การเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างคนนอกและคนในเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในพื้นที่ชายแดน บ้างเป็นการขยับเคลื่อนชั่วคราว บ้างก็เป็นการลงหลักปักฐานถาวร แต่ไม่ว่าการเข้าออกนั้นจะเป็นการกระทำที่ถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม การยอมรับว่าพวกเขาทุกคนมีสิทธิความเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิต ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ในการเข้ามาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเดิม ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศหมุดหมายของผู้คนจากประเทศรอบข้าง ไม่ว่าจากการให้เงินค่าแรงที่สูงกว่า มีความต้องการแรงงานสูง ตลอดจนถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพมากกว่า
อย่างไรก็ดี การเคลื่อนย้ายข้ามดินแดนก็ไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว การพาครอบครัวตามติดมาด้วยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ เมื่อครอบครัวเป็นสิ่งที่ถูกนำเข้ามาอยู่ในสมการด้วยแล้ว ‘เด็ก’ ก็เป็นตัวแปรที่ไม่สามารถถูกทิ้งให้อยู่นอกเหนือการพิจารณาได้
Chaw Chaw Mu ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของศูนย์การเรียนรู้ของผู้อพยพ ‘Thu Kha Han Tar’ ศูนย์บริการการศึกษาแก่เด็กย้ายถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเมียนมา ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
Thu Kha Han Tar ถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 เพื่อสร้างโอกาสให้แก่เด็กอพยพ ภายใต้โปรแกรมการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยอย่างไม่เป็นทางการ (Non-Formal Primary Education: NFPE) และได้ขยายเพิ่มโปรแกรมการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอย่างไม่เป็นทางการ (Non-Formal Middle School Education: NFME) ในปี 2016
โปรแกรม NFME ที่เป็นส่วนต่อขยายของโปรแกรม NFPE มีนักเรียนกลุ่มแรกเป็นจำนวน 20 คน โดยหลังจากสำเร็จชั้นการศึกษาสูงสุดในปี 2019 แล้ว มีนักเรียนกว่า 12 คน ได้เข้ารับการศึกษาต่อในระดับมัธยมปลาย
“สำหรับในตอนนี้ ทางศูนย์ฯ กำลังดูแลกลุ่มนักเรียน NFME ชุดที่ 2 เป็นจำนวน 20 คนด้วยกัน” Chaw Chaw Mu กล่าว
รูปแบบการเรียนการสอนภายในศูนย์ฯ จะดำเนินตามคู่มือการฝึกอบรม ทั้งทางด้านวิชาการและทางด้านวิชาชีพ
“พวกเราต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนรู้ทางด้านเกษตรกรรม หัตถกรรม งานแนะแนวอาชีพ หนังสือนิทาน และแบบฝึกหัด ตลอดจนถึงทักษะการวาดภาพประกอบ และการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์”
การกล่อมเกลาให้เยาวชนในค่ายผู้อพยพเข้ามาเป็นนักเรียนภายใต้ระบบการศึกษาของศูนย์การเรียนรู้ Thu Kha Han Tar นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วเด็กนักเรียนที่เป็นลูกหลานของผู้อพยพ มักขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม หรือสถานะบุคคลตามกฎหมาย ทั้งตัวผู้ปกครองหรือตัวเด็กผู้อพยพเอง ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทยได้ หรือหากสามารถส่งเด็กเข้าไปอยู่ในโรงเรียนได้ ก็มักจะเรียนต่อไปจนจบการศึกษาภาคบังคับไม่ได้ และกลายเป็นปัญหาการออกจากโรงเรียนกลางคัน
ด้วยความด้อยโอกาสเหล่านี้เอง เด็กซึ่งอพยพมาตามครอบครัวจึงมีแนวโน้มสูงที่จะต้องขายแรงงานหาเลี้ยงชีพตั้งแต่อายุยังน้อย
“พ่อแม่ของพวกเขาอพยพมาจากเมียนมา เพื่อมาทำงานในประเทศไทย พวกเขาบางคนไม่ได้รับการศึกษา เด็กๆ ส่วนใหญ่ต้องทำงานในโรงงาน บางคนทำงานก่อสร้าง บางคนต้องขายของ ซึ่งตามจริงแล้วเด็กเหล่านี้สามารถเข้าเรียนหนังสือได้เต็มเวลา และเข้าเรียนได้ตามปกติ… เราจึงสร้างเทคนิคและวิธีการสอนให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
“และเมื่อสำเร็จการศึกษาเรียบร้อยแล้ว พวกเขาสามารถนำใบรับรองการศึกษาที่ออกโดยศูนย์ฯ ของเรา ไปใช้ยื่นศึกษาต่อได้ทั้งกับโรงเรียนของเมียนมา ในกรณีที่พ่อแม่ของพวกเขาย้ายกลับไปยังเมียนมา หรือในกรณีที่พ่อแม่ของเขายังไม่ได้ย้ายกลับ พวกเขาก็สามารถนำไปใช้ยื่นเพื่อเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมปลาย ในสถานศึกษาซึ่งมีลักษณะคล้ายศูนย์ของพวกเราได้เช่นกัน”
Chaw Chaw Mu ยังได้กล่าวถึงความสำเร็จของศูนย์ฯ อีกว่า
“การที่เด็กนักเรียนสามารถรับรู้ได้ว่า พวกเขายังคงมีคุณครู และโอกาสที่จะได้เรียนรู้… พวกเขาสามารถเรียนรู้และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง อันจะนำไปสู่ความตระหนักรู้ว่า พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ในทุกที่ ทุกเวลา”
ศูนย์การเรียนรู้ Thu Kha Han Tar ยังช่วยให้ “ผู้ปกครองรู้บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง ในความเกี่ยวข้องต่อการศึกษาของบุตรหลานของพวกเขาอีกด้วย”
นับเป็นพันธกิจยิ่งใหญ่ของศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กชายแดนที่ต้องการส่งมอบโอกาสแก่เด็กทุกคน ตราบใดที่คำว่าสิทธิความเป็นมนุษย์ยังมีอยู่จริง
อ้างอิง
- วัลยา มนัสเกษมสิริกุล. (2551). กระบวนการการจัดการศึกษาสําหรับเด็กย้ายถิ่นข้ามชาติโดยองค์กรพัฒนาเอกชน: กรณีศึกษาอําเภอแม่สอด จังหวัดตาก (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต). สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม (สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย.