เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 Equity Lab โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี โรงพยาบาลยมราช สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุพรรณบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลสองพี่น้อง และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี จัดกิจกรรมคัดกรองสายตานักเรียน ภายใต้โครงการทัศนมาตรศาสตร์เคลื่อนที่ ณ โรงเรียนบางลี่วิทยา จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเข้ารับการตรวจคัดกรอง จำนวนกว่า 233 คน 20 โรงเรียนในอำเภอสองพี่น้องและพื้นที่ใกล้เคียง
กิจกรรมนี้เป็นการนำต้นแบบนวัตกรรมการตรวจคัดกรองสายตา จากการดำเนินโครงการนำร่อง
I SEE THE FUTURE ที่ Equity lab ร่วมกับ สปสช. สมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย
สร้างกลไกส่งเสริมการทำงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิ ทั้งบริการตรวจวัดสายตาและได้รับแว่นสายตาที่มีคุณภาพ และเกิดระบบส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตาอย่างทันท่วงที รวมทั้งการดำเนินงานในครั้งนี้ได้นำระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ หรือ OBEC Care ซึ่งเป็นระบบที่จัดเก็บข้อมูลนักเรียนและคัดกรองความเสี่ยงในทุกมิติ หนึ่งในนั้นคือมิติด้านสุขภาพกายที่เชื่อมโยงถึงปัญหาด้านสายตา ซึ่งข้อมูลจะถูกนำมาวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อช่วยเหลือดูแลนักเรียนได้อย่างตรงจุด และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่าโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในการศึกษาอาจจะเริ่มต้นจากสิ่งที่ใกล้ตัวเด็กๆ คือเรื่องการมองเห็น
“กระดาษทดสอบสายตา คือ ภาพแทนอนาคตของเด็กทุกคน ถ้าพวกเขามองเห็นตัวเลข อักษรบนกระดาษนี้ได้ชัดเจน ไม่ว่าจะด้วยสายตาของตัวเอง หรือด้วยแว่นตาที่พวกเขากำลังจะได้ในไม่กี่วันข้างหน้า อนาคตของเขา ก็จะคมชัดขึ้น เขาก็จะมองเห็นว่าเขาจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้ไกลแค่ไหน”
ดร.ไกรยส ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากข้อมูลบ่งชี้ว่า จังหวัดสุพรรณบุรีมีเด็กที่อยู่ในระดับการศึกษาภาคบังคับ 70,000 กว่าคน มีเด็กที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยประมาณ 8000 กว่าคน และเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษามีประมาณ 8000 กว่าคน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กสศ. กำลังทำงานด้วย โดยจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นหนึ่งใน 29 เขตพื้นที่การศึกษา ที่มีการใช้ระบบ OBEC Care ในโรงเรียน 162 แห่ง ครอบคลุมการดูแลเด็กมากกว่า 50,000 คน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการดูแลช่วยเหลือในมิติต่างๆ จากการค้นหาเด็กที่มีความเสี่ยงให้ได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ไขก่อนหลุดออกจากระบบการศึกษา
ด้าน นายวชิระ ขวัญเพชร ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึงโครงการนี้ว่าเป็นที่ดีในการช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งนักเรียนที่เข้าร่วมการคัดกรองสายตาในครั้งนี้เป็นนักเรียนที่มาจากการคัดกรองในระบบ OBEC Care ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดกรองและติดตามสุขภาพสายตาของนักเรียนในพื้นที่ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลที่เหมาะสมและทันท่วงที
“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากที่จะได้ช่วยเหลือลูก ๆ นักเรียนนะครับ นักเรียนที่มาในวันนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากการคัดกรองในระบบ OBEC Care ที่ทุกโรงเรียนได้ส่งข้อมูลเข้ามา ขอขอบคุณทุกท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะมาช่วยเหลือดูแลลูก ๆ นักเรียนของเราในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี”
นายพีรพล สินทรัพย์ ครูจากโรงเรียนบางลี่วิทยา จ.สุพรรณบุรี กล่าวถึงบทบาทของครูในการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนที่มีส่วนช่วยให้ปัญหาสายตาของนักเรียนได้รับการส่งต่อการดูแลช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยการที่มีระบบ OBEC Care เข้ามา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีความเสี่ยง ทำให้ครูเห็นข้อมูลความเสี่ยงทั้งในภาพรวมและรายบุคคล รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างครูกับผู้ปกครอง ก่อนที่จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับการช่วยเหลืออย่างตรงจุด
“เด็กบางคนคือต่อให้เขาจะพูดว่าเขาสายตาปกติ แต่ถ้าได้ตรวจจริงๆ บางคนอาจจะมีสภาวะหรือค่าสายตาที่เปลี่ยนไปแล้ว แต่ด้วยความคุ้นชินเขาก็อาจจะไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา แต่พอเขาได้รับโอกาส มีชื่อมีสิทธิ์ที่ได้ตรวจคัดกรอง ทําให้เขาได้เข้าถึงปัญหาและก็ได้รับการแก้ไขปัญหามากขึ้นครับ ดังนั้นผมรู้สึกว่าถ้าครูมีส่วนร่วมในการช่วยนะครับแล้วก็ส่งต่อปัญหานี้ ให้ระบบเข้าไปช่วยคัดกรองเด็กก็จะได้รับการแก้ปัญหามากขึ้นครับ”
ด้าน นางมาริสา ออมสิน ผู้ปกครองของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เผยว่า ตัวผู้ปกครองเองก็มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยดูแลปัญหาสายตาของเด็กด้วย ทั้งในแง่ของการสังเกตพฤติกรรม และการดูแลรักษาสุขภาพสายตาของเด็ก เช่น ในกรณีลูกสาวของตนเอง ที่ทางครอบครัวก็สังเกตเห็นพฤติกรรมการใช้ตามองเพียงข้างเดียว ทางครอบครัวจึงพาไปตรวจและทำการรักษาไปแล้วหนึ่งครั้งก็ทำให้การมองเห็นดีขึ้น จนเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาก็สังเกตพบว่า เวลาเรียนลูกมองไม่เห็นกระดาน จดหนังสือไม่ทันเพื่อน ทําอะไรก็ช้ากว่าเพื่อนตลอด จึงถูกส่งต่อมายังโครงการนี้ในที่สุด
“ดีค่ะที่ได้มาตรวจ เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่รู้เลยว่าน้องเห็นหรือไม่เห็น ตอนตรวจคุณหมอก็บอกว่าถ้าน้องไม่ใส่แว่นหรือไม่ตัดแว่น น้องก็จะมีโอกาสที่ว่ามองไม่เห็นเลย”
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจาก มหาวิทยาลัยชิคาโก (The University of Chicago) ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำวิจัยเรื่องการคัดกรองสายตาในหลายประเทศทั่วโลก ได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการทำงานวิจัยร่วมกับ กสศ. เพื่อออกแบบแนวทางการคัดกรองและแก้ไขปัญหาสายตาที่เหมาะสมแก่เด็กไทยต่อไป