรเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เราเลยคาดการณ์ว่านวัตกรรมรูปแบบนี้จะช่วยให้เกิดโครงการที่มีแนวทางเดียวกันนี้มากขึ้น รวมถึงกระตุ้นการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น
แน่นอนว่านวัตกรรมทางการเงินยังมีรูปแบบอื่นๆ อีก เนื่องจากไม่ใช่ว่าธุรกิจเพื่อสังคมทุกองค์กรจะมีศักยภาพในการแบกรับความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเพื่อสังคมขนาดเล็ก เราอาจต้องขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากบุคคลที่สามด้วย ซึ่งเรียกว่าการลงทุนเพื่อผลลัพธ์สังคม (social impact investment) เช่น บริษัทขนาดใหญ่ที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม (corporate social responsibility: CSR) อยู่แล้ว อาจมาลองสนับสนุนกิจกรรมด้านนี้ โดยภาครัฐจะจ่ายเงินคืนให้กับภาคเอกชนถ้าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ส่วนผู้ให้บริการก็ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงด้านการเงิน แต่ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์จากการที่หลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกันทำให้โครงการประสบความสำเร็จมากขึ้น หรือ การการันตีเพื่อผลลัพธ์สังคม (social impact garantee) เช่น บริษัทขนาดใหญ่ที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) สามารถการันตีผลลัพธ์ของโครงการในรูปแบบเงินบริจาคได้